11 ส.ค. 2019 เวลา 00:28 • ปรัชญา
ขงจื่อ
ตอนที่10
ประศาสนทัศน์
เมื่อครั้งที่ขงจื่ออายุ 51 ปี นับว่าท่านได้ประสบความสำเร็จในด้านการศึกษาอย่างสูงมากแล้ว ส่วนในด้านคุณธรรมความรู้ของท่านก็มีความสูงส่งจนไม่มีอะไรต้องกังขาอีกต่อไป แต่ก็ดูจะเป็นเรื่องแปลก เพราะคนดีมีความรู้สูงเช่นท่าน กลับไม่มีใครกล้าที่จะเรียกท่านให้เข้ารับราชการสักเท่าไหร่นัก ข้อนี้หากเปรียบแล้วก็คงจะเหมือนไฟที่กลัวน้ำ น้ำที่กลัวดิน ความมืดที่กลัวแสง จึงมิไยต้องกล่าวถึงขงจื่อว่ามีความยิ่งใหญ่ดุจแสงอาทิตย์ที่พร้อมจะสาดส่องให้ผืนปฐพีมีความสว่างไสวอีกเลย
แต่แล้ววันหนึ่ง อยู่ ๆ โอกาสที่จะให้ท่านได้แสดงฝีมือก็มาถึง เพราะท่านได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าเมืองจงตู
ที่เมืองจงตูแห่งนี้ ท่านใช้เวลาเพียงหนึ่งปีก็สามารถบริหารราชการจนชาวเมืองมีความละอายต่อการทำความผิด ผู้คนต่างเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน ชาวบ้านไม่มีการเอารัดเอาเปรียบต่อกัน ดังนั้นเมืองจงตูที่ท่านบริหาร แม้นจะทำของตกอยู่ริมทางก็ไม่มีใครเก็บ ในยามวิกาลก็ไม่จำเป็นต้องปิดดาลประตูให้มิดชิด
การที่ท่านสามารถบริหารเมืองจงตูจนมีสภาพการณ์เช่นนี้ได้ภายในหนึ่งปี แน่นอนว่าต้องมิใช่ใช้กฎหมายบ้านเมืองบังคับข่มขู่อย่างเข้มงวดแต่อย่างใด หากแต่เป็นการใช้มโนธรรมสำนึกแห่งจิตใจต่างหาก แต่การที่จะบริหารบ้านเมืองจนทำให้ชาวบ้านสามารถมีสำนึกผิดชอบชั่วดีได้นั้น ก็ใช่ว่าจะสามารถทำได้ง่าย ๆ แต่อย่างใด แต่ขงจื่อกลับสามารถทำได้ และสิ่งที่ท่านทำก็คือสิ่งที่ท่านกำลังสอนเราอยู่ในทุกวันนี้ หมายความว่าคำสอนที่ท่านสอน หาใช่เป็นคำสอนในเชิงนามธรรมไม่ หากแต่คือคำสอนที่สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรมนั่นเอง
สำหรับปรัชญาการบริหารบ้านเมืองของท่านนั้น ท่านจะเน้นที่คุณธรรมของผู้นำมากเป็นพิเศษ เพราะผู้นำจะเป็นเหมือนเช่นเสาเอก ในการปลูกบ้าน หากเสาเอกตรงเสียอย่างแล้ว ส่วนอื่น ๆ ของบ้านย่อมจะต้องตรงตามไปหมดอย่างแน่นอน ดังนั้นท่านจึงกล่าวว่า “อันหลักการแห่งการปกครองแผ่นดินโดยธรรม จะเสมือนหนึ่งดาวเหนือประดับกลางหาว ที่จะมีหมู่ดาวรายล้อมภักดี” นั่นก็คือ หากผู้ปกครองมีความเที่ยงธรรม มีคุณธรรมอันเป็นที่เลื่อมใส เมื่อนั้นย่อมจะมีคนดี ๆ เข้ามาสู่ เมื่อการเมืองเป็นที่ชุมนุมแห่งคนดีแล้ว เมื่อนั้นการเมืองก็จะเป็นไปตามครรลองโดยมิต้องจัดการบริหารอะไรให้ยุ่งยาก อย่างเช่นครั้งหนึ่ง จี้คังจื่อซึ่งเป็นผู้ทรงอิทธิพลคนหนึ่งในแคว้นหลู่ได้ถามเรื่องการปกครองกับขงจื่อ ขงจื่อกล่าวว่า “อันการปกครองก็คือความเที่ยงธรรมนั่นเองแล เพราะหากท่านนำด้วยความเที่ยงธรรมแล้ว ใครล่ะที่จะกล้าไม่เที่ยงธรรม ?”
ในเรื่องของการปกครอง ขอเพียงผู้ปกครองดำรงตนในคุณธรรม ใต้หล้าย่อมเที่ยงตรงตามไปได้ไม่ยาก แต่การที่สังคมมีแต่ความวุ่นวายชั่วร้าย ผู้ปกครองส่วนใหญ่ก็มักจะโทษสังคมและใช้กฎหมายอันเข้มงวดเข้าประหัตประหาร
เหมือนอย่างครั้งหนึ่งที่จี้คังจื่อมีความกังวลเรื่องโจรผู้ร้าย จึงได้ขอความเห็นจากขงจื่อว่าควรทำเช่นไร ขงจื่อกล่าวว่า “หากท่านสุจริตไม่ละโมบ ต่อให้ตั้งรางวัลส่งเสริมก็ไม่มีใครยอมเป็นโจรดอก”
แต่จี้คังจื่อยังคงไม่เข้าใจหลักการปกครองว่า เมื่อผู้ปกครองเที่ยงตรง แล้วประชาชนจะเที่ยงตรงได้อย่างไร? จึงถามขึ้นอีกว่า “หากประหารเหล่าอธรรม เพื่อส่งเสริมผู้คนให้มีธรรมฉะนี้ ท่านเห็นว่าเป็นไฉน ?” ขงจื่อตอบว่า “ท่านคือผู้บริหารแผ่นดิน จะต้องใช้การประหารไปไย ? เพราะเพียงท่านมุ่งในความดี ประชาราษฎร์ก็จะมุ่งมั่นใฝ่ดี อันวัตรปฏิบัติแห่งวิญญูชนนั้นจะประหนึ่งลม แลอันวัตรปฏิบัติแห่งสามัญชนนั้นจะประหนึ่งหญ้า หญ้าที่อยู่ใต้ลม ก็จักต้องล้มลู่ตามลมเป็นแน่แท้”
ในเรื่องของการบริหาร มีหลาย ๆ คนคงจะประสบปัญหาเรื่องความไร้บารมีในการบังคับบัญชาอยู่เป็นแน่ สำหรับเรื่องนี้ขงจื่อได้ชี้แนะว่า “หากผู้ปกครองมีความประพฤติอันเที่ยงธรรม แม้นไม่บัญชาประชาชนก็จะนำไปปฏิบัติ แต่หากความประพฤติไร้ความเที่ยงธรรมแล้ว ต่อให้สั่งบัญชาอย่างไรก็ไม่มีใครรับฟัง”
ในวัฒนธรรมจีนมีคำกล่าวอยู่คำหนึ่งที่ว่า “สิ่งที่เหมือนกันย่อมชุมนุมรวมอยู่ด้วยกัน” หมายความว่าที่ไหนมีคนดีที่นั่นย่อมเป็นที่อยู่แห่งคนดี ที่ไหนมีคนเลวที่นั่นย่อมเป็นที่สุมหัวของคนเลว
ดังนั้น หากบ้านเมืองสามารถเฟ้นหาคนดีเข้ามาบริหาร แน่นอนว่าบ้านเมืองนั้นย่อมจะมีคนดี ๆ เข้ามาทำงาน เมื่อมีคนดีเข้ามามาก ๆ บรรยากาศสังคมย่อมจะถูกโน้มน้าวให้เอียงไปทางด้านความดี เมื่อนั้นสังคมก็จะดี ลูกหลานก็จะดี บ้านเมืองดี อนาคตก็ย่อมต้องดีอย่างแน่นอน
แต่การบริหารบ้านเมืองควรจะเลือกคนเก่งหรือคนดีล่ะ? สำหรับจุดนี้ หลายคนอาจจะวิพากษ์วิจารณ์ไปต่าง ๆ นานาว่า “หากเอาแต่คนดีแล้วไม่มีความสามารถ แล้วบ้านเมืองจะเดินหน้าได้อย่างไร ?”
ความจริงขงจื่อกลับมิคิดเห็นเป็นเช่นนั้น เพราะในเรื่องของการปกครอง ความจริงมิใช่เป็นเรื่องของการบริหารบ้านเมืองเพียงอย่างเดียว หากแต่ค่อนน้ำหนักไปทางการบริหารคนเสียมากกว่า ดังนั้นหากผู้ปกครองไร้ซึ่งคุณธรรม แน่นอนว่าย่อมมิอาจเป็นที่ยอมรับของผู้ใต้ปกครอง หากผู้ปกครองไร้คุณธรรม ก็แน่นอนว่าคนดีมีฝีมือก็จะไม่ยอมเข้ามาสู่ตำแหน่งราชการ ขอเพียงข้างบนดี สุดท้ายก็จะมีคนดีมีฝีมือเข้ามาช่วยหนุนนำอีกอย่างแน่นอน
สิ่งสำคัญที่สุดในการบริหารบ้านเมืองก็คือศรัทธาประชาชน ความศรัทธาแห่งประชาชนเป็นสิ่งที่ต้องสร้างขึ้นอย่างทะนุถนอม ต้องค่อยฟูมฟักดูแลอย่างระมัดระวัง ซึ่งมิใช่สิ่งที่จะสร้างขึ้นด้วยวิธีการหลอกล่อด้วยผลประโยชน์ หรือสร้างขึ้นด้วยความเข้มงวดกวดขันอย่างแน่นอน
ครั้งหนึ่ง จื่อก้งได้ถามถึงเรื่องการปกครองกับขงจื่อ ขงจื่อตอบว่า “อันการปกครองที่ดี พึงถึงพร้อมด้วยโภชนะอันอุดม ยุทธพลอันพร้อมพรั่ง แลพลังศรัทธาแห่งประชาชนนั่นแล”
จื่อก้งอยากรู้ว่าสิ่งใดสำคัญที่สุด จึงถามขึ้นว่า “หากสุดวิสัยจนต้องตัดออก พึงตัดปัจจัยใดก่อนใน 3 ข้อนี้ ?” ขงจื่อกล่าวว่า “พึงตัดยุทธพลทิ้งไป” จื่อก้งถามขึ้นอีกว่า “หากมีความจำเป็นต้องตัดทิ้ง พึงตัดปัจจัยใดก่อนใน 2 ข้อนี้ ?” ขงจื่อตอบว่า “พึงตัดโภชนาหารไป เพราะนับแต่บุพกาลมาทุกคนล้วนต้องตาย แต่หากสิ้นซึ่งแรงศรัทธาแห่งปวงชนแล้ว ก็คงจะมิอาจดำรงอยู่ต่อไปได้ ?”
ดังนั้นอันผู้ปกครอง หากตนมีความประพฤติที่ไม่เหมาะสมแล้ว เขาจะเป็นที่ศรัทธาของปวงชนได้ไย ? โบราณกล่าวว่ามติประชาก็คือมติฟ้า ดังนั้นหากผู้ปกครองไร้ซึ่งแรงศรัทธาแห่งปวงประชาแล้ว มีหรือที่ฟ้าจะประทานพร ?
ขงจื่อมีหลักการและปรัชญาการบริหารที่ผสมผสานการเมืองและคุณธรรมเข้าไว้ด้วยกัน ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เมื่อท่านได้บริหารเมืองจงตู ท่านใช้เวลาเพียงไม่ถึงปีก็สามารถทำให้ประชาชนมีความละอายไม่ก่อผิดบาป บรรยากาศสังคมจึงคุกรุ่นแต่ไออุ่นแห่งความดี ผู้คนเทิดทูนแต่ความดี ยกย่องคนดี ผู้คนต่างรู้สึกมีเกียรติที่ตนสามารถดำรงมั่นในความดี ดังนั้นศาลาว่าการเมืองจงตูจึงไม่มีคดีความฟ้องร้องเกิดขึ้นเลย
หลังจากท่านบริหารเมืองจงตูได้หนึ่งปี เจ้าแคว้นหลู่ติ้งกงก็ทรงแต่งตั้งท่านให้เป็นโยธาธิบดี แต่จากนั้นไม่นาน ท่านก็ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสมุหนายก และหลังจากท่านขงจื่อได้เข้าบริหารบ้านเมืองได้ไม่นาน บรรยากาศของแคว้นหลู่ก็เริ่มดีงามขึ้นตามลำดับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา