16 ม.ค. 2021 เวลา 06:06 • การศึกษา
[ตอนที่ 6] ภาษาต่าง ๆ ในประเทศจีน
Languages in China
สำหรับเนื้อหาในตอนนี้จะแนะนำภาพรวมเกี่ยวกับภาษาต่าง ๆ ในประเทศจีน ซึ่งบางคนอาจเข้าใจว่าคนจีนทุกคนต้องใช้ภาษาจีนกลางเท่านั้น แต่ที่จริงแล้วเขาอาจใช้ภาษาจีนกลางเป็นภาษาที่ 2 ภาษาแม่ของเขากลับเป็นภาษาอื่น หรือเมื่อเดินทางไปภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศจีน คุณอาจจะเจอกับภาษาอื่นที่ไม่ใช่ภาษาจีนกลาง ภาษาจีนกลางที่เราเรียนมาใช้ในจีนอาจแตกต่างไปจากที่คนท้องถิ่นใช้ เรามาทำความรู้จักประเทศจีนในฐานะ “ดินแดนที่มีความหลากหลายทางภาษา” กันเลยครับ
ภาพจำลองพื้นที่ประเทศจีนจากอวกาศ [Credit ภาพ : Przemek Pietrak]
ดนตรีแนะนำให้เปิดฟังคลอประกอบระหว่างอ่านบทความ :
ดนตรีประกอบการเต้นรำของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ 5 กลุ่มในจีน (มองโกล หุย จ้วง อุยกูร์ และทิเบต) โดยสถานีโทรทัศน์ CCTV ของจีนในปี ค.ศ.2011
เนื่องจากประเทศจีนมีประชากรประมาณ 1.4 พันล้านคนจากหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ มีพื้นที่กว้างใหญ่จนเกือบเท่าทวีปยุโรป (พื้นที่ประเทศจีนประมาณ 9.6 ล้านตารางกิโลเมตร พื้นที่ทวีปยุโรปประมาณ 10.18 ล้านตารางกิโลเมตร) ครอบคลุมสภาพแวดล้อมและภูมิประเทศที่หลากหลาย ตั้งแต่เมืองใหญ่ที่ทันสมัยและพลุกพล่านตามแถบชายฝั่งตะวันออกอย่างเซี่ยงไฮ้และฮ่องกง พื้นที่ทางตะวันตกเฉียงใต้ที่อุดมไปด้วยเทือกเขาและป่าไม้อย่างมณฑลยูนนาน และพื้นที่ทุ่งหญ้าแห้งแล้งกว้างใหญ่ทางเหนืออย่างเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน ความหลากหลายทางกลุ่มชาติพันธุ์ สภาพแวดล้อม ภูมิประเทศจึงส่งผลให้มีภาษาต่าง ๆ ที่ใช้พูดกันในประเทศจีนประมาณ 300 ภาษา และยังมีสำเนียงต่าง ๆ แบ่งย่อยอีกนับไม่ถ้วน
ภาษาต่าง ๆ กลุ่มที่มีประชากรจำนวนมากในประเทศจีนใช้ เรียกรวมกันว่า “กลุ่มภาษาจีน” (Sinitic languages / 汉语族) ประกอบด้วยกลุ่มภาษาจีน 8 กลุ่มหลัก ซึ่งต่างกันตรงเสียงวรรณยุกต์กับคำศัพท์ แม้ว่าจะใช้อักษรจีนร่วมกัน นักภาษาศาสตร์ส่วนหนึ่งจึงนับภาษาเหล่านี้เป็น “ภาษาย่อย” แต่ก็มีนักภาษาศาสตร์อีกส่วนที่ถือว่าเป็น “สำเนียงท้องถิ่น” ซึ่งในบางครั้งคนจีนที่ใช้ภาษาจีนคนละกลุ่มเป็นภาษาแม่จะไม่สามารถพูดสื่อสารเข้าใจระหว่างกัน ต้องใช้อักษรจีนประกอบหรือเปลี่ยนไปใช้ภาษาจีนกลางเป็นสื่อกลางแทน
กลุ่มภาษาจีน 8 กลุ่มหลัก ได้แก่
แผนที่บริเวณครึ่งประเทศจีนฝั่งตะวันออก และเกาะไต้หวัน แสดงการกระจายตัวของผู้คนที่พูดกลุ่มภาษาจีนกลุ่มต่าง ๆ โดยอาศัยข้อมูลจาก Language Atlas of China [Credit แผนที่ : User 'Rizorius' & 'Kanguole' @ Wikipedia.org ]
- ภาษาจีนกลาง (Mandarin Chinese / 官话) : มีจำนวนผู้พูดประมาณ 900 ล้านคน หรือ 2 ใน 3 ของประชากรผู้ใช้ภาษาในกลุ่มภาษาจีนเป็นภาษาแม่ กระจายตัวตามพื้นที่ทางภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตกเฉียงใต้ ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ทางการจีนพยายามผลักดันความเป็นหนึ่งเดียวกันในชาติ หนึ่งในนโยบายที่เกี่ยวข้องคือ การส่งเสริมการใช้ภาษาจีนกลางสำเนียงกรุงปักกิ่งให้เป็น “ภาษาจีนมาตรฐานยุคใหม่” เพื่อใช้ในทางการศึกษาและราชการ
ปัจจุบันนี้ ภาษาจีนกลางเป็นภาษาทางราชการของประเทศจีนและหนึ่งในภาษาทางราชการของสหประชาชาติ และรัฐบาลจีนได้ตั้งเป้าหมายผลักดันให้มีจำนวนผู้ใช้ภาษาจีนกลางเพิ่มขึ้นเป็น 80% ของประชากรประเทศจีนภายในปี ค.ศ.2020 ทำให้ภาษาจีนกลางลดบทบาทของกลุ่มภาษาจีนกลุ่มอื่น
- ภาษาอู๋ (Wu Chinese / 吴语) : มีประชากรที่พูดภาษานี้เป็นภาษาแม่ราว 90 – 100 ล้านคน กลุ่มภาษากลุ่มนี้จะใช้พูดแถบนครเซี่ยงไฮ้และมณฑลเจ้อเจียง ตัวอย่างของภาษาสมาชิกในกลุ่มนี้คือ ภาษาเซี่ยงไฮ้ (Shanghainese / 上海话)
- ภาษาเยว่ (Yue Chinese / 粤语) หรือภาษากวางตุ้ง (Cantonese / 广东话) : มีประชากรที่พูดภาษานี้เป็นภาษาแม่ราว 80 ล้านคน กลุ่มภาษากลุ่มนี้จะใช้พูดแถบมณฑลกว่างตง มาเก๊า ฮ่องกง และเขตปกครองตนเองกว่างซี ภาษาเยว่หรือกวางตุ้งยังมีความใกล้เคียงภาษาจีนโบราณมากกว่าภาษาจีนกลุ่มอื่น นอกจากนี้ จุดเด่นอย่างหนึ่งของภาษานี้คือ มีเสียงวรรณยุกต์มากถึง 9 เสียง
- ภาษาหมิ่น (Min Chinese / 闽语) : มีประชากรที่พูดภาษานี้เป็นภาษาแม่ราว 60 – 70 ล้านคน กลุ่มภาษากลุ่มนี้จะใช้พูดแถบมณฑลฝูเจี้ยน เกาะไต้หวัน และเกาะไห่หนาน (ไหหลำ) ตัวอย่างของภาษาสมาชิกในกลุ่มนี้คือ ภาษาฮกเกี้ยน (Hokkien / 福建话) และภาษาแต้จิ๋ว (Teochew / 潮州话)
- ภาษาจิ้น (Jin Chinese / 晋语) : มีประชากรที่พูดภาษานี้เป็นภาษาแม่ราว 65 ล้านคน กลุ่มภาษากลุ่มนี้จะใช้พูดแถบมณฑลซานซี
- ภาษาฮากกา/ภาษาแคะ (Hakka Chinese / 客家话) : มีประชากรที่พูดภาษานี้เป็นภาษาแม่ราว 35 – 40 ล้านคน กลุ่มภาษากลุ่มนี้จะใช้พูดแถบมณฑลหูหนาน
- ภาษาเซียง (Xiang Chinese / 湘语) หรือภาษาหูหนาน (Hunanese) : มีประชากรที่พูดภาษานี้เป็นภาษาแม่ราว 35 – 40 ล้านคน กลุ่มภาษากลุ่มนี้จะใช้พูดแถบรอยต่อระหว่างมณฑลกว่างตง-มณฑลฝูเจี้ยน-มณฑลเจียงซี
- ภาษากั้น (Gan Chinese / 赣语) : มีประชากรที่พูดภาษานี้เป็นภาษาแม่ราว 20 ล้านคน กลุ่มภาษากลุ่มนี้จะใช้พูดแถบ มณฑลเจียงซี ภาษากั้นมีความใกล้เคียงกับภาษาฮากกามากที่สุดในบรรดากลุ่มภาษาจีน
หากผู้อ่านอยากลองฟังกลุ่มภาษาจีนกลุ่มหลักต่าง ๆ สามารถลองฟังได้ในคลิปนี้
กลุ่มภาษาจีนยังเป็นกลุ่มภาษาที่อยู่ภายใต้ “ตระกูลภาษาจีน-ทิเบต” (Sino-Tibetan languages) ร่วมกับภาษาทิเบต (Tibetan) ที่ใช้ในเขตปกครองตนเองทิเบต (ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ) ซึ่งหากพิจารณาทั้งกลุ่มภาษาจีนและภาษาทิเบต จะมีสำเนียงท้องถิ่นต่าง ๆ จำนวนมาก
นอกจากนี้ ในประเทศจีนยังมีการใช้ภาษาในตระกูลภาษาอื่น ๆ ตามภูมิภาคต่าง ๆ ซึ่งมีทั้งภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกับผู้คนในดินแดนเพื่อนบ้าน หรือเป็นภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ท้องถิ่น และใช้ตัวอักษรแบบอื่นที่ไม่ใช่อักษรจีน ได้แก่...
แผนที่ประเทศจีนจากสำนักข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (CIA) แสดงการกระจายตัวของผู้คนที่ใช้ภาษากลุ่มต่าง ๆ ในปี ค.ศ.1990 ได้แก่ กลุ่มภาษาจีน (แยกสีระหว่างภาษาจีนกลาง และภาษาจีนกลุ่มอื่นทางภาคใต้และภาคตะวันออก) ภาษาทิเบต กลุ่มภาษากัม-ไท ตระกูลภาษาม้ง-เมี่ยน (ในแผนที่ใช้ชื่อ Miao-Yao) ตระกูลภาษาอินโด-ยูโรเปียน ตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติก ตระกูลภาษาเติร์ก ภาษามองโกเลีย ตระกูลภาษาตุงกูส และภาษาเกาหลี
[ภาคตะวันออกเฉียงเหนือกับภาคเหนือ]
- ตระกูลภาษาเกาหลี (Koreanic languages) : ภาษาเกาหลี (Korean) บริเวณชายแดนเกาหลีเหนือ
- ตระกูลภาษาตุงกูส (Tungusic languages) : ภาษาแมนจู (Manchu) ซึ่งเป็นภาษาใกล้สูญในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
- ตระกูลภาษามองโกล (Mongolic languages) : ภาษามองโกเลีย (Mongolian) บริเวณเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน
[ภาคกลางและใต้ กับภาคตะวันตกเฉียงใต้]
- ตระกูลภาษาไท-กะได (Kra-Dai languages ตระกูลภาษาร่วมกับภาษาไทย) : ภาษาจ้วง (Zhuang) บริเวณมณฑลกว่างซี หรือภาษาไทลื้อ (Tai Lue) ในพื้นที่สิบสองปันนาบริเวณชายแดนลาว
- ตระกูลภาษาม้ง-เมี่ยน (Hmong-Mien languages) : ภาษาม้ง (Hmong) และภาษาเมี่ยน (Mien) บริเวณทางใต้ของจีน
- ตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติก (Austroasiatic languages) หรือตระกูลภาษามอญ-เขมร (Mon-Khmer languages) : ภาษาปะหล่อง (Palaung) และภาษาว้า (Wa) บริเวณชายแดนเมียนมากับลาวในมณฑลยูนนาน
2
[ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ (ตามบริเวณชายแดนตะวันตกของเขตปกครองตนเองซินเจียง)]
- ตระกูลภาษาเติร์ก (Turkic languages) : ภาษาอุยกูร์ (Uyghur) ภาษาคาซัค (Kazakh) และภาษาคีร์กีซ (Kyrgyz)
- ตระกูลภาษาอินโด-ยูโรเปียน (Indo-European languages) : ภาษาทาจิก (Tajik)
เมื่ออ่านจนถึงตรงนี้ ผมคิดว่าคนอ่านคงจะพอเห็นภาพว่าในประเทศจีนมีการใช้ภาษาต่าง ๆ จำนวนมาก ไม่ได้มีเฉพาะภาษาจีนกลางอย่างเดียว แต่ยังมีภาษากลุ่มอื่นในกลุ่มภาษาจีน (อย่างภาษากวางตุ้ง) หรือภาษาอื่น (อย่างภาษาเกาหลี ภาษาทิเบต ภาษามองโกเลีย) ซึ่งข้อมูลดังกล่าวอาจช่วยให้เราติดต่อหรือพูดคุยกับคนจีนได้ราบรื่นขึ้น หากเราทราบภูมิหลังทางวัฒนธรรมของอีกฝ่ายครับ (เช่น เขาเป็นคนจากภูมิภาคไหนของจีน)
[แหล่งที่มาข้อมูล]
- China : Phrasebook & Dictionary. Lonely Planet; 2015.
- Elizabth Scurfield. Complete Mandarin Chinese. London, UK: Hodder Education; 2010.
- Yip Po-Ching, Don Rimmington. Chinese – An Essential Grammar. London, UK: Routledge; 1997.
โฆษณา