10 ม.ค. 2019 เวลา 19:10 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
แบคทีเรียจรจัด​: ตอนที่​ 3 มหันตภัยยาปฏิชีวนะ
จากปาฏิหารย์ไปสู่มหันตภัย
เมื่อกระสุนวิเศษกลายเป็นระเบิดนิวเคลียร์
อันที่จริงถ้าคุณอยากฆ่าเชื้อแบคทีเรียก็ไม่ยาก
ต้ม​ ย่าง​ รังสียูวี​ หม้อนึ่งความดัน​ (autoclave) น้ำยาฆ่าเชื้อ​ รมแก๊ส​
2
ยากที่เชื้อจะดื้อต่อวิธีการฆ่าเหล่านี้ได้
แต่ปัญหาคือวิธีการเหล่านี้อาจใช้ฆ่าเชื้อในสิ่งของหรืออาหาร​ แต่ถ้าเอามาใช้กับคนไข้โรคติดเชื้อ​ ก็คงตายทั้งคนทั้งเชื้อ
เราจึงต้องการกระสุนวิเศษ​ (magic bullet) ที่ทำลายวิญญาณร้าย​ (แบคทีเรียก่อโรค) โดยไม่ทำอันตรายร่างคนที่มันสิงสู่​ ฟังดูแล้วไม่น่าเป็นไปได้​ เหมือนเราพยายามหาน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์มาไล่ผี
ปาฏิหารย์คือสิ่งที่เราต้องการ
1
There can be miracle when you believe. (จากเพลง​ When You Believe ประกอบภาพยนตร์​ The Prince of Egypt)
คำว่า​ เชื่อ​ (believe) ในที่นี้คงไม่ใช่การเชื่อว่าปาฏิหารย์จะเกิดขึ้นเองหรือจะมีพระเจ้ามาดลบันดาลให้​ แต่เป็นความเชื่อว่าเราจะทำได้และลงมือทำมัน
ปาฏิหารย์ที่เล่าลือต่อ​ ๆ​ กันมาในตำนาน​ ในลัทธิความเชื่อหรือเกิดขึ้นในปัจจุบันก็ตามแต่​ ไม่ว่าจะเกิดจากภูตผี​ สิ่งศักดิ์สิทธิ์​ เทพ​ หรือคนที่อวดอ้างอิทธิฤทธิ์ เป็นอะไรที่ค่อนข้างน่าเบื่อ​ ไม่สมเหตุสมผล​ ไม่มีที่มาที่ไป​ ไม่มีอะไรให้เราเอาเยี่ยงอย่างได้
2
เทพเทวดาในความเชื่อต่าง​ ๆ​ ก็มีอำนาจทำได้ทุกอย่าง​ (omnipotent) อยู่แล้ว​ สิ่งที่เทวดา (ถ้ามีอยู่จริง)​ บันดาลได้อย่างง่ายดายก็ไม่น่าเรียกว่าปาฏิหารย์ด้วยซ้ำ​
1
มีแต่มนุษย์ที่มีขีดจำกัดทั้งในแง่ความรู้​ ความสามารถ​ ทรัพยากร​ และเวลา​ ต้องอาศัยความทุ่มเท​ แรงกาย​ แรงใจ​ เวลา​ เงิน​ ความร่วมมือ​ ความเชื่อมั่น​ ความดื้อ​รั้น​ ฯลฯ ที่จะเนรมิตสิ่งที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยให้เกิดขึ้นจริงได้​ ถึงจะควรค่าแก่การเรียกว่าปาฏิหารย์
มนุษย์เฝ้ารอยาปาฏิหารย์​ (Miracle drug) ที่สามารถรักษาการติดเชื้อได้มานานหลายแสนปี ซึ่งการค้นพบและนำยานี้มาใช้ได้เป็นยิ่งกว่าปาฏิหารย์
ผู้ริเริ่มแนวคิดที่จะค้นหา​กระสุนวิเศษ​ (magic bullet) คือ​ พอล เออร์ลิช​ (Paul Ehrlich) แต่ตัวเขาเองทำไม่สำเร็จ​ ยาของเขา​ ซาลวาร์ซาน​ (Salvarsan) ที่มีสารหนู​ (Arsenic) เป็นองค์ประกอบ​ ใช้ในการรักษาซิฟิลิส​ ยังมีผลข้างเคียงรุนแรงเกินไป
แต่ไม่เป็นไร​ ปณิธานของเขาจะมีคนมาสานต่อ​
เหมือนกับที่​ โกล ดี​ โรเจอร์​ ประกาศว่าได้ซ่อนสมบัติวันพีซ​ไว้ก่อนโดนประหาร​ (ใครไม่เคยอ่าน​ One Piece ก็ขออภัยครับ)​ ทำให้เหล่าโจรสลัด​แห่กันออกตามหา​ นักวิทยาศาสตร์มากมายก็เชื่อว่ากระสุนวิเศษมีอยู่จริงและออกผจญภัยตามหามัน
2
อเล็กซานเดอร์​ เฟลมมิ่ง​ (Alexander Fleming) ก็เป็นหนึ่งในนั้น​ และการค้นพบเพนนิซิลินของเขาก็แทบไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นไปได้
เผอิญเขาวางจานเพาะเชื้อแบคทีเรียไว้นอกตู้อบ​ แล้วเผอิญเขาไปพักร้อน เผอิญผู้ช่วยเขาเปิดหน้าต่างทิ้งไว้​ เผอิญมีเชื้อราสายพันธุ์หายากตกลงไปบนจานเพาะเชื้อนั้น​ เผอิญสภาพอากาศในช่วงนั้นเย็นกว่าปกติ​ ทำให้แบคทีเรียโตช้าและเชื้อราที่ชอบเย็นเติบโตเร็วพอที่จะสร้างสารเคมีมาทำลายแบคทีเรีย
แต่ที่สำคัญที่สุดคือเผอิญเขาเป็นหนึ่งในผู้ที่ตามหาวันพีซ​ -​ กระสุนวิเศษ​ ทำให้เขาเก็บเชื้อรานี้ไว้ศึกษาต่อไม่โยนมันทิ้งถังขยะ​ เมื่อเห็นว่าแบคทีเรียที่อยู่รอบเชื้อรานี้ไม่สามารถโตได้
จานเพาะเชื้อของเฟลมมิ่ง​ วงใหญ่สีขาวทางด้านล่างคือราเพนนิซิเลียม​ จุดสีขาวกระจายทางด้านบนคือแบคทีเรีย​ จะเห็นได้ว่าไม่ค่อยมีจุดของแบคทีเรียหรือจุดมีขนาดเล็กมากเมื่ออยู่ใกล้เชื้อรานี้​ เครดิตภาพ: St Mary's Hospital Medical School/Science photo library
เชื้อรานี้ก็คือ​ เพนนิซิเลียม​ [Penicillium]​ ซึ่งสร้าง​ยาปฏิชีวนะเพนนิซิลิน​ (penicillin) นั่นเอง
ที่มันเป็นกระสุนวิเศษยิงโดนแต่แบคทีเรียแต่แทบไม่ทำอันตรายมนุษย์​ ถูกค้นพบในภายหลังว่า​ เป็นเพราะยานี้ยับยั้งการสร้างผนังเซลล์ (cell wall) ของแบคทีเรีย​ ซึ่งเซลล์ของสัตว์รวมถึงมนุษย์ไม่มีผนังเซลล์จึงไม่ได้รับผลกระทบ
หลาย​ ๆ​ คนบอกว่าเฟลมมิ่งก็แค่โชคดี
แต่การพบเชื้อราปนเปื้อนในจานเพาะแบคทีเรีย​ เป็นเรื่องที่พบได้เรื่อย​ ๆ​ แต่นักวิทยาศาสตร์ทั่วไปที่เจอก็คงแค่หัวเสีย​ และโยนมันทิ้งไป
1
อาจารย์ของผมสอนว่าโชค​ (luck)​ คือการมาบรรจบกันของ​ การเตรียม​พร้อม​ (preparedness) กับ​โอกาส​ (opportunity)
ธรรมชาติ​ สถานการณ์​ รวมถึงผู้คน​มอบโอกาสให้เราอยู่เรื่อย​ ๆ​ คนส่วนใหญ่ดูไม่ออก​​หรือดูออกแต่ไม่กล้าหรือขี้เกียจเกินกว่าจะคว้าโอกาสนี้ไว้​
หลังจากค้นพบเพนนิซิลิน​​ เราก็ประสบความสำเร็จในการนำมาใช้รักษาโรคติดเชื้อนับแต่นั้น
ซะเมื่อไหร่​ ผู้ป่วยรายแรกที่ใช้เพนนิซิลินตาย
อาการติดเชื้อของผู้ป่วยรายนี้ดีขึ้นอย่างมหัศจรรย์หลังได้เพนนิซิลิน
แต่ยาเพนนิซิลินหมด! ต้องไปสกัดยาที่หลงเหลือในปัสสาวะมาให้ผู้ป่วยใหม่​ จนในที่สุดก็ไม่มีอะไรเหลือจะให้
อาการติดเชื้อก็กลับมาใหม่​และแย่ลงจนผู้ป่วยนี้เสียชีวิตในที่สุด
1
การค้นพบเพนนิซิลินก็ว่าเป็นปาฏิหารย์แล้ว​ แต่มันตั้งอยู่บนพื้นฐานของความบังเอิญซะมาก การนำเพนนิซิลินมาใช้จริงต่างหาก​ ที่เป็นปาฏิหารย์ยิ่งกว่าเพราะเกิดจากความอุตสาหะของมนุษย์ล้วน​ ๆ
ปัญหาหลักคือเพนนิซิลินที่ได้จากเชื้อรานี้มันมีปริมาณน้อยมาก​ เรียกว่าต้องเพาะเชื้อราจำนวนมหาศาล​ จนเรียกว่าทำฟาร์มเชื้อราจะเหมาะกว่า​ และใช้เวลาเป็นเดือนกว่าจะสกัดยาได้มากพอที่จะใช้ในหนูทดลองตัวเท่าหัวแม่โป้งไม่กี่ตัว
นั่นเป็นหนึ่งในสาเหตุที่เพนนิซิลินถูกดองไว้กว่าสิบปีถึงจะไปถึงมือแพทย์
ปล่อยให้ยาซัลฟา​ (sulfa)​ ซึ่งเป็นยาเคมีสังเคราะห์ที่ค้นพบทีหลังแซงหน้าออกมาจำหน่ายก่อน
ผู้ที่มีบทบาทสูงในการหาทางนำเพนนิซิลินมาใช้​ ได้แก่​ เชน​ (Ernst Boris Chain) และ​ ฟลอเร่ย์ (Howard Walter Florey) ซึ่งเป็น​ 2 คนที่ได้รางวัลโนเบลร่วมกับเฟลมมิ่ง​
แท้จริงแล้วยังมีผู้อยู่เบื้องหลังอีกมากมายของความสำเร็จนี้
ทั้งเชื้อราและนักวิทยาศาสตร์ต้องระหกระเหินหนีไฟสงครามโลกครั้งที่​ 2 จากอังกฤษไปยังอเมริกา​ที่มีความพร้อมกว่า เพื่อหาทางเพิ่มกำลังผลิตเพนนิซิลิน​
2
เริ่มจากปรับปรุงสูตรอาหารที่ใช้เลี้ยงรา
เปลี่ยนวิธีเลี้ยงบนผิวเป็นเลี้ยงใต้น้ำยาแล้วปั๊มอากาศเข้าไป
ค้นหาเชื้อราเพนนิซิเลียมสายพันธุ์ใหม่ที่สร้างเพนนิซิลินได้มากขึ้น​ ด้วยการเก็บดินจากทั่วโลกเพื่อมาหาเชื้อราที่สร้างเพนนิซิลิน
1
อยู่มาวันหนึ่ง​ ในร้านชำของเมืองพีออเรีย​ (Peoria) อันเป็นที่ตั้งของที่ทำการวิจัย ปรากฏผลแคนตาลูป​เน่าขึ้นราสีเหลืองทองงดงาม​
ในสายตาเราคงมองเห็นมันเป็นเหมือนโคลนตม​ โยนมันทิ้งไป แต่ในสายตาของ​หญิงนางหนึ่ง เจ้าของฉายาแมรี่ขึ้นรา​ (Moldy Mary) หรือชื่อจริง แมรี่​ ​ฮันต์ (Mary Hunt) ผู้ทำหน้าที่ตามล่าหาราเพนนิซิเลียม กลับเห็นมันเป็นดวงดาวพราวพราย​
1
Moldy Mary's Melon (แคนตาลูป) ที่มาของเชื้อเพนนิซิเลียมที่ดีที่สุดจากทั้งหมด​ 100,000 ​สายพันธุ์ที่ได้รับการทดสอบ​ ที่มา: historiasdelahistoria.com
ราบนแคนตาลูปนั้นคือ​สายพันธุ์หนึ่งของ เพนนิซิเลียม​ คริสโซจีนัม [Penicillium chrysogenum] ซึ่งสร้าง​เพนนิซิลินได้มากขึ้นมหาศาล​ และสืบทอดสายพันธุ์ใช้กันมาจนทุกวันนี้
น่าสนใจว่าทำไมแม่ค้าไม่เอาแคนตาลูปเน่าขึ้นราชัดเจนไปทิ้งเสีย​ วางโชว์ไว้ทำไม​ หรือเขารู้ว่าแมรี่จะมาซื้อมัน​ คงเป็นเพราะความพยายามของแมรี่ที่ได้ตระเวนซื้อผักผลไม้ขึ้นราในเมืองนั้นมาก่อนหน้าแล้ว​ ไม่เช่นนั้นรามหัศจรรย์นี้ก็คงกลายเป็นอาหารหนูหรือแมลงสาบไปแล้ว
จากนั้นก็เอาเชื้อรานี้ไปฉายรังสีเอ็กซเรย์ให้มันกลายพันธุ์สร้างยาได้ดีขึ้น
ยังไม่หนำใจ​ ฉายรังสียูวีใส่มันด้วยให้ยิ่งกลายพันธุ์สร้างเพนนิซิลินเพิ่มอีก
ถึงจุดนี้เราได้เชื้อราสายพันธุ์ที่สร้างเพนนิซิลินได้มากกว่าเชื้อราตัวแรกของเฟลมมิ่งเป็นพัน​เท่า
กระบวนการผลิตเต็มรูปแบบก็สามารถดำเนินต่อไปด้วยความร่วมมือของหลายฝ่าย
ด้วยพลังของวิทยาศาสตร์​ อเมริกาในตอนนั้นจึงมีทั้งระเบิดนิวเคลียร์ที่สามารถพรากชีวิตคนนับล้าน​ และเพนนิซิลินที่สามารถช่วยชีวิตคนนับล้าน​ กลายเป็นมหาอำนาจชนะสงครามโลกได้
"With great power comes great responsibility" คำพูดของลุงเบนแห่งสไปเดอร์แมน
อานุภาพอันมหาศาลของระเบิดนิวเคลียร์ถูกควบคุมอย่างดี​ หลังจาก​ ลิตเติ้ลบอย (Little Boy) กับ​ แฟตแมน​ (Fat Man) ถูกทิ้งไปถล่ม​ฮิโรชิมา​กับนางาซากิ​ ก็มีคนพัฒนาระเบิดนิวเคลียร์ที่รุนแรงขึ้นเรื่อย​ ๆ​ ไปจนถึง​ ซาร์ บอมบา (Tsar Bomba) จากรัสเซีย​ ซึ่งรุนแรงกว่า​ ลิตเติ้ลบอย​ กว่า​ 3,000​ เท่า​ แต่ไม่มีใครกล้านำระเบิดนิวเคลียร์ที่พัฒนาจำนวนมากมายมาใช้ถล่มบ้านเมืองอีกเลย
ตรงข้ามกัน ยาปฏิชีวนะที่มีอานุภาพมหาศาลไม่แพ้ระเบิดนิวเคลียร์ในโลกใบเล็กของเหล่าเชื้อโรค​ ถูกใช้อย่างไร้ความรับผิดชอบโดยสิ้นเชิงในช่วงแรก
หลังยาเพนนิซิลินประสบความสำเร็จ​ ก็เข้าสู่ยุคทองของยาปฏิชีวนะ​ โดยเฉพาะผลงานของ วัคส์แมน​ (Selman Waksman) ที่พบยาปฏิชีวนะหลากหลายชนิด จากเชื้อโรคต่าง​ ๆ​ ที่แยกได้จากดิน
ป้ายหลุมศพของวัคส์แมน​ จารึกข้อความจากคัมภีร์อิสยาห์​ "แผ่นดินจะเปิดออกและนำมาซึ่งการรอดพ้น" ซึ่งสะท้อนถึงผลงานของเขาที่ค้นพบยาปฏิชีวนะหลายชนิดจากเชื้อในดิน​ ยาเหล่านี้ช่วยเหลือผู้คนได้มากมาย​ ที่มา: findagrave.com
หลังจากยุคนั้นเราก็พบยาปฏิชีวนะชนิดใหม่น้อยลงเรื่อย​ ๆ​ จนแทบไม่มียาใหม่อีกเลยในปัจจุบัน​ สวนทางกับเชื้อดื้อยาที่รุนแรงและมากขึ้นเรื่อย​ ๆ
เฟลมมิ่งได้เตือนไว้ก่อนแล้วว่าการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไร้ความรับผิดชอบจะนำมาซึ่งเชื้อดื้อยา
กระสุนวิเศษเริ่มด้าน​ เชื้อดื้อยาปรากฏให้เห็นมากขึ้นเรื่อย​ ๆ​ เราก็ยังไม่สำนึก​ หันมาใช้ยาที่มีอานุภาพทำลายล้างมากขึ้นเรื่อย​ ๆ
จนวันนี้เราใช้ยากลุ่มคาร์บาพีเนม​ (carbapenem) ซึ่งเปรียบได้กับระเบิดนิวเคลียร์​ ซาร์​ บอมบา​ กันเกลื่อนโรงพยาบาล
หากจะหาตัวผู้ทำผิดก็คงมีหลายฝ่ายด้วยกัน
แสบสุดก็ต้องตัวหมอที่เจอใครมีไข้ปุ๊บก็ให้ยาปฏิชีวนะแรง​ ๆ​ ไว้ก่อน
1
ถัดมาก็ตัวคนไข้ที่บางคนชอบกดดันหมอขอยาปฏิชีวนะหรือไปซื้อยาปฏิชีวนะกินเอง
ร้านขายยาที่ยอมจ่ายยาปฏิชีวนะให้โดยไม่ต้องมีใบสั่งยา
กฎหมายหรือผู้มีอำนาจที่ไม่ควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะ
ปศุสัตว์ที่ใช้ยาปฏิชีวนะกันมหาศาล​ คิดเป็น​ 90% ของการใช้ยาปฏิชีวนะทั้งหมด​ (ในคนคิดเป็นแค่​ 10%) สัตว์ป่วยหรือไม่ป่วยก็ให้ยาอยู่ดี​ และวัตถุประสงค์ของการใช้ยาปฏิชีวนะไม่ใช่เพื่อการรักษาหรือป้องกันการติดเชื้อแต่อย่างใด
แบคทีเรียกับเชื้อราฟาดฟันแย่งอาหารกันมานับล้าน​ ๆ​ ปี​ มีหรือที่แบคทีเรียจะยอมเป็นฝ่ายถูกกระทำอย่างเดียว​ มันจึงพัฒนายีนดื้อยามาต่อกรยาปฏิชีวนะ
เชื้อดื้อยาเหล่านี้จึงมีในธรรมชาติอยู่แล้ว​ แต่มันมีอยู่น้อยมากและไม่เคยก่อปัญหาใด​ ๆ​ จนกระทั่งเราเอายาปฏิชีวนะมาใช้
1
จากการให้ยาปฏิชีวนะสารพัดอย่างไร้การควบคุมมานานหลายทศวรรษ​ แบคทีเรียจึงค่อย​ ๆ​ สะสมยีนดื้อยาเหมือนสะสมสแตมป์เซเว่น พอเก็บได้ครบ​ ก็เอาไปแลกของรางวัลเป็นชีวิตคุณหรือคนที่คุณรัก
2
ถ้าคุณคิดว่ากินยาตัวไหนก็ดื้อยาตัวนั้น​ตัวเดียว ก็ต้องขอบอกว่า​เชื้อดื้อยาใจดี​ แจกรางวัลบ่อย​ คุณอาจโชคดี​ (รึเปล่า)​ ได้รางวัลซื้อ​ 1 แถม​ 10
เพราะยีนดื้อยาหลาย​ ๆ​ ยีนในเชื้อดื้อยา​ มักแพ็ครวมกันมาเป็นชุด​ เหมือนแพ็คเกจแต่งงาน​ ถ้าโชค​ (ซวย)​ เข้าข้าง​ คุณอาจได้เชื้อที่มีแพ็คเกจมรณะอัดแน่นไปด้วยยีนดื้อยาทุกชนิดมาสิงสถิตในตัวคุณ​ ทั้งที่คุณเพิ่งใช้ยาปฏิชีวนะเพียงแค่ตัวเดียว
ปัจจุบันหมอแทบไม่ต้องจำแล้วว่าจะใช้ยาปฏิชีวนะตัวไหน​ดี​เวลาติดเชื้อดื้อยาในโรงพยาบาล เพราะมันดื้อยาทุกตัว
หอผู้ป่วยไหนใช้ยาปฏิชีวนะเยอะ​ ๆ​ บางทีคนไข้ทุกเตียงเจอเชื้อดื้อยาหมด
ว่าแต่ทำไมพวกหมอกับพยาบาลที่คลุกคลีอยู่กับเชื้อดื้อยาในโรงพยาบาลทั้งวันทั้งคืน​ ถึงไม่ตาย(โหง)​เพราะเชื้อดื้อยาสักที?​
หรือคนพวกนี้มีผีคุ้ม?
โปรดติดตามตอนถัดไป
แบคทีเรียจรจัด: ตอนที่​ 4 สังหารเทพอารักษ์

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา