ในช่วงที่จูกัดเหลียงมีบทบาทเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ได้ตั้งเป้าหมายของจ๊กก๊กเป็นการฟื้นฟูราชวงศ์ฮั่น ซึ่งจากมุมมองของจ๊กก๊กแล้วราชวงศ์ฮั่นโดนรัฐวุยก๊กแย่งชิงอำนาจไป จูกัดเหลียงเห็นว่าก่อนจะโจมตีวุยก๊ก ต้องสร้างเอกภพมั่นคงสมบูรณ์ในจ๊กก๊กเป็นอันดับแรก. จูกัดเหลียงกังวลว่ากลุ่มตระกูลท้องถิ่นจะร่วมมือกับชนเผ่าลำมัน (หนานหมาน) ในภูมิภาคหนานจงก่อกบฏขึ้น เกรงว่ากบฏจะบุกเข้ายึดพื้นที่โดยรอบเมืองหลวงเซงโต๋ระหว่างที่ตนยกทัพบุกวุยก๊กทางเหนือ จูกัดเหลียงจึงตัดสินใจจะสยบชนเผ่าทางใต้เป็นอันดับแรก ในฤดูใบไม้ผลิปี ค.ศ. 225 กลุ่มตระกูลต่าง ๆ ในภูมิภาคหนานจง รวมถึงตระกูลยง เกา จู และเมิ่งได้เข้ายึดเมืองทางใต้บางเมือง จูกัดเหลียงจึงนำทัพบุกไปยังหนานจง ม้าเจ๊กเสนอว่าควรพยายายามเอาชนะใจชาวลำมันและร่วมสนับสนุนกันแทนที่จะใช้กำลังทหารปราบปราม จูกัดเหลียงปฏิบัติตามคำแนะนำของม้าเจ๊กและเอาชนะเบ้งเฮ็ก (เมิ่ง ฮั่ว) ผู้นำกบฏเจ็ดครั้งตามที่มีระบุอ้างในบันทึกประวัติศาสตร์ในหนหลัง เช่น พงศาวดารหฺวาหยาง จูกัดเหลียงปล่อยเบ้งเฮ็กทุกครั้งที่จับตัวได้เพื่อให้เบ้งเฮ้กยอมสวามิภักดิ์จากใจจริง. เรื่องราวเกี่ยวกับการจับกุมเบ้งเฮ็กเจ็ดครั้งถูกตั้งคำถามเรื่องความน่าเชื่อถือโดยนักวิชาการสมัยใหม่หลายคน รวมถึงนักประวัติศาสตร์เช่น เมี่ยว เยฺว่, ถัน เหลียงเซี่ยว และจาง หฺวาหลัน เบ้งเฮ็กตระหนักว่าตนไม่มีโอกาสชนะ จึงยอมสวามิภักดิ์ต่อจ๊กก๊ก และได้รับการแต่งตั้งจากจูกัดเหลียงให้เป็นผู้ว่าการภูมิภาคเพื่อเอาใจชาวท้องถิ่นและป้องกันชายแดนทางใต้ของจ๊กก๊ก ทั้งนี้เพื่อให้แน่ใจว่าการยกทัพบุกเหนือในอนาคตจะดำเนินต่อไปโดยไม่มีการหยุดชะงักด้วยสาเหตุจากภายใน ทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ที่ได้รับจากหนานจงถูกนำมาใช้เป็นทุนให้กับกองทัพจ๊กก๊ก รัฐจ๊กก๊กจึงเจริญรุ่งเรืองขึ้น
ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น เมืองหลายเมืองในภูมิภาคหนานจงก่อกบฏต่อต้านจ๊กก๊ก แต่จูกัดเหลียงไม่ได้ส่งกำลังทหารไปปราบปรามการจลาจล เนื่องจากเล่าปี่เพิ่งสวรรคตไปไม่นาน เล่าปี่ถูกโน้มน้าวโดยลกซุนหลังเล่าปี่พ่ายแพ้ในยุทธการที่อิเหลงว่าจำเป็นต้องที่จ๊กก๊กต้องเป็นพันธมิตรกับง่อก๊ก จูกัดเหลียงส่งเตงจี๋และตันจิ๋นไปเจรจาสันติภาพกับง่อก๊กและกลับมาเป็นพันธมิตรกัน จูกัดเหลียงมักส่งทูตไปง่อก๊กเป็นประจำเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างทั้งสองรัฐ ในปี ค.ศ. 229 ซุนกวนสถาปนาตนเป็นจักรพรรดิ ทำให้ขุนนางของจ๊กก๊กหลายคนไม่พอใจเพราะถือว่าราชวงศ์ฮั่น (รวมถึงจ๊กก๊ก) เป็นราชวงศ์ดั้งเดิมเพียงราชวงศ์เดียว ขุนนางของจ๊กก๊กบางคนถึงกับเสนอให้ตัดความสัมพันธ์ระหว่างจ๊กก๊กและง่อก๊ก แต่จูกัดเหลียงให้ความเห็นว่าพันธมิตรจ๊กก๊ก-ง่อ๊กยังคงมีความจำเป็น จึงปล่อยวางเรื่องที่ซุนกวนตั้งตนเป็นจักรพรรดิไว้ชั่วคราว แล้วยังมีการส่งทูตของจ๊กก๊กไปแสดงความยินดีกับซุนกวนเพื่อกระชับความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่าย
จูกัดเหลียงเห็นคุณค่าของผู้มีความสามารถเป็นอย่างมาก จึงให้ความใส่ใจกับการศึกษาเป็นพิเศษเพื่อปลูกฝังและสรรหาขุนนางผู้มีสามารถเพิ่มเติมให้มารับราชการกับราชสำนักจ๊กก๊ก จูกัดเหลียงริเริ่มตำแหน่งขุนนางผู้ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ (勸斈從事 เชฺวี่ยนเสฺวียฉงชื่อ) ซึ่งมีผู้ดำรงตำแหน่งเป็นปัญญาชนท้องถิ่นที่มีชื่อเสียงหลายคนเช่นเจียวจิ๋ว เจียวจิ๋วดำรงตำแหน่งนี้เป็นเวลานานมากและมีอิทธิพลเป็นอย่างสูง ลูกศิษย์คนหนึ่งของเจียวจิ๋วชื่อตันซิ่ว (เฉิน โช่ว) เป็นผู้เขียนจดหมายเหตุสามก๊ก (ซันกั๋วจื้อ) ต่อมาจูกัดเหลียงได้ก่อตั้งสำนักศึกษาใหญ่ (太斈府 ไท่เสฺวียฝู่) ซึ่งเป็นสถานที่ฝึกอบรมโดยใช้วรรณกรรมขงจื๊อเป็นตำราเรียน จูกัดเหลียงยังได้สร้าง "สำนักอ่านตำรา" หลายแห่งทั้งในเซงโต๋และในแนวหน้าระหว่างการบุกขึ้นเหนือ สำนักต่าง ๆ ดังกล่าวทำหน้าที่เป็นสถานที่สำหรับการอภิปรายในหัวข้อต่าง ๆ และด้วยการอภิปรายเช่นนี้จะทำให้สามารถค้นพบและสรรหาผู้มีความสามารถได้ Yao Tian ผู้ว่าการเขตก๋งฮาน (กวั่งฮั่น) ของจ๊กก๊กได้แนะนำผู้มีความสามารถจำนวนมากให้ราชสำนัก จึงได้รับการชื่นชมอย่างมากจากจูกัดเหลียง จูกัดเหลียงยังได้จัดตั้งกลไก "สำนักอภิปราย" เพื่อรวบรวมการอภิปรายทั้งหมดของนโยบายบางอย่าง และส่งเสริมให้ขุนนางยอมรับคำวิพากษ์วิจารณ์ของผู้ใต้บังคับบัญชาเพื่อวินิจฉัยอย่างเหมาะสมและใช้ความสามารถทั้งหมดผู้ใต้บังคับบัญชาให้เป็นประโยชน์ จูกัดเหลียงดำเนินนโยบายคุณธรรมนิยม ส่งเสริมและประเมินบุคคลตามผลงานและความสามารถมากกว่าชื่อเสียงหรือภูมิหลัง
จูกัดเหลียงสนับสนุนการใช้หลักนิติธรรมในจ๊กก๊กอย่างเข้มงวด อี้ จงเทียนให้ความเห็นว่า "หลักนิติธรรม" ร่วมกับ "การปกครองในนามโดยประมุขและการปกครองโดยตรงโดยอัครมหาเสนาบดี" เป็นสิ่งตกทอดที่สำคัญสองประการของจูกัดเหลียงซึ่งหลายคนลืมเลือนไปอย่างน่าเสียดาย หลังจากเล่าปี่เข้ามณฑลเอ๊กจิ๋ว จูกัดเหลียงร่วมกับหวดเจ้ง เล่าป๋า ลิเงียม และอีเจี้ยร่วมกันร่างประมวลกฎหมายของจ๊กก๊ก เพื่อยับยั้งการฉ้อราษฎร์บังหลวงและความเสื่อมโทรมที่ก่อขึ้นโดยขุนนางท้องถิ่นในเอ๊กจิ๋ว จูกัดเหลียงได้ประกาศใช้นโยบายตามหลักปรัชญานิตินิยม บังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดแต่ยุติธรรมและโปร่งใส และจำกัดอำนาจของตระกูลที่มั่งคั่ง ต่อมาจูกัดเหลียงจะดำเนินการลงโทษขุนนางระดับสูงเช่นลิเงียม ผู้ติดตามใกล้ชิดอย่างม้าเจ๊ก และถึงกับลดตำแหน่งของตนเองเพื่อรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย แต่จูกัดเหลียงก็ละเว้นการลงโทษเกินกว่าเหตุและบังคับใช้กฎหมายด้วยความระมัดระวังอย่างสูง สี จั้วฉื่อยกย่องนโยบายการปกครองของจูกัดเหลียงว่า "ตั้งแต่ยุคราชวงศ์จิ๋นและฮั่นมาไม่มีใครเทียบได้" แม้จูกัดเหลียงจะลงโทษขุนนางระดับสูงอย่างลิเงียมและเลี่ยว ลี่ แต่ทั้งคู่ยังให้ความเคารพจูกัดเหลียงและเชื่อมั่นว่าจูกัดเหลียงจะรับพวกตนเข้ารับราชการอีกครั้งหลังจากได้รับการลงโทษอย่างเพียงพอแล้ว. จูกัดเหลียงยังส่งเสริมการประพฤติตามหลักจริยธรรม ตัวจูกัดเหลียงเองใช้ชีวิตอย่างเข้มงวดและอดทนเพื่อเป็นแบบอย่าง จูกัดเหลียงไม่ครอบครองทรัพย์สินมากเกินควร ละเว้นจากการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย อาศัยเบี้ยหวัดจากราชสำนักเป็นหลัก ขุนนางของจ๊กก๊กอย่างเตงจี๋ บิฮุย เกียงอุย และเตียวเอ๊กต่างก็ประพฤติปฏิบัติตามหลักกฎหมายและจริยธรรมอย่างเหมาะสมและเคร่งครัด ทำให้ราชสำนักจ๊กก๊กสามารถรักษาระดับความโปร่งใสและความซื่อสัตย์ได้ในระดับสูง อี้ จงเทียนยกย่องจ๊กก๊กว่าเป็นแบบอย่างของ "การปกครองบนพื้นฐานของเหตุผล" ที่ดีที่สุดในสามก๊ก ความไม่ทุจริตและความโปร่งใสของจูกัดเหลียงกับผู้เกี่ยวข้องช่วยป้องกันจ๊กก๊กจากการล่มสลายเพราะภาระค่าใช้จ่ายมหาศาล ไม่ใช่ทุกคนที่พอใจกับนโยบายตามหลักนิตินิยมดังกล่าว กัว ชงวิจารณ์นโยบายของจูเหลียงว่า "โหดร้าย" และ "เห็นแก่ตัว" ซึ่ง "ทุกคนตั้งแต่ผู้สูงศักดิ์ไปจนถึงสามัญชน" ต่างไม่พอใจ เผย์ ซงจือไม่เห็นด้วยกับคำวิจารณ์ดังกล่าวเพราะการบังคับใช้กฎหมายของจูกัดเหลียงนั้นมีความเหมาะสมและไม่มีทาง "เห็นแก่ตัว" ซึ่งขัดแย้งกับความเห็นของตันซิ่วว่า "ไม่มีใครไม่พอใจแม้ว่ากฎหมายเข้มงวด" อี้ จงเทียนให้ความเห็นว่าการประเมินที่ขัดแย้งกันเป็นสองขั้วนี้ต่างก็ถูกต้อง เนื่องจากราษฎรจ๊กก๊กพึงพอใจกับความเป็นธรรรมและความโปร่งใสของจูกัดเหลียง แต่ก็มีบางคนที่ไม่พอใจความเข้มงวดจนเกินไปของจูกัดเหลียง นอกจากนี้ความเป็นธรรมและการปกครองด้วยหลักกฎหมายของจูกัดเหลียงมีผลไปบีบคั้นขุนนางท้องถิ่นอย่างหลักเลี่ยงไม่ได้ ป้องปรามเหล่าขุนนางจากการใช้อำนาจในที่ผิดและการจัดการการเมืองกับมติมหาชน จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมปัญญาชนท้องถิ่นในจ๊กก๊กจำนวนมากจึงรับรองการบุกจ๊กก๊กของวุยก๊กโดยปริยาย แม้ว่าจะเคารพจูกัดเหลียงด้วยก็ตาม ข้อเท็จจริงนี้ได้รับการยืนยันจากบุคคลร่วมสมัยอย่างเตียวอุ๋น และซุนกวน ยฺเหวียน จุ่นในยุคราชวงศ์จิ้นก็ยกย่องจูกัดเหลียงเป็นอย่างสูงในเรื่องทักษะการบริหารและเกียรติคุณ จากการที่ผู้คนยังคงร้องเพลงยกย่องจูกัดเหลียงในช่วงเวลาหลายสิบปีหลังการเสียชีวิตของจูกัดเหลียง
ตระกูลที่มั่งคั่งในมณฑลเอ๊กจิ๋วไมได้ถูกควบคุมโดยเจ้ามณฑลคนก่อน ตระกูลเหล่านี้จึงกระทำการเอารัดเอาเปรียบราษฎรอย่างอิสระและมีชีวิตที่หรูหราฟุ่มเฟือย เป็นผลทำให้ความยากจนของราษฎรแผ่ขยายไปทั่ว การปฏิรูปเศรษฐกิจ-การเมืองจึงเป็นปัญหาที่สำคัญที่สุดของจูกัดเหลียง รากฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งยังจำเป็นต้องการความจงรักภักดีของราษฎรต่อการปกครองของจ๊กก๊ก ซึ่งจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการทำศึกบุกวุยก๊กในอนาคต จูกัดเหลียงจึงให้ความกระจ่างว่าความสำคัญหลักของนโยบายของตนคือการรักษาเสถียรภาพและปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้คน[24] นโยบายใหม่ของจูกัดเหลียงมีผลบังคับใช้ตั้งแต่รัชสมัยของเล่าปี่และยังดำเนินต่อไปในรัชสมัยของเล่าเสี้ยน จูกัดเหลียงดำนินการกวาดล้างข้าราชการทุจริต ยกเว้นภาษี และจำกัดการใช้อำนาจในทางที่ผิดของขุนนางต่อราษฎร ลดการบังคับใช้แรงงานและการระดมกำลังทหารและจัดระเบียบใหม่เพื่อป้องกันการหยุดชะงักของกิจกรรมการเกษตร ระบบถุนเถียนของโจโฉได้ถูกนำมาปรับใช้อย่างกว้างขวางเพื่อเพิ่มผลผลิตอาหาร เขื่อนเพื่อการเกษตรได้รับการบูรณะและซ่อมแซม รวมถึงเขื่อนจูกัดที่มีชื่อเสียงทางตอนเหนือของเซงโต๋ ด้วยการปฏิรูปนี้ผลผลิตทางการเกษตรของจ๊กก๊กจึงเติบโตอย่างมากและสามารถคงกิจกรรมทางทหารไว้ได้ การผลิตเกลือ การผลิตไหม และการผลิตโลหะ สามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่โดดเด่นของภูมิภาคจ๊กก็เป็นที่สนใจของจูกัดเหลียง เล่าปี่ทำตามข้อเสนอของจูกัดเหลียงในการก่อตั้งสำนักจัดการการผลิตเกลือและโลหะโดยเฉพาะ ซึ่งกำกับโดยอองเลี้ยนและจาง อี้ตามลำดับ นอกจากนี้ยังมีการก่อตั้งสำนักจัดการไหมโดยเฉพาะ เซงโต๋จึงได้ชื่อว่าเป็น "เมืองแห่งไหม" จดหมายเหตุสามก๊กระบุว่าการผลิตเกลือในจ๊กก๊กมีความเจริญรุ่งเรืองอย่างสูงและสร้างรายได้ให้กับราชสำนักเป็นอย่างมาก Fu Yuan ช่างโลหะท้องถิ่นที่มีชื่อเสียงได้รับความไว้วางใจจากจูกัดเหลียงให้วิจัยโลหกรรมและจัดการปรับปรุงกลวิธีในการประดิษฐ์อาวุธโลหะสำหรับทัพจ๊กก๊ก การผลิตผ้าไหมก็มีการเติบโตอย่างมากเช่นกัน เมื่อสิ้นสุดการปกครองของจ๊กก๊กมีการสะสมผ้าไหมได้ถึง 200,000 ชิ้นในพระคลังหลวง ไร่ของครอบครัวจูกัดเหลียงมีต้นหม่อน 800 ต้นสำหรับเลี้ยงหนอนไหม ระบบเงินตราในช่วงปลายราชวงศ์ฮั่นเกิดความปั่นป่วนรุนแรงเนื่องจากความวุ่นวายทางการเมือง เมื่อเล่าปี่และจูกัดเหลียงก่อตั้งฐานที่มั่นของตนในมณฑลเอ๊กจิ๋ว ได้ทำตามคำแนะนำของเล่าป๋าในการออกกฎหมายปฏิรูปเงินตราอย่างได้ผล เงินตราใหม่จ๊กก๊กไม่เพียงแต่หมุนเวียนอย่างลื่นไหลในเอ๊กจิ๋วเท่านั้น ยังเป็นที่นิยมในมณฑลเกงจิ๋วอันเป็นมณฑลใกล้เคียงด้วย ในขณะที่นโยบายที่คล้ายคลึงกันของโจโฉ โจผี โจยอย และซุนกวน ประสบกับความยุ่งยากและให้ผลตอบแทนน้อย
หลังเล่าปี่สวรรคต เล่าเสี้ยนขึ้นสืบราชบัลลังก์ของจ๊กก๊ก แต่งตั้งให้จูกัดเหลียงมีบรรดาศักดิ์เป็น "โหฺวแห่งอู่เซียง" (武鄉侯 อู่เซียงโหฺว) และก่อตั้งสำนักอัครมหาเสนาบดีให้จูกัดเหลียง ไม่นานหลังจากนั้น จูกัดเหลียงได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้ามณฑลเอ๊กจิ๋ว อันเป็นภูมิภาคที่รวมอาณาเขตส่วนใหญ่ของจ๊กก๊ก การที่จูกัดเหลียงเป็๋นทั้งอัครมหาเสนาบดี (บริหารจัดการขุนนางโดยตรง) และเจ้ามณฑล (บริหารจัดการราษฎรโดยตรง) หมายความว่าทั้งข้าราชการและคนทั่วไปกล่าวคือกิจการของรัฐทั้งหมดล้วนอยู่ในอำนาจของจูกัดเหลียง การมีสำนักอัครมหาเสนาบดีที่เป็นอิสระ (พร้อมผู้ใต้บังคับบัญชาอิสระ) หมายถึงว่าอำนาจของจูกัดเหลียงค่อนข้างเป็นอิสระจากพระราชอำนาจของจักรพรรดิ ดังที่ในจดหมายเหตุสามก๊กระบุว่าราชการทั้งใหญ่น้อยจูกัดเหลียงล้วนจัดการโดยตรง ส่วนพระเจ้าเล่าเสี้ยนเป็นเพียงผู้นำแต่ในนาม นอกจากนี้ตัวพระเจ้าเล่าเสี้ยนก็ได้รับการศึกษาและการดูแลอย่างเข้มงวดจากจูกัดเหลียง สถานการณ์เป็นเช่นนี้โดยตลอดจนกระทั่งจูกัดเหลียงถึงแก่กรรม มีการพยายามอธิบายหลายครั้งว่าทำไมจูกัดเหลียงจึงไม่ยอมคืนพระราชอำนาจให้เล่าเสี้ยน อี้ จงเทียนเสนอเหตุผลไว้สามข้อ 1. จูกัดเหลียงสนับสนุนให้จักรพรรดิมีบทบาทเป็นผู้นำทางอ้อม และให้อัครมหาเสนาบดีจัดการราชการแผ่นดินโดยพระปรมาภิไธยของพระองค์ คล้ายคลึงกับสถานการณ์ในช่วงต้นราชวงศ์ฮั่นตะวันตก ตามความเห็นของจูกัดเหลียง หากจักรรพรดิจัดการราชการโดยตรง ก็จะไม่มีใครถูกตำหนิหากเกิดปัญหาขึ้น แต่ถ้าอัครมหาเสนาบดีอันเป็นผู้แทนพระองค์รับหน้าที่จัดการราชการ จักรพรรดิก็จะสามารถตั้งกระทู้ถามอัครมหาเสนาบดีในกรณีที่ราชการผิดพลาดได้ 2. จูกัดเหลียงเห็นว่าเล่าเสี้ยนยังไม่มีประสบการณ์เพียงพอที่จะจัดการราชการของรัฐโดยตรง จูกัดเหลียงจึงตัดสินใจทำด้วยตนเองเพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีข้อผิดพลาดเกิดขึ้น 3. สถานการณ์ของจ๊กก๊กในเวลานั้นมีความซับซ้อนมาก ซึ่งต้องการวิธีการแก้ปัญหาที่ผ่านการวางแผนมาเป็นอย่างดีมาก เล่าเสี้ยนที่ขาดประสบการณ์ไม่สามารถรับมือปัญหาได้ แต่จูกัดเหลียงทำได้
ในฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. 223 เล่าปี่ถอยทัพมาที่หย่งอัน (ปัจจุบันคืออำเภอเฟิ่งเจี๋ย นครฉงชิ่ง) หลังจากพ่ายแพ้ในยุทธการที่อิเหลงแล้วล้มป่วยหนัก เล่าปี่เรียกตัวจูกัดเหลียงจากเซงโต๋แล้วกล่าวว่า "ท่านมีความสามารถมากกว่าโจผีสิบเท่า มีความสามารถจะรักษาแผ่นดินและสำเร็จการใหญ่ได้ หากบุตรข้าพอจะช่วยได้ก็จงช่วย แต่หากบุตรข้าไร้ความสามรถ ท่านจงชิงบัลลังก์เถิด" จูกัดเหลียงตอบทั้งน้ำตาว่า "กระหม่อมจะรับใช้อย่างสุดความสามารถด้วยความภักดีไม่คลอนแคลนจนกว่าสิ้นชีวิต" เล่าปี่จึงสั่งให้เล่าเสี้ยนผู้บุตรบริหารราชการแผ่นดินร่วมกับจูกัดเหลียง และให้นับถือจูกัดเหลียงเหมือนเป็นบิดาของตน มีการถกเถียงกันเกี่ยวกับคำกล่าวสุดท้ายของเล่าปี่ที่บอกให้จูกัดเหลียง "ชิงบัลลังก์" (君可自取 จฺวินเข่อจื้อฉฺวี่) ในหนังสือ "พิเคราะห์สามก๊ก" ของอี้ จงเทียนนำเสนอการตีความคำกล่าวของเล่าปี่ไว้หลายมุมมอง ตันซิ่ว (เฉิน โซฺ่ว) ให้ความเห็นว่าเล่าปี่ไว้วางใจจูกัดเหลียงอย่างสุดใจและอนุญาตให้จูกัดเหลียง "ชิงบัลลังก์" จริง ๆ บางคนแย้งว่าเล่าปี่พูดเช่นนี้เพียงเพื่อจะทดสอบความจงรักภักดีของจูกัดเหลียง เพราะจูกัดกิ๋นพี่ชายของจูกัดเหลียงเป็นขุนนางของง่อก๊ก คนอื่น ๆ ก็ให้ความเห็นว่าที่ให้ "ชิงบัลลังก์" ไม่ได้หมายความว่าอนุญาตให้จูกัดเหลียงชิงบัลลังก์เป็นของตน แต่อนุญาตให้ขงเบ้งตั้งบุตรชายคนอื่นของเล่าปี่ เช่น เล่าเอ๋งและเล่าลี แทนที่เล่าเสี้ยนหากเกิดสถานการณ์จำเป็น