9 ม.ค. 2019 เวลา 00:18 • บันเทิง
เด็กชายในชุดนอนลายทาง: มิตรภาพระหว่างเผ่าพันธุ์กับความหวังถึงโลกไร้สงคราม
วรรณกรรมจำนวนไม่น้อยที่พูดถึงความโหดร้ายของสงคราม แต่มีวรรณกรรมชั้นดีที่เล่าเรื่องสงครามจากมุมมองของเด็กเพียงไม่มากนัก
เด็กชายในชุดนอนลายทางเป็นหนึ่งในนั้น
วรรณกรรมเด็กเรื่องนี้เขียนโดย จอห์น บอยน์ (John Boyne) นักเขียนชาวไอร์แลนด์ มีชื่อเรื่องภาษาอังกฤษว่า The Boy in the Striped Pyjamas เรื่องราวเกี่ยวกับ บรูโน เด็กชายวัยเก้าขวบที่อาศัยอยู่ในเบอร์ลิน แต่กลับต้องติดตามพ่อซึ่งเป็นนายทหารและครอบครัวมายังเอาช์วิตช์ บ้านพักซึ่งอยู่ตรงข้ามค่ายกักขังพวกยิวในโปแลนด์ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง
ทีแรกเด็กชายรู้สึกรังเกียจที่นี่ที่ไม่มีอะไรเหมือนกับบ้านของเขาที่เบอร์ลินเลย
เขาคิดว่าพ่อ (ซึ่งใครๆ เรียกว่า "ผู้การ") คงถูกลงโทษจึงต้องมาทำงานในสถานที่ที่น่ารังเกียจแบบนี้ เมื่อมองจากหน้าต่างห้องออกไปยังรั้วลวดหนามฝั่งตรงข้าม เขาเห็นคนใส่ชุดนอนลายทางเต็มไปหมดทั้งเด็กทั้งคนแก่
บรูโนสงสัยว่าทำไมคนพวกนั้นจึงไม่คิดอยากเปลี่ยนเสื้อบ้างนะ ทุกคนก็ย่อมต้องมีเสื้อผ้าตัวอื่นๆ แขวนอยู่ในตู้เสื้อผ้าอยู่แล้วนี่นา
บรูโนยังสงสัยอีกว่าทำไมพาเวล คนงานที่มาปอกผักให้ครอบครัวเขาวันละครั้งและทำหน้าที่รับใช้บนโต๊ะอาหาร จึงบอกว่าก่อนหน้านี้ตัวเขาเคยเป็นหมอมาก่อน
บรูโนไม่เข้าใจว่าถ้าชายคนนี้พูดความจริง ทำไมจึงไม่ไปทำงานในโรงพยาบาล แต่กลับต้องมาทำงานรับใช้ครอบครัวเขา
จนกระทั่งเมื่อเขาได้รู้จักกับชมูเอล เด็กชายชาวโปแลนด์ที่เกิดวันเดียวกับเขา ทั้งคู่ก็สร้างมิตรภาพที่ดีต่อกันจากคนละฝั่งของรั้วลวดหนาม ทั้งสองแอบเจอกันทุกวันเป็นเวลานับปีจนกระทั่งถึงวันที่บรูโนได้มีโอกาสข้ามรั้วเข้าไปสู่โลกของชมูเอล ได้ลองสวมชุดนอนลายทางแบบที่ชมูเอลใส่
ผู้รุกรานชาวเยอรมันจึงได้เข้ามาอยู่ในโลกของชาวยิวผู้ถูกรุกราน...
นิยายเรื่องนี้มีลักษณะบางอย่างแบบเรื่องแนว coming-of-age ที่เล่าเรื่องผ่านการเดินทางหรือการใช้ชีวิตในโลกใหม่ที่ตัวละครไม่คุ้นเคย จนเมื่อเวลาผ่านไปตัวละครก็มีความเติบโตขึ้นในทางความคิดและจิตใจ ก้าวข้ามผ่านวัยเด็กมาสู่ความเข้าใจโลกบางแง่มุม
แต่ก็คล้ายเพียงแค่นั้น....
แม้ว่าเรื่องนี้จะมีร่องรอยของเสียงเล่า (Narrative Voice) ของผู้ใหญ่คนหนึ่ง (ซึ่งอาจเป็นเสียงของตัวจอห์น บอยน์ ผู้เขียนเอง) แต่ก็เล่าผ่านมุมมอง (Point of View) ของเด็กอย่างบรูโน เด็กชายวัยเก้าขวบชาวเยอรมันผู้บริสุทธิ์ไร้เดียงสา
ดังนั้นแม้โดยนัยแล้ว เรื่องนี้จะกล่าวถึงเหตุการณ์สงคราม...การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์...ปืน...เลือดนองพื้น...ความตาย หรืออะไรทำนองนี้ แต่ถ้อยคำเหล่านี้มิได้ปรากฏในหนังสือเลย
ค่ายกักกันเอาช์วิตซ์ (Auschwitz Concentration Camp) หรือที่บรูโนเรียกว่า “เอาท์วิธ” (Out-with) นั้นเป็นค่ายที่นาซีเยอรมันสร้างขึ้นระหว่างยึดครองโปแลนด์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ตอนแรกมีไว้คุมขังพวกนักโทษการเมืองชาวโปแลนด์ แต่ต่อมาก็ใช้กักกันชาวยิวจากทั่วทวีปยุโรปที่ถูกเยอรมันยึดครองรวมแล้วเกือบ 200,000 คน นอกจากนี้ที่ค่ายแห่งนี้ยังเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว
ความที่ผู้เขียนบอกเล่าเรื่องได้อย่างแนบเนียนโดยไม่เล่าเหตุการณ์หรือรายละเอียดตรงๆ จึงอาจทำให้ผู้อ่านที่เป็นเด็กจริงๆ งุนงงอยู่บ้าง โดยเฉพาะว่าเรื่องนี้มีฉากหลังของเรื่องเป็นเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ ดังนั้นจึงเหมาะกับเด็กโตที่มีความรู้เรื่องสงครามโลกครั้งที่สองประมาณหนึ่งแล้ว หรือไม่ก็เป็นผู้อ่านผู้ใหญ่ไปเลย (เว็บไซต์ด้านหนังสือหลายแห่งระบุว่าหนังสือเล่มนี้เหมาะสำหรับเยาวชนอายุ 15 ปีขึ้นไป)
อย่างไรก็ตามการเป็น “วรรณกรรมสำหรับเด็กและเยาวชน” ไม่ได้หมายความว่าจะต้องมีแต่เรื่องแฟนตาซี หรือเรื่องเพ้อฝันไกลห่างจากความเป็นจริงของโลกที่แสนโหดร้าย หรือมิได้หมายความว่าวรรณกรรมสำหรับเด็กจะพูดถึงความรุนแรงไม่ได้
ประเด็นสำคัญอยู่ที่วิธีการเล่าเรื่องและมุมมองที่มีต่อความจริงอันแสนโหดร้ายต่างหาก
สิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่งสำหรับการเป็นวรรณกรรมเด็กก็คือ “การมองโลกอย่างมีความหวัง”
แม้ความจริงของโลกจะโหดร้ายหรือดูสิ้นหวังเพียงไรก็ตาม แต่หน้าที่ประการหนึ่งของวรรณกรรมสำหรับเด็กก็คือ ทำให้มนุษยชาติ (และโดยเฉพาะเด็ก) ยังคงมองโลกอย่างมีความหวัง
เชื่อว่าความหวังจะเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงให้เราแก้ไขโลกให้ดีขึ้นกว่านี้ได้
ศรัทธาในความดีงามของมนุษย์แม้โลกจะปนเปื้อนไปด้วยความชั่วร้าย (จากน้ำมือมนุษย์อีกเช่นกัน)
และมั่นใจว่าเราจะไม่ซ้ำรอยความรุนแรงโหดร้ายดังที่เคยเกิดขึ้นในโลกยุคก่อนหน้าเรา
ดังเช่นตอนหนึ่งในเรื่องนี้ที่กล่าวว่า
“...บรูโนพบว่าตนเองยังคงกุมมือของชมูเอลอยู่ และไม่มีอะไรในโลกนี้จะทำให้เขาปล่อยมือนั้นไปได้”
“และนี่คือตอนจบของเรื่องเกี่ยวกับบรูโนและครอบครัว แน่นอนว่าเรื่องราวทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเมื่อนานมาแล้ว และเรื่องทำนองนี้จะไม่มีวันเกิดขึ้นอีก
ไม่ใช่ในยุคสมัยนี้”
(ข้อความข้างต้นอ้างอิงจาก เด็กชายในชุดนอนลายทาง แปลโดยวารี ตัณฑุลากร จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์แพรวเยาวชน)
เรื่อง The Boy in the Striped Pyjamas เมื่อแรกตีพิมพ์นั้นติดอันดับหนังสือขายดีอันดับ 1 ของไอร์แลนด์นาน 66 สัปดาห์ ได้รับรางวัลวรรณกรรมต่างๆ อาทิเช่น
-Bisto Children’s Book of the Year
-Orange Prize Readers’ Group Book of the Year
-Irish Book Award Children’s Book of the Year
-Irish Book Award People’s Choice Book of the Year
-Que Leer Award Best International Novel of the Year (Spain)
นอกจากนี้ยังถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ในปี 2008 ซึ่งเขียนบทและกำกับโดย มาร์ค เฮอร์แมน (Mark Herman) และได้รับความสำเร็จพอประมาณ
หวังว่าความโด่งดังของวรรณกรรมและภาพยนตร์เรื่องนี้จะช่วยให้ความหวังต่อโลกไร้สงครามดังกึกก้องไปทั่วทุกหนทุกแห่งในโลก และตั้งปณิธานร่วมกันว่าเราจะร่วมกันสร้างโลกที่ไร้การแบ่งแยกและการกีดกันทางเผ่าพันธุ์ดังเจตนารมณ์ของผู้เขียน และหวังว่าเราจะร่วมกันปลูกฝังทัศนคติที่ดีต่อเด็กๆ ของเราในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นที่แตกต่างไปจากเรา
บอกให้เขารู้ว่าความคิดที่ว่า “พวกเรานั้นดีที่สุด” ไม่ได้ทำให้เกิดอะไรดีๆ ขึ้นเลย - ไม่ว่าจะกับใครก็ตาม
มันรังแต่จะบ่มเพาะความชิงชังระหว่างกันให้เกิดในใจเด็ก มิหนำซ้ำปลายทางของมันอาจยังนำไปสู่ความรุนแรง การประหัตประหาร หรือแม้แต่สงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
เราจะไม่มีวันยอมให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นอีกในโลกใบนี้ของเรา
โลกที่เด็กๆ ของเรายังต้องใช้ชีวิตต่อไปอีกนาน
ขอโลกจงมีสันติ​
#blockdit

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา