Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
อมร ทองสุก
•
ติดตาม
7 ส.ค. 2019 เวลา 12:00 • ปรัชญา
ขงจื่อ
ตอนที่6
กวดขันตน บ่มเพาะคุณธรรม
ขงจื่อเป็นผู้ที่รักเรียนใฝ่ศึกษามากเป็นที่สุด แต่คำว่าใฝ่ศึกษาที่ท่านกล่าวถึง ก็หาใช่การคร่ำเคร่งตำรา และฝึกฝนทักษะให้เก่งกาจแต่อย่างใดไม่ หากแต่คือการมุ่งเน้นที่การขัดเกลาตนให้สมบูรณ์จนเป็นปราชญ์วิญญูเสียมากกว่า ในคัมภีร์หลุนอวี่ได้มีการพูดถึงคำว่าใฝ่ศึกษาอยู่หลายแห่ง หากได้ลองทบทวนเนื้อหาเหล่านี้ดูแล้วก็คงพอจะเข้าใจนิยามการศึกษาของขงจื่อได้เป็นอย่างดี ดังจะขอยกตัวอย่างคำสอนที่มีความเกี่ยวข้องกับการใฝ่ศึกษาดังต่อไปนี้
ขงจื่อกล่าวว่า “อันการกินของวิญญูชนจะมิหวังที่ความโอชะ อันการอยู่ของวิญญูชนจะมิหวังที่ความวิจิตร หากแต่จะว่องไวในหน้าที่และรอบคอบการเจรจา คบหาผู้ทรงธรรมและน้อมแก้ไขข้อบกพร่อง ฉะนี้ก็ถือว่าเป็นผู้ใฝ่ศึกษาแล้วแล”
ขงจื่อกล่าวว่า “วิญญูชน หากไม่สำรวมก็จะดูมิสง่า ความรู้ที่ศึกษาก็จะเลื่อนลอยมิหนักแน่น ดังนั้นจึงพึงยึดมั่นในความภักดีแลสัจจา ไม่คบหาสหายที่ต่ำกว่า ครั้นมีความผิด ก็ไม่กลัวการแก้ไข”
หลู่ไอกงถามว่า “ในบรรดาศิษย์ของท่าน ใครใฝ่ศึกษามากที่สุด ?” ขงจื่อกราบทูลว่า “เหยียนหุยใฝ่ศึกษามากที่สุด ด้วยเป็นคนไม่พาลอารมณ์ ไม่ผิดซ้ำสอง แต่น่าเสียดายที่เขาอายุสั้นวายปราณไปเสียแล้ว ปัจจุบันก็มิมีใครเยี่ยงเหยียนหุยได้อีก แลข้าก็มิเคยได้ยินว่ามีผู้ใฝ่ศึกษาอีกเลย”
ทักษะความสามารถคือสิ่งที่แสดงออกที่ภายนอก แต่คุณธรรมความดีคือสิ่งภายในที่จะควบคุมการใช้ทักษะในทางก่อคุณก่อโทษอีกที ดังนั้นการอบรมบ่มสอนวิชา จึงไม่ควรสักแต่มุ่งเน้นทักษะที่ภายนอกเพียงอย่างเดียว หากแต่ต้องเน้นหนักด้านการสร้างคุณธรรมภายในเป็นสำคัญ อันเสมือนหนึ่งการปลูกบ้านหนึ่งหลัง หากไม่ได้ให้ความสำคัญกับการก่อสร้างรากฐานให้มั่นคงแล้ว เชื่อว่าไม่นานบ้านหลังนี้ก็คงจะพังทลายในไม่ช้า
ด้วยเพราะเหตุนี้ ขงจื่อจึงให้ความสำคัญกับการอบรมคุณธรรมเป็นอันดับต้น เพราะการมีคุณธรรมที่ดี ย่อมเป็นพื้นฐานของการมีการศึกษาที่ดี การมีคุณธรรมและการศึกษาที่ดี ย่อมเป็นพื้นฐานของการประกอบการดี และการประกอบการดี ก็ย่อมเป็นพื้นฐานของความเจริญรุ่งเรืองของชาติที่สถาพร
ดังนั้นในตลอดชีวิตการศึกษาของขงจื่อ ท่านจึงให้ความสำคัญกับการขัดเกลาตนเองจนมีจิตใจอันบริสุทธิ์ประภัสสร คุณธรรมของท่านจึงเจิดจรัสดุจดวงอาทิตย์ที่เฉิดฉายส่องประกายไม่รู้สิ้น ดังจะเห็นได้จากคำพูดของท่านในคัมภีร์หลุนอวี่ว่า “ยามข้าอายุ 15 ก็มุ่งมั่นกับการศึกษา 30 ได้หยัดยืน 40 ไม่ฉงนหลงผิด 50 รู้ลิขิตสวรรค์ 60 โสตได้แจ่มแจ้ง 70 สามารถทำการตามใจปรารถนาโดยไม่ผิดครรลอง”
ประโยคข้างต้นมีความหมายว่า เมื่อท่านอายุได้ 15 ปี ท่านก็มีใจมุ่งมั่นที่จะเจริญตามวิถีแห่งอริยเจ้า ตราบจนกระทั่งอายุ 30 ปี จิตใจของท่านมีความมั่นคงหนักแน่นพอที่จะหยัดยืนต่อสู้ต่ออารมณ์ที่แปรปรวนได้ในเบื้องต้น แต่ท่านก็หาได้หยุดการขัดเกลาจิตใจตนเองไม่ หากจะยิ่งมุ่งมั่นให้มีความบูรณาภาพมากขึ้นไปอีก จนเมื่ออายุ 40 ปี ท่านมีความมั่นใจว่าจิตใจจะไม่มีความฉงนงงงวยจนก่อเรื่องที่หลงผิดอีกต่อไป ครั้นถึงอายุได้ 50 ปี ความสมบูรณ์ภายในก็ยกระดับสูงขึ้นจนสามารถรู้ความเป็นไปแห่งฟ้าดิน เมื่ออายุ 60 ปี ท่านสามารถฝึกฝนตนจนมีความแจ่มแจ้งในทุกสภาวะ ต่อให้รูปเสียงมากระทบโสตอินทรีย์อย่างไรก็สามารถประคองจิตใจให้แน่วนิ่งไม่อ่อนคล้อยไปตามกระแส เมื่อคราวที่ท่านมีอายุได้ 70 ปี ท่านก็มีความมั่นใจว่าจะสามารถใช้จิตแห่งคุณธรรมเป็นเอกในการควบคุมอินทรีย์ทั้งหลาย ทุกสิ่งที่กระทำล้วนเป็นการกระทำที่ไม่มีการปรุงแต่งจากอำนาจของอารมณ์อีกต่อไป
และทั้งหมดนี้ก็เป็นบทบรรยายให้เราทราบถึงสภาวะจิตใจของท่าน และก็ยิ่งเป็นการตอกย้ำอีกขั้นหนึ่งว่า ในเรื่องการศึกษาเล่าเรียนที่ท่านหมายถึงนั้น ความจริงก็มิอาจห่างจากการฝึกฝนขัดเกลาคุณธรรมภายในเลย
1 บันทึก
2
3
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ขงจื่อ
1
2
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย