5 เม.ย. เวลา 01:00 • ประวัติศาสตร์
เมียนมาร์ (พม่า)

ประเทศเมียนมาร์ ตอนที่ 2 แบ่งแยกและปกครอง

การเข้าสู่พื้นที่เอเชียตะวันออกของจักรวรรดิบริติชเอ็มไพร์ ผ่านบริษัทที่มีชื่อว่า บริติชอีสต์ อินเดีย ซึ่งก็เป็นบริษัทที่เป็นรัฐวิสากิจของรัฐบาลอังกฤษ ที่ต่อมาเรียกกันว่า “บริติช อินเดีย ” ดังนั้นในตอนนี้ เมื่อเราโฟกัสที่ “พม่า” ก็ต้องหันหน้ามองไปทางทิศตะวันตกของอังวะ เราจะพบอินเดีย ซึ่งในกรอบเวลาดังกล่าวนี้ คือช่วงศตวรรษที่ 18 ~ 19 เป็นช่วงที่บริติชเอ็มไพร์ ได้เริ่มคืบคลานแผ่ขยายอำนาจอิทธิพลเข้ามาแล้ว
2
สำหรับอินเดียนั้น คือเป้าหมายสำคัญสูงสุดเลยของบรรดาจักรวรรดิมหาอำนาจโลกตะวันตก ที่ต้องการจะเข้ามาใช้ทรัพยากรธรรมชาติของพื้นที่แห่งนี้ ในครั้งนั้นจุดกำเนิดที่ทำให้อังกฤษได้เข้ามาเป็นผู้ปกครองอินเดีย ก็คือ “ยุทธการปลาศี“ (Battle of Plassey ปี ค.ศ.1757) ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นในการเข้ายึดครองอนุทวีปอินเดียได้ทั้งหมดในอีกหนึ่งร้อยปีข้างหน้า และแน่นอนพวกเขาไม่ได้หยุดเพียงแค่อินเดียเท่านั้น
ภาพวาดของยุทธการปลาศี
หากแต่พวกเขายังคงมองต่อไปทางทิศตะวันออก จนได้เห็นพื้นที่ที่เรียกกันว่า ”อังวะ“ และต้องการยึดครองเอาไว้เพื่อรวมเป็นอาณานิคมอีกด้วย ซึ่งสหราชอาณาจักรได้มีการประกาศสงครามกับราชวงศ์โก้นบอง รวมทั้งหมด3 ครั้งด้วยกันกินเวลา 61 ปี คือระหว่าง ปี ค.ศ.1824 ~ ปี ค.ศ. 1885 และขอไปแบบย่อๆ นะครับ
1
โดยสงครามครั้งที่หนึ่ง เริ่มขึ้นใน ปี ค.ศ.1824 ~ ปี ค.ศ.1826 กล่าวคือ เมื่อสงครามนโปเลียน จบลงได้สักประมาณ 9 ปี พวกเขา(อังกฤษ)ก็เริ่มหันปากกระบอกปืนมาสู่เอเชีย มีการเคลื่อนกำลังพลจากอินเดียตะวันออกก็คือ “เบงกอล” มุ่งเข้าสู่พื้นที่อัสสัม
1
ซึ่ง ณ เวลานั้นอยู่ภายใต้การปกครองของอังวะ แต่ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของอินเดีย และสามารถเข้าสู่รัฐชินกินพื้นที่ยะไข่ได้สำเร็จ จากนั้นเคลื่อนทัพเรือข้ามอ่าวเบงกอลเข้ายึดครองพื้นที่ตะนาวศรีได้สำเร็จด้วยเช่นกัน จึงทำให้พื้นที่ทั้ง 2 ฝั่งของอ่าวเมาะตะมะตกเป็นของอังกฤษภายในเวลาเพียงแค่ 2 ปีเท่านั้น
2
ภาพวาดการต่อสู้ของอังกฤษกับพม่า
รัฐบาลอังวะไม่อาจที่จะต้านทานการศึกนี้ได้แม้แต่น้อย จึงต้องยอมเซ็นสัญญาสงบศึกที่เรียกกันว่า.. ”สนธิสัญญารานตะโบ“ ในปี ค.ศ.1826 รัฐบาลอังวะต้องยอมรับเงื่อนไขโดยไม่มีการหารือกัน เช่น ยกรัฐอัญสัม , รัฐมณีปุระ , รัฐยะไข่ และชายฝั่งตะนาวศรีทางตอนใต้ของแม่น้ำสาละวินแก่อังกฤษ , หยุดการแทรกแซงในพื้นที่รัฐที่ยกให้อังกฤษ , จ่ายค่าปฎิกรรมสงคราม 1 ล้านปอนด์สเตอร์ลิงแบบผ่อนชำระ 4 ครั้ง ฯลฯ. เป็นต้น
2
และต่อมาเกิดสงครามครั้งที่ 2 ใน ปี ค.ศ.1851 รัชสมัยพระเจ้าพุกามแมง เป็นสงครามที่เกิดจากความขัดแย้ง และทะเลาะวิวาทของพ่อค้าอังกฤษ กับขุนนางพม่าอยู่เนืองๆ ในเมืองพะโค ประกอบกับอังกฤษเองนั้น อยากได้มณฑลพะโคหรือหงสาวดีผนวกเข้าไปในเขตปกครองด้วย แต่ทางพม่าปฎิเสธมาตลอด
1
อังกฤษจึงประกาศปิดอ่าวเมาะตะมะ และเข้ายึดเรือของกษัตริย์พม่า พร้อมทั้งทำลายเรือรบพม่าอีกหลายลำ ซึ่งอังกฤษ ณ เวลานั้นตรงกับยุคของสมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรีย อังกฤษเตรียมวางแผนจะโจมตีต่อไปถึงเมืองอมรปุระ แต่ทางพม่าได้เกิดกบฏขึ้น “เจ้าชายมินดง”
1
ภาพของพระเจ้ามินดงในเอกสารชาวตะวันตก
พระอนุชาของพระเจ้าพุกามแมงซึ่งไม่เห็นด้วยกับการทำสงครามกับอังกฤษตั้งแต่ต้น ได้ก่อกบฏขึ้น และได้เป็นกษัตริย์องค์ต่อมา ระหว่างนั้น อังกฤษถือโอกาสรุกคืบขึ้นไปถึงเมืองมายเด และสามารถยึดครองพื้นที่พม่าตอนใต้ ที่รวมถึงตองอู พื้นที่แถบลุ่มน้ำอิระวดี พะโค หงสาวดี ย่างกุ้ง สำเร็จได้ภายในเวลาเพียงแค่ 9 เดือน
พระเจ้ามินดงได้ส่งบาทหลวงชาวอิตาลีมาขอเจรจาสงบศึก และอังกฤษก็ส่งผู้แทนขึ้นไปยังราชสำนักพม่าเพื่อขอให้พม่ารับรองการผนวกพะโค และพื้นที่อีกหลายแห่ง แต่พระเจ้ามินดงปฏิเสธที่จะทำสนธิสัญญาใดๆกับอังกฤษอีก สงครามจึงยุติลงโดยไม่ได้ทำสนธิสัญญาสันติภาพระหว่างกัน พม่าจึงจำเป็นต้องย้ายเมืองหลวงขึ้นทางตอนบนไปเรื่อยๆ จนถึงเมืองสะไกง์ และจบลงที่เมืองมัณฑะเลย์ (Mandalay) พม่ากลายเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของการปกครองในนาม “บริติชอินเดีย”
สงครามครั้งที่ 3 เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าสีป่อ ผู้เป็นโอรสของพระเจ้ามินดง ทรงขึ้นครองราชย์เมื่อ ปี ค.ศ.1878 ในขณะนั้นมีการแย่งชิงอำนาจ รวมถึงการฆ่าล้างพระราชวงศ์ครั้งใหญ่ ทำให้ราชสำนักอ่อนแอมาก ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อังกฤษกำลังติดพันสงครามกับอัฟกานิสถานอยู่ จึงไม่มีเวลาใส่ใจกับพม่ามากนัก
1
พระเจ้าสีป่อ
และช่วงเวลานี้เองที่พระเจ้าสีป่อ ได้ส่งราชทูตไปยังฝรั่งเศสเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีเป็นการคานอำนาจอังกฤษ และได้ยินยอมให้ฝรั่งเศสเข้ามาทำสัมปทานป่าไม้ และยังจัดตั้งธนาคารขึ้นในกรุงมัณฑะเลย์ด้วย นั่นทำให้อังกฤษเริ่มรู้สึกว่า.. เป็นการเสียหน้า อีกทั้งเสียผลประโยชน์อย่างมาก จึงตัดสินใจที่จะผนวกดินแดนพม่าทั้งหมดไว้ด้วยกัน
อังกฤษได้เคลื่อนกองทัพออกจากย่างกุ้ง ขึ้นไปยังพม่าตอนเหนือโดยเคลื่อนกำลังพลไปตามแม่น้ำอิระวดี ซึ่งมีการต่อต้านน้อยมาก และการปะทะที่ดุเดือดเกิดขึ้นที่ป้อมมินหล่า ซึ่งอังกฤษเป็นฝ่ายชนะในที่สุดหลังจากยอมแพ้ต่ออังกฤษแล้ว พระเจ้าสีป่อ พร้อมทั้งพระนางศุภยาลัตพระมเหสีถูกควบคุมตัวที่อินเดีย
ข้าหลวงอังกฤษประจำอินเดียได้ประกาศผนวกพม่าเหนืออย่างเป็นทางการ และให้พม่าเป็นมณฑลหนึ่งของอินเดีย ซึ่งสงครามครั้งที่ 3 นี้ใช้เวลาเพียง 14 วันก็คือการจบสิ้นลงของแผ่นดินพม่าทั้งหมด ถือเป็นการเริ่มต้นของ ”บริติชเบอร์มา“ อาณานิคมพม่าภายใต้คมกระสุนของฝรั่งขาวในปี ค.ศ.1885 และเป็นที่น่าสนใจว่า การรุกรานพม่าในครั้งนี้ ได้มีกลุ่มบุคคลที่คอยให้ความช่วยเหลือ ซึ่งก็คือ.. “กลุ่มชาติพันธุ์ที่มิใช่พม่า”
ยุทธการย่างกุ้ง พ.ค.-ธ.ค. 1824
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชาวกะเหรี่ยงที่ทำหน้าที่เป็นคนนำทางให้กับกองทัพอังกฤษ อยู่เป็นระยะๆ รูปแบบการปกครองบริติชเบอร์มาของอังกฤษ เปลี่ยนไปมาหลายครั้ง แต่น่าสนใจก็คือ บริติชเบอร์มา ในฐานะที่เป็นคราวน์โคโลนี (Crown colony) ของอังกฤษ มีทีมบริหารที่เป็นคนท้องถิ่นมากขึ้น และคำว่า คนท้องถิ่นนี้ ไม่ใช่คนพม่า
แต่มีความหมายว่า รวมเอาชาติพันธุ์อื่นๆ ที่ครั้งนึงเคยอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าด้วย และตามแบบฉบับของอังกฤษ พวกเขามองว่า การปกครองอาณานิคม ต้องได้ประโยชน์สูงที่สุด แต่มีต้นทุนการบริหารต่ำที่สุด ต้นทุนการบริหารที่ดีที่สุดคือ การให้คนท้องถิ่นที่ขัดแย้งกัน ปกครองกันเอง นี่คือหนึ่งในมิติของประวัติศาสตร์ แต่อีกหนึ่งมิติก็คือ พวกอังกฤษที่เคยปกครองอินเดีย ประเทศที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์มหาศาล
3
พวกเขารู้ดีว่า ถ้าใช้กำลังทหารของตัวเอง คือ ปกครองทุกพื้นที่กำลังพลไม่เพียงพอแน่นอน ดังนั้นจึงเลือกที่จะบริหารความขัดแย้งของคนในพื้นที่ เป็นกลไกในการปกครองอาณานิคม เมื่อพม่าเองก็มีคนหลากหลายชาติพันธ์ ซึ่งขัดแย้งกันอยู่ตั้งแต่ตอนต้นมาแล้ว
Baker Springfield รุ่น 1800 ปืนที่ทันสมัยที่สุดของอังกฤษ ณ เวลานั้น
อังกฤษเลยใช้วิธีเดิมในการปกครองที่อินเดีย อังกฤษก็ใช้วิธีนี้ ให้มหาราชและนาวาบ ก็คือ เจ้าครองนครที่เป็นฮินดูกับมุสลิมปกครองพื้นที่ต่างๆ ของตัวเอง และต้องจ่ายเงินภาษีให้กับอังกฤษ โดยที่อังกฤษไม่ต้องเสียกำลังพล แต่ได้เงิน..
กับพม่าเค้าก็ใช้วิธีเดิม รัฐที่เป็นชาติพันธุ์อื่นๆ เช่น กรณีของรัฐฉานที่เป็นรัฐที่อยู่ทางตะวันออกติดกับชายแดนสยาม ในส่วนนี้ให้เจ้าฟ้าองค์ต่างๆ ของพวกไตหรือไทใหญ่ ปกครองตัวเองแล้วเอาภาษีที่ด่านนั้นมอบให้กับอังกฤษครึ่งหนึ่ง บางคนจะบอกว่าอังกฤษนี่ทำตัวเหมือนนักเลงหัวไม้ เรียกหักค่าหัวคิวก็ได้ แต่วิธีนี้มันพิสูจน์มาแล้วว่า.. “ได้ผลดีจริงๆ”..
3
แถมพวกเขาปกครองพม่าได้ง่ายขึ้นด้วย และสิ่งที่เกิดขึ้นคือ คนที่ถูกรุกรานประเทศไม่ได้รวมตัวกันในการต่อสู้ หรือเรียกร้องสิ่งใด คำตอบก็ง่ายมาก เพราะความขัดแย้งในเชิงชาติพันธุ์นี่แหละ ที่เขาเรียกกันว่า.. แบ่งแยกและปกครอง ทีนี้เรามาดูกันบ้างว่า การแบ่งแยก และปกครองในพม่านั้นเป็นอย่างไร สิ่งที่พวกเจ้าฟ้าไต หรือเจ้าแห่งไทใหญ่ที่รัฐฉานไม่เคยได้สัมผัสมาก่อนหน้านี้
ภาพของชาวไทใหญ่
นั่นคือ การที่พวกเขามีอิสระจากราชสำนักอังวะ ถึงแม้ว่าพวกเขาจะมีผู้ปกครองใหม่ ซึ่งก็คืออังกฤษ แต่รูปแบบใหม่พวกเขา ไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้อิทธิพลของพม่า ที่ผ่านมา ไทใหญ่กับพม่า อาจจะอยู่ด้วยกันได้ค่อนข้างดี ไทใหญ่ส่งกำลังไปช่วยพม่ารบค่อนข้างสม่ำเสมอ
1
รวมถึงศึกอังวะกับต้าชิงในรัชสมัยพระเจ้าเฉียนหลง แต่ว่าการที่พวกเขาได้ปลดแอกตัวเองจากการปกครองของพม่า ก็ถือว่า เป็นความรู้สึกแปลกใหม่ที่พวกเขาไม่เคยได้สัมผัสกันมาก่อน
เรามาดูกรณีของอีกหนึ่งชาติพันธุ์ ที่ ณ เวลานี้ก็ยังคงเป็นปัญหาคาราคาซังมายาวนานมาก นั่นก็คือ กะเหรี่ยง ที่ผ่านมานับร้อยนับพันปีพวกเขาไม่เคยชอบผู้ปกครองชาวพม่าอยู่แล้ว และที่ผ่านมาก็ไม่ค่อยจะส่งกำลังพลไปช่วยเหลือกองทัพพม่า มิหนำซ้ำในช่วงที่อังกฤษบุกเข้ามาพวกเขาก็ยังเข้าข้างอังกฤษอีกด้วย
อโดนิแรม จัดสัน ผู้แปลพระคัมภีร์เป็นภาษาพม่า
พื้นที่ของชาติพันธุ์กะเหรี่ยงนี้จะมีตัวแปรพิเศษ คือว่า.. ในช่วงเวลาที่อังวะ ต้องเจอกับปัญหาการถูกคุกคามจากอังกฤษนั้น ได้มีมิชชันนารีชาวอเมริกัน เดินหน้าเข้าไปสอนศาสนาคริสต์ให้กับชาวกะเหรี่ยง จึงทำให้ชาวกะเหรี่ยงส่วนหนึ่ง เริ่มต้นรับวิทยาการจากชาวตะวันตก
เข้ารีตเปลี่ยนจากศาสนาพุทธนิกายเถรวาทมาเป็นคริสต์ศาสนิกชน รวมถึงการที่หมอสอนศาสนาชาวอเมริกันเอาตัวอักษรพม่า ไปใช้ในภาษากะเหรี่ยง ทำให้ชาวกะเหรี่ยงเริ่มต้นมีภาษาเขียนและมีวิทยาการมากขึ้น
การเข้ามาของอังกฤษที่เป็นคริสต์กับกลุ่มชนชั้นนำชาวกะเหรี่ยงที่ตอนนี้ก็เป็นคริสต์เหมือนกัน ผนวกกับการที่พวกเขาไม่ชอบพม่าอยู่แล้ว และคงรู้สึกพอใจที่ได้เห็นพม่าต้องอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ ทำให้การปกครองพม่าในยุคบริติชราชนั้น ได้มีการผนวกเอาคนชาติพันธุ์อื่น รวมถึงกะเหรี่ยงด้วยเข้ามาเป็นชนชั้นปกครองมากขึ้น ไหนๆ ก็พูดถึงชาวกะเหรี่ยง และการใช้คนชาติพันธุ์อื่นที่ไม่ใช่พม่าเข้าร่วมปกครองในเวลานั้นแล้ว
ซอ บา อู จี
ก็อยากจะขอพูดถึงชายสักคนหนึ่งที่ถือว่า เป็นวีรบุรุษของชาวกะเหรี่ยง ชายคนนั้นเป็นวีรบุรุษของสิ่งที่เรียกว่า รัฐอิสระกะเหรียงที่รู้จักกันในนามของ“กอทูเล” ซึ่งตลอดมาก็แข็งข้อต่อรัฐบาลกลางพม่าและวีรบุรุษท่านนั้นมีชื่อว่า “ซอ บา อู จี” เป็นชนชั้นนำกะเหรี่ยง ท่านเกิดที่ พะสิม ก็คือพื้นที่กะเหรี่ยงในปัจจุบันนี่แหละ
1
ท่านได้รับการศึกษาจากอังกฤษ ศึกษาที่ลอนดอนก่อนที่จะไปเรียนกฎหมายที่เคมบริดจ์จนสำเร็จในปี ค.ศ.1926 สอบได้บาริสเตอร์หรือว่าเนติบัณฑิตอังกฤษ ก่อนที่จะกลับมาที่บริติชเบอร์มา และรับใช้การปกครองอังกฤษในพม่า
ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีสรรพากรของบริติชเบอร์มาในระหว่างปี ค.ศ. 1937 ถึง ค.ศ.1939 ด้วย ถ้าเราลองจินตนาการว่าชาวกะเหรี่ยง ได้เป็นรัฐมนตรีบนแผ่นดินพม่า ก่อนหน้านี้คงแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ถ้าหากว่าพม่าอยู่ภายใต้การปกครองของชาติพันธุ์เดิมก็คือ ชาวพม่า ไม่แต่เพียงเท่านั้น นายกรัฐมนตรีพม่าในยุคนั้น ก็เป็นลูกผสมระหว่างมอญกับพม่า ไม่ใช่พม่า 100%
3
ในฐานะที่เราเป็นคนไทย บางทีเรามองไปอาจจะคิดว่าคนทุกคนที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวก็คือ คนท้องถิ่นเหมือนกัน แต่ในความเป็นจริงแล้วสำหรับพวกเขา กลุ่มคนเหล่านี้คงไม่ใช่ชาติพันธุ์พม่า และในขณะที่คนที่เป็นชาติพันธุ์อื่นๆ ก็คงรู้สึกว่า.. นี่เป็นโอกาสที่พวกเขาได้เติบโตขึ้นมาเสมอเหมือนพม่า
อองซาน
แต่แน่นอนว่า ชาติผู้ปกครองเดิมอย่างพม่าย่อมไม่พอใจกับการที่อยู่ภายใต้อังกฤษ และมองท่าทีของบรรดาชาติพันธ์ต่างๆ โดยเฉพาะไทใหญ่ และกะเหรี่ยงอย่างเคืองแค้น รอวันเอาคืนเหมือนกัน บรรดาผู้กล้าชาวพม่าที่รวมถึง “อองซาน” ที่ต่อไปจะเป็นตัวละครเอกในตอนต่อไปก็กำลังหาทางว่า พวกเขาจะใช้วิธีการอะไรในการที่จะได้รับเอกราช และอิสรภาพจากอังกฤษ
แต่โลกใบนี้ไม่มีอะไรจีรังยั่งยืน เหตุเพราะว่า อีกซีกโลกหนึ่งที่ไม่ห่างกันนัก แค่กระเถิบมานิดเดียว และอยู่ในเอเชียตะวันออกไกล ในกรอบเวลาดังกล่าว จักรวรรดิญี่ปุ่นได้เริ่มต้นขยายแสนยานุภาพ และญี่ปุ่นนั้นคงไม่ได้มองเฉพาะแค่จีนแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่มองลึกไปถึงการที่จะขยายอิทธิพลมายังดินแดนพื้นที่ที่เป็นอาณานิคมของฝรั่งชาติตะวันตกด้วย
ภาพที่หน้าปกเป็นภาพแม่ทัพอังกฤษ บุกเข้าไปในพระราชวังมัณฑะเลย์กำลังเจรจาให้พระเจ้าสีป่อยอมมอบตัว โดยให้เวลา 45 นาที เพื่อจัดเก็บข้าวของส่วนพระองค์ ก่อนถูกควบคุมตัวในฐานะเชลยออกจากพระราชวัง เนรเทศไปยังประเทศอินเดียเป็นการสิ้นสุดราชวงศ์โก้นบอง
ภาพจาก A HISTORY OF BURMA.
ซึ่งสิ่งนี้จะเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ความสัมพันธ์ของชาวพม่า และชาติพันธุ์ต่างๆในอนาคตไปในทิศทางไหน?? โปรดติดตามได้ในตอนหน้าครับ
1
ฝากกดถูกใจ กดแชร์ เพื่อเป็นกำลังใจให้ผมด้วยนะครับ
Reference ตอนที่ 2 แบ่งแยกและปกครอง
1

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา