18 เม.ย. เวลา 03:00 • ประวัติศาสตร์
เมียนมาร์ (พม่า)

ประเทศเมียนมาร์ ตอนที่ 3 ตอกย้ำรอยร้าว

การที่เราจะเข้าใจถึง.. เรื่องราวความขัดแย้งในอดีตที่ผ่านมาระหว่างชาติพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดใน “สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา” ซึ่งก็คือ พม่ากับชาติพันธุ์อื่นๆ เช่น ไทใหญ่ กะเหรี่ยง หรือชาติพันธุ์อื่น ๆ รวมประมาณ 7 กลุ่มใหญ่ๆ นั้น เป็นไปได้ยาก จึงต้องอาศัยช่วงเวลาที่ตัวแปรสำคัญของบริบทโลก และการออกล่าอาณานิคมของจักรวรรดินิยม ทั้งที่เป็นอังกฤษก็ดี หรือญี่ปุ่นก็ดี มาช่วยทำให้เรามองเห็นภาพได้ชัดขึ้น ถึงแม้จะไม่สมบูรณ์ครบถ้วนนักก็ตาม
ดังนั้น.. ตอนนี้เราขอพูดถึงประเทศเมียนมาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบริบทสำคัญของโลก คือ ช่วงสงครามโลกครั้งที่2 ซึ่งแน่นอนว่า ณ เวลานั้น “บริติช เบอร์ม่า ” ได้อยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ ในขณะเดียวกันจักรวรรดิที่อยู่ทางตะวันออกไกลอย่าง “จักรวรรดิญี่ปุ่น” ก็ได้เริ่มแผ่ขยายอำนาจอิทธิพลของพวกเขาขึ้นมา
1
ขอเริ่มต้นไปที่การขยายอำนาจของจักรวรรดิญี่ปุ่นกันก่อน โดยที่นอกเหนือไปจากการสร้างกองทัพให้แข็งแกร่ง พร้อมทั้งเสริมแสนยานุภาพด้วยอาวุธอันทันสมัยในเวลานั้นแล้ว พวกเขายังสามารถเอาชนะ ”จักรวรรดิรัสเซีย“ ได้ในสงครามที่มีชื่อว่า “ยุทธนาวีช่องแคบสึชิมะ“
ภาพวาดการสู้รบในยุทธนาวีช่องแคบสึชิมะ
นับเป็นการรบทางทะเลครั้งสุดท้ายของสงครามรัสเซีย~ญี่ปุ่น จึงทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นชาติแรกในเอเซียที่เอาชนะเหนือฝรั่งขาวได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่คาดคิดเลยสำหรับประเทศผู้สังเกตการณ์ต่างๆ และจากสงครามครั้งนี้เอง ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงสมดุลของขั้วอำนาจโลกครั้งใหญ่ ทำให้ญี่ปุ่นก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจแทนรัสเซียทันที
หลังจากนั้นในปี ค.ศ.1931 ญี่ปุ่นได้เข้ารุกรานมณฑลเหลียวหนิง และสถาปนารัฐหุ่นเชิด แมนจูกัวทางตอนเหนือของจีน และมีการขยายแสนยานุภาพ เข้าไปในจีนอย่างเต็มกำลังในอีก 6 ปีต่อมา คือ ปี ค.ศ.1937 ด้วยการรุกรานเซี่ยงไฮ้ และหนานจิง
ณ เวลานั้นถือได้ว่า.. ประเทศจีนส่วนใหญ่ตกอยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่น แต่เป้าหมายสำคัญของจักรวรรดิญี่ปุ่นไม่ใช่แค่จีนเพียงอย่างเดียว หากแต่ยังมองไกลไปถึงเมืองในอาณัติของจักรวรรดิอังกฤษ ฝรั่งเศส และเนเธอร์แลนด์ ในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ด้วย
1
เพราะพื้นที่แถบนี้อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ และถ้าสงครามโลกครั้งที่ 2 ระเบิดขึ้นในยุโรปจริง ก็ย่อมแน่นอนว่า.. ทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส และเนเธอร์แลนด์นั้น คงไม่สามารถกระจายกำลังพลของพวกเขากลับมาบริหารจัดการเหล่าอาณานิคมในภูมิภาคนี้ได้ทันท่วงที
แผนที่โลกแสดงอาณานิคมหลังสงครามโลกครั้งที่สองยุติเมื่อ ค.ศ. 1945 หลังจากนั้นไม่นาน หลายประเทศได้เรียกร้องเอกราช นำไปสู่การจัดตั้งอิสราเอล ตลอดจนการปลดปล่อยอาณานิคมในเอเชียและแอฟริกา
ที่สำคัญคือ จักรวรรดิญี่ปุ่น ก็มองออกด้วยว่า.. ถ้าหากสหรัฐอเมริกายังคงทำตัวเป็นหลังพิง และให้การสนับสนุนกับ 3 ชาติมหาอำนาจเหล่านี้ต่อไปนั้น คงเป็นการยากสำหรับญี่ปุ่น ที่จะขยายอำนาจของตนเข้ามาในพื้นที่เอเชียอาคเนย์ได้สำเร็จ ดังนั้นญี่ปุ่นจึงตัดสินใจ วางแผนรอคอย หาโอกาสเหมาะในการตัดกำลังของสหรัฐอเมริกาลง เพื่อไม่ให้มีโอกาสสนับสนุนเหล่าพันธมิตรในยุโรปได้อีก
และก่อนที่ญี่ปุ่นจะเดินหน้าในการบุกเข้ายึดพื้นที่อาณานิคมเหล่านั้น พวกเขาจำเป็นจะต้องมีกำลังหนุนขึ้นมาจากคนท้องถิ่นในอาณานิคมเหล่านั้นซะก่อน โดยที่ทางการญี่ปุ่นได้มีการจัดส่งเจ้าหน้าที่ของตัวเองเข้าไปแทรกซึมอยู่ภายในบรรดาอาณานิคมที่เป็นเป้าหมายเหล่านั้น
ด้วยการสร้างแนวร่วม ขบวนการชาตินิยมจากคนท้องถิ่นที่เตรียมการต่อสู้ ต่อต้าน จักรวรรดินิยมชาติยุโรปกันอยู่แล้ว และสำหรับในพม่านั้น ญี่ปุ่นได้ส่ง “ซูซูกิ เคจิ” ที่เบื้องหน้าชายคนนี้เป็นนักข่าว แต่เบื้องหลังคือ เป็นสายลับของกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น มีหน้าที่เข้าไปแทรกซึมเพื่อคอยสอดส่องดูว่า.. มีแกนนำชาตินิยมคนสำคัญของพม่าคนไหน?? ที่พร้อมจะช่วยจักรวรรดิญี่ปุ่นในการคว่ำอังกฤษได้บ้าง
1
ซูซูกิ เคจิ
โดยในเวลานั้น มีแกนนำที่ต่อต้านจักรวรรดินิยมอังกฤษ ศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยย่างกุ้ง เป็นนักศึกษาชาวพม่า 2 คนที่อยู่ในตัวเลือกของเคจิ คือ บุคคลผู้ซึ่งต่อมามีอิทธิพลต่อการเมืองยุคเปลี่ยนผ่าน ท่านแรกมีชื่อว่า “อู้นุ” ส่วนท่านที่สองมีชื่อว่า “อองซาน” ที่ต่อมาก็คือ บิดาของพม่ายุคใหม่ และบิดาของกองทัพพม่า ในวันนี้
และในช่วงเวลาดังกล่าวนี้เอง ญี่ปุ่นได้มีการรวบรวมผู้กล้าชาวพม่าจำนวน 30 คน ให้รวมตัวกันฝึกอบรม เพื่อคอยให้การสนับสนุนต่อกลุ่มคนที่จะเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษในวันข้างหน้า ซึ่งในจำนวน 30 คนนี้ นอกจาก “อู้นุ และอองซาน” แล้วก็ยังมีอีกหลายคนที่ต่อไปจะมีบทบาทสำคัญ มีอิทธิพลต่อการเมืองของพม่าในอนาคต เช่น เนวิน เป็นต้น อีกทั้งบุคคลกลุ่มนี้ เรียกรวมกันว่า “30 สหายร่วมรบ” ได้ถูกส่งตัวไปฝึกยังประเทศญี่ปุ่น ในปี ค.ศ. 1940 โดยเดินทางผ่านจีน ซึ่ง ณ เวลานั้นอยู่ภายใต้อิทธิพลของญี่ปุ่น
1
กลุ่มบุคคล “30 สหายร่วมรบ” นี้ ถูกฝึกอย่างหนักทั้งยุทธวิธี การต่อสู้ทุกรูปแบบ และด้วยเหตุที่อยู่ประเทศญี่ปุ่นนานแรมปี จึงทำให้ อองซาน พร้อมทั้งสหาย สามารถพูดภาษาญี่ปุ่นได้อย่างคล่องแคล่ว เพราะฉะนั้น.. จึงไม่น่าแปลกใจ ที่หลายครั้งหลายหนจะได้เห็นภาพของนายพลอองซาน สวมใส่ชุดของจักรวรรดิญี่ปุ่นอยู่บ่อยๆ ดูได้จากรูปหน้าปก คนที่ยืนข้างๆคือ ภรรยาชื่อดอว์ คิน จี
ภาพของ เนวิน และ อู้นุ
เพราะการร่วมมือกันของทั้ง 2 ฝ่ายคือ การสมประโยชน์ร่วมกัน ในช่วงเวลาดังกล่าว อองซาน พร้อมสหายได้ใช้พื้นที่ ไม่ว่าเป็นในจีนเองก็ดี หรือว่าในไทยก็ดี ในการที่จะรวบรวมกำลังและวางแผนในการเรียกร้องเอกราชของพม่าจากอังกฤษ โดยที่มีญี่ปุ่นนั้นเป็นสปอนเซอร์ใหญ่ให้ด้วย
ทีนี้เราหันกลับมามองอีกด้านหนึ่งกันบ้าง โดยก่อนที่จะเปิดฉากปฏิบัติการนั้น ญี่ปุ่นเองก็รู้และตระหนักดีว่า.. สหรัฐอเมริกานั้น เป็นหลังพิงที่สำคัญของอังกฤษ ฝรั่งเศสและเนเธอร์แลนด์มาตลอด ดังนั้นในช่วงเช้าของวันที่ 7 ธันวาคม ปี ค.ศ.1941 ก็คือ วันที่ญี่ปุ่นเปิดฉากรุกรานโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ ฐานทัพเรือสหรัฐ ดินแดนฮาวาย
ซึ่งการโจมตีในครั้งนี้ มีเจตนาเป็นปฏิบัติการป้องกันเพื่อไม่ให้กองเรือแปซิฟิกของสหรัฐ เข้าไปแทรกแซงปฏิบัติการทางทหารของจักรวรรดิญี่ปุ่น และถือเป็นการเปิดฉากการเข้ายึดครองอาณานิคมต่างๆ ของจักรวรรดินิยมยุโรปในเอเชียอาคเนย์อย่างเป็นทางการด้วยเช่นกัน
และในวันเดียวกันนั้นเอง ต่างกันแค่คนละช่วงเวลาคือ ที่ฮาวายจะเป็นเช้าวันที่ 7 ธันวาคม แต่ในไทยจะเป็นคืนวันที่ 8 เวลากลางคืน ประมาณตี 1 กองทัพญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ บริเวณชายฝั่งของอ่าวไทยตามแนวของคอคอดกระ อ่าวมะนาว
ภาพการโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ และการยกพลขึ้นบกที่ประเทศไทย
โดยมีการติดต่อไปทางกระทรวงการต่างประเทศของรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม เพื่อให้ไทยนั้นเปิดทางให้กองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น เข้าไปรุกรานบริติช เบอร์ม่า แต่ยังไม่มีการออกคำสั่งใดๆ จากผู้บังคับบัญชาและรัฐบาล ทหารไทยจึงได้ต่อสู้ปกป้องอธิปไตยอย่างอาจหาญ
แต่หลังจากสู้รบไประยะเวลาหนึ่ง จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ได้ออกคำสั่งหยุดยิงในเช้าวันต่อมา โดยทหารไทยเสียชีวิต 42 นาย บาดเจ็บ 27 นาย และทหารญี่ปุ่น เสียชีวิต 417 นาย บาดเจ็บมากกว่า 300 นาย ไทยเรียกการศึกครั้งนี้ว่า “ยุทธการที่ประจวบคีรีขันธ์”
และในกรอบเวลาเดียวกันนั้น ทางฝั่งพม่า อองซาน พร้อมทั้งสหายร่วมรบ ได้มีการรวบรวมทหารชาติพันธุ์พม่า 3500 นาย รวมตัวจัดเป็นกองทัพเอกราชพม่า (Burma Independence Army BIA) ประจำการรอท่าอยู่แล้ว ตรงบริเวณแนวตะเข็บชายแดนไทยพม่า ซึ่ง ณ เวลานั้นรัฐบาลไทย กับรัฐบาลญี่ปุ่น มีความเข้าใจในสัมพันธภาพอันดีต่อกันแล้ว รวมถึงพร้อมที่จะเข้าไปเสริมกำลังญี่ปุ่นในการเข้าไปต่อต้านจักรวรรดิอังกฤษในบริติช เบอร์ม่าด้วย
แผนที่แนวรบพม่า แสดงถึงความขัดแย้งระหว่าง ญี่ปุ่น-ไทย และ สัมพันธมิตร
ท่ามกลางยุคดังกล่าวนี้เอง ที่ญี่ปุ่นได้เข้ามาปกครองพม่านั้นกินเวลาประมาณ 4 ปี ก็คือปี ค.ศ.1942 ~ ค.ศ.1945 สถานการณ์ของพม่าในเวลานั้น จึงเป็นการต่อสู้กันของ 2 ฝ่าย ได้แก่ ขบวนการชาตินิยมพม่าต่อต้านอังกฤษ ที่มีการจับมือร่วมกับญี่ปุ่น เป็นฝ่ายหนึ่ง และอีกฝ่ายหนึ่ง ก็คือ ฝ่ายอังกฤษที่ได้รับการสนับสนุนจากชาติพันธุ์ต่างๆ ดังนั้นจึงแบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายอย่างชัดเจน
1
เมื่อเรามาถึงตรงนี้จุดนี้แล้ว ทุกคนก็คงจะรู้ว่า.. รอยร้าวของชาติพันธุ์พม่า และชาติพันธุ์ต่างๆ นั้น ได้ถูกตอกย้ำอีกครั้งอย่างรุนแรงท่ามกลางสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งอองซานได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีสงครามของพม่า โดยมี ดร.บามอ(Dr. Ba Maw)เป็นนายกรัฐมนตรีของพม่าภายใต้อิทธิพลของจักรวรรดิญี่ปุ่น
และดร.บามอ ผู้นี้ ท่านเป็นลูกครึ่งมอญกับพม่า ในมิติของการต่อสู้เพื่อเรียกร้องเอกราชก็ส่วนหนึ่ง แต่ในส่วนมิติการปฏิสัมพันธ์ของพม่า กับชาติพันธุ์อื่นๆ นั้นก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ยากจะทำใจ ตัวอองซานเองก็ได้ใช้กำลังทหารในการกวาดล้างชาวกะเหรี่ยง เพราะมองว่า.. ที่ผ่านมาชาวกระเหรี่ยงได้สนับสนุน ช่วยเหลือเข้าข้างฝ่ายอังกฤษมาตลอด
ดร.บามอ(Dr. Ba Maw)
ในช่วงที่อังกฤษปกครองพม่าอยู่นั้น ชาวกะเหรี่ยงคริสต์ก็ได้ปฏิบัติทารุณกรรมต่อชาวพม่าที่เป็นพุทธ อย่างที่ได้กล่าวไว้ในตอนที่แล้วว่า.. ชาวกะเหรี่ยงที่เป็นชนชั้นนำในเวลานั้นเข้ารีตเป็นคริสต์ศาสนิกชนไปแล้ว
ดังนั้น.. นี่จึงเป็นอีกหนึ่งข้อ ที่อองซาน และขบวนการชาตินิยมพม่าใช้เป็นข้ออ้างในการที่จะตอบโต้ชาวกะเหรี่ยงในภาวะที่ญี่ปุ่นเดินหน้าเข้ามาขยายอิทธิพลในพม่า ครั้นเมื่อชาวพม่า ที่ครั้งหนึ่งเคยถูกกดขี่โดยจักรวรรดิเดิม ได้รับอำนาจจากจักรวรรดิใหม่ที่เข้ามาแทนที่ จึงทำให้ขั้วอำนาจในเมียนม่า ต้องเปลี่ยนแปลงอีกครั้งหนึ่ง ส่วนจะเกิดอะไรขึ้นกับประเทศนี้บ้าง โปรดติดตามได้ในตอนหน้าครับ
ฝากกดถูกใจ กดแชร์ เพื่อเป็นกำลังใจให้ผมด้วยนะครับ
Reference ตอนที่ 3 ตอกย้ำรอยร้าว

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา