3 ต.ค. 2019 เวลา 14:01 • ประวัติศาสตร์
ทำไมถังน้ำและรถถังจึงมีชื่อเรียกเหมือนกันว่า Tank?
รถถัง ไม่ใช่ถังน้ำ
เคยนึกสงสัยกันบ้างไหมครับว่า
ทำไมถังน้ำและรถถังจึงมีชื่อเรียกเหมือนกันว่า Tank?
รถหุ้มเกราะบรรทุกปืนใหญ่มีตีนตะขาบที่ออกแบบมาเพื่อลุยฝ่าลวดหนาม เมื่อนำออกมาใช้ครั้งแรกในสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 ถือได้ว่าเป็นอาวุธที่น่าเกรงขาม ทรงพลัง และมีอานุภาพทำลายล้างที่สูงมาก
ถ้าเราจะตั้งชื่อที่สมศักดิ์ศรีให้กับอาวุธที่น่ากลัวเช่นนี้ ชื่อก็ควรจะออกแนวบู๊ล้างผลาญใช่ไหมครับ เช่น Caterpillar super cannon destroyer (รถตีนตะขาบอภิมหาปืนใหญ่จอมทำลายล้าง) หรือไม่ก็ all terrain annihilate machine gun (รถตะลุยทุกพื้นผิวปืนจักรกลสังหารเหี้ยน) ต่อให้ไม่อยากตั้งชื่อที่มันเวอร์มากไป ก็ควรจะตั้งชื่อให้มันฟังดูแข็งแกร่ง อย่าง land ironclad (รถหุ้มเกราะเหล็ก) ก็ยังดี
แต่การมาเรียกรถปืนใหญ่หุ้มเกราะตีนตะขาบว่า tank ที่หมายถึงถังน้ำ มันช่างฟังดูกระป๋องกระแป๋งและไม่เหมาะสมศักดิ์ศรีเอาเสียเลย
คำถามที่น่าสนใจคือ ทำไมถังน้ำกับรถถังจึงมีชื่อเรียกเหมือนกันว่า tank ?
มันมีเรื่องราวที่มาครับ และจะเข้าใจได้ เราต้องย้อนเวลากลับไปคุยถึงประวัติศาสตร์ของการเกิดรถถังกันสักเล็กน้อย
ทุกวันนี้เราอาจจะบอกได้ยากสักหน่อย ว่าใครเป็นคนแรกจริงๆที่คิดเกี่ยวกับรถถังขึ้นมา
จริงๆแล้วไอเดียเกี่ยวกับการสร้างรถหุ้มเกราะที่ใช้ในการสงครามมีมานานมากแล้ว
ตัวอย่างที่น่าจะดังที่สุดก็คือ ภาพร่างรถหุ้มเกราะที่ยิงได้รอบทิศของลีโอนาร์โด ดาวินชี (Leonardo da Vinci) ที่วาดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 15
แต่กว่ารถถังจะเกิดขึ้นเป็นรูปเป็นร่างและใช้ได้จริงๆ ก็สมัยสงครามโลกครั้งที่หนึ่งครับ
ช่วงที่ความคิดเกี่ยวกับการจะสร้างรถถังจริงๆ เริ่มต้นก่อตัวขึ้นนั้น วินสตัน เชอร์ชิลกำลังดำรงตำแหน่ง First Lord of the Admiralty (ประมาณว่ารัฐมนตรีของกองทัพเรือ) อยู่พอดี
ซึ่งหน้าที่หนึ่งที่เชอร์ชิลต้องรับผิดชอบคือ การเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านอาวุธให้กองทัพอังกฤษ
ในช่วงเวลานั้นกองทัพเรือของอังกฤษถือว่าแข็งแกร่งเป็นอันดับหนึ่งของโลก เชอร์ชิลจึงมีความคิดว่า
ถ้ากองทัพอังกฤษสามารถถ่ายโอนความแข็งแกร่งเช่นเดียวกับที่มีในกองทัพเรือมาสู่กองทัพบกได้ก็จะดีมาก
หมายความว่าถ้ากองทัพบกสามารถพัฒนาพาหนะที่มีเหล็กหุ้มแข็งแกร่งเหมือนความแข็งแรงของเรือ มีปืนใหญ่ที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงเหมือนปืนใหญ่ของเรือ และสามารถที่จะตะลุยฝ่าลวดหนามไปได้ทุกที่ เหมือนที่เรือสามารถแล่นผ่านมหาสมุทรตะลุยไปได้ทั่วโลก กองทัพบกของอังกฤษก็คงจะแข็งแกร่งเหมือนกองทัพเรือ
ด้วยเหตุนี้เชอร์ชิลล์จึงก่อตั้งคณะกรรมการรับผิดชอบสร้างเรือบก หรือ Landship Committee ขึ้น
แต่โครงการสร้างอาวุธที่เจ๋งสุดๆ เช่นนี้จะต้องปิดเป็นความลับสุดยอด จะให้ใครล่วงรู้ไม่ได้
แม้แต่คนงานที่ทำงานในโรงงานก็จะให้รู้ไม่ได้
โครงการนี้จึงต้องมีชื่อปลอมบังหน้า
แต่จะปิดบังได้อย่างไร เพราะโครงการใหญ่เช่นนี้ยังไงก็ต้องขนเหล็กจำนวนมหาศาลมาที่โรงงาน แผ่นเหล็กหนาขนาดใหญ่ที่นำมาสร้างตัวถัวดูยังไงก็เหมือนกำลังสร้างอาวุธอะไรสักอย่าง
1
ดังนั้นถ้าจะให้แนบเนียน ชื่อโครงการบังหน้าจะต้องมีลักษณะคล้ายกับสิ่งที่กำลังสร้างขึ้น
จึงมีการระดมความคิดและเสนอชื่อโครงการมาหลายชื่อ
สุดท้ายก็ได้ข้อสรุปกันว่าชื่อโครงการจะต้องออกไปในทำนองที่บ่งว่ากำลังสร้างภาชนะเหล็กขนาดใหญ่สำหรับบรรจุน้ำไว้สำรองใช้
ตัวอย่างชื่อที่อาจเป็นไปได้ก็มีหลายชื่อ แต่ชื่อที่ได้รับความสนใจในรอบแรกมากที่สุดคือ Water Carriers for Russia
ซึ่งก็มีความหมายตรงตัวว่าเป็นถังขนน้ำสำหรับประเทศรัสเซีย (ซึ่งเป็นพันธมิตรกับอังกฤษในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง)
แต่เมื่อวินสตัน เชอร์ชิลได้ยินชื่อนี้ก็แย้งกลับมาว่าแน่ใจแล้วนะว่าจะเอาชื่อนี้กัน
เพราะชื่อโครงการที่ยาวเช่นนี้สุดท้ายถ้าต้องมีการติดชื่อ เช่น พ่นสีชื่อโครงการไว้ที่ตัวถัง หรือเขียนป้ายติดไว้บนรถไฟ ก็คงต้องใช้ตัวอักษรย่อแทน
แล้วคำว่า Water Carrier for Russia ถ้านำมาย่อก็คงจะไม่พ้นที่จะต้องย่อว่า W.C. ซึ่งก็คงไม่เหมาะ (คุ้นไหมครับ พอจะนึกออกไหมครับ W.C. เคยเห็นที่ไหน? ใช่ครับมันคือตัวย่อห้องส้วมที่เราพบเห็นกันได้ทั่วไป)
1
อย่างไรก็ตามความคิดที่จะให้ชื่อโครงการลับนี้มีชื่อว่า
ถังน้ำสำหรับรัสเซียเป็นความคิดที่เชอร์ชิลเห็นดีด้วย
สุดท้ายจาก Water carrier for Russia ชื่อโครงการจึงเปลี่ยนเล็กน้อยมาเป็น Water Tanks for Russia
แต่ใช้ไปใช้มา คนก็ย่อจนเหลือคำว่า tank คำเดียว และนั่นก็คือที่มาว่าทำไมชื่อรถถังจึงเป็นคำเดียวกับชื่อของถังเก็บน้ำ
สุดท้ายแม้ว่าอาวุธลับที่แข็งแกร่งของอังกฤษจะได้ชื่อมาจาก “ถังน้ำ”
แต่อย่างน้อยทุกวันนี้ก็ไม่มีใครเรียกรถถังว่า W.C. หรือห้องส้วม ก็แล้วกัน
(Ads)
ชอบเรื่องราวแบบนี้ อย่าลืมอ่านหนังสือ ทำไมเราเลี้ยง pig แต่กิน pork และ ทำไมแฮมเบอร์เกอร์จึงไม่มีแฮม
สามารถสั่งซื้อออนไลน์ได้จากลิงก์
อ่านบทความประวัติศาสตร์อื่นๆเพิ่มเติมได้ที่
อ่านบทความด้านวิทยาศาสตร์ จิตวิทยาการแพทย์ ได้ที่
คลิปวีดีโอ (เน้นประวัติศาสตร์) https://www.youtube.com/chatchapolbook เพิ่งเริ่มทำนะครับ ช้านิดแต่จะมีคลิปใหม่ๆตามมาอีกแน่นอน
โฆษณา