1 ก.ย. 2019 เวลา 13:00 • ประวัติศาสตร์
จดหมายเหตุดาราศาสตร์จากฝรั่งเศสเกี่ยวกับราชอาณาจักรสยาม ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
บรรณาธิการโดย อารี สวัสดี
เป็นหนังสือชื่อยาวที่สุดที่ข้าพเจ้ามีโอกาสผ่านตา เนื้อหาด้านในก็ตามชื่อเรื่อง โดยได้มีการแปลจากเอกสารภาษาฝรั่งเศสที่คุณภูธร ภูมะธน นักดาราศาสตร์ ได้มาจากห้องสมุดหอดูดาวกรุงปารีสเมื่อปีพ.ศ.2537 ทำให้เราทราบว่าได้มีการศึกษาดาราศาสตร์ตามแนวตะวันที่ตกในสยามมาไม่น้อยกว่าปีค.ศ.1682 หรืิอ 3 ปีก่อนที่คณะราชฑูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 จะมาถึงสยาม
เนื้อหาในเล่มส่วนมากเกี่ยวข้องกับการสังเกตปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ โดยเฉพาะจันทรุปราคาในสยาม
ที่น่าสนใจสุดสำหรับข้าพเจ้าอยู่ในบทความหน้า ที่ 59-60 เรื่องดาราศาสตร์อินเดีย กล่าวถึงเอกสารการคำนวณการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์และจันทร์ที่ใช้กันในสยามที่ลาลูแบร์ราชฑูตนำกลับมาจากสยาม มีใจความบางส่วนดังนี้
"เอกสารชิ้นนี้แสดงถึงกฎเกณฑ์ที่แปลกและเข้าใจได้ยาก ผู้คนแถบนั้นมิได้ใช้ตารางในการคำนวณเช่นที่ชาวยุโรปใช้กันมาตั้งแต่สมัยปโตเลมี พวกเขาใช้เพียงตัวเลขบางตัวซึ่งเราไม่เข้าใจได้ว่าตัวเลขเหล่านั้นมีความเกี่ยวเนื่องกับการเคลื่อนที่ของวัตถุบนฟ้าได้อย่างไร เราได้แต่เพียงแค่บวกลบคูณหารตัวเลขต่างๆที่มีอยู่ ยิ่งไปกว่านั้น ชื่ิอแปลกๆที่เราไม่รู้จักก็ทำให้เข้าใจกฎการคำนวณได้ยากยิ่งขึ้น แต่กระนั้นเมอซิเออร์แคสสินีก็สามารถทำความเข้าใจเอกสารที่ซับซ้อนชิ้นนั้นได้"
เอกสารชิ้นที่กล่าวถึงนี้ก็คือคัมภีร์สุริยยาตร์ของไทยที่ใช้กันในสมัยพระนารายณ์นั่นเอง
สำหรับแคสสินีผู้นี้ ช่วงวัยหนุ่มได้ศึกษาเทววิทยาและกฎหมายจนจบด้วยคะแนนเกียรตินิยม เกิดสนใจศึกษาค้นคว้าโหราศาสตร์ ทั้งประสบความสำเร็จด้านพยากรณ์ จนหันมาศึกษาดาราศาสตร์ จนเมื่ออายุได้ 25 ปี ราวค.ศ.1650 เริ่มทำงานเป็นนักดาราศาสตร์ประจำมหาวิทยาลัย
ในช่วงท้ายบทความได้กล่าวว่า การศึกษาเอกสารดังกล่าวยังนำแคสสินีไปสู่การศึกษาเปรียบเทียบการนับศักราชตามแบบอินเดียซึ่งมีความแม่นยำกว่าแบบตะวันตกจนนำไปสู่การค้นพบการนับศักราชแบบใหม่ตามจันทรสุริยคติและอีสเตอร์ ซึ่งมีระยะเวลา 11,600 ปี ซึ่งมีความถูกต้องแน่นอนมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา
มาคิดดูแล้ว หากลาลูแบร์มิได้นำคัมภีร์สุริยยาตร์ไปยังฝรั่งเศส หรือนายแคสสินีมิได้มาเกิด ฝรั่งเศสอาจคำนวณศักราชที่แม่นยำช้าไปกว่านั้นอีกหลายสิบปี
โหราทาส
1 กันยายน 2562

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา