23 ม.ค. 2019 เวลา 02:08 • ประวัติศาสตร์
British Airways Flight 5390 เที่ยวบินโกงตาย กระจกหลุด จนเกือบฉุดกัปตันไม่อยู่!
จะเป็นอย่างไรหากกัปตันได้หลุดออกนอกเครื่องบินไปแล้วครึ่งตัว ?!
ภาพจำลองเหตุการณ์จริง
ลุ้นกันจนตัวโก่ง...เพราะนี่เป็นอีกหนึ่งในเคส Rapid Decompression หรือการสูญเสียความกดดันอากาศแบบเป็นไปอย่างรวดเร็ว(ที่แอร์ป้าเคยเขียนไว้ในบล็อกก่อนหน้านี้) น่ากลัวมาก แต่ภายใต้ความน่ากลัวนี้ก็ยังคงมีความโชคดีซ่อนอยู่...
ย้อนเวลากลับไป เมื่อ10 มิถุนายน 1990 เครื่องบิน BAC 1-11 ของสายการบินบริติช แอร์เวย์ เที่ยวบินที่ 5390 นำผู้โดยสาร 81 คน พร้อม ลูกเรือ 6 คน จากท่าอากาศยาเบอร์มิงแฮม ไปยังปลายทางท่าอากาศยานมาลากาของสเปน
กัปตันคือ Tim Lancaster (อายุ42ปี ขณะนั้น) มีชั่วโมงบินสูงถึง 11,050 ชั่วโมง และนักบินที่ 2 คือ Alastair Atchison (อายุ 42 ปีขณะนั้น) มีชั่วโมงบิน 7,500 ชั่วโมง
สภาพอากาศดี และทุกอย่างพร้อม โดยที่ไม่ได้รับการรายงานถึงความผิดปกติใดๆ..
7:33 หลังจากเครื่องเทคออฟขึ้นได้ 15 นาที ในระหว่างที่ลูกเรือกำลังเตรียมเสิร์ฟอาหารเช้าอยู่นั้นเอง ไม่ทันไร จู่ๆ ก็เกิดเสียงดังออกมาจากห้องนักบิน
กระจกหน้าต่างด้านซ้ายติดที่นั่งของกัปตันหลุดกระเด็นออกจากตัวเครื่อง แรงดึงดูมหาศาล ดูดทุกสิ่งทุกอย่างออกไป รวมถึงร่างของกัปตัน ทิม แลนแคสเตอร์ ก็ถูกดูดนอกหน้าต่างไปแล้วครึ่งตัว!
1
แต่ในความโชคร้ายยังคงมีความโชคดี! ที่เข่าข้างหนึ่งติดอยู่ที่แผงควบคุม ขาท่อนล่างจึงติดอยู่ในเครื่อง ทำให้ร่างไม่ปลิวออกไป และด้วยความสูงขณะนั้นท่ามกลางอากาศเย็นจัดและแรงลม 500 ไมล์/ชม. และด้วยออกซิเจนที่เบาบางทำให้เขาหมดสติกลางอากาศ
นึกภาพไม่ออกเลยว่ากัปตันจะต้องเจ็บปวดขนาดไหนหากเขายังมีสติอยู่ เพราะด้วยอากาศที่เย็น จะต้องมีอาการของ Frostbite คืออาการที่โดนความเย็นจัดกัดกินผิวหนัง และแรงกระแทกร่างกายท่อนบนไปมา แถมยังต้องกังวลว่ากัปตันจะหลุดออกไปนอกเครื่องบินไหม หากขาท่อนล่างไร้สิ่งยึดเหนี่ยวเพราะเขาหมดสติเช่นนั้น..
ยังไม่ทันจะคิด แต่เพราะการมีสติของลูกเรือ จึงรีบวิ่งเข้ามาช่วยคว้าขาของกัปตันไว้ได้ทัน ไม่ใช่แค่หนึ่งคน แต่เป็น 2 หรือ 3 เพราะหลังจากนั้นไม่นาน ลูกเรือคนแรกที่มาคว้าขากัปตัน คือนาย Nigel Ogden ก็เริ่มจะหมดแรง และบาดเจ็บจากการถูกน้ำแข็งหรือความเย็นจัดกัด ( Frostbite) และในสภาวะความวุ่นวาย อีกยังต้องออกแรงอย่างมากเพื่อสู้กับแรงลมจากภายนอกเช่นนั้น
ในขณะนั้น นักบินผู้ช่วย เป็นผู้ทำหน้าที่บิน แต่เนื่องด้วยลมที่แรงมากตีมาจากด้านหน้าของเครื่องบิน และเสียงที่ดังตลอดเวลา ทำให้การติดต่อกับหอบังคับการบิน เป็นไปอย่างยากลำบากมาก
แต่สุดท้ายโชคยังเข้าข้าง เพราะเขากู้ Auto pilot กลับมาได้สำเร็จ! (คือระบบการบินอัตโนมัติ)
กลับมาที่กัปตัน...ไม่ต้องบอกก็คงเดาได้ไม่ยากว่า หากกัปตันยังโชคดีได้ตื่นขึ้นมา ต้องตกใจกับหน้าตัวเองเป็นแน่แท้ เพราะ....จากการกระแทกไปมา เป็นเวลาเกือบ 20 กว่านาที หน้าต้องช้ำขนาดไหน..
แต่ไม่ว่ากัปตันจะเป็นหรือตาย ก็ห้ามปล่อยเด็ดขาด!
นักบินที่2 ได้ตะโกนบอกลูกเรือ ไม่ว่าจะยังไงก็ต้องช่วยกันฉุดกัปตันไว้ ไม่ว่าเขาจะเป็นหรือตาย เพราะ..
หากปล่อยร่างเขาออกไป ร่างอาจจะปลิวไปติดเครื่องยนต์ด้านซ้ายจนทำให้ติดขัด หรือระเบิดได้ แปลได้ว่าจากที่จะตายคนเดียว อาจกลายเป็นเหมาลำเลยก็ได้...
ในขณะที่ทุกคนคิดว่ากัปตันไม่น่ารอดในภาวะเช่นนี้ แต่ทุกคนก็ยังคงต้องกอดขากัปตันต่อไป..
และแล้วในเวลา 7:55น. เครื่องก็ลงจอดอย่างปลอดภัยบนรันเวย์ 2 โดยไม่มีใครได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ยกเว้นกัปตันแลนแคสเตอร์และพนักงานต้อนรับไนเจล อ็อกเดนได้รับบาดเจ็บที่แขนซ้ายในระหว่างที่ดึงขากัปตัน!
ในเมื่อเครื่องบินคือยานพาหนะที่ดีและปลอดภัยที่สุดแล้วกระจกหลุดออกไปได้อย่างไร?
จากการสอบสวนพบว่า มีการซ่อมบำรุงกระจกกันลมก่อนการบิน และน็อตยึดกระจก ไม่ได้ตรงตามสเปคที่ควรจะเป็นคือ น็อตยึดกระจกที่มีปัญหาทั้งหมด 90 ตัวนั้น 84 ตัวเล็กไป ส่วนอีก 6 ตัวก็สั้นเกินไป แม้น็อตดังกล่าวจะสั้นกว่าน็อตมาตรฐานเพียงครึ่งมิลลิเมตรก็ตาม แต่เนื่องจากกระจกหน้าต่างของเครื่องบินนั้นเขาติดจากด้านนอก เวลาบินแรงดันอากาศจึงไปกดที่ตัวน็อตโดยตรง เมื่อน็อตไม่ได้มาตรฐานจึงทำให้กระจกหลุดกระเด็น ส่วนสาเหตุที่ใช้น็อตผิดขนาดก็เพราะช่างซ่อมบำรุงใช้น็อตเก่าไปเทียบขนาดกับน็อตในคลังพัสดุ แทนที่จะเช็กกับคู่มือซ่อมบำรุง..
สภาพเครื่องบิน ที่กระจกได้ลาจากไปแล้ว..
สรุปได้ไม่ยากว่าคนที่ต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ไปเต็มๆก็คือช่างซ่อมเครื่องบินนี่เอง!
ส่วนนักบินและลูกเรือ มีสติสัมปชัญญะดีมากและเก่งมากจริงๆ จึงทำให้รอดตายปาฏิหารย์กันยกลำเช่นนี้..
หลังจบไฟล์ทนี้ กัปตันและลูกเรือ จะยังคงเป็นตำนานสืบต่อไป และได้รางวัลกันไป..
กัปตันทิม แลนแคสเตอร์ แม้เขาจะเจ็บสาหัสจากเหตุการณ์นี้ แต่ก็สามารถกลับมาบินได้อีกครั้งภายในเวลาไม่ถึง 5 เดือน ก่อนจะเกษียณแล้วย้ายไปบินให้กับ อีซี่ย์เจ็ต ตั้งแต่ปี 2548
Captain Tim Lancaster กับความช้ำที่ไม่อาจลืม..
เหตุการณ์ครั้งนี้ก็เป็นอีกครั้งที่โลกจะต้องจำไปอีกนานแสนนานน และจะเป็นบทเรียนให้เราไม่ประมาท เพราะท้ายที่สุดแล้วความผิดพลาดที่เกิดจากมนุษย์ หรือ Human error เช่นนี้ ก็คงโทษใครไม่ได้อีก หากจะผิดพลาดถึงแก่ชีวิต ก็เพราะมนุษย์เป็นผู้กระทำเสียเอง...
แต่ถึงอย่างไรอุบัติเหตุทางเครื่องบิน ก็ยังคงถือเป็นอัตราส่วนที่น้อย หากเทียบกับการเดินทางด้วยทางอื่น ดังนั้น อย่าตกใจเด้อออ..แค่ดูไว้เป็นสิ่งเตือนใจ ว่ามันจะต้องไม่เกิดขึ้นอีกเป็นแน่นอน
ขอให้ทุกเที่ยวบินปลอดภัยเด้อออค่ะ^^
Have a safe flight.✈
#แอร์ป้าห้าดาว
Credit

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา