Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
อมร ทองสุก
•
ติดตาม
8 ส.ค. 2019 เวลา 01:09 • ปรัชญา
ขงจื่อ
ตอนที่7
ประสิทธิ์ประสาทวิชา
ในสมัยนั้น ชื่อเสียงด้านคุณธรรมความรู้ของขงจื่อได้เป็นที่ร่ำลือไปทั่วแล้ว จึงยังให้ผู้คนจำนวนมากต่างพากันมาปวารณาขอเป็นศิษย์กับขงจื่ออยู่มิขาด
ขณะนั้นขงจื่อมีอายุเพียง 29 ปีเท่านั้น เมื่อมีผู้คนเริ่มมาวิงวอนขอร้องให้ขงจื่อช่วยอบรมถ่ายทอดวิชาความรู้มากขึ้นเรื่อย ๆ ตอนนั้นท่านจึงตั้งใจว่าจะเปิดสำนักอบรมวิชาโดยถือหลักว่าจะสอนโดยไม่แบ่งวรรณะ (有教無類)
สำหรับระบบการศึกษาในสมัยนั้นค่อนข้างจะเป็นเอกสิทธิ์เฉพาะผู้มีชาติตระกูลเพียงอย่างเดียว การที่ท่านได้เริ่มต้นเปิดสำนักศึกษาและเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกวรรณะได้เล่าเรียน จึงเป็นการทำลายระบอบการถ่ายทอดวิชาความรู้ที่จำกัดเฉพาะผู้มีชาติตระกูลเพียงอย่างเดียว และนี่ก็คือที่มาของโรงเรียนเอกชนแห่งแรกของประเทศจีน
ท่านเคยประกาศว่า ผู้ใดก็ตาม แม้นจะมีค่าครูแค่เนื้อตากแห้งเพียงกำเดียว ท่านก็จะรับเขาเข้าเป็นลูกศิษย์อย่างแน่นอน ดังนั้นลูกศิษย์ของท่านจึงมีความหลากหลาย มีตั้งแต่ลูกเจ้าขุนมูลนาย พ่อค้าวาณิช ไปจนกระทั่งผู้ยากจนข้นแค้นเลยทีเดียว
สำหรับหัวข้อในการอบรมลูกศิษย์นั้น ท่านได้แบ่งออกเป็นสี่ด้านด้วยกันคือ ด้านศิลปวิทยา (文) ด้านการนำพาปฏิบัติ (行) ด้านความจงรักภักดี (忠) และด้านสัจจะเที่ยงตรง (信) จะเห็นได้ว่า ท่านนอกจากจะอบรมวิชาการแล้ว สิ่งที่เน้นมากเป็นพิเศษยังมีอยู่สามด้านด้วยกันคือ ด้านการนำพาไปปฏิบัติอย่างจริงจัง ท่านเคยกล่าวกับลูกศิษย์ว่า “ทวนสิ่งเก่าแล้วรู้สิ่งใหม่ ผู้นี้เป็นอาจารย์ได้แล้วแล”
ท่านให้ความสำคัญกับความขยันหมั่นเพียรเป็นอย่างยิ่ง เพราะท่านเห็นว่าความรู้สูงไม่ได้อยู่ที่การเรียนมาก หากแต่คือการทบทวนให้แตกฉานในความรู้ที่ร่ำเรียนมาให้มากต่างหาก สำหรับผู้ที่ทำเช่นนี้ได้ เขาผู้นั้นก็คู่ควรที่จะเป็นครูบาอาจารย์ของคนได้แล้ว ด้วยเพราะเหตุนี้ ท่านจึงเคยกล่าวว่า “หากศึกษาโดยไม่ใคร่ครวญก็จักมืดมัว แต่หากใคร่ครวญโดยไม่ศึกษาก็จักอันตราย” อันความรู้ ต่อให้ร่ำเรียนมาเยอะ สุดท้ายความรู้นั้นก็ยังมิใช่สมบัติของเราอยู่ดี สิ่งที่สำคัญคือต้องนำความรู้ที่ร่ำเรียนไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมต่างหาก
นอกจากการเรียนรู้ศิลปวิทยาการและการนำความรู้ไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว ท่านยังให้ความสำคัญกับความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ นั่นก็คือต้องมีความจงรักภักดี แต่ความจงรักภักดีหาใช่หมายถึงภักดีต่อกษัตริย์เพียงอย่างเดียวไม่ หากแต่คือความภักดีต่อความรู้สึกภายในจิตใจ ภักดีต่อมโนธรรมสำนึกของตนเอง และคนที่สามารถทำเช่นนี้ได้ เขาผู้นั้นย่อมเป็นคนที่มีความเที่ยงธรรมสุจริตอย่างแน่นอน แต่ความภักดีเพียงอย่างเดียวคงยังไม่พอ เพราะความภักดียังเป็นเพียงส่วนที่เที่ยงตรงภายใน แต่การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนภายนอกนั้น ขงจื่อเห็นว่าจะต้องใช้คุณธรรมด้านสัจจะเป็นที่ตั้ง ภายในคือภักดี ภายนอกคือสัจจะ ผู้ที่ทำเช่นนี้ได้ ขงจื่อเห็นว่าเขาคู่ควรกับการเป็นปราชญ์วิญญูได้อย่างแท้จริงแล้ว
ลูกศิษย์ที่มาศึกษาวิชากับท่านมีมากมายมหาศาล ร่ำลือกันว่ามีจำนวนมากถึงสามพันคนเลยทีเดียว แต่ลูกศิษย์ของท่านก็มีความชำนาญเฉพาะด้านที่แตกต่างกันไป ท่านได้เคยจัดลูกศิษย์ที่มีความสามารถเฉพาะด้านออกเป็นสี่หมวดด้วยกัน หลังจากที่กลั่นกรองอย่างถี่ถ้วนแล้วก็เห็นว่ามีอยู่สิบคนที่มีความโดดเด่นมากเป็นพิเศษ ตรงนี้จะมีความคล้ายคลึงกับอัครสาวกสิบที่เป็นเอตทัคคะในทางพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง สำหรับสิบปราชญ์ในสี่หมวดวิชาจะมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
หมวดคุณธรรม มี เหยียนหุย หมินจื่อเชียน หยั่นป๋อหนิวและหยั่นยง
หมวดการเมือง มี จื่อลู่และหยั่นฉิว
หมวดวาทศิลป์ มี จื่อก้งและไจ๋หว่อ
หมวดวรรณกรรม มี จื่อเซี่ยและจื่ออิ๋ว
2 บันทึก
1
3
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ขงจื่อ
2
1
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย