22 พ.ย. 2019 เวลา 01:27 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
มดวัดขนาดของรังได้
มดกำลังสื่อสารกันโดยใช้ปากและหนวด
จริงๆ แล้วสัตว์อาจจะมีความสามารถมากกว่าที่เราคิดกัน แต่เราไม่รู้ว่าสัตว์ทำสิ่งเหล่านั้นได้ เพราะว่าเราไม่สามารถสื่อสารกับสัตว์ได้โดยตรง ถ้าเราอยากจะทราบว่าสัตว์สามารถทำอะไรได้บ้าง ก็จะต้องผ่านการสังเกตและการทดลองเท่านั้น
เช่น โพสต์ก่อนหน้านี้ผมเขียนถึงความสามารถของนกที่รู้จักจำนวน และอาจจะสามารถนับเลขได้
ส่วนโพสต์นี้ผมจะเขียนอีกเรื่องที่แสดงความสามารถของสัตว์ขนาดเล็กๆ อย่างมด ที่มีความสามารถอย่างไม่น่าเชื่อ คือ สามารถที่วัดขนาดของพื้นที่ของบริเวณที่จะเป็นรังในอนาคตได้
มดเป็นสัตว์สังคม และอยู่ร่วมกันเป็นรังที่ประกอบไปด้วยมดงานตั้งแต่สิบจนถึงแสนๆ หรืออาจจะถึงล้านตัวได้ ถ้าในรังที่มีราชินีอยู่หลายๆ ตัว
เมื่อสภาวะเดิมเริ่มไม่เหมาะสม มดอาจจะต้องย้ายรังจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งได้ เหมือนเวลาที่เราเห็นมดเดินเป็นสายยาวๆ และอาจจะขนหนอน ดักแด้ หรือราชินีใหม่ของมันไปด้วย
คำถามคือ มดจะรู้ได้อย่างไรว่าจะย้ายรังไปที่ไหน?
มดชนิด [Temnothorax albipennis] จะทำการสร้างรังในร่องหินขนาดเล็กๆ และเมื่อรังเดิมถูกทำลาย มดชนิดนี้จะทำการส่งมดงานออกไปเป็นแมวมอง (Scout - เอ๊ะ หรือต้องเรียกว่า มดมอง) ออกไปสำรวจหารังใหม่ นักวิทยาศาสตร์เลยนำเอามดชนิดนี้มาทำการทดลองเพื่อศึกษาการย้ายรังของมด โดยการสร้างรังจำลองขนาดและรูปแบบต่างๆ และดูว่า มดจะเลือกรังแบบไหน และใช้วิธีอะไร
มดชนิด [Temnothorax albipennis] (ที่มา Tao208 - https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=50346816)
การทดลองที่ 1
นักวิทยาศาสตร์มีรังให้มด 3 ขนาด คือ ขนาดปกติ ขนาดเป็น 2 เท่าของปกติ และขนาดครึ่งหนึ่งของขนาดปกติ พบว่า มด 7 รังเลือกรังขนาดใหญ่กว่าปกติ 8 รังเลือกขนาดปกติ และ 1 รังเลือกรังเล็กกว่าปกติ เป็นการยืนยันว่า มดน่าจะสามารถรู้ขนาดของรังได้จริงๆ และหลีกเลี่ยงไม่เลือกรังเล็กกว่าปกติ คำถามคือ มดใช้วิธีไหนในการวัดขนาดรัง?
โดยปกติมดเป็นสัตว์ที่สายตาไม่ดี และจะอาศัยในโพรงมืดๆ ทำให้มดจะไม่ใช้สายตาเป็นหลักในการดำรงชีวิต เพราะฉะนั้นการรับรู้ขนาดของมดน่าจะไม่ได้เกิดจากการมองเห็นเป็นหลัก แต่มาจากวิธีอื่นๆ เช่น ใช้การดมกลิ่นหรือการสัมผัส
การทดลองที่ 2
ทฤษฎีแรกคือ มดอาจจะใช้วิธีการวัดขนาดของรังโดยการวัดเส้นรอบของภาวในรัง เพื่อที่จะประมาณขนาดของรัง
นักวิทยาศาสตร์เลยทดลองโดยการออกแบบรังแบบใหม่ให้มีขนาดเล็กแต่มีเส้นรอบของภายในรังที่ยาว โดยที่เส้นรอบรังจะมีขนาดเท่ากับรังขนาดปกติ แต่พื้นที่รวมเท่ากับครึ่งหนึ่งของรังขนาดปกติ ถ้ามดใช้วิธีนี้ในการวัดขนาดรัง จะเลือกรังแบบนี้เท่าๆ กันกับรังขนาดปกติ
ผลการศึกษาพบว่า มดเลือกรังขนาดปกติทั้งหมด 10 รัง และเลือกรังที่เล็กแต่ขอบยาวทั้งสิ้น 3 รัง
แปลว่ามดแมวมองไม่น่าใช้วิธีนี้ในการประมาณขนาดของรัง
การทดลองที่ 3
ทฤษฎีที่ 2 คือ มดใช้วิธีที่เรียกว่า The mean, free-path-length algorithm พูดง่ายคือ จะใช้วิธีเดินให้ชนกำแพงสองด้านไปเรื่อยๆ ก็จะประมาณขนาดของรังได้ ถ้าเดินชนกำแพงไม่บ่อย แปลว่ารังนี้มีขนาดใหญ่ และถ้าเดินชนกำแพงบ่อยๆ แปลว่ารังนี้มีขนาดเล็ก
นักวิทยาศาสตร์เลยทำการทดลองโดยใช้รังขนาดปกติ เปรียบเทียบกับรังขนาดปกติ แต่มีแผ่นกั้นตรงกลาง ถ้ามดใช้วิธีนี้ จะรู้สึกว่า รังที่มีแผ่นกั้นตรงกลางจะมีขนาดเล็กกว่ารังขนาดปกติ (ทั้งๆ ที่ทั้งสองรังมีขนาดเท่ากัน) เพราะจะเดินชนกำแพงบ่อยกว่า
ผลการทดลองแสดงว่า มดชอบรังที่มีแผ่นกั้นกลาง (มีรังมดเลือก 9 รัง) มากกว่ารังปกติ (มีรังมดเลือก 6 รัง) แปลว่ามดแมวมองก็ไม่ได้ใช้วิธีนี้ในการวัดขนาดรัง
การทดลองที่ 4
ทฤษฎีที่ 3 มดแมวมองใช้วิธีที่เรียกว่า Buffon’s needle algorithm ในการหาขนาดของรัง
วิธีนี้มดแมวมองจะเดินวนในรังรอบๆ รังใหม่หนึ่งรอบ และปล่อยฟีโรโมน (Pheromone) ที่เป็นสารที่มีกลิ่นเฉพาะตัวออกมาด้วย วางเป็นเส้นไว้บนพื้น จากนั้นมดจะเข้าไปสำรวจรังใหม่อีกหนึ่งรอบ แล้วดูว่าจำนวนครั้งที่เดินตัดกับฟีโรโมนที่วางไว้ในครั้งแรกมีกี่ครั้ง ถ้ามีเยอะ แปลว่ารังนั้นมีขนาดเล็ก แต่ถ้าตัดกันน้อยแปลว่ารังนั้นมีขนาดใหญ่
สิ่งที่สนับสนุนวิธีการนี้คือ การที่นักวิทยาศาสตร์พบว่ามดแมวมองมักจะเดินสำรวจรังอย่างน้อย 2 รอบ ก่อนที่จะพามดตัวอื่นๆ ย้ายรัง
แต่จะทำการทดลองอย่างไรให้พิสูจน์วิธีการนี้ได้
นักวิทยาศาสตร์ใช้วิธีการเปรียบเทียบรังขนาดปกติกับรังขนาดครึ่งหนึ่งที่ปูพรมไว้บนพื้น พอมดเริ่มทำการสำรวจรอบแรกเสร็จ นักวิทยาศาสตร์ก็จะดึงพรมออกไปจากพื้นของรังขนาดเล็กออกไปครึ่งหนึ่ง ทำให้รอยฟีโรโมนของมดแมวมองหายไปครึ่งหนึ่ง ถ้ามดใช้วิธี Buffon’s needle นี้จริงๆ มดจะเลือกรังนี้ไม่ต่างจากรังขนาดปกติ เพราะความถี่ที่มดแมวมองเดินตัดกับรอยฟีโรโมนเดิมที่วางไว้จะน้อยลงครึ่งหนึ่ง หรือเท่ากับรังขนาดปกติ
ผลปรากฏว่ามดจำนวน 12 รังเลือกรังขนาดปกติ และมดจำนวน 8 รังเลือกรังขนาดเล็กที่มีการปูพรมไว้ ซึ่งมากกว่าการทดลองก่อนหน้านี้ที่มดเลือกรังขนาดปกติต่อรังขนาดเล็กแค่ 15:1
แปลว่า มดน่าจะใช้วิธีนี้ในการวัดขนาดจริงๆ
แต่ที่สิ่งน่าทึ่งที่สุดคือ การที่นักวิทยาศาสตร์หาวิธีจนทำให้รู้ว่า มดใช้วิธีไหนในการวัดขนาดของรังใหม่ของมันนั่นเอง
แต่ถ้าบ้านมีมดเยอะ และอยากจะหาวิธีกำจัดมด ลองไปอ่านชีววิทยาของมดดูได้ในโพสต์นี้ครับ
เอกสารอ้างอิง
1. Mallon, E. B., & Franks, N. R. (2000). Ants estimate area using Buffon's needle. Proceedings. Biological sciences, 267(1445), 765–770. doi:10.1098/rspb.2000.1069
โฆษณา