Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
อมร ทองสุก
•
ติดตาม
6 ส.ค. 2019 เวลา 12:21 • ปรัชญา
ขงจื่อ
ตอนที่3
ว่าด้วยจริยธรรม (禮)
คำว่าจริยธรรมหรือหลี่ (禮) ในภาษาจีนนั้นจะครอบคลุมความหมายอยู่หลายด้านด้วยกัน หนึ่งคือจารีตประเพณี สองคือศีลธรรมความดี สามคือจริยามารยาท สี่คือหลักเกณฑ์แห่งสกล
ในส่วนความหมายเชิงจารีตประเพณีและพิธีกรรมนั้น เราจะสามารถเห็นได้จากการถามคำถามของศิษย์ขงจื่อที่มีนามหลินฟั่ง
ในครั้งนั้นหลินฟั่งได้ถามเรื่องแก่นสาระแห่งจริยธรรม (หลี่) ขงจื่อตอบว่า “ถามได้ดีมาก ! อันว่าจริยธรรม หากต้องให้ฟุ้งเฟ้อสิ้นเปลือง ขอเลือกความประหยัดจะดีกว่า อันว่าพิธีศพ หากต้องให้บริบูรณ์ตามจารีต ขอเลือกความโศกาจะเหมาะกว่า”
ข้อนี้มีความชัดเจนว่าจริยธรรมหรือหลี่ (禮) มีความหมายในแง่ของประเพณี ท่านเห็นว่าการเจริญในประเพณีโบราณ หากจะให้มีความสมบูรณ์ตามธรรมเนียมและต้องสิ้นเปลืองล่ะก็ ขงจื่อตอบว่าขอเลือกความประหยัดดีกว่า หรืออย่างเช่นการประกอบพิธีศพ ถ้าจะให้สมบูรณ์ตามธรรมเนียมที่ทำสืบกันมา ขงจื่อเห็นว่าขอเลือกแบบไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์ตามจารีต แต่ให้เป็นการแสดงออกซึ่งความกตัญญูจากใจจริงจะดีกว่า ดังนั้นจึงเห็นว่า แม้นหลี่จะกินความหมายในเชิงจารีตประเพณี แต่แท้ที่จริงก็ครอบคลุมถึงนัยยะเชิงคุณธรรมภายในจิตใจเป็นสำคัญด้วย
ดังนั้นหากจะกล่าวให้เหมาะสมยิ่งขึ้น หลี่หรือจริยธรรมก็คือคุณธรรมที่เป็นประธานอยู่ภายในจิตใจ แล้วแสดงออกเป็นมารยาทอันงดงามที่ภายนอก โดยมีระเบียบที่เป็นแบบแผนมาแต่โบราณที่เรียกว่าจารีตประเพณีเป็นแนวทาง
ในส่วนความหมายของจริยธรรมหรือหลี่ (禮) ที่มีนัยหมายถึงเรื่องศีลธรรมนั้น ความจริงก็สามารถเห็นได้จากคำสอนของขงจื่อตอนหนึ่งที่ท่านได้กล่าวว่า “ปกครองด้วยรัฐศาสตร์ เคร่งครัดด้วยราชทัณฑ์ ทวยราษฎร์ก็จักหลีกหนีและไม่รู้ละอาย หากปกครองด้วยคุณธรรม และเคร่งครัดด้วยจริยธรรม ไพร่ฟ้าก็จักรู้ละอายและปรับปรุงตน”
หรือครั้งหนึ่งที่ขงจื่อได้กล่าวว่า “นบนอบโดยไร้จริยธรรม ก็จะเหนื่อยเปล่า รอบคอบโดยไร้จริยธรรม ก็จะตื่นตระหนก อาจหาญโดยไร้จริยธรรม ก็จะมุทะลุ เที่ยงตรงโดยไร้จริยธรรม ก็จะบุ่มบ่าม หากวิญญูชนเทิดทูนบุพการี ประชาราษฎร์ก็จะมุ่งมั่นในเมตตาธรรม หากไม่ทอดทิ้งสหายเก่า มวลชนก็จะแน่นแฟ้นมิจืดจาง”
หากนำความหมายเฉพาะนัยยะเชิงจารีตประเพณีไปขยายความคำสอนสองบทนี้แล้ว ก็จะเห็นว่ายังมิอาจอธิบายบริบทได้อย่างสมบูรณ์ แต่ครั้นนำความหมายเชิงศีลธรรมไปอธิบายขยายความแล้ว เราก็จะสามารถเห็นถึงบริบทที่ชัดเจนได้ในทันที
หลายท่านอาจจะสงสัยว่าเหตุใดต้องถกเถียงความหมายของคำว่าหลี่ให้วุ่นวายไปทำไม ความจริงแล้ว การที่ต้องอธิบายเรื่องนี้ให้เกิดความเข้าใจ เพราะมันจะเป็นตัวกำหนดอย่างมีนัยสำคัญว่าขงจื่อนั้นเป็นบุคคลอย่างไร ในตลอดชีวิตของขงจื่อ ท่านเน้นเรื่องของการใช้หลี่หรือจริยธรรมในการปกครองบริหาร ท่านเห็นว่าหากเรารู้จักเทิดทูนหลี่หรือจริยธรรมในการบริหารบ้านเมือง บ้านเมืองย่อมจะมั่นคง ประชาราษฎร์ย่อมจะเป็นสุข
ดังนั้น หากเราเข้าใจแต่เพียงว่าขงจื่อเทิดทูนหลี่ในแง่ของจารีตประเพณี ผู้คนก็จะเห็นว่าขงจื่อเป็นคนคร่ำครึ ดังที่สังคมในปัจจุบันเห็นขงจื่อเป็นเช่นนั้นในทันที
ดังนั้น การที่มีนักวิชาการหลายท่านแปลความหมายของหลี่ไปในเชิงของจารีตเสียอย่างเดียว สุดท้ายก็จะทำให้เขามิอาจเห็นถึงอัจฉริยภาพของขงจื่อได้อย่างครบด้าน และทำให้เสียโอกาสในการทำความเข้าใจปรัชญาความคิดของขงจื่อไปอย่างน่าเสียดาย
ดังนั้นการแปลความหมายคำว่าหลี่เป็นคำว่าจริยธรรม ซึ่งหมายถึงธรรมอันเป็นความดีที่มนุษย์พึงปฏิบัตินั้น น่าจะมีความหมายที่ครอบคลุมและเหมาะสมมากกว่าจารีตเพียงอย่างเดียว
จริยธรรมเป็นสิ่งที่ขงจื่อให้ความสำคัญในการดำเนินชีวิตอย่างสูงที่สุด และหากสามารถนำจริยธรรมขยายสู่ระบอบการปกครอง ท่านเห็นว่าจะสามารถทำให้ประเทศชาติประสบกับความสมบูรณ์พูนสุขได้อย่างแน่นอน
จริยธรรมหรือหลี่มีอยู่ในทุกเชื้อชาติศาสนา อย่างเช่นพระราชพิธีที่เห็นในพระราชวัง หรือกระทั่งพิธีกรรมธรรมดาที่เห็นในชีวิตประจำวันรอบตัวเรา เป็นต้นว่าพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ หรือพิธีการบวชนาค พิธีมงคลสมรส พิธีในประเพณีสงกรานต์ และพิธีอื่น ๆ ทั้งหมดนี้ล้วนคือจริยธรรมหรือหลี่ทั้งสิ้น
เบื้องหลังของจริยธรรมเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่ผสมผสานค่านิยมต่าง ๆ มากมายเข้าไว้ด้วยกัน ดังเช่นพิธีการบวชนาค ก็จะมีค่านิยมในเรื่องความเชื่อทางพุทธศาสนา ค่านิยมในเรื่องความกตัญญูที่บุตรต้องบวชทดแทนคุณบุพการี ค่านิยมในเรื่องของลำดับความเป็นผู้ใหญ่และผู้น้อยเป็นต้น สิ่งต่าง ๆ ที่ประกอบกันขึ้นเป็นพิธีกรรมเหล่านี้ ความจริงก็เป็นการผสมสานออกมาจากระบอบความคิด ดังนั้นแกนกลางของจริยธรรมหรือหลี่หรือพิธีกรรม ความจริงก็คือแกนกลางของความคิดในการมองโลกรอบตัว
ดังนั้นจึงมีนักปราชญ์กล่าวว่า จริยธรรมก็คือ “หลัก” หลักนี้คือหลักแห่งความคิดในการแยกแยะผิดชอบชั่วดี หลักนี้คือหลักในการมองโลกอย่างเป็นสากล เป็นหลักที่เข้าได้กับทุกเชื้อชาติศาสนา เป็นหลักที่เป็นความจริงเหนือกาลเวลา ดังนั้นจริยธรรมจึงยังมีนัยที่หมายถึงหลักแห่งสากลนั่นเอง
2 บันทึก
3
4
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ขงจื่อ
2
3
4
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย