16 ส.ค. 2019 เวลา 14:55 • ประวัติศาสตร์
พุทธประวัติ​ ตอนที่ 3
พระ​โพธิสัตว์​ทรงเสด็จประสูติ
ในบทนี้เองจะมีเหตุการณ์ต่างๆ ที่​น่าอัศจรรย์​มากมาย ที่เกิดขึ้นโดยพระบารมีขององค์พระโพธิสัตว์เจ้านะครับ
ซึ่งการที่​พระองค์​เป็น​พระ​มหาบุรุษ​ที่ได้เสด็จลงมาอุบัติยังโลก(ชมพูทวีป) พร้อมทั้งบุญญาธิการของท่าน ที่ได้สั่งสมมาอย่างยาวนาน นับชาติไม่ถ้วนนั้น จะเป็นอย่างไร มาติดตามไปด้วยกันครับผม
ก็เมื่อครั้นเวลาล่วงผ่านเลยมา
จวบจนพระครรภ์จะครบกำหนดทศมาส (สิบเดือน) แล้ว
พระนาง​นั้น ก็มี​พระทัย​ปรารถนา​ที่จะเสด็จไปยังกรุงเทวทหะ อันเป็นราชสกุลเดิมของพระนางสิริมหามายานั่นเอง
ทั้งนี้เพราะเป็นประเพณีดังเดิมของพราหมณ์ ที่ได้กล่าวไว้ว่า :
"อันภรรยาเมื่อมีครรภ์จักต้องไม่คลอดที่เรือนของฝ่ายสามี ย่อมจักต้องกลับไปคลอดยังเรือนสกุลเดิมของตนเอง"
ดังนั้นพระนางจึงได้กราบทูลขอพระราชา​นุ​ญาต จากพระเจ้าสุทโธทนะพระสวามี และเมื่อได้รับอนุญาตโดยมิได้ขัดพระทัยแล้ว ในวันวิสาขปุรณมี ซึ่งเป็นเวลาเช้านั้น
พระนางมหาเทวีเจ้าก็ได้เสด็จโดย
พระเสลี่ยงทองและแวดล้อมไปด้วย
ข้าราชบริพาร​ออกจากกรุงพระนคร​กบิลพัสดุ์​
เสด็จโดยตามลำดับจนเข้าสู่เขตป่าลุมพินีสถาน อันเป็นราชอุทยานที่อยู่ระหว่างพระนครทั้งสองนั้นเอง
ณ ป่า​ลุมพีนี​แห่งนี้...
เป็นสถานที่ๆ สงบร่มรื่นร่มเย็นงดงามน่าดูน่าชมเป็นยิ่งนัก พรั่งพร้อม​บริบูรณ์​ไปด้วยบรรดาดอกไม้ และผลไม้นานาชนิด และยังมีเสียงขับร้อง ของเหล่าสกุณาชาติทั้งหลาย จึงทำให้พระนางสิริมหายาเจ้ามี ปรารถนา​ที่จะเสด็จพักผ่อนพระวรกาย เพื่อทัศนาชมราชอุทยานนั้น
บรรดาเหล่าอำมาตย์​และบริวาร
เมื่อได้ทราบพระประสงค์ของพระแม่เจ้าแล้ว จึงได้ช่วยกันจัดตั้งสถานที่ให้พระนางนั้นเสด็จเข้าไปประทับยังใต้ร่มต้นสาละ เพื่อที่จะได้หลีกหลบจากแสงสุริยาในยามสายนั้น
และในขณะที่พระนางทรงสำราญพระทัยชมราชอุทยานอยู่นั้น
พระองค์​ก็เกิดปรารถนา​ทรงจะจับกิ่งสาละ ครั้นเมื่อพระนางทรงยกพระหัตถ์เอื้อมขึ้นเหนี่ยวกิ่งสาละนั้นแล้ว!!!
1
ก็ได้เกิดลม "กัมมัชวาต" ขึ้นทันที
คือ อาการปวดพระครรภ์ใกล้จะ
ประสูติ
เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่และพนักงานทั้งหลายต่างเร่งรีบช่วยกันจัดแจงสถานที่อันเหมาะสม และมีการผูกม่านแวดล้อมภายใต้ต้นสาละเท่าที่
จะจัดแจงได้ดีที่สุดในขณะนั้น
ลำดับ​นั้น...
พระนางเทวีเจ้าได้ทรงอาภรณ์ผ้าโกสัย อัน​วิจิตร​ด้วยทอง และทรงห่มผ้าอย่างดีคลุมท้องพระองค์จนจรดหลังพระบาท และประทับยืนพระปฤษฎางค์(หลัง) อิงกับต้นสาละ พระ​หัตถ์​ขวาทรงเหนี่ยวกิ่งสาละ และหันพระพักตร์ทอดพระเนตรไปทางทิศบูรพา
ครั้นเมื่อเวลาใกล้เที่ยง อันประกอบด้วยวิสาขฤกษ์ในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 พระนางสิริมหามายาเทวี ก็ทรงประสูติพระราชโอรส อันประกอบด้วย "มหาปุริสลักษณะ 32 ประการ" พร้อมด้วยบุญญาธิการอันมาก
พระ​โพธิสัตว์​เจ้าทรงเปล่งอาสภิวาจา
ลำดับนำเมื่อพระมหาบุรุษประสูติจากพระครรภ์ยังมิทันถึงพื้นปฐพี ก็มีท่านท้าวมหาพรหมทั้ง 4 จากชั้นสุทธาวาสมารองรับพระวรกายด้วยข่ายทองคำ
ขณะนั้นก็บังเกิดกระแสชลที่อุ่นและเย็น หลั่งลงมาจากอากาศธาตุ​โสรจสรงองค์พระมารดาและพระบรมโพธิสัตว์
จากนั้นท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 ก็รับองค์ พระ​มหาบุรุษ​จากพระหัตถ์ของท้าวมหาพรหมแล้ว นางนมก็จึงมารับพระองค์ต่อไปอีกครั้ง
ในลำดับนั้นเอง...
องค์พระบรมโพธิสัตว์เจ้า พระองค์​ก็ได้เสด็จลุกประทับยืนขึ้นบนพื้นปฐพีด้วยพระบาททั้งสองข้าง แล้วทอดพระเนตรไปทั่วทั่ง 10 ทิศ
และทรงมิเห็นว่าจะมีผู้ใดเลย
ที่จะมีบุญบารมีเสมอเหมือนพระองค์กับพระองค์เลย
ครั้งนั้น...
พระองค์​จึงได้หัน พระพักตร์​สู่ทิศอุดร และเสด็จดำเนินด้วยพระบาทเปล่าไป 7 ก้าว
แล้วทรงบันลือสีหนาท
เปล่งอาสภิวาจา (วาจาอันอาจหาญ) ด้วยพระสุรเสียงอัน​ไพเราะ​ ประดุจดังเสียงของท้าวมหาพรหม อันประกอบด้วยองค์ 8 ประการ คือ
1. แจ่มใส
2. ชัดถ้อยชัดคำ
3. หวานกล่อมใจ
4. เสนาะโสต
5. หยดย้อย
6. มีกังวาน
7. ไม่​เครือ​ไม่​แหบพร่า
8. ลึกซึ้ง​
อาสภิวาจา​ที่พระองค์ได้กล่าวนั้น
มีเนื้อความว่า :
"เราเป็นผู้เลิศที่สุด
เราเป็นผู้เจริญที่สุด
เราเป็น​ผู้​ประเสริฐ​ที่สุด
การเกิดครั้งนี้เป็นการเกิดครั้งสุดท้าย การเกิดใหม่ของเรานั้นไม่มีอีกแล้ว"
***เกร็ดความรู้​เพิ่มเติม***
พระชาติที่ พระบรมโพธิสัตว์พอประสูติจากครรภ์พระมารดาแล้ว เปล่งอาสภิวาจา​ได้นั้น มีอยู่​ด้วย​กัน 3 พระชาติ คือ
1. พระชาติที่เกิดเป็น พระ​มโหสถ​
2. พระชาติ​ที่เกิดเป็น พระ​เวสสันดร
3. พระชาติสุดท้ายนี้ คือ เจ้าชาย
สิทธัตถะ
และในวันที่ พระบรมโพธิสัตว์ประสูตินั้น ก็มี​มนุษย์​และสัตว์กับทั้งสิ่งของ อันเป็นสหชาติมงคลบังเกิดขึ้นในวันเดียวกัน ซึ่งรวมทั้งได้สิ้นมี 7 ประการ ได้แก่ :
1. พระนางพิมพา​ - ราชเทวีคู่บารมี
2. พระ​อานนท์​ -​ พุทธอุปัฏฐาก
3. กาฬุทายี - อำมาตย์​
4. นายฉันะ - ผู้ติดตามวันออกบวช
5. ม้ากัณฐกะ -​ พระราชพาหนะประจำ พระองค์
6. ต้น​พระศรี​มหาโพธิ์ -​ สถานที่ตรัสรู้
7. ขุมทรัพย์​ทั้ง 4 มุมเมือง - คือเกิดขึ้นที่ สังข์นิธิ, เอลนิธิ, อุบลนิธิ และ บุณฑริกนิธิ
ลำดับ​ต่อมา​พระราช​องครักษ์​ก็ได้รีบควบ ม้าเร็วกลับไปแจ้งข่าวกราบทูลเรื่องที่พระราชโอรสทรงเสด็จประสูติแล้ว แก่​พระเจ้า​สุทโธ​ทนะ
เมื่อพระเจ้าสุทโธทนะ ทราบข่าวจึงรีบจัดแจง รับสั่งให้พระมเหสีและพระโอราสเจ้า รีบเสร็จกลับสู่วังพระนครกบิลพัสดุ์โดยด่วน และรับสั่งให้จัดหาพี่เลี้ยงนางนมที่ดีที่สุด มาคอยบำรุงเลี้ยงดูพระราชโอรส และดูแลพระมหามายาราชเทวีอย่างดียิ่งที่สุดเช่นเดียวกัน
มีเหตุการณ์​่มหัศจรรย์​หลายสิ่งหลายอย่างที่ได้บังเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการประสูติของ พระบรมโพธิสัตว์เจ้านั้น ท่านทั้งหลายควรทราบถึงความหมายในบางประการดังนี้ :
1. การที่หมื่น​โลกธาตุหวั่นไหว สั่นสะเทือนถั่วถึงกันเป็นบุพนิมิตว่า :
พระองค์​จะได้​ตรัสรู้​เป็น
"พระสัพพัญญู​พุทธะ"
2. การที่พระบรมโพธิสัตว์ เมื่อได้ประสูติแล้วก็เสด็จดำเนินได้ 7 ก้าว เป็นบุพนิมิตว่า : พระองค์​จะได้
"สัตตรัตนสัมโพชฌงค์ 7 ประการ"
3. การที่พระ​บรม​โพธิสัตว์​
ทรงเปล่งอาสภิวาจานั้น เป็นบุพนิมิตว่า​ : พระองค์​จะได้ตรัส "พระธรรมจักกัปปวัตตนสูตร เป็น ปฐมเทศนา"
และแล้วข่าวการประสูติขององค์
พระ​บรมโพธิสัตว์​ก็ได้แพร่กระจายไปยังบรรดา กษัตริย์​พระ​ประยูรญาติทั้งสองพระนคร ต่างฝ่ายต่างเกิดความปีติยินดีโสมนัส​ และได้พากันส่งเครื่องบรรณาการที่เป็นสิ่งของอันประเสริฐต่างๆ มาเป็นเครื่องบำรุงรักษาพระมหาโพธิสัตว์โดยถั่วกัน
เอวัง​ก็มี​ด้วยประการฉะนี้​
ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่านผู้อ่านทุกท่าน​ สาธุครับ​
***เอกสารอ้างอ้าง***
หนังสือ.ปฐมสมโพธิกถา
หนังสือ.พุทธประวัติ​ตามแนวปฐมสมโพธิ (พระครูกัลยาณสิทธิวัฒน์)
เพิ่มเติมเนื้อหาใหม่/ภาพประกอบ.ต้นธรรม
โฆษณา