3 ก.ย. 2019 เวลา 06:25 • ประวัติศาสตร์
Rosetta stone ก้อนหินที่เปลี่ยนประวัติศาสตร์
ในพิพิธภัณฑ์ British Museum มีตู้กระจกอันนึงซึ่งถือเป็นไฮไลท์ของพิพิธภัณฑ์ ที่ใครๆก็ต้องแวะมาดู หน้ากระจกจะมีคนมุงกันเกือบตลอดเวลา
หลายคนทำหน้างงๆว่าฉันยืนดูอะไรอยู่เนี่ย สิ่งที่เห็นเบื้องหน้าคือ ก้อนหินใหญ่สีดำๆ มีตัวหนังสือแกะสลักอยู่เต็มก้อน คำถามคือ หินก้อนนี้สำคัญยังไง?
1
หินก้อนนี้ เก่ามากหรือ? ไม่ใช่ครับ หินก้อนนี้มีอายุแค่ประมาณสองพันกว่าปีเท่านั้นเอง
หรือว่าข้อความบนหินนี้สำคัญมาก? ก็ไม่ใช่ครับ ข้อความที่จารึกบนหินเกี่ยวกับการเสียภาษีที่ไม่สำคัญอะไรมาก
หรือว่าหินก้อนนี้เป็นงานศิลปะที่ทรงคุณค่า ?
ไม่ใช่ครับ หินก้อนนี้ก็เป็นก้อนหินธรรมดาก้อนหนึ่ง
1
ถ้าเช่นนั้นแล้ว หินก้อนนี้มีอะไรพิเศษ ถึงได้เป็นไฮไลท์ของ British Museum ได้ ?
ถ้าอยากเข้าใจ ต้องไปเริ่มต้นกันที่ว่า หินก้อนนี้มาอยู่ที่ British Museum ได้อย่างไร?
4
เรื่องราวทั้งหมดเริ่มต้นขึ้นมาจาก นายทหารที่ชื่อ นโปเลียน โบนาปาร์ตครับ
1
ช่วงเวลาที่เรากำลังพูดถึงกันนี้ เป็นช่วงเวลาหลังการปฏิวัติในฝรั่งเศสได้ไม่นาน พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 เพิ่งจะถูกประหารด้วยกิโยตินไปไม่กี่ปี นโปเลียน ยังไม่ได้ขึ้นเป็นจักรพรรดิ์ แต่เป็นนายทหารที่มีชื่อเสียงแล้ว ก่อนหน้านี้นโปเลียนนำทัพไปรบชนะกองทัพอิตาลีมา ขนสมบัติ งานศิลปะจากอิตาลีกลับมาฝรั่งเศสมากมาย
เมื่อกลับมาถึงฝรั่งเศส รัฐบาลซึ่งตอนนั้นเป็นรัฐบาลสาธารณรัฐ ก็ขอให้นโปเลียนไปบุกอังกฤษต่อ แต่อังกฤษเป็นเกาะการจะข้ามไปบุกอังกฤษได้ต้องบุกไปทางเรือ ซึ่งนโปเลียนไม่ค่อยอยากไป เพราะไม่ถนัดรบทางเรือ แต่เลือกที่จะไปบุกอียิปต์แทน
คำถามคือ รัฐบาลบอกให้ไปบุกอังกฤษ แล้วทำไมนโปเลียนจึงไปบุกอียิปต์?
คำตอบเชื่อว่าน่าจะมีหลายเหตุผล
เหตุผลแรกคือ อียิปต์เป็นทางที่อังกฤษต้องเดินเรือผ่านเพื่อไปค้าขายกับอินเดียซึ่งเป็นอาณานิคมที่ใหญ่และสำคัญที่สุดของจักรวรริด์อังกฤษ ถ้านโปเลียนยึดอียิปต์และ สร้างป้อมปืนใหญ่ไว้ได้ อังกฤษก็จะลำบาก
เหตุผลที่สองคือ ไอดอล ใครๆก็มีไอดอลกันใช่ไหมครับ นโปเลียนเองก็มี ไอดอลเช่นกัน ไอดอลของนโปเลียนคือ พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ มหาราช ซึ่งเริ่มต้นแคมเปญยึดครองโลกโดยการบุกไปที่อียิปต์ ดังนั้นการบุกไปอียิปต์ จึงเหมือนเป็นการเดินตามเส้นทางของไอดอลตัวเอง
4
เหตุผลที่สามที่น่าจะเกี่ยวด้วยคือ นโปเลียนค่อนข้างเนิรด์ คืออย่างนี้ครับ ชาวยุโรปในยุคนั้นรู้จักและเห็นเกี่ยวกับอารยธรรมอียิปต์โบราณมาได้สักพักหนึ่งแล้ว และแน่นอนว่าของแปลกที่ยิ่งใหญ่สวยงามอย่าง ปิรามิด สฟิงซ์ มัมมี่ ทำให้ชาวยุโรปรู้สึกทึ่งและเห่อ อะไรที่เป็นอิยิปต์มาก ชาวยุโรปยุคนั้นเชื่อว่า อียิปต์เป็นจุดเริ่มต้นของอารยธรรมมนุษยชาติ แต่ในตอนนั้น ไม่มีใครรู้เลยว่าจริงๆแล้วอารยธรรมอียิปต์โบราณที่เห็นนี้ ใครมาสร้างไว้? มีเรื่องราวความเป็นมาอย่างไรบ้าง?
ชาวยุโรปรู้ว่าอียิปต์มีภาษาเขียน ชาวยุโรปมีข้อเขียนของอียิปต์มากมาย แต่ไม่มีใครอ่านออก ชาวยุโรปรู้ดีว่า ถ้าสามารถอ่านตัวอักษรของอียิปต์ได้ก็จะเข้าใจอารยธรรมโบราณนี้มากขึ้น คนแล้วคนเล่าต่างพยายามจะไขความลับอักษรเหล่านี้ แต่ไม่มีใครเลยที่ไขความลับของอักษรเหล่านี้ได้
นโปเลียนเป็นอีกคนที่สนใจอารยธรรมอียิปต์โบราณ และเขาก็ตั้งใจจะให้ชาวฝรั่งเศส เป็นคนที่เปิดเผยความลับของอารยธรรมโบราณนี้ให้จงได้ และด้วยเหตุผลเหล่านี้ การเดินทางไปรบที่อียิปต์ครั้งนี้ นโปเลียนจึงไม่ได้นำแต่ทหารไปเท่านั้น แต่นโปเลียนยังพานักวิชาการสาขาต่างๆไปด้วยอีกประมาณ 150 คน มีทั้งนักโบราณคดี วิศวกร จิตรกร นักคณิตศาสตร์ นักธรรมชาติวิทยา นักเคมี ฯลฯ หลายคนถือว่าเป็นสุดยอดของยุคทั้งนั้น เรียกได้ว่านโปเลียนจัดดรีมทีมของนักวิชาการไปกันเลยทีเดียว
1
ปีค.ศ. 1798 กองทัพทหารและนักวิชาการของนโปเลียนก็ออกเดินทาง แคมเปญนี้เป็นความลับสุดยอด ทหารห้าหมื่นกว่าคน นักวิชาการ 150 คน ไม่มีใครรู้สักคนว่าตัวเองกำลังเดินทางไปไหน รู้แค่ว่าจะเป็นการเดินทางที่น่าตื่นเต้นเท่านั้น
อียิปต์ในช่วงเวลานั้น ตกอยู่ใต้อำนาจของคนต่างชาติมานานเป็นพันปีแล้ว นับตั้งแต่โดนอเล็กซานเดอร์มหาราชบุกยึดเมื่อหลายพันปีก่อน หลังจากนั้นอียิปต์ก็ตกอยู่ใต้การปกครองของคนนอกมาตลอดตั้งแต่ อาณาจักรโรมัน บีแซนทีน (Byzantines) เปอร์เซีย มุสลิมอาหรับ แล้วก็ออตโตมัน ช่วงที่นโปเลียนไปถึงนั้น อียิปต์อยู่ภายใต้การปกครองของออตโตมัน (จริงๆตอนนั้นออตโตมันก็เริ่มเสื่อมแล้ว ชาวอียปิต์อยู่ใต้การปกครองของทหารทาสทีเรียกว่ามัมลุกหรือ Mamluk ไว้มีโอกาสจะเล่าให้ฟังครับ) ซึ่งปกครองแบบค่อนข้างเข้มงวด กดขี่ พอสมควร
1
จำได้ไหมครับ นโปเลียนเป็นทหารของสาธารณรัฐที่มาจากการปฏิวัติของประชาชานแล้วคำขวัญของรัฐบาลปฏิวัติในฝรั่งเศสก็คือ liberte égalité fraternité หรือ เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ พอนโปเลียมาถึงปุ๊บก็ประกาศเลยว่า ลิเบอร์เต อีการ์ลิเต ฟราเธอร์นิเต ชาวอิยิปต์ทั้งหลาย เรามานี่เพื่อปลดปล่อยพวกท่านจากการกดขี่
1
และด้วยความร่วมมือของชาวเมืองและอาวุธที่ทันสมัยกว่า นโปเลียนจึงสามารถรบชนะทหารมัมลุ๊ก (Mamluk) ได้อย่างง่ายดาย
เรื่องการศึก เราจะข้ามไปเลยนะครับ กลับมาที่เรื่องทีมนักวิชาการของนโปเลียนกันต่อ
ขณะที่ทหารรบกันนั้น นักวิชาการก็เริ่มศึกษาทุกอย่างที่เกี่ยวกับอียิปต์ ตั้งแต่พืช สัตว์ สิ่งก่อสร้าง ปิรามิด จนกระทั่งวันหนึ่งประมาณหนึ่งปีหลังจากนโปเลียนเดินทางมาถึงอียิปต์ ...
2
ระหว่างที่ทหารฝรั่งเศสกำลังเสริมกำแพงป้อมปราการแห่งหนึ่งใกล้ๆกับเมืองโรเซตต้า(Rosetta) ให้แข็งแกร่งขึ้นด้วยการหาหินก้อนใหญ่ๆมาก่อกำแพง นายทหารฝรั่งเศสคนหนึ่งชื่อ Pierre-François Bouchard ก็หันไปเห็นหินสีดำก้อนหนึ่งถูกฝังไปในกำแพง คนงานที่ก่อสร้างกำแพงป้อมอาจจะเห็นว่าหินก้อนนี้ใหญ่ดีจึงนำมาใช้สร้างกำแพงป้อม ความพิเศษของหินก้อนนี้คือ มีตัวอักษรจารึกอยู่ที่ผิว ทันทีที่บูชาร์ดเห็นตัวอักษรเขาก็รู้ทันทีว่าหินนี้น่าจะเป็นโบราณวัตถุที่สำคัย เขาจึงให้ทหารแงะหินก้อนนี้ออกมาแล้วส่งกลับไปที่เมืองไคโร เพื่อรวมไว้กับสิ่งของสำคัญที่ต้องศึกษา (เตรียมขนกลับฝรั่งเศส)
4
Pierre-François Bouchard
และเป็นข้อความเหล่านี้ครับ ที่สุดท้ายกลายเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ทุกวันนี้เราอ่านตัวอักษรของชาวอียิปต์โบราณออก แต่ก่อนที่จะเล่าให้ฟังว่า ตัวอักษรเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นกุญแจสำคัญได้อย่างไร เราจำเป็นต้องไปทำความรู้จักเกี่ยวกับตัวอักษรของอียิปต์กันสักนิดครับ
ภาษาที่ชาวอียิปต์โบราณใช้เขียนมีอยู่สามแบบด้วยกัน
แบบแรกเรียกว่าเป็น ไฮโรกริฟฟิก (Hieroglyphic) หรืออักษรภาพ พอจะนึกออกใช่ไหมครับ ที่เห็นเป็นนกฮูกอะไรพวกนั้น ภาษานี้จะใช้เฉพาะกับกษตัริย์ (ฟาโรห์) และอะไรที่เกี่ยวข้องกับศาสนา เพราะถือว่าเป็นตัวอักษรศักดิ์สิทธิ์
Hieroglyphic
แบบที่สามเรียก Demotic คำนี้มาจากภาษากรีก Demos ที่แปลว่าสำหรับประชาชน คุ้นไหมครับ? ใช่ครับมันคือรากศัพท์เดียวกับคำว่า Democracy หรือประชาธิปไตย ภาษานี้จะใช้สำหรับคนธรรมดาทั่วไป กับชีวิตประจำวัน เหตุผลที่ต้องแยกก็คงเป็นเพราะหนึ่ง เพื่อให้ภาษาของชนชั้นผู้นำดูศักดิ์สิทธิ์ ดูแตกต่าง สองก็คงเป็นเพราะภาษาภาพมันเขียนยาก ต้องประดิดประดอย เขียนได้ช้า ไม่เหมือนภาษาดีโมติก ซึ่งหวัดกว่าเขียนได้เร็วกว่า
ตัวอักษร​แบบ​ Demotic
แบบที่สอง เรียกว่าภาษา เฮียราติก (Hieratic) ภาษานี้ในแง่ความหรูหราไฮโซจะอยู่ตรงกลางระหว่า ไฮโรกริฟฟิก กับ ดีโมติก คือยังใช้กับพิธีกรรมทางศาสนาและกษัตริย์ แต่ก็ไม่ศักดิ์สิทธิเท่า ในแง่ของความหวัด ก็จะอยู่ตรงกลางเช่นกัน คือเขียนไม่ยุ่งยากเท่า ไฮโรกริฟฟิก แต่ก็ไม่หวัดและเร็วเท่า ดีโมติก
ยังมีภาษาแบบที่สี่อีกแบบ ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญสำหรับเรื่องของเรา ภาษานี้เรียกว่าภาษา คอปติก (Coptic) ภาษานี้มันมีเรื่องราวที่ต้องเล่านิดนึงครับ เรื่องราวมันเริ่มขึ้นตอนที่เริ่มมีนักบวชเข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ให้กับชาวอียิปต์ ซึ่งชาวอียิปต์จำนวนมากก็รับพระเจ้าของศาสนาของชาวคริสต์ด้วยดี แต่มันติดตรงที่ภาษาไฮโรกริฟฟิก เป็นตัวอักษรศักดิ์สิทธิ์ของ “เทพเจ้านอกรีต”หรือที่เรียกว่าเพแกน (pagan) จะเอามาใช้กับพระเจ้าของศาสนาคริตส์ไม่ได้ ชาวอียิปต์ซึ่งตอนนั้นเคยโดนกรีกปกครองมาแล้ว รู้จักภาษากรีกดี จึงนำตัวอักษรของภาษากรีกโบราณมาใช้ แต่การออกเสียงเป็นภาษาอียิปต์ ถ้าจะเทียบก็คล้ายๆกับ เราใช้ตัวอักษรอังกฤษมาแทนการออกเสียงในภาษาไทย เช่น sawasdee krub sabai dee gun took kon na krub
กลับมาที่ก้อนหินโรเซตต้าสโตน
หินก้อนนี้พิเศษ เพราะตัวอักษรที่จารึกไว้บนหินนั้น มีตัวอักษอยู่สามแบบด้วยกัน
แบบแรกสุดเป็นอักษรภาพ ไฮโรกริฟฟิก
แบบที่สองเป็นตัวอักษรประชาชน ดีโมติก
แบบที่สามคือ อักษรกรีกโบราณ!! หรือภาษาคอปติก
หลายคนอาจจะเกิดความสงสัยขึ้นมาทันทีว่า ทำไมอักษรบนหินที่เขียนโดยคนอียิปต์ เพื่อให้คนอียิปต์อ่าน ทำไมต้องเขียนด้วยตัวอักษรกรีกโบราณ?
2
คำตอบมันต้องย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ มหาราช บุกมายึดอียิปต์เมื่อหลายพันปีก่อน หลังจากนั้นมา นายทหารของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ซึ่งเป็นชาวกรีก ก็ปกครองอียิปต์มาตลอด ในนามของราชวงศ์ "ปโตเลมี” (Ptolemy)
ราชวงศ์ปโตเลมีปกครองอียิปต์นานนับร้อยๆปี แต่กษตัริย์กรีกเหล่านี้ก็ไม่ได้สนใจที่จะเรียนรู้ตัวอักษรของชาวอียิปต์นัก เลยคิดว่าง่ายกว่าไหม ถ้าเราเอาตัวอักษรในภาษากรีกมาใช้เป็นราชาศัพท์ซะเลย กษัติรย์และขุนนางก็เป็นชาวกรีกอยู่แล้วด้วย ภาษาราชการทั้งหมดจึงใช้ภาษากรีกตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
คราวนี้ก็มาถึงการถอดรหัส เพื่อที่จะอ่านข้อความบนหิน Rosetta
ตัวเองของเรื่องหลักๆจะมีอยู่สองคน
หนึ่งคือ โธมัส ยัง (Thomas Young) หมอชาวอังกฤษ
สองคือ ฌ็อง-ฟร็องซัว ช็องปอลียง (Jean-François Champollion) ชาวฝรั่งเศส
หลังจากที่กองทัพเรือของนโปเลียนแพ้การรบที่อียิปต์ให้กับอังกฤษ หนึ่งในเงื่อนไขของการเซ็นสนธิสัญญายอมแพ้คือฝรั่งเศสต้อง ยกข้อมูลและสิ่งที่ค้นพบของฝรั่งเศสทั้งหมดให้กับอังกฤษ และด้วยเหตุนี้หิน Rosetta จึงมาตั้งอยู่ที่ กรุงลอนดอน หลังจากนั้นก็มีคนมากมายก็พยายามจะถอดรหัสว่า ตัวอักษรอียิปต์โบราณเหล่านี้อ่านว่าอย่างไร แต่ไม่มีใครทำสำเร็จ
ส่วนที่เป็นภาษากรีกไม่ใช่เรื่องยาก เพราะนักวิชาการชาวยุโรปอ่านออกอยู่แล้ว แต่ส่วนที่เป็นภาษาอียิปต์ยังอ่านไม่ออก ในช่วงแรกนั้นใครๆก็เชื่อว่าอักษรภาพที่เห็น มีความหมายตามภาพ แต่ยิ่งดูก็ยิ่งงงว่า ภาพเหล่านี้มาเรียงต่อกันแปลว่าอะไร
ในช่วงนั้นเอง ก็มีคนเสนอไอเดียว่า นี่พวกคุณลองดูสิ บนอักษรภาพไฮโรกริฟฟิก บางครั้งจะมีภาพบางภาพมีวงรีวงล้อมรอบ ภาพที่อยู่ภายในวงรีเหล่านี้น่าจะเป็นชื่อของฟาโรห์นะ
วงรีเหล่านี้ปัจจุบันมีชื่อเรียกว่า คาร์ทูช (cartouche) ซึ่งที่มาของคำว่าคาร์ทูช มาจากการที่ทหารฝรั่งเศสมองว่าวงรีเหล่านี้เหมือนลูกกระสุนปืนที่ใช้ ซึ่งเรียกว่า cartouche จากนั้นมาวงรีนี้ก็เลยมีชื่อเรียกว่า คาร์ทูช (ภายหลังพบว่า ชาวอียิปต์โบราณเชื่อว่า วงรีนี้จะช่วยปกป้องชื่อของฟาโรห์จากปีศาจร้าย)
1
cartouche
หมอโธมัส ยัง มองว่าไอเดียนี้น่าสนใจ เขาให้เหตุผลว่า ชื่อของคนจะเขียนด้วยรูปภาพไม่ได้ ถ้าในวงเล็บเป็นชื่อของฟาโรห์จริง ภาพต่างๆที่เห็นมันต้องเป็นตัวอักษรจึงจะออกเสียงได้ เช่น ชื่อ ชัชพล จะเขียนด้วยภาพจะอ่านออกเสียงไม่ได้ ต้องเขียนด้วยตัวอักษรเท่านั้น ดังนั้นเราต้องมองใหม่ว่า ภาพที่เห็นไม่ได้มีความหมายตามภาพ แต่ภาพเหล่านี้คือ ตัวอักษร
หมอ​ Thomas Young
ต่อมาก็พบว่าตัวอักษรส่วนที่เขียนด้วยภาษากรีก คำแรกของข้อความ อ่านออกเสียงได้ว่า “ปโตเลมี” หมอ Young จึงเดาว่า อักษรภาพในวงรี ก็น่าจะอ่านว่า "ปโตเลมี" เช่นกัน จึงนำอักษรภาพนั้นมาเทียบกับตัวอักษรกรีก และค่อยๆแกะว่า อักษรภาพแต่ละตัวออกเสียงว่าะไร ด้วยวิธีนี้ หมอ Young ก็ค่อยๆแกะ จนพอจะรู้ว่าตัวอักษรอียิปต์โบราณพอจะออกเสียงว่าอะไรบ้าง
แล้วก็มาถึงเรื่องของ ช็องปอลียง (Jean-François Champollion) บ้าง เขาเก่งภาษาอาจถึงขั้นอัจฉริยะมาตั้งแต่เด็กๆ เมื่ออายุได้ 15 ปีเขาพูดอ่านเขียนภาษาต่างๆรวมกันได้ 8 ภาษา และหนึ่งในภาษาที่เขารู้นั้น คือ ภาษา coptic (ตัวหนังสือกรีก ที่ออกเสียงแบบอียิปต์)
หลังจากที่หมอ Thomas Young สามารถถอดรหัสอักษรภาพของอียิปต์ออกมาเป็นเสียงได้ แต่ก็ยังไม่มีใครรู้ว่า เสียงเหล่านั้นมีความหมายว่าอะไร (เหมือนฝรั่งอ่าน Sabai dee mai krub ออก แต่ไม่รู้ความหมาย) แต่ ช็องปอลียง ซึ่งรู้ภาษา coptic สามารถที่จะอ่านอักษรภาพนั้นออกมาเป็นเสียงดังๆ แล้วฟังว่า เสียงนั้นคล้ายหรือตรงกับคำว่าอะไรในภาษา coptic ช็องปอลียงจึงเป็นคนแรกที่สามารถเข้าใจความหมายของตัวอักษรอียิปต์โบราณเหล่านั้นได้
1
แล้วก็มาถึงคำถามที่น่าสนใจอีกคำถามคือ บนหิน Rosetta เขียนไว้ว่าอย่างไรบ้าง?
ยุคที่หิน Rosetta ถูกแกะสลักขึ้น พระเจ้าปโตเลมีที่ 5 ซึ่งขณะนั้นมีอายุได้ประมาณ 6 ขวบ เพิ่งจะได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ และเพราะฟาโรห์ยังเป็นเด็ก เมืองต่างๆจึงพยายามจะปฏิวัติแยกตัวออกจากการอยู่ใต้อำนาจ สถานะความเป็นฟาโรห์จึงไม่มั่นคง ขุนนางจึงแนะนำว่า ฟาโรห์ควรจะเอาใจพวกนักบวช เพราะประชาชนทั่วไปนับถือพระ ถ้าพระสนับสนุนฟาโรห์ ฟาโรห์ก็จะได้ใจของประชาชนง่ายขึ้น
ฟาโรห์จึงเอาใจพระด้วยการยกเว้นภาษีให้ เมื่อพระไม่ต้องจ่ายภาษีก็ดีกันใหญ่ ก็เลยทำป้ายหินขนาดใหญ่วางไว้หน้าวิหาร ใจความก็ประมาณขอบคุณ ชื่นชม สรรเสริญฟาโรห์องค์ใหม่ และให้การรับรองว่าฟาโรห์พระองค์นี้เป็นเทพเจ้าในร่างมนุษย์อย่างแท้จริง และเพื่อให้อ่านรู้เรื่องกันทั้งประเทศ จึงต้องจารึกด้วยอักษรทั้งสามแบบคือ
ไฮโรกริฟฟิก ซึ่งเป็นตัวอักษรศักดิ์สิทธิ์ อักษรเดโมติก เพื่อให้ประชาชนทั่วไปอ่านรู้เรื่องและ อักษรกรีก เพื่อให้ฟาโรห์และขุนนางเชื้อสายกรีกอ่านรู้เรื่อง
เราจะมาจบเรื่องวันนี้ด้วยคำถามที่เราถามกันไว้ในตอนแรกนะครับ คือ หินก้อนนี้สำคัญอย่างไร ?
คำตอบ ไม่ใช่เพราะว่าหินนี้เก่ามาก ไม่ใช่เพราะข้อความที่จารึกไว้น่าสนใจ ไม่ใช่เพราะหินก้อนนี้เป็นผลงานศิลปะที่สวยงาม
แต่เหตุผลที่คนมามุงหินก้อนนี้มากมาย เพราะหินก้อนนี้มีเรื่องเล่าที่น่าสนใจอยู่ในตัวมันเอง
หินก้อนนี้เล่าเรื่อง ให้เรารู้ว่าเมื่อสองพันกว่าปีก่อนเคยมีฟาโรห์ที่สถานะค่อนข้างอ่อนแอและปกครองประชาชนของตัวเองลำบาก
หินก้อนนี้เล่าเรื่องราวชัยชนะของนายพลเนลสัน แห่งกองทัพเรืออังกฤษ ที่มีต่อนโปเลียน เมื่อปีค.ศ.1798
และ หินก้อนนี้ยังทำหน้าที่เป็นกุญแจดอกสำคัญที่ไขความลับของภาษาอียิปต์โบราณซึ่งไม่มีใครอ่านออกมาช้านาน
และเพราะหินก้อนนี้ วิชา egyptology จึงเกิดขึ้น
แล้วความลับเกี่ยวกับอารยธรรมที่เก่าแก่ที่สุดอารยธรรมหนึ่งของมนุษยชาติจึงได้รับการเปิดเผยออกมาอีกครั้งหลังจากหลับไหลไปนานนับพันปี ....

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา