8 ส.ค. 2019 เวลา 11:22 • ปรัชญา
ขงจื่อ
ตอนที่8
สอนตามจริต
ท่านมีหลักในการสอนหนังสือที่ไม่เหมือนผู้ใด คือท่านจะยึดการสอนตามจริตของคน (因材施教) ดังกรณีการอบรมจื่อลู่ก็พอจะเห็นได้เป็นอย่างดี ตามบันทึกในคัมภีร์หลุนอวี่จะพอเห็นถึงลักษณะนิสัยของจื่อลู่ได้บ้าง กล่าวคือจื่อลู่จะเป็นคนตรง ทั้งยังมีสัจจะจนเป็นที่ยอมรับของผู้คนในใต้หล้า หากแต่เสียอยู่อย่างเดียวคือมุทะลุ ขงจื่อเคยกล่าวตำหนิจื่อลู่ว่าหากไม่ปรับปรุงนิสัยบุ่มบ่ามเช่นนี้ก็คงจะไม่ได้ตายดีเป็นแน่แท้ และในบั้นปลายชีวิตของจื่อลู่ก็เป็นไปตามที่ท่านกังวลจริง ๆ ด้วยเพราะเหตุนี้ ขงจื่อจึงพยายามหาวิธีอบรมสั่งสอนให้จื่อลู่แก้ไขความมุทะลุอยู่ตลอดเวลา
ครั้งหนึ่ง จื่อลู่ถามว่า “เมื่อได้ฟังอะไรมาสักอย่างหนึ่งแล้วพึงรีบลงมือทำเลยหรือไม่ ?” ขงจื่อตอบว่า “บิดาและพี่ชายยังอยู่ เมื่อฟังแล้วจะรีบลงมือทำได้อย่างไร ?” สำหรับประเด็นนี้ หยั่นฉิวก็เคยถามเช่นกันว่า “เมื่อได้ฟังแล้วพึงรีบทำเลยหรือไม่ ?” ขงจื่อตอบว่า “เมื่อฟังแล้วก็รีบทำได้เลย” ครั้นกงซีฮว๋าที่อยู่ในเหตุการณ์ได้เห็นก็ถามขึ้นอย่างไม่เข้าใจว่า “จื่อลู่ถามว่าพึงรีบทำเลยหรือไม่ ? ท่านอาจารย์ตอบว่าบิดาแลพี่ชายยังอยู่ อย่าเพิ่งรีบลงมือกระทำ แต่เมื่อหยั่นฉิวถามว่าพึงรีบทำเลยหรือไม่ ? ท่านอาจารย์กลับตอบว่าให้ทำได้เลย ศิษย์รู้สึกสับสนยิ่งนัก จึงขอให้ท่านอาจารย์โปรดให้ความกระจ่างด้วยเถิด” ขงจื่อตอบว่า “หยั่นฉิวเป็นคนขลาดกลัว ข้าจึงกระตุ้นให้รุดหน้า ส่วนจื่อลู่นั้นแกร่งกล้าเหนือคน ข้าจึงยับยั้งให้เพลา ๆ”
มีอยู่ครั้งหนึ่ง ขงจื่อได้ชื่นชมในความดีของจื่อลู่ว่า “ผู้ที่สวมชุดขาดปอน แล้วยังสามารถยืนคู่กับผู้ที่สวมชุดขนสัตว์โดยไม่รู้สึกกระดากอายนั้น คงมีเพียงจื่อลู่กระมัง ! ในคัมภีร์ซือจิงได้กล่าวว่า ‘ไม่อิจฉาไม่ละโมบ จะไม่ดีได้ไย ?’ ” เมื่อจื่อลู่ได้ฟังก็ตื้นตันจนเอามาท่องอยู่ตลอดเวลา ครั้นขงจื่อเห็นจื่อลู่เป็นเช่นนี้ก็เกรงว่าจะเหลิงจนได้ใจ จึงกล่าวตำหนิจื่อลู่ว่า “เพียงคุณธรรมข้อนี้ ก็นึกว่าดีได้แล้วหรือ ?”
จื่อลู่มักเป็นคนที่พูดไวทำไว ดังนั้นในบางครั้งก็มักจะค่อนไปทางอวดฉลาดสักนิด ขงจื่อจึงกล่าวตำหนิจื่อลู่ว่า “จื่อลู่ สิ่งที่ข้าสอนเจ้า เจ้าเข้าใจไหม ? เข้าใจก็บอกว่าเข้าใจ ไม่เข้าใจก็บอกว่าไม่เข้าใจ ฉะนี้คือความเข้าใจแล” คำว่าความเข้าใจในที่นี้หมายถึงการรู้จักตัวเอง คือการรู้ว่าตนมีความรู้เท่าไหร่ มีความบกพร่องตรงไหน มีข้อดีอยู่เพียงใด เมื่อเทียบกับผู้อื่นแล้วเป็นอย่างไร ความเข้าใจแบบรู้จักตัวเองนี้ จะต้องเป็นความเข้าใจที่มีความเป็นกลางอย่างที่สุด ไม่มีการเลือกที่รักในตัวเอง หรือไม่มีการมักที่ชังในผู้อื่น แบบนี้จึงจะเรียกว่าความเข้าใจอย่างแท้จริง
การที่ขงจื่อกล่าวกับจื่อลู่เช่นนี้ ความจริงก็มีวัตถุประสงค์ที่จะลบเหลี่ยมจื่อลู่ให้รู้จักสงบจิตสงบใจ อย่าได้มีนิสัยที่วู่วามจนมีภัยแก่ตัว
จากตัวอย่างการอบรมจื่อลู่ที่กล่าวมานี้ ก็สามารถสะท้อนถึงการใช้กุศโลบายอันแยบคายในการอบรมลูกศิษย์ตามจริตนิสัยได้ของขงจื่อเป็นอย่างดี

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา