10 ส.ค. 2019 เวลา 00:50 • ปรัชญา
ขงจื่อ
ตอนที่9
พบเหลาจื่อ
ในตลอดชีวิตของขงจื่อ จุดที่มีความหมายสำคัญที่สุดในชีวิตของท่านน่าเป็นช่วงปีก่อนคริสตศักราชที่ 518 ครั้งนั้นขงจื่อมีอายุ 34 ปี
ในหนังสือประวัติศาสตร์สื่อจี้ได้บันทึกไว้ว่า หลังจากท่านได้ยินกิตติศัพท์ของเหลาจื่อ ท่านจึงเดินทางร่วมกับศิษย์คือหนันกงจิ้งสูไปขอเข้าพบเหลาจื่อที่เมืองลั่วหยาง การพบกันระหว่างสองมหาบุรุษในครั้งนั้นเป็นเช่นไรไม่มีใครทราบได้ แต่ที่แน่ ๆ คือการที่ขงจื่อได้พบกับเหลาจื่อในครั้งนั้น ได้เป็นจุดพลิกผันที่มีความสำคัญในชีวิตของขงจื่ออย่างที่สุด
เบื้องหน้าดูเหมือนว่าขงจื่อได้ไต่ถามเรื่องราวที่เกี่ยวกับจริยธรรม แต่เบื้องหลังดูเหมือนไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะในคัมภีร์เต๋าเต็กเกงที่เหลาจื่อได้ทำการประพันธ์นั้น ท่านได้กล่าวถึงจริยธรรมว่าเป็นสิ่งที่ได้เกิดขึ้นหลังจากมโนธรรมอันดีงามได้เสื่อมเสียหาย ดังมีรายละเอียดของคำสอนในบทที่ 38 ดังนี้
“ผู้ทรงเมตตาธรรมอันประเสริฐกระทำโดยไร้สิ่งที่ทำ ผู้ทรงมโนธรรมอันประเสริฐกระทำโดยมีสิ่งที่ทำ ผู้ทรงจริยธรรมอันประเสริฐกระทำโดยไร้การตอบสนอง จึงชูแขนรณรงค์ ดังนั้น เมื่อสูญเสียเต๋า (เต้า) แล้วจึงบังเกิดคุณธรรม เมื่อสูญเสียคุณธรรมแล้วจึงบังเกิดเมตตาธรรม เมื่อสูญเสียเมตตาธรรมแล้วจึงบังเกิดมโนธรรม เมื่อสูญเสียมโนธรรมแล้วจึงบังเกิดจริยธรรม อันจริยธรรมนั้น คือความบอบบางแห่งความภักดีและสัจจะ และเป็นบ่อเกิดแห่งความวุ่นวาย ผู้ที่ล่วงรู้นั้น คือไม้ประดับแห่งเต๋า (เต้า) แลคือจุดเริ่มต้นแห่งความเขลา”
ในประวัติศาสตร์เขียนว่าขงจื่อเดินทางไปเรียนจริยธรรมกับเหลาจื่อที่เมืองลั่วหลาง หากดูจากความจริงที่ปรากฏในคัมภีร์เต๋าเต็กเกงแล้ว เหลาจื่อไม่น่าจะสอนจริยธรรมตามที่เล่าขานกันในตำนานแต่อย่างใด หากแต่เป็นการสอนเต๋าหรือเต้าให้แก่ขงจื่อต่างหาก โดยเฉพาะในหนังสือประวัติศาสตร์ที่ชื่อว่าสื่อจี้ (史記) ก็มีการบันทึกไว้เช่นนี้ว่า
ระหว่างที่ขงจื่อได้สอบถามเรื่องจริยพิธีกับเหลาจื่อ เหลาจื่อกล่าวกับขงจื่อว่า “สิ่งที่ท่านได้กล่าวมา ทั้งตัวคนและกระดูกของผู้สอนได้ผุพังไปหมดแล้ว เหลือไว้แต่เพียงวาจาเท่านั้นแล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยามที่วิญญูชนประสบโอกาสก็ได้นั่งรถอย่างสง่า หากโอกาสไม่อำนวยก็ระเหระหนดุจกอหญ้าที่ปลิวว่อน ข้าได้ยินมาว่า พ่อค้าที่เก่งกาจจะซ่อนเร้นสินค้ามีค่าเหมือนดั่งว่าไม่มี ส่วนวิญญูผู้มีคุณธรรมอันประเสริฐนั้น อิริยาภายนอกจะดูประหนึ่งผู้โง่เขลา เจ้าจึงพึงขจัดความความอวดดีและความอยาก ความทะนงและความทะเยอทะยาน เหล่านี้ล้วนไม่มีประโยชน์กับตัวเจ้า สิ่งที่ข้าจะกล่าว ก็มีเท่านี่เองแล”
ก่อนที่ทั้งสองจะร่ำลา เหลาจื่อยังได้มอบคำสอนอันมีค่ากับขงจื่อว่า “ข้าได้ยินมาว่า ผู้ร่ำรวยจะมอบของขวัญให้ผู้อื่นเป็นทรัพย์สิน ส่วนผู้ทรงเมตตาธรรมจะมอบของขวัญให้ผู้อื่นเป็นวาจา ข้าไม่ได้เป็นผู้มั่งมี จึงขอสมมุติว่าเป็นผู้ทรงเมตตาธรรม และมอบวาจาให้แก่เจ้า กล่าวคือ ผู้ฉลาดและมีเชาว์ในการพินิจมักจะใกล้ชิดกับความมรณา เหตุเพราะชอบวิจารณ์ผู้อื่นนั่นแล ส่วนผู้ช่างเจรจาฉะฉานก็มักจะมีภยันตรายแก่ตัว เหตุเพราะชอบเปิดเผยความไม่ดีของผู้อื่นนั่นแล ดังนั้นผู้ที่เป็นบุตรของบิดามารดา จึงอย่าคำนึงถึงแต่ตัวเอง ผู้ที่เป็นขุนนางของพระราชา ก็จงอย่าได้คำนึงถึงแต่ตนเอง”
คำสอนที่เหลาจื่อได้มอบให้แก่ขงจื่อ ล้วนเป็นวาทะอันมีค่า และเป็นคำสอนที่มุ่งตรงไปที่จุดอ่อนของขงจื่อทั้งสิ้น แต่การที่เหลาจื่อได้สั่งสอนอบรมเช่นนี้ ก็หาใช่หมายความว่าสิ่งที่ขงจื่อทำเป็นสิ่งที่ไม่ดี หากแต่เหลาจื่อต้องการชีให้เห็นว่า หากมุ่งแต่จะผดุงความยุติธรรม และทำให้ตนต้องสูญหายจากความสงบแห่งเต๋าที่อยู่ภายใน ข้อนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับการเอาขมิ้นไปแลกกับปูน แม้นจะได้เหรียญเงินที่มีค่ากลับคืนมา แต่สุดท้ายกลับต้องแลกด้วยเพชรนิลจินดาที่ล้ำค่ามากยิ่งกว่า เมื่อลองชั่งใจดูแล้ว ไม่มีความคุ้มค่าแต่อย่างใดเลย
สรรพสิ่งล้วนมีต้นปลาย ต้นเป็นกำเนิดของปลาย ปลายเป็นผลสะท้อนจากต้น สิ่งที่เหลาจื่อต้องการให้ขงจื่อตระหนักนั้น คือการจัดการปัญหาที่ต้นกำเนิด ซึ่งก็คือการทำให้ผู้คนในใต้หล้าได้เข้าถึงเต๋าที่อยู่ภายใน ครั้นเต๋าในจิตใจภายในของทุกคนได้สว่างประภัสสรขึ้นแล้ว ทุกสิ่งก็จะดีงามไปเองโดยธรรมชาติ แต่หากจัดการปัญหาที่ส่วนปลายโดยไม่สนใจปัญหาที่ส่วนต้นกำเนิด แม้นปัญหาอาจจะได้รับการคลี่คลายไปบ้างแล้ว แต่ที่สุดก็จะมีปัญหาใหม่เกิดขึ้นมาอีก เสมือนว่ามีปัญหาที่ปะทุเกิดขึ้นให้แก้อย่างไม่รู้จบสิ้น เหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะต้นกำเนิดแห่งปัญหา ซึ่งก็คือการไม่เข้าถึงเต๋า ยังไม่ได้รับการแก้ไขนั่นเอง
หลังจากที่ขงจื่อได้อำลาเหลาจื่อกลับแคว้นหลู่แล้ว ท่านก็ได้กล่าวยกย่องสรรเสริญเหลาจื่อต่อหน้าลูกศิษย์ดังนี้ว่า “อันว่าวิหค ข้ารู้ว่ามันสามารถโบยบิน อันว่ามัจฉา ข้ารู้ว่ามันสามารถแหวกว่าย อันว่าจตุรบาท ข้ารู้ว่ามันสามารถโลดโผน แต่ที่โลดโผนได้เก่งกาจก็ยังมิอาจหนีพ้นตาข่ายดัก ที่แหวกว่ายในสาครก็ยังมิอาจหนีพ้นจากเบ็ดแห ที่โบยบินในอากาศก็ยังมิอาจหนีพ้นจากเกาทัณฑ์ หากมีเพียงมังกรกระมังที่ข้ามิอาจล่วงรู้ซึ่งล่องลอย ด้วยมันสามารถฝ่าลมหายไปสู่นภากาศ สำหรับท่านเหลาจื่อที่ข้าได้พบนั้น ท่านสูงส่งลี้ลับเหมือนดั่งเช่นมังกรนี้แล”

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา