5 ม.ค. 2019 เวลา 04:15 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
แบคทีเรียจรจัด: ตอนที่​ 2 มัจจุราชแห่งโรงพยาบาล
ในเมื่อวิธีตายของคุณถูกกำหนดไว้แล้ว​ เพื่อที่คุณจะได้นอนตายตาหลับ​ในวันที่คุณถูกลอบสังหารคาเตียงโรงพยาบาล​ เราจะมาเปิดเผยโฉมหน้าของเหล่าฆาตกรต่อเนื่องกัน
ใครฆ่า​ "ประเสริฐ"? (ละครเลือดข้นคนจาง)
ถึงจะเราจะเดาไม่ถูกว่าใครเหนี่ยวไก​ แต่ถ้าเปลี่ยนบทให้​เขาไม่ตายทันที​ ไปนอนอยู่ไอซียูหลายสัปดาห์​ค่อยตายในโรงพยาบาล เราจะบอกได้ทันทีว่าใครเป็นคนลงดาบสุดท้าย​ ผู้ต้องสงสัยมีอยู่ไม่กี่ราย
มันคือผู้ทรงอิทธิพล​ เจ้าที่ประจำโรงพยาบาล
คุณมองไม่เห็นมันด้วยตาเปล่า​ แต่ถ้าอยากให้เจ้าที่นี้ประทับร่าง​ ก็ง่ายนิดเดียว​ คือใช้ยาปฏิชีวนะ
อยากได้เจ้าที่แรง​ ๆ​ คุณก็ใช้ยาปฏิชีวนะแรง​ ๆ​ นาน​ ๆ
แล้วทำอย่างไรแพทย์ถึงจะยอมจ่ายยาปฏิชีวนะแก่คุณ
ก็ทำยังไงก็ได้ให้มีไข้ในฟอร์มปรอท​ จะเอาเทอร์โมมิเตอร์ไปจุ่มในโจ๊กหรือน้ำอุ่นก็ได้
เหมือนกับสุนัขของพาฟลอฟ (Pavlov) ที่ได้ยินเสียงกระดิ่งแล้วน้ำลายไหล​ พอแพทย์เห็นไข้ปุ๊บ​ ก็คันไม้คันมือ​ อดไม่ได้ที่จะให้ยาปฏิชีวนะทันที
มันมาแล้ว​ องค์ลงแล้ว​ รู้สึกไหม
คุณยังไม่รู้ตัว​ แต่ตอนนี้คุณกลายเป็นร่างทรง​ "เชื้อดื้อยา" ไปแล้ว
วันดีคืนดี​ ร่างกายของคุณก็จะสำแดงอภินิหาร​ เช่น​ สั่นเป็นเจ้าเข้า​ (ไข้สูง)​ ชักดิ้นชักงอ​ (ติดเชื้อที่สมองหรือชักจากยาปฏิชีวนะ)​ เสียงเปลี่ยน​ (เสมหะเต็มคอจากปอดบวม)​ มีจ้ำขึ้นตามตัวโดยไม่ถูกกระทบกระแทก​ (การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ)​ เข้าฌานสมาบัติขั้นสูงระดับปลุกไม่ตื่น​ (โคม่า) ฯลฯ
การติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาในโรงพยาบาลนั่นเองที่จะเป็นวิธีหรือรูปแบบการตาย​ (mode of death) ของคนรุ่นเราทุกคน​ไม่ว่าจะ​ ดี-เลว​ รวย-จน​ ก็ตาม
การติดเชื้อพวกนี้บางครั้งก็รุนแรงถึงชีวิต​ บางครั้งก็ไม่รุนแรงนักแต่ทำให้ร่างกายของคุณทรุดลงไปเรื่อย​ ๆ​ ถึงกำจัดเชื้อได้ร่างกายก็อาจไม่กลับมาเหมือนเดิม
และการกำจัดเชื้อดื้อยาก็ต้องใช้ยาปฏิชีวนะที่แรงขึ้น​ ส่งผลให้เชื้อที่ดื้อยาโหดขึ้น​ มาอาศัยร่างกายคุณเป็นร่างทรง​ รอวันสำแดงอภินิหาร​รอบถัดไป​ แล้วคุณก็จะได้ยาฏิชีวนะที่แรงขึ้นไปอีก​ กลายเป็นวัฏจักรแห่งความตาย
ถ้ารอบนี้คุณรอด​ ได้กลับบ้านก็ไม่เป็นไร​ มาโรงพยาบาลรอบหน้า​ ก็จะได้เจอกันอีก
ณ​ ตอนที่คุณเสียชีวิต​ คุณอาจจะไม่ได้กำลังติดเชื้อดื้อยาพวกนี้อยู่​ แพทย์อาจไม่ได้ระบุในใบมรณบัตรว่าการติดเชื้อเป็นสาเหตุหรือรูปแบบการตายของคุณ
แต่ถ้าคุณนอนอยู่โรงพยาบาลนานพอ​ การติดเชื้อดื้อยาจะมีส่วนร่วมพาคุณไปสู่จุดจบไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม
ถ้าจะหนีมันให้พ้นก็พอมีวิธี​ คือคุณต้องตายทันที​ มาโรงพยาบาลให้แพทย์ช่วยไม่ทัน​ เช่น​ โดนไข้โป้งเข้ากลางหัว​ โดนสิบล้อทับ​ เส้นเลือดแดงใหญ่แตก​ ฯลฯ
ก่อนจะไปยลโฉมหน้าเชื้อดื้อยาทั้งหลาย​ เรามาปูพื้นเรื่องยาปฏิชีวนะซักนิด
ยาปฏิชีวนะมีมากมายแต่ที่แพทย์นิยมใช้ที่สุด​ คือ​ กลุ่มเบต้าแลคแทม (beta-lactam) ซึ่งทำหน้าที่ยับยั้งการสร้างผนังเซลล์ (cell wall) ของแบคทีเรีย
ในยากลุ่มนี้ยังแบ่งเป็นกลุ่มย่อยอีก เรียงตามความสามารถในการครอบคลุมเชื้อต่าง​ ๆ​ จากน้อยไปมาก​​ คือ​ กลุ่มเพนนิซิลิน​ (penicillin) กลุ่มเซฟาโลสปอริน​ (cephalosporin)​ และกลุ่ม​คาร์บาพีเนม​ (carbapenem)
วิธีที่แบคทีเรียนิยมใช้ในการดื้อยาคือสร้างเอนไซม์​ (beta-lactamase) มาย่อยยา
เอนไซม์นี้มีมากหมายหลายชนิด​ บางชนิดย่อยได้เฉพาะเพนนิซิลิน​ บางชนิดย่อยเซฟาโลสปอรินที่ย่อยยากกว่าได้ด้วย​ และมีน้อยชนิดที่ย่อยคาร์บาพีเนมที่ย่อยยากที่สุดได้
โดยแบคทีเรียนิยมแบ่งตามคุณสมบัติของผนังเซลล์​ เป็น​ 2 กลุ่ม​ คือกรัมบวก​ (gram positive) ซึ่งมีผนังหนา​ย้อมติดสีน้ำเงิน และ​ กรัมลบ​ (gram negative) ที่ผนังบางย้อมติดสีแดง
ทีนี้พร้อมแล้วก็มาดูกันว่าในอนาคตคุณจะตายด้วยเชื้อดื้อยาตัวไหน​ (ขอเรียกชื่อตามแบบที่แพทย์ทั่วไปนิยมเรียกกัน)
กลุ่มแบคทีเรียกรัมบวก
เชื้อแบคทีเรียคลอสตริเดียม​ ดูจากกล้องจุลทรรศน์
เริ่มด้วยเชื้อ​ "ซีดิฟ" หรือ​ คลอสตริเดียม​ ดิฟฟิเซียว [Clostridium​ difficile] อาศัยอยู่ในลำไส้
ถ้ากระเบื้องที่มาเรียงกัน​ ต้องมียาแนว​เพื่อกันรั่วซึม​ เซลล์บุผนังลำไส้ก็เช่นกัน​ ต้องมี​ที่ยึดเซลล์​ (tight junction) เชื่อมเซลล์เข้าด้วยกัน
เชื้อซีดิฟสามารถสร้างพิษ​ (toxin) ที่ทำลายโครงสร้าง​เซลล์ (cytoskeleton) ทำให้ที่ยึดเซลล์เหล่านี้เสียหาย​ เซลล์บุผนังลำไส้หลุดแยกออกจากกัน​ ทำให้มีอาการได้ตั้งแต่ท้องเสียเล็กน้อยไปจนถึงลำไส้ทะลุได้
เชื้อนี้ดื้อยากลุ่มเบต้าแลคแทมทั้งหมดต้องใช้ยา​กลุ่มอื่น​ เช่น แวนโคมัยซิน​ (vancomycin) หรือ​ เมโทรนิดาโซล​ (metronidazole)​ ซึ่งฆ่ามันได้เฉพาะตอนที่มันเติบโตเพิ่มจำนวน​ แต่ไม่มียาใดที่ทำลายสปอร์ของมันที่ยังไม่งอกได้​ จึงกลับเป็นซ้ำ​(recurrent) ได้บ่อย​
ข้อน่ารู้คือเชื้อนี้เป็นญาติกับเชื้อบาดทะยัก​ [Clostridium​ tetani] ที่ทำให้เราต้องฉีดวัคซีนเวลาเป็นแผลลึก​ และเชื้อโบทูลินั่ม​ [Clostridium botulinum] ที่ทำให้เกิดข่าวคนท้องเสียเป็นอัมพาตหลังไปกินหน่อไม้ปี๊บที่ปนเปื้อน​ และเป็นสาเหตุที่ทารกห้ามกินน้ำผึ้ง​ พิษของมันคือสิ่งที่เอามาฉีดแก้รอยเหี่ยวย่นในการทำโบท็อกซ์​ (Botox)​ นั่นเอง
พวงองุ่นแห่งความตาย​ เชื้อสแตฟิโลคอคคัส​ ออเรียส [Staphylococcus​ aureus] ในหนองที่ดูด้วยกล้องจุลทรรศน์
ถัดไปคือเชื้อ​ "เมอร์ซ่า" หรือที่แพทย์ไทยนิยมสะกดตัวย่อตรง​ ๆ​ ว่า​ เอ็มอาร์เอสเอ (MRSA: Methicillin-Resistant [Staphylococcus aureus]) อาศัยอยู่บนผิวหนัง​ และในรูจมูก​ มักทำให้เกิดการติดเชื้อในแผล ติดเชื้อในสายสวนหลอดเลือดและเกิดฝีหนองตามที่ต่าง​ ๆ
เชื้อนี้ดื้อยาเบต้าแลคแทมทุกตัว​ ต้องใช้ยาแวนโคมัยซิน​ ยานี้แพทย์ทั่วไปมักชื่นชมบูชาว่าเป็นสุดยอดยา​ปฏิชีวนะ​ เป็นด่านสุดท้ายสำหรับเชื้อกรัมบวกเพราะเชื้อดื้อได้ยากมาก แต่จริง​ ๆ​ แล้วเป็นยาห่วย​ ฆ่าเชื้อได้ช้า​ แต่จำใจต้องใช้เพราะเชื้อดื้อยาอื่นหมดแล้ว
2
แม้กระนั้นก็ยังมีเชื้อที่ดื้อยานี้ได้​ นั่นคือเชื้อ​ "วีอาร์อี" (VRE: Vancomycin-Resistant Enterococci) ซึ่งอาศัยอยู่ในลำไส้​ ทำให้เกิดการติดเชื้อในทางเดินน้ำดี​และที่อื่น​ ๆ​ ได้ประปราย​ ถ้าเจอเชื้อนี้ก็ตัวใครตัวมัน​ ต้องไปขุดยาปฏิชีวนะแปลก​ ๆ​ ที่แพทย์ทั่วไปไม่รู้จักมาลอง
มาฝั่งแบคทีเรียกรัมลบบ้าง
เชื้อ​ "สูโด" หรือ​ สูโดโมแนส แอรูจิโนซา [Pseudomonas​ aeruginosa] ซึ่งเป็นเจ้าแห่งเชื้อดื้อยาในอดีต​ อาศัยอยู่ในตัวเรา​ ในน้ำ​ รวมไปถึงน้ำก๊อกที่เราเอามาล้างมือ​ หรือแม้กระทั่งในน้ำสบู่ฆ่าเชื้อ​ ทำให้เกิดการติดเชื้อได้หลากหลาย
หนองที่เกิดจากเชื้อนี้จะเขียวเป็นพิเศษซึ่งเป็นสีของพิษ​ (pyocyanin)​ ที่มันสร้างมาเพื่อทำลายเซลล์และฆ่าเชื้อแบคทีเรียอื่น​ ๆ​ ที่บังอาจมาแย่งเหยื่อกับมัน
แม้จะร้ายกาจเพียงใด​ แต่ปัจจุบันมันต้องหลีกทางให้กับเชื้อที่เหลือ
จดจำชื่อเชื้อต่อไปนี้ไว้ให้ดี เวลาคุณไปเจอพญายมจะได้บอกถูกว่า​ คุณเป็นอะไรตาย
เชื้อเอบอม​ (จุดแดงกลมเล็ก​ ๆ​ ที่เห็นอยู่เป็นคู่​ ๆ)​ ในเสมหะที่ดูด้วยกล้องจุลทรรศน์
เชื้อ​ "เอบอม" (เอ-บอม)​ หรือ​ อะซิเนโตแบคเตอร์​ บอมแมนนิอาย​ [Acinetobacter​ baumannii] อาศัยอยู่ได้แทบทุกที่​ บนผิวหนัง​ ในลำไส้​ บนพื้นผิวของสิ่งของอุปกรณ์ต่าง​ ๆ​ แม้แต่พื้นผิวที่น้ำไม่เกาะ​ (hydrophobic)​ เชื้อนี้ก็ยังเกาะติดอยู่อาศัยได้
เชื้อเอบอมที่โตในจานเพาะเลี้ยงเชื้อ
มันสามารถอยู่บนพื้นผิวแห้ง​ ๆ​ ได้นานเป็นเดือน​ ส่วนใหญ่ทำให้เกิดปอดบวมในผู้ป่วยที่ใส่เครื่องช่วยหายใจ​ หรือติดเชื้อในกระแสเลือด​ และมันดื้อยาแทบทุกชนิดหรือทุกชนิด
มันครองแชมป์เชื้อดื้อยาในโรงพยาบาลอยู่กว่าสิบปีจนกระทั่งมีผู้ท้าชิงอีกรายปรากฏขึ้น
กลุ่มเชื้อ​ "ซีอาร์อี" (CRE: Carbapenem-Resistant Enterobacteriaceae) เป็นกลุ่มเชื้อน้องใหม่มาแรงที่พึ่งแพร่เข้ามาในไทยได้ไม่กี่ปี
เชื้อกลุ่มนี้มีหลายตัว​ แต่ส่วนใหญ่​คือเชื้อ​ "อีโคไล" [Escherichia coli] กับ​ "เครบเซลล่า" [Klebsiella​ pneumoniae] ที่สามารถสร้างเอนไซม์ย่อยยากลุ่มคาร์บาพีเนม​
เชื้อเครบเซลล่า​ (ลูกศร)​ จากหนองในกระดูก​ เมื่อดูด้วยกล้องจุลทรรศน์​ มีลักษณะเป็นแท่งสีแดงและมีแคปซูลสีขาวอมชมพูหุ้มรอบ
เชื้อเครบเซลล่าบนจานเพาะเชื้อ​ ลักษณะที่เป็นเมือกเยิ้ม​ แสดงว่าเชื้อสร้างแคปซูลได้ ซึ่งแคปซูลนี้ทำให้เม็ดเลือดขาวจับมันกินได้ยาก
เชื้อกลุ่มนี้อาศัยอยู่ในลำไส้​ ก่อโรคได้หลากหลาย​ ส่วนใหญ่ได้แก่​ กรวยไตอักเสบ​ ปอดบวม​ ติดเชื้ิอในกระแสเลือด
แต่เดิมเชื้อพวกนี้ เราสามารถใช้ยากลุ่มเพนิซิลลินหรือเซฟฟาโลสปอรินรุ่นเก่าได้
ต่อมาเชื้อเริ่มดื้อ​ แพทย์ก็หันมาใช้เซฟฟาโลสปอรินรุ่นใหม่
ต่อมามันก็พัฒนาสร้างเอนไซม์​ อีเอสบีแอล​ (ESBL: Extended-Spectrum Beta-Lactamase) มาทำลายยารุ่นใหม่ที่ว่าได้อีก
แพทย์ต้องงัดยาปฏิชีวนะด่านสุดท้าย​ (last resource) ซึ่งก็คือยากลุ่มคาร์บาพีเนม​ มาต่อกรกับมัน
เชื้อซีอาร์อีก็ทำลายปราการด่านสุดท้ายได้อีก
แพทย์ไม่รู้จะทำยังไง​ เพราะแทบไม่มียาปฏิชีวนะตัวใหม่​ ๆ​ ออกมาขายเลย
เราก็เลยไปขุดยาโบราณ​ โคลิสติน (Colisin) ที่เคยเลิกใช้ไปแล้วเพราะผลข้างเคียงสูงกลับมาใช้ใหม่
ข้อมูลงานวิจัยก็พบว่าเชื้อกลุ่มนี้ก็เริ่มดื้อยาโคลิสตินได้แล้ว
3
แต่ในโรงพยาบาลทั่วไปไม่สามารถทดสอบการดื้อยาโคลิสตินได้​ เพราะยามีประจุบวกสูงมาก​ จึงไปเกาะพวกหลอดทดลองที่มีผิวเป็นประจุลบซะหมด​ ผลทดสอบจึงเชื่อไม่ได้​ และยกเลิกไปในที่สุด
แพทย์เลยยังหลอกตัวเองไปวัน​ ๆ​ ว่ายาโคลิสตินคงยังใช้ได้​ (มั้ง)
ทั้งเอบอมและซีอาร์อีก็สูสีกันในการล่าสังหารคนไข้ซึ่งในอนาคตอาจเป็นคุณ​ ไม่ว่าคุณจะเข้าโรงพยาบาลด้วยสาเหตุอื่นใดก็ตาม
ถ้าคุณไม่อยากตายด้วยเชื้อสองกลุ่มนี้​ ก็ไม่ยาก​ เวลาป่วยคุณก็บินไปนอนโรงพยาบาลที่อเมริกา​ คุณจะตายด้วยเมอร์ซ่าหรือวีอาร์อีแทน
3
ด้วยเหตุผลใดก็ไม่ทราบ​ อาจเป็นเพราะสิ่งแวดล้อมหรือพันธุกรรม​ ในเอเชียมีปัญหาเชื้อดื้อยากรัมลบ​ ในขณะที่พวกฝรั่งจะมีปัญหาเชื้อดื้อยากรัมบวก
ยาปฏิชีวนะอันน้อยนิดที่ถูกพัฒนาโดยประเทศที่พัฒนาแล้ว​ ในช่วงหลังจึงมีแต่ยาที่ออกฤทธิ์ต่อแบคทีเรียกรัมบวกที่เป็นปัญหาในบ้านเค้า
หมายความว่าถ้าเราอยากได้ยาต้านเอบอมกับซีอาร์อีที่เป็นแบคทีเรียกรัมลบ​ เราต้องพัฒนายาปฏิชีวนะเอง​ แต่การพัฒนายาแต่ละตัวใช้เวลานับสิบปี​ ใช้เงินทุนกว่าพันล้านเหรียญสหรัฐ (ไม่ใช่บาทนะ)
ขนาดการวิจัยแอนติบอดีต้านมะเร็งของจุฬาฯ​ ที่ฮือฮากัน​ ตอนนี้ยอดเงินบริจาคอยู่ที่ประมาณ​ 250​ ล้านบาท​ ยังพอแค่ให้ตั้งไข่ได้​ ตามที่ผู้รับบริจาคแจ้งไว้​ จะให้สำเร็จจริงได้​ อย่างน้อยต้องมีเป็นพันล้านบาทถึงจะพอ​ แต่ก็พอแบบจำกัดจำเขี่ย
1
นั่นเป็นสาเหตุที่สมุนไพรดี​ ๆ​ ของไทยไปไม่ถึงดวงดาว​ เงินวิจัยหลักหมื่นถึงแสน​ อย่างมากก็พอแค่พิสูจน์ได้ว่ามันมีสารประกอบที่พอจะออกฤทธิ์ได้​
ซึ่งจากจุดนี้ไป​ ต่อให้ค้นพบสารประกอบนับหมื่นหรือแสนชนิดที่ออกฤทธิ์ในหลอดทดลองได้ จะเหลืออันที่ออกฤทธิ์ในคนได้จริงและผลข้างเคียงยอมรับได้แค่​ 1-2​ ขนานเท่านั้น
3
นั่นหมายความว่าต่อให้เรามีทีมบุคลากรที่เก่งกาจและเป็นเจ้าของเทคโนโลยีสุดล้ำ​ เราก็ยังต้องใช้งบเพิ่มอีก​แสนถึงล้านเท่า​ ถึงจะผลิตยาใหม่​ ๆ​ ที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากลแข่งกับบริษัทยาข้ามชาติได้
ดูท่าอนาคตของเราช่างมืดมนเสียนี่กระไร​ แม้ส่วนใหญ่เชื้อดื้อยาจะเล่นงานคนไข้หนัก แต่ก็มีบ้างที่เข้าไปโรงพยาบาลดี ๆ​ แต่กลับออกมาเป็นศพจากการติดเชื้อดื้อยา
ก่อนที่เราจะไปหาวิธีแก้ไขสถานการณ์
เราคงต้องมาเรียนรู้ก่อนว่าเรามาถึงจุดนี้ที่เชื้อดื้อยาทุกชนิดได้อย่างไร
มันคงไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติอย่างเดียว
แล้วมันเป็นความผิดของใครกันแน่
มาติดตามตอนถัดไป
แบคทีเรียจรจัด: ตอนที่​ 3 มหันตภัยยาปฏิชีวนะ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา