Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ธรรม STORY
•
ติดตาม
25 ส.ค. 2019 เวลา 09:40 • ประวัติศาสตร์
พุทธประวัติ ตอนที่ 5
โกณฑัญญพราหมณ์ ทำนายพระลักษณะพระมหาบุรุษ
ครั้นเมื่อ
พระราชกุมารมีพระชันษาได้ 5 วัน
พระราชบิดาก็ได้รับสั่งให้เชิญพราหมณ์ 108 คน มาฉันโภชนาหารภายในพระราชนิเวศน์
แล้วก็รับสั่งให้พราหมณ์เหล่านั้นคัดเลือกพราหมณ์ผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ และเชี่ยวชาญในไตรเพท
สุดท้ายคัดได้จนเหลือเพียง 8 คนเท่านั้น
ทั้ง 8 คนนี้จะได้เป็นผู้ทำนายพระลักษณะของพระกุมาร และพราหมณ์อาจารย์ทั้ง 8 นั้นมีมีนามว่า :
1. รามพราหมณ์
2. ลักษณพราหมณ์
3. ยัญญพราหมณ์
4. ธุชพราหมณ์
5. โภชพราหมณ์
6. สุทัตตพราหมณ์
7. สุยามพราหมณ์
8. โกณฑัญญพราหมณ์
ในบรรดาพราหมณ์ทั้ง 8 คนนี้
ท่านโกณฑัญญพราหมณ์
เป็นผู้ที่มีอายุน้อยที่สุด จึงได้ทำนายพระกุมาร เป็นลำดับสุดท้าย
ในขณะนั้นเอง...
ฝ่ายพราหมณ์ทั้ง 7 คนแรกนั้น
ได้พิจารณาตรวจดูพระลักษณะ
ของพระกุมารอย่างละเอียด
ครบถ้วนแล้ว
ต่างเห็นถูกต้องตามตำรามหาบุรุษลักษณพยากรณศาสตร์ครบทุกประการณ์ และพราหมณ์ทั้ง 7 นี้
ต่างก็ได้ยกนิ้วขึ้น 2 นิ้ว
เป็นสัญลักษณ์ในการทำนาย
เป็น 2 นัย เหมือนกันทั้งหมด...
พราหมณ์ทั้ง 7 ทูลตอบว่า :
"ข้าแต่พระองค์ พระราชกุมารนี้ ถ้าดำรงอยู่ในเพศฆราวาส จักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ปราบปรามได้รับชัยชนะทั่วปฐพีมณฑล โดยอุบายอันชอบธรรม แต่ถ้าหากออกบรรพชาประพฤติพรตพรหมจรรย์ จักได้ตรัสรู้
เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จักเป็นศาสดาผู้แนะนำสั่งสอน โดยไม่มีศาสดาอื่นยิ่งไปกว่า พระเจ้าข้า"
แต่ทว่า...
ท่านโกณฑัญญพราหมณ์ เป็นผู้ที่ได้สั่งสมบารมีมาไว้มากตั้งแต่ในอดีตชาตินั้น และการเกิดในภพนี้จะเป็นภพชาติสุดท้าย
ด้วยกุศลและปัญญาบารมีของท่านที่มีมากกว่า พราหมณ์ทั้ง 7 นั้น ทำให้ท่านพิจารณาตรวจดูพระลักษณะของพระราชกุมารโดยละเอียดดีแล้ว
ท่านจึงได้ยกนิ้วขึ้นเพียงนิ้วเดียว
เป็นการยืนยันการพยากรณ์เป็นนัยเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น
ลำดับนั้นเอง...
โกณฑัญญพราหมณ์ ทูลทำนาย :
"ข้าแต่พระองค์ พระราชกุมาร
ผู้บริบูรณ์พร้อมด้วยพระมหาปุริสสลักษณะอย่างนี้ พระองค์นั้นจักไม่อยู่ครองเพศฆราวาสอย่างแน่นอน
จักต้องเสด็จออกบรรพชา และได้ ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
อย่างมิต้องสงสัย พระเจ้าข้า"
เนื้อหาความหมาย
ในมหาปุริสสลักษณะ 32 ประการนั้น
ในตำรามีเนื้อความดังนี้
1. ฝ่าพระบาท (ฝ่าเท้า)
ฝ่าเท้าทั้ง 2 เรียบเสมอกันดี
เมื่อเหยียบลงหรือยกขึ้น
ก็เรียบพร้อมเสมอกันทั้งฝ่าเท้า
2. กลางฝ่าพระบาท (กลางฝ่าเท้า)
ตรงฝ่าเท้าทั้ง 2 มีลายเส้นเท้าเป็นรูปกงจักร และรูปมงคล 108
(กงจักร คือ รูปลอยล้อรถ คือธรรมนำชีวิตไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง ดุลล้อนำไป สู่ที่หมาย)
3. ส้นพระบาทยาว (ส้นเท้า)
ถ้าแบ่งออกเป็น 4 ส่วน
เป็นข้างปลาย 2 ส่วน พระชงฆ์(แข้ง) ตั้งอยู่ในส่วนที่ 3 ที่เหลือเป็นส้น 1 ส่วน
4. นิ้วพระบาทและนิ้วพระหัตถ์ (นิ้วมือและนิ้วเท้า)
ยาวเรียวประดุจนิ้ววานร
5. ฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาทอ่อนนุ่ม (ฝ่ามือและฝ่าเท้า)
อ่อนนุ่ม ประดุจดังปุยสำสี
6. ฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาท
มีลายดุจตาข่าย และนิ้วพระหัตถ์ทั้ง 4 เว้นพระอังคุฏฐ์ (นิ้วหัวแม่มือ)
แนบเสมอชิดสนิดกันดี แม้นิ้วพระบาทก็เช่นเดียวกัน
7. ลักษณะพระบาท (เท้า)
เหมือนสังข์คว่ำ และอัฐิ(กระดูก)
ข้อพระบาทตั้งลอยอยู่หลังพระบาท
ขณะเมื่อยกย่างพระบาท ส่วนของพระบาทนั้นจะหมุนกลับ ผันแปรอย่างคล่องแคล่ว ส่วนของพระกาย
เบื้องบน ตั้งแต่พระนาภี (สะดือ)
ขึ้นไปมิได้หวั่นไหว ยังคงดำรงเป็นปกติอยู่ จะไหวเฉพาะกายเบื้องต่ำเท่านั้น
8. พระชงฆ์ (แข้ง)
เรียวดุจแข้งเนื้อทราย มีหนังหุ้มเต็มรอบเสมอกันดี
9. ขณะประทับยืนมิได้ก้ม
(เมื่อยืนตรง)
พระหัตถ์ ทั้งสองยาวลงถึงพระชานุ (เข่า) เสมอพอดี
10. พระคุยหะ (สัญลักษณ์เพศ)
เร้นอยู่ในฝัก เปรียบเหมือนคุยหะของช้าง เป็นต้น
11. มีฉวีวรรณ(สีผิวกาย)
เหลืองดุจทองทั่วทั้งพระองค์
12. พระฉวี (ผิว)
ละเอียด ธุรีละอองมลทินต่างๆ มาสัมผัสก็หลุดเลื่อนไปมิได้ติดต้องพระวรกายเลย ประดุจน้ำที่ตกจากใบบัวฉันนั้น
13. มีเส้นพระโลมา(เส้นขน)
มีเส้นขนเกิดขึ้นขุมละเส้น
14. เส้นพระโลมา(เส้นขน)
ดำสนิท ประดุจดังดอกอัญชันทั่วทั้งพระวรกาย เส้นขนนั้นขึ้นเวียนเป็นทักขิณาวัฏ(วนเลี้ยวทางขวาเหมือนอย่างเช่าเข็มนาฬิกา) มีปลายงอนขึ้นข้างบน
15. มีท่อนพระกายตั้งตรงดุจกายท้าวมหาพรหม ไม่โน้มไปข้างหน้าและไม่เอนไปข้างหลัง
16. พระมังสะ (เนื้อ)
อูมเต็มในที่ 7 แห่ง คือ
- หลังพระหัตถ์ทั้ง 2 แห่ง
- หลังพระบาททั้ง 2 แห่ง
- พระอังสา(บ่า, ไหล่) ทั้ง 2 แห่ง
- ลำพระศอ (คอ) 1 แห่ง
17. มีส่วนพระสรีระกาย
บริบูรณ์ (ล่ำพี) ดุจกายท่อนหน้าแห่งพญาราชสีห์
18. พระปฤษฎางค์ (หลัง)
ท่ามกลางแผ่นหลังสมบูณ์
ราบเต็มเสมอกัน คือตั้งแต่บั้นพระองค์ (เอว) จนถึงพระศอ (คอ)
จะมีเนื้อปิดมิให้เห็นข้อพระอัฐิ (กระดูก)
19. มีปริมณฑลพระกายบริบูรณ์
ดุจปริมณฑลแห่งต้นไทร คือ เมื่อเหยียดพระกร(มือ) ทั้งสอง ออกแล้ววัดได้กว้างเท่าใด ส่วนสูงของพระกายก็มีประมาณเท่านั้น ไม่มีสั้นหรือยาวกว่ากัน เหมือนบุคคลทั้งหลายทั่วไป
20. มีลำพระศอ (คอ)
กลมงามเสมอตลอดประดุจเขาโค
ยามเมื่อเปล่งพระสุรเสียง เส้นพระศอจะไม่ปรากฏมาภายนอก
และพระสุรเสียงนั้นดังก้องกังวานดุจเสียงเมฆบันลือ (ฟ้าร้อง)
21. พระชิวหา (ลิ้น)
มีเส้นสำหรับ รับรสอาหาร 7 พันเส้น เมื่อเสวยพระกระยาหาร แม้อาหารนั้นมีปริมาณเพียงเท่าเมล็ดงา รสของอาหารก็จะแผ่สร้านไปทั่วพระวรกาย
22. พระหนุ (คาง)
มีคางดุจคางแห่งราชสีห์
โค้งเหมือนวงพระจันทร์ในวันขึ้น
12 ค่ำ
23. มีพระทนต์ (ฟัน)
บริบูรณ์ครบถ้วน 40 ซี่
ข้างบน 20 ซี่ และข้างล่าง 20 ซี่
24. มีพระทนต์ (ฟัน)
เรียงเป็นระเบียบเสมอกันเป็นอันดี
25. พระทนต์
เรียงชิดสนิทกันอย่างสม่ำเสมอ
26. เขี้ยวพระทนต์ (เขี้ยว)
เขี้ยวทั้ง 4 ขาวงามบริสุทธ์ มีประกายรุ่งเรืองด้วยรัศมี
27. พระชิวหา (ลิ้น)
มีลิ้นอันอ่อน กว้างและยาว กว่าบุคคลทั้งหลายทั่วๆไป
28. พระสุรเสียง (เสียงพูด)
ดุจท้าวมหาพรหม ตรัสมีสำเนียง
ดุจนก การเวก
29. มีพระเนตร (ตา)
ดำสนิท และกระบอกพระเนตรนั้นงามดุจสีหบัญชร(หน้าต่าง) ในวิมานทอง
30. ดวงพระเนตร (ดวงตา)
ดวงตาทั้งสอง ผ่องใสดุจตาแห่งลูกโคเพิ่งคลอด
31. มีพระอุณาโลม (ขนระหว่างคิ้ว)
ขึ้นระหว่างพระโขนง (คิ้ว) ทั้งสองมีสีขาวดุจสำลี และเวียนขวาเป็นทักขิณาวัฏ
32. มีพระนลาฏ (หน้าผาก) และมีพระเศียร (หัว) งามบริบูรณ์
คือ
มีเนื้อนูนขึ้นตั้งหมวกพระกรรณ (หู) ขวา ปกขอบพระนลาฏ (หน้าผาก)
ถึงหมวกพระกรรณ (หู) ซ้าย
พระเศียรนั้นกลมงามบริบูรณ์
ไม่มีบกพร่อง ดุจประดับด้วยกรอบ
พระพักตร์นูนขึ้นเหมือนดังหยดน้ำ
พระมหาบุรุษ นอกจากจะสมบูรณ์ด้วยมหาปุริสสลักษณะ 32 ประการนี้แล้ว
ยังสมบูรณ์ด้วย อสีตยานุพยัญชนะ คือพระลักษณะโดยละเอียดอื่นๆ อีก 80 ประการอีกด้วย
***การที่เหล่าบรรดาพราหมณ์ทั้งหลายรู้ลักษณะเหล่านี้***
เป็นเพราะว่า ท่านท้าวมหาพรหมชั้นสุทธาวาสทั้งหลาย รู้ว่าพระสัพพัญญู จะมาบังเกิดในโลก ในอนาคตอันอีกไม่ไกลนี้ จึงได้เพิ่มตำรำ
มหาปุริสสลักษณะ ลงในคำภีร์ไตรเพทและให้ชื่อว่า "พุทธมนต์"
โดยท้าวมหาพรหมได้จำแลงแปลงกายเป็นเพศพราหมณ์แล้วเที่ยวสั่งสอนมนต์บทนี้ ให้แก่พราหมณ์ทั้งหลายจนเชี่ยวชาญ
และเมื่อพระสัพพัญญูปรินิพานแล้ว พุทธมนต์นี้ก็อันตรธานหายไป ด้วยเหตุนี้เอง ชนทั้งหลายในทุกวันนี้จึงไม่มีผู้ใดรู้ลักษณะของมนต์บทนี้อีก...
เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้
ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่านผู้อ่านทุกท่าน
หากมีข้อผิดพลาดประการใดกระผมต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ สาธุทุกท่านครับ ^ ^
เอกสารอ้างอ้าง
- หนังสือ.ปฐมสมโพธิกถา
- หนังสือพุทธประวัติตามแนวปฐมสมโพธิ (พระครูกัลยาณสิทธิวัฒน์)
- พระไตรปิฎก เล่ม 13 พระสุตตันตปิฎก เล่ม 3 ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค
- เพิ่มเติมเนื้อหาใหม่/ภาพประกอบ.ต้นธรรม
4 บันทึก
45
15
9
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
พุทธประวัติ (ฉบับสมบูรณ์) *ยังไม่จบ
4
45
15
9
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย