22 ธ.ค. 2018 เวลา 09:01 • ประวัติศาสตร์
พาหุงบทที่ 6
ตอน  สัจจกนิครนถ์
ในครั้งพุทธกาลนั้น มีศาสนาที่รุ่งเรื่องอีกศาสนาหหนึ่ง เรียกว่าศาสนา เชน 
มีมหาวีระ หรือท่านนิครนถ์นาฏบุตรเป็นศาสดา
นักบวชของศาสนาเชนนี้ เรียกว่า นิครนถ์  ทั้งศาสนาพุทธและศาสนาเชน ต่างก็มีผู้นับถืออยู่มากมาย แต่ศาสดาของทั้งสองศาสนากลับไม่เคยพบหน้ากันมาก่อนแม้แต่ครั้งเดียว
สำหรับที่เมืองเวสาลี ก็มีอาจารย์นิครนถ์หญิงคนหนึ่งและชายอีกคนหนึ่งต่างเล่าเรียนวาทะมากันคนละ ๕๐๐ ทั้งสองตอบโต้กันด้วยปัญญา
อันยอดเยี่ยม
ไม่มีผู้ใดแพ้ชนะ กษัตริย์ลิจฉวี
จึงเชิญให้ทั้งสองอยู่เป็นอาจารย์
ของพระกุมาร
ในเวลาต่อมาเมื่อนิครนถ์ทั้งสอง
ได้อยู่ด้วยกัน จึงมีบุตร ๑ คน
และธิดา ๔ คน นั้นเป็นบัณฑิต
เมื่อเติบใหญ่ขึ้นมาธิดาสาว
ทั้ง ๔ นั้น ได้มีโอกาสโต้วาทะ
กับพระสารีบุตรและพ่ายแพ้
ธิดาทั้ง ๔ จึงตัดสินใจขอเข้า
มาบวชในสำนักภิกษุณีและ
ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์
ส่วนบุตรชายอีก ๑ คนนั้นมีชื่อว่า
สัจจกนิครนถ์
เป็นผู้มีปัญญามากเพราะได้
เล่าเรียน ๑,๐๐๐ วาทะจาก
บิดามารดา และยังได้ไปเรียน
ที่สำนักอื่นๆ อีกมากมาย
และต่อมาก็ได้เป็นอาจารย์
ของ พระกุมารกษัตริย์ลิจฉวี
(ในพระอรรถกถา พระพุทธเจ้าทรงเรียกสัจจกนิครนถ์ว่า
"อัคคิเวสสนะ")
ซึ่งในยุคสมัยนั้นมีอาจารย์นิครน
ผู้มีปัญญาจำนวนมาก เช่น
- ท่านปูรณะกัสสปนิครนถ์  
- ท่านมักขลิโคสาลนิครนถ์  
- ท่านอชิตเกสกัมพลนิครนถ์  
- ท่านปกุธะกัจจายนะนิครนถ์  
- ท่านสัญชัยนิครนถ์  
- ท่านเวลัฏฐบุตนิคใรนถ์  
เป็นต้น
แต่ผู้ที่มีปัญญามากที่สุด
มีไหวพริบ มีวาจาแหลมคม
จนอาจารย์นิครนถ์อื่นๆไม่มีใคร
สู้วาทะได้นั้นก็คือ สัจจกนิครนถ์
สัจจกนิครนถ์ นั้นจึงมีความทะนงตนเองว่าเป็นผู้รู้มาก
เขาถึงกับต้องเอาแผ่นเหล็ก
มารัดท้องไว้ เกรงว่าท้องจะแตกตาย เพราะเนื่องจากเชื่อว่าภายในท้อง
ของตนเองนั้นมีความรู้อยู่มาก
และด้วยความเหตุแห่งความหลง
ตัวเองนั้น ทำให้สัจจกนิครนถ์
กล้าประกาศว่าท้าทายว่า...
"ในทั่วทั้งเวสาลีนั้น ไม่มีสมณะ พราหมณ์ คณาจารย์ หรือแม้แต่
พระอรหันต์องค์ใด"
"ที่จะมีปัญญาสูงส่งสามารถ
โต้ตอบปัญหากับเขาได้
โดยไม่ประหม่าหวั่นไหว"
เขาคุยอวดอ้างถึงขั้นว่า
"อย่าว่าแต่มนุษย์เลย แม้เสาศิลา
หากต้องตอบโต้ปัญหาด้วยแล้ว..
เสานั้นยังต้องประหม่าสะทกสะท้านหวั่นไหว"
เหตุด้วยความเชื่อมั่นในความรู้
ของตน สัจจกนิครนถ์ก็มักจะ
คอยหาเรื่องโต้ตอบปัญหาต่างๆ
กับบรรดาพระสาวกอยู่เสมอ
และในวันหนึ่ง สัจจกนิครนถ์ ก็
ได้พบกับพระอัสสชิเถระ ผู้เป็นอาจารย์ของพระสารีบุตร
เขาจึงได้ถามว่า :
"พระพุทธเจ้าทรงสอนอะไร"
พระอัสสชิตอบว่า :
"ขันธ์ ๕ ไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตนของเรา"
สัจจกนิครนถ์เมื่อได้ฟังก็มี
ความเห็นที่เป็นตรงกันข้าม
ดังนั้น เขาจึงได้ประกาศตน
ว่าจะเอาชนะพระพุทธเจ้า
ด้วยวาทะของตนเองให้ได้
เวลาต่อมา...
เขาจึงได้รวบรวมลูกศิษย์ที่
เป็นเจ้าลิจฉวีประมาณ ๕๐๐ คน
แล้วเดินทางมุ่ง​หน้าไปถามปัญหา
กับพระพุทธเจ้าที่ป่ามหาวัน
ณ ป่ามหาวัน
ที่มีประพุทธเจ้าทรงประทับอยู่
การโต้วาทะ ของสัจจกนิครนถ์
จึงได้เกิดขึ้น
ดังนี้
สัจจกนิครนถ์ทูลถาม :  
"ดูก่อน พระสมณโคดม ได้ยินว่าท่านสอนว่าขันธ์ ๕ นั้นไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตนของเรา ใช่หรือไม่"
พระพุทธเจ้าตรัสตอบ:  
"ดูก่อน อัคคิเวสสนะ...
คำสอนของเรา คือ
- รูปไม่เที่ยง
- เวทนาไม่เที่ยง
- สัญญาไม่เที่ยง
- สังขารไม่เที่ยง
- วิญญาณไม่เที่ยง
- รูปไม่ใช่ตัวตนของเรา
- สัญญาไม่ใช่ตัวตนของเรา
- สังขารไม่ใช่ตัวตนของเรา
-​ วิญญาณไม่ใช่ตัวตนของเรา
เหตุนี้สังขารทั้งหลายจึงไม่ใช่ตัวตนของเรา ดังนี้"
สัจจกนิครนถ์​ทูลถาม​: 
"ดูก่อนพระโคดม ธรรมดาพืชพันธ์ุเจริญงอกงามได้ เพราะอาศัยแผ่นดิน ฉันใด บุคคลก็ย่อมต้องมี
- รูป
- มีเวทนา
- มีสัญญา
- มีสังขาร
- มีวิญญาณ
เป็นตัวตนของเรา ฉันนั้น"
พระพุทธเจ้าตรัสตอบ:  
"ดูก่อน อัคคิเวสสนะ ท่านเชื่อว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ เป็นตัวตนของเรา ดังนี้หรือ"
สัจจกนิครนถ์กล่าวตอบ : 
"ถูกแล้ว พระโคดม"
พระพุทธเจ้าตรัสถาม :  
"ดูก่อน อัคคิเวสสนะ ถ้าอย่างนั้นเราจักสอบถามท่านว่า...
พระเจ้าปเสนทิโกศลและ
พระเจ้าอชาตศัตรู
อาจฆ่าคนที่ควรฆ่า เนรเทศคน
ที่ควรเนรเทศ พึงให้คุณให้โทษ
บุคคล ในพระราชอาณาเขตของพระองค์ใช่หรือไม่"
สัจจกนิครนถ์กล่าวตอบ:  
"ถูกแล้วพระโคดม อย่าว่าแต่
พระเจ้าปเสนทิโกศลและ
พระเจ้าอชาตศัตรูเลย แม้วัชชี
และมัลละ ก็อาจฆ่าคนที่ควรฆ่า เนรเทศคนที่ควรเนรเทศ
ในแว่นแคว้นของตนได้เช่นกัน"
พระพุทธเจ้าตรัสถาม : 
"ดูก่อน อัคคิเวสสนะ ถ้าเช่นนั้นจะกล่าวว่ารูปเป็นตัวตนของเราได้อย่างไร หากรูปเป็นของเรา เราต้องเป็นผู้กำหนดรูปของเราเองมิใช่หรือ"
สัจจกนิครนถ์นั่งนิ่งเงียบ...
พระพุทธเจ้าจึงทรงตรัสถามซ้ำ
สัจจกนิครนถ์ อีกครั้งก็ยังนิ่งเฉย
พระพุทธเจ้าตรัสว่า :  
"ดูก่อน อัคคิเวสสนะ บัดนี้ไม่ใช่
กาลที่ท่านควรนิ่งอยู่ ท่านรู้หรือไม่
ว่าผู้ใด อันตถาคตถามปัญหาที่ชอบแก่เหตุแล้วถึง ๓ ครั้ง แล้วมิได้แก้
ศีรษะของผู้นั้นจะแตกออก
เป็น ๗ เสี่ยง"
สัจจกนิครนถ์เมื่อได้ฟังเช่นนั้น
... ก็ตกใจกลัวจนขนลุกชัน...
แล้วกราบทูลว่า "พระโคดมผู้เจริญ ขอท่านจงถามต่อเถิด ข้าพเจ้าจักแก้ ณ บัดนี้"
พระพุทธเจ้าตรัสถาม : 
"ดูก่อน อัคคิเวสสนะ ท่านเชื่อว่ารูปเป็นตัวตนของเรา แสดงว่าท่านมีอำนาจในรูปของท่าน ดังนี้หรือ"
สัจจกนิครนถ์ตอบ :  
"มิได้เลย พระโคดมผู้เจริญ"
พระพุทธเจ้า​ตรัส​ถาม​ :
"ดูก่อนอัคคิเวสสนะ ท่านเชื่อว่า เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ เป็นตัวตนของเรา ดังนั้น ท่านจึงมีอำนาจในเวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ว่าเวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนี้เลย ดังนี้หรือ"
สัจจกนิครนถ์กล่าวตอบ :  
"มิได้เลยพระโคดม ผู้เจริญ"
พระพุทธเจ้าตรัสถาม : 
"ดูก่อน อัคคิเวสสนะ ดังนั้นท่านจะว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง"
สัจจกนิครนถ์กล่าวตอบ : 
"ไม่เที่ยง"
พระพุทธเจ้าตรัสถามต่อ :  
"ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข"
สัจจกนิครนถ์​กล่าวตอบ​ :  
"สิ่งนั้นเป็นทุกข์"
พระพุทธเจ้าตรัสถามต่อ : 
"สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนอยู่ ควรหรือที่จะเห็น
ว่าสิ่งนั้นเป็นของเรา เป็นตัวตน
ของเรา"
สัจจกนิครนถ์​กล่าวตอบ​ :  
"ข้อนั้นไม่ควรเลย พระโคดมผู้เจริญ"
พระพุทธเจ้าตรัสถาม :  
"ดูก้อนอัคคิเวสสนะ ผู้ใดติดทุกข์
เข้าถึงทุกข์แล้ว กล้ำกลืนทุกข์แล้ว
ยังเห็นว่าทุกข์นั้นเป็นของเรา
มีอยู่หรือ"
สัจจกนิครนถ์​กล่าวตอบ​ :  
"ไม่มีเลย พระโคดม"
3
พระพุทธเจ้าตรัสถาม : 
"ดูก่อนอัคคิเวสสนะ เมื่อเป็นอย่างนี้ท่านติดทุกข์ เข้าถึงทุกข์ กล้ำกลืนทุกข์แล้ว ยังตามเห็นทุกข์ว่านั้นของเรา เราเป็นนั่น  
นั่นเป็นตัวตนของเรา ดังนี้หรือ"
สัจจกนิครนถ์กล่าวตอบ :  
"มิใช่เลย พระโคดมผู้เจริญ"
พระพุทธเจ้าตรัส : 
"ดูก่อนอัคคิเวสสนะ บุรุษต้องการ
แก่นไม้ ถือเอามีดคมไปสู่ป่า
เขาไปตัดฟันต้นกล้วยใหญ่ต้นหนึ่ง เขาก็ไม่พบแม้แต่กระพี้
และแก่น ฉันใด"
"ดูก่อน อัคคิเวสสนะ ท่านอันเราซักไซร้ไล่เรียง ก็ว่างเปล่าในถ้อยคำของตนเองเหมือนต้นกล้วยฉันนั้น  ท่านกล่าววาจาในที่ชุมชนเมืองเวสาลี ว่าไม่มีสมณะ พราหมณ์ คณาจารย์ หรือแม้แต่อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ใด ที่โต้ตอบกับท่านได้โดยไม่เกิดอาการประหม่าหวั่นไหว ไม่มีเหงื่อไหลจากรักแร้ แม้แต่คนเดียว"
"ดูก่อนอัคคเวสสนะ บัดนี้หยาดเหงื่อของท่านหยาดหยดจากหน้าผาก ลงยังผ้าห่มแล้วตกลงที่พื้น ส่วนเหงื่อของเราหามีไม่"
เมื่อได้ฟังเช่นนี้แล้ว...  
สัจจกนิครนถ์ก็นั่งนิ่ง คอตก
ก้มหน้า หมดปฏิภาณ พ่ายแพ้
แก่พุทธปัญญาของพระพุทธองค์
และได้นิมนต์พระพุทธเจ้าไปรับภัตตาหาร ที่อารามของตนเอง
ในวันรุ่งขึ้น...
พระผู้มีพระภาคทรงรับด้วยดุษณีภาพ ลำดับนั้น สัจจกนิครนถ์ก็ทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์แล้ว
จึงได้บอกกับพวกเจ้าลิจฉวี
เหล่านั้นว่า เจ้าลิจฉวีทั้งหลายเอ๋ย
ขอท่านจงฟังข้าพเจ้า...
"พระโคดมพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ที่ข้าพเจ้านิมนต์แล้ว เพื่อฉันในวันพรุ่งนี้ หากพวกท่านจะนำอาหารใด
มาเพื่อข้าพเจ้านั้น ก็ขอให้พวก
ท่านจงเลือกอาหารที่ควรดีแล้วสมบูรณ์ดีแล้ว ถวายแก่
พระโคดมเถิด"
เมื่อล่วงราตรีนั้นไปแล้ว
เจ้าลิจฉวีเหล่านั้น ก็ได้นำภัตตาหารประมาณห้าร้อยสำรับไปให้แก่
สัจจกนิครนถ์ สัจจกนิครนถ์
ก็ได้จัดของ เคี้ยวของฉัน
อันประณีตในอารามของตน
จนเสร็จ
แล้ว จึงไปทูลบอกกาลแด่
พระผู้มีพระภาคว่า "ข้าแต่พระโคดม เวลานี้เป็นกาลอันควรภัตตาหารแล้ว"
เวลานี้ภัตตาหารทั้งหลายสำเร็จแล้วพระเจ้าข้า...
ครั้งนั้นในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกแล้ว ทรงถือบาตรจีวร
เสด็จไปสู่อารามแห่ง
สัจจกนิครนถ์ ทรงประทับบนอาสนะ
ที่ปูลาดไว้ถวาย พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์
ครั้งนั้น สัจจกนิครนถ์อังคาส
ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ด้วยของเคี้ยวของฉันอันประณีต
ด้วยมือของตน...
เมื่อพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จ
ก็ทรงนำพระหัตถ์ออกจาก
บาตรแล้ว สัจจกนิครนถ์จึงถือ
เอาอาสนะต่ำ นั่ง ณ ในที่อันควร...
แล้วได้ทูลว่า :
"ข้าแต่พระโคดม ขอบุญและผลบุญในทานนี้ จงมีเพื่อความสุขแก่ทายก
ทั้งหลายเถิด"
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า :
"ดูก่อน อัคคิเวสสนะ บุญและผลบุญในทานนี้ 
อาศัยทักขิเณยบุคคล (บุคคลผู้ควรรับทักษิณา)ที่ยังไม่สิ้นราคะ โทสะ โมหะ เช่นเดียวกับท่าน...จักมีแก่ทายกทั้งหลาย ส่วนบุญ และผลบุญ
ที่อาศัยทักขิเณยยบุคคล ที่สิ้นราคะ โทสะ โมหะ เช่นกับเรา จักมีแก่ท่าน ฉะนี้แล"
เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้...
... ชัยชนะของพระพุทธเจ้าที่มี
ต่อสัจจกนิครนถ์ เป็นการ
เอาชนะกันด้วยความแยบคาย
ทางปัญญา 
คาถาบทนี้จึงนิยมใช้สำหรับ
การเอาชนะการโต้เถียงและการโต้วาทีต่างๆ...
ขอความสวัสดี จงมีแก่ท่านผู้อ่านทุกท่าน สาธุ
อ้างอิง
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๔
มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์
หนังสือ ชัยชนะแห่งพุทธะ
ภาพประกอบโดย แอดมินต้นธรรมเพจ ธรรม STORY
โฆษณา