12 มิ.ย. 2020 เวลา 01:23 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ถั่วพิสตาชิโอมาจากไหน?
3
{หัวข้อของบทความนี้ถูกเสนอมาจากผู้อ่านนะครับ ใครอยากรู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิต สามารถเสนอได้ทางคอมเมนท์ครับ}
ถั่วชื่อแปลกที่ไม่คุ้นหูที่ชื่อว่า พิสตาชิโอนี้ ทุกอย่างของถั่วชนิดนี้ดูแปลกไปหมด ถั่วพิสตาชิโอที่นำมาขายส่วนใหญ่จะขายทั้งเปลือก แต่เปลือกกลับไม่ได้ปิดสนิท แต่เผยอออกเล็กน้อย เมื่อแกะออก เนื้อข้างในก็เป็นสีเขียวสดใส และมีเปลือกเมล็ดติดอยู่เล็กน้อย
ถั่วพิสตาชิโอผ่าครึ่ง
แล้วถั่วชนิดนี้มาจากไหนกันแน่?
การค้นหารากศัพท์ของชื่อแปลกๆ ของถั่วพิสตาชิโออาจจะเป็นตัวช่วยให้เรารู้ถึงที่มาของถั่วชนิดนี้ได้ ชื่อพิสตาชิโอ (Pistachio) ในภาษาอังกฤษมาจากชื่อในภาษาอิตาลี (pistacchio) ซึ่งมาจากภาษากรีก (pistakion) ที่มาจากภาษาเปอร์เซียอีกที่หนึ่ง โดยในภาษาเปอร์เซียเรียกถั่วชนิดนี้ว่า Pistak (ภาษาเปอร์เซียยุคกลาง) หรือ Pista (ภาษาเปอร์เซียใหม่)
ซึ่งรากศัพท์ของชื่อของถั่วชนิดนี้สะท้อนต้นกำเนิดของถั่วชนิดนี้ที่มาจากเอเชียกลางเช่นเดียวกันกับภาษาเปอร์เซีย โดยต้นพิสตาชิโอมีการแพร่กระจายอยู่ในธรรมชาติในอิหร่านและอัฟกานิสถาน โดยการศึกษาทางโบราณคดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอิรักพบว่า เมล็ดถั่วพิสตาชิโอถูกนำมาใช้เป็นอาหารตั้งแต่กว่า 8,000 ปีก่อน และเมื่อถึงยุคโรมัน เมล็ดของถั่วพิสตาชิโอก็ถูกนำไปปลูกในอิตาลีเมื่อประมาณ 2,000 ปีก่อน และแพร่กระจายไปยังบริเวณคาบสมุทรไอบีเรีย (ประเทศสเปนและโปรตุเกสในปัจจุบัน) ในเวลาต่อมา แม้แต่ในคัมภีร์ไบเบิลในพันธะสัญญาเก่า (The Old Testaments) ก็มีการพูดถึงถั่วพิสตาชิโอคู่กับอัลมอนด์อีกด้วย
1
ในศตวรรษที่ 19 ถั่วพิสตาชิโอได้แพร่กระจายไปที่ต่างๆ ในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ เช่น ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะในแคลิฟอร์เนีย และทำให้สหรัฐอเมริกากลายเป็นผู้ผลิตถั่วพิสตาชิโออันดับที่สองรองจากประเทศอิหร่าน
ถั่วพิสตาชิโอเป็นส่วนของเมล็ดของพิสตาชิโอซึ่งอยู่ในผล เมื่อผลดิบจะมีสีเขียว และเมื่อสุก ผลจะกลายเป็นสีแดงหรือเหลือง และผลจะแตกออกทำให้เห็นเมล็ดสีครีม เมื่อนำเมล็ดไปคั่ว เปลือกของเมล็ดจะเปิดออกให้เห็นเมล็ดที่อยู่ข้างในสีเขียว และเปลือกของเมล็ดสีแดง ลักษณะที่ผลแตกเมื่อสุกนี้จากการคัดเลือกพันธ์ุโดยมนุษย์ ซึ่งสายพันธุ์ที่นำมาขายจะมีการแตกออกในทุกๆ ผล
ผลของพิสตาชิโอที่อยู่บนต้น (ที่มา By Safa.daneshvar, CC BY-SA 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=32530487)
ลักษณะการแตกออกของเปลือกของเมล็ดถั่วพิสตาชิโอ
ถั่วพิสตาชิโอมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า [Pistacia vera] ในอดีตพิสตาชิโอถูกจัดเป็นวงศ์ของตัวเอง เนื่องจากมีลักษณะดอกและละอองเกสรที่แตกต่างจากพืชอื่นๆ แต่จากการศึกษาในระดับโมเลกุลพบว่า พิสตาชิโอจริงๆ แล้วสามารถจัดอยู่ในวงศ์ Anacardiaceae ซึ่งเป็นวงศ์เดียวกันกับมะม่วง มะม่วงหิมพานต์ และมะปราง
แล้วมะม่วงหิมพานต์ที่เป็นญาติกับถั่วพิสตาชิโอล่ะมาจากไหน มาจากอินเดียเหมือนมะม่วง ที่มีตำนานของป่าหิมพานต์รึเปล่า?
ผลและเมล็ดของมะม่วงหิมพานต์ ส่วนของเมล็ดเป็นส่วนที่ยื่นลงมาทางด้านล่าง(ที่มา By Abhishek Jacob, CC BY-SA 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=12698315)
จริงๆ แล้วถึงแม้จะมีชื่อแบบไทยๆ แต่มะม่วงหิมพานต์มาจากทวีปอเมริกา โดยพบแพร่กระจายในธรรมชาติอเมริกากลาง หมู่เกาะแคริบเบียน จนไปถึงตอนตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศบราซิล และถูกนำเข้ามาปลูกในภาคใต้ของประเทศไทยเมื่อร้อยกว่าปีก่อน (พ.ศ. 2444) โดยพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี๊ ณ ระนอง)
ส่วนประวัติของมะม่วงนั้น สามารถอ่านได้ในนี้ครับ
เอกสารอ้างอิง
4. Yi, T., Wen, J., Golan‐Goldhirsh, A. and Parfitt, D.E. (2008), Phylogenetics and reticulate evolution in Pistacia (Anacardiaceae). American Journal of Botany, 95: 241-251. doi:10.3732/ajb.95.2.241

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา