29 ส.ค. 2019 เวลา 13:38 • ปรัชญา
ซีรีส์แสงชีวิต
ตอน 'บัณฑิต'
'วิธีเป็นคนมีปัญญา'
โดย พระราชนิโรธรังสี คัมภีรปัญญาวิศิษฏ์
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
ที่มาภาพ: วิกิพีเดีย
ปัญญาเป็นที่ปรารถนาของคนทั่วไป
ปัญญาเป็นของประเสริฐดีเลิศ ทุกคนไม่เลือกหน้า ขี้ข้า ผู้ดี ไพร่ ตลอดถึงเศรษฐี พระราชา พระมหากษัตริย์ ล้วนแล้วแต่ปรารถนาปัญญาด้วยกันทั้งนั้น หากจะมีใครสักคนมาชมว่าเจ้าคนนี้มีปัญญาฉลาดช่างพูดคมคายนัก ผู้ถูกชมแม้แต่จะเป็นเด็กๆ ก็จะมีความชื่นใจขึ้นมาทันที ทั้งๆที่บางคนอาจจะไม่รู้คุณค่าลักษณะของปัญญาว่าเป็นเช่นไร แล้วจะเอาไปใช้ในทางไหน ปัญญานั้นมีอยู่ในตนหรือเปล่า ตรงกันข้ามหากเขาติว่าเจ้าคนนี้โง่ไม่มีปัญญา หรือหากเขาจะพูดเปรียบเปรยในทำนองที่ว่าตนเป็นคนโง่ ผู้ถูกเขาตินั้นอย่างน้อยก็จะแสดงกิริยาไม่พอใจขึ้นมาทันที ฉะนั้น ปัญญาจึงเป็นที่ปรารถนาของคนทั่วไป
ปัญญาถึงแม้จะเป็นที่ปรารถนาของคนทั่วไปก็จริง แต่บางคนก็ยังไม่แสวงหาปัญญานั้น หรือแสวงหาแต่ไม่ถูกทางก็ยังมีอยู่มิใช่น้อยเหมือนกัน ปัญญาเป็นชื่อของความรู้ ความฉลาดชนิดหนึ่ง แล้วก็เป็นของกลางๆ มิใช่ของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ใครจะถือกรรมสิทธิ์ผูกขาดไม่ได้ ผู้ใดจะสร้างปัญญาให้เกิดมีขึ้นในตนแล้ว จะต้องยึดหลัก ๔ ประการเหล่านี้เป็นเครื่องดำเนิน คือ
๑. ต้องหมั่นฟัง (ฟังคำสอนที่ดีจากผู้มีความรู้ที่ดี มิฉะนั้นแล้วจะได้ ทุวิชา ทุปัญญา อันจะนำความฉิบหายมาให้แก่ตนเองและผู้อื่นด้วย)
๒. คิดตรองตามความรู้ที่ได้ฟังมา และอื่นๆ อีก อันจะเป็นประโยชน์ปราศจากโทษ
๓. หากตริตรองตามแล้วไม่เข้าใจ สงสัย อย่าเอาไปอมไว้ รีบเข้าไปไต่ถามท่านผู้รู้ผู้ฉลาด ให้สิ้นสงสัยทันที
๔. เมื่อเข้าใจเนื้อความถ่องแท้แล้ว จงจดจำนำเอาไปปฏิบัติตาม
เมื่อผู้ใดสร้างปัญญาให้เกิดมีขึ้นในตน แล้วปฏิบัติได้ตามความรู้ความเข้าใจตามความสามารถของตนๆ จึงจะเรียกว่านักปราชญ์โดยแท้จริง บัณฑิตก็ดี เป็นสามัญชื่อของผู้มีความรู้ความฉลาด สามารถประพฤติตนเป็นคนดีเด่น เป็นผู้นำอันบุคคลอื่นทำได้ยาก ชื่อทั้งสองนี้มักใช้เป็นโวหารสำนวนในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาโดยมากมานานแล้ว และใช้เฉพาะบุคคลผู้ประพฤติตนดังกล่าวแล้ว ไม่มีการสอบให้คะแนนกัน
สมัยนี้มีผู้นำเอาคำทั้งสองมาใช้ลงในประกาศนียบัตรของผู้สำเร็จการศึกษาในวิชาแขนงต่างๆ ในสถาบันนั้นๆ เช่น เนติบัณฑิต เกษตรศาสตรบัณฑิต เป็นต้น แต่ผลได้นั้นมันผิดกัน สมัยนี้ได้สำเร็จเพราะการศึกษาตามหลักสูตรในแขนงวิชานั้นๆ
สมัยโน้นได้เป็นนักปราชญ์บัณฑิตเพราะการปรับตนให้เป็นคนดีกว่าเดิม บางท่านอาจไม่มีการศึกษาตามหลักสูตรอะไรเลย แต่ปรับตนให้เป็นคนดีขึ้นมาจนคนภายนอกหรือผู้รู้ทั้งหลายเห็นเป็นคนดีพร้อมแล้ว จึงให้สมัญญาอย่างนั้น คนเหล่านี้มีอยู่ ณ สถานที่ใด ชุมนุมชนใด ย่อมทำให้สถานที่และชุมชนนั้นๆ เยือกเย็นเจริญสุข
ซึ่งผิดกับบัณฑิตในกระดาษ บางคนอาจยังไม่คิดจะปรับปรุงตัวของตัว ให้เข้ากับบัณฑิตกระดาษเลยก็ได้ เพราะความหลงเห่อในบัณฑิตกระดาษของตน ฉ้อราษฎร์บังหลวง กินดิน กินหิน กินทราย กินเหล็ก กินปูน กินป่านับร้อยๆ พันๆ ไร่ โดยมากมักเป็นบัณฑิตในกระดาษทั้งนั้น
นักเลงอันธพาลลักเล็กขโมยน้อย ตีชิงวิ่งราว จับเรียกค่าไถ่ เหล่านี้ถึงแม้เขาจะทำความเดือดร้อนก็ทำกับเฉพาะบุคคลส่วนน้อย ไม่เหมือนบัณฑิตในกระดาษ ซึ่งทำความเดือดร้อนไม่เลือกหน้า นับแต่ขี้ข้าผู้ดีมีจนเดือดร้อนทั่วกันไปหมด กีดกันความเจริญก้าวหน้าของประเทศชาติ บ้านเมือง ก็เป็นพวกเหล่านี้เสียโดยมาก
ท่านเคยคิดบ้างหรือเปล่าว่า ท่านเกิดมาในโลกนี้และเป็นอยู่ในขณะนี้นั้นเพื่อประโยชน์อันใด และประโยชน์นั้นท่านได้ทำให้แก่สังคมและตัวของท่านเองแล้วหรือเปล่า หากท่านยังไม่เคยคิด ก็ขอให้รีบคิดและรีบทำเสีย อย่าได้ปล่อยเวลาให้หมดสิ้นไปโดยหาประโยชน์มิได้เลย เพราะเวลาเป็นของมีค่า หมดไปแล้วเอากลับคืนมาไม่ได้อีก อย่าอยู่โดยไม่คิดอะไรเสียเลย เหมือนไม้ตายยืนต้นไม่มีแก่นฉะนั้น
ไม้ตายยืนต้นไม่มีแก่นยังจะดีกว่าบุคคลผู้เกิดมาแล้วไม่รู้จักนึกคิดและทำประโยชน์อะไรให้แก่ตนและบุคคลอื่นเสียอีก เพราะไม้ตายยืนต้น อย่างน้อยคนและนกก็ยังพอจะได้อาศัยบ้าง ไม่เหมือนกับบุคคลจำพวกที่กล่าวแล้ว นกจะเกาะก็ไม่ได้ คนจะใช้ก็ไม่ดี หรือหากจะคิดในสิ่งไร้สาระ เหมือนไส้เดือนเกิดอยู่ในดินนอนกินดินอยู่ข้างใต้ ขึ้นมาถ่ายมูลไว้ข้างบน เพราะกลัวดินจะหมด (ตามเรื่องเล่ามา)
จากหนังสือสามทัพธรรม
พระราชนิโรธรังสี คัมภีรปัญญาวิศิษฏ์
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
วัดหินหมากเป้ง ศรีเชียงใหม่ หนองคาย
คัดมาจากและอ่านทั้งเล่มได้ที่:
เพจ 'ธรรมะเน้นๆ A Great Degree Dhamma'
วันพฤหัสบดีที่ ๒๙ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒
วันพระ วันแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๙

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา