7 ก.ย. 2019 เวลา 04:30
พุทธ​ประวัติ​ ตอนที่​ 9
ทรงศึกษาศิลปศาสตร์ 18 ประการ
เมื่อตอนที่​พระสิทธัตถราช​กุมาร​ ทรงเจริญวัยมีพระชนมายุได้ 7 พรรษา เป็นวัยที่พระองค์นั้น กำลังได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ อันเป็นธรรมดาในทางของโลก
ต่อมาวันหนึ่ง ณ ห้องโถงพระราชวัง
พระเจ้าสุทโธ​ท​นะ​ พระองค์​ได้​ทรงยกหัวข้อการสนทนาในกิจหน้าที่ของการเป็นพระบิดาที่ควรกระทำแก่พระราชบุตร จึงได้ตรัสถามกับเหล่าหมู่อำมาตย์ทั้งหลายขึ้นมาว่า
พระเจ้า​สุทโธ​ท​นะ​ตรัสถาม :
"ท่านทั้งหลายเอย อันธรรมดาแล้วทารกในวัย 7 ขวบนี้ จักชอบเล่นอะไรมากที่สุดกันเล่า"
เหล่าอำมาตย์ทูลตอบ :
"ข้าแต่​พระองค์​ ทารกในวัยนี้ จักชอบเล่นน้ำ เป็นปกติพระเจ้าข้า"
เมื่อ​พระองค์​ได้สดับฟังเช่นนั้น​แล้ว
พระองค์​จึง​รับสั่ง​ให้ขุดสระโบกขรณีขึ้น 3 สระ และสร้างขึ้นภายในพระราชนิเวศน์นั้นเอง ซึ่งในสามสระ​นี้ พระเจ้า​สุทโธ​ท​นะ​รับสั่งให้ปลูกดอกบัวต่างชนิดกันในแต่ละสระ
บัวทั้ง 3 มีดังนี้
สระที่ 1 ปลูกปทุมบัวหลวง
สระที่ 2 ปลูกบุณฑริกบัวขาว
สระที่ 3 ปลูกอุบลบัวขาบ
ทั้งสามสระนี้ถูกสร้างประดับตกแต่งขึ้น เพื่อ​ให้เป็นสถานที่เล่นสำราญพระทัยร่วมกับพระสหายที่อยู่ในวัยเดียวกันนั้นเอง...
ครั้งเมื่อกาลเวลาผ่านมา...
พระ​ราชกุมารนั้น ก็มีพระชนม์เจริญวัยสมควรแล้ว ที่จะต้องได้รับการศึกษาเล่าเรียนศิลปวิทยาความรู้ต่างๆ ในทางโลกแล้ว พระราชบิดาจึงได้ทรงพาพระราชกุมารไปมอบไว้​ศึกษา​ที่ สำนักครูที่มีชื่อเสียงอย่างมากในยุคนั้นคือ สำนักของครู "วิศวามิตร"
พระราชกุมารสิทธัตถะได้ทรงศึกษาเล่าเรียนศิลปศาสตร์ อันเป็นสิ่งจำเป็น ที่ผู้จะเป็นกษัตริย์ นั้นจะต้องศึกษาวิชาความรู้ทั้ง 18 ประการ​ กล่าวคือ​
1. สูติ : ความรู้​ทั่วไป​
2. สัมมติ : ความรู้กฎธรรมเนียม
3. สังขยา : วิชาคำนวน
4. โยคยันตร์ : วิชาการช่างยนต์
5. นีติ : วิชานิติศาสตร์(กฎหมาย​)
6. วิเสสิกา : รู้การอันให้เกิดมงคล
7. คันธัพพา : วิชาการฟ้อนรำ ขับร้อง
8. คณิกา : วิชาบริหารร่างกาย
9. ธนุพเพธา : วิชายิงธนู
10. ปุราณา : วิชาโบราณคดี
11. ติกิจฉา : วิชาการ​แพทย์
12. อิติหาสา : ตำนานหรือวิชาประวัติศาสตร์
13. โชติ : ดาราศาสตร์​
14. มายา : ตำรา​พิชัย​สงคราม​
15. ฉันทสา : วิชาการประพันธ์
16. เกตุ : วิชาการพูด
17. มันตา : วิชาเวทย์มนต์คาถา
18. ไวยากรณ์​ : วิชาระเบียบภาษา
***ศาสตร์​ทั้ง18 ประการนี้
ถ้าหากสืบค้นหาจากอินเตอร์​เน็ต จะพบว่ามีข้อมูลที่ไม่ค่อยตรงกันเท่าไหร่ ดังนั้นผมจึงขอ อนุญาต​ใช้ฉบับของ "พระครู​กัลยา​ณ​สิ​ทธิวัฒน์​" เป็นการอ้างอิงเป็นหลักครับ***
พระ​บรม​โพธิสัตว์เจ้า​ ได้ทรงศึกษาศิลปวิทยาทั้ง 18 ประการ​เหล่านี้จนเชี่ยวชาญ ในเวลาไม่นานนัก ในบางคัมภีร์ท่านกล่าวไว้ว่า พระองค์​ใช้เวลาศึกษาเล่าเรียน เพียง 7 วันเท่านั้น ก็​สำเร็จ​เชี่ยวชาญ​ทุกแขนงครับ
ทั้งนี้ด้วยพระปรีชา​สามารถ​ของพระองค์นั้น ล้วนแต่เป็นที่ประจักแก่พระสหายตลอดจนพระอาจารย์
ท้ายที่สุด...
พระ​อาจารย์​ที่ประสิทธิ์ประสาทวิชาการให้แก่พระราชกุมาร
สิทธัตถะนั้น ก็หมดสิ้นซึ่งความรู้ของตนเอง ที่จะสามารถนำมาสอนให้พระองค์ได้อีกต่อไปแล้ว...
เป็นอันว่าพระสิทธัตถะกุมารนั้นได้เรียนสำเร็จวิชาในทางโลกแล้วนั้นเอง
เอวัง​ก็มี​ด้วยประการฉะนี้​
หากท่านผู้ใดชอบ ก็ขอฝากติดตามอ่านตอนต่อไปด้วยนะขอรับ ^-^
ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่าน​ผู้อ่าน​ขอธรรมของพระพุทธองค์จงมีแด่ ท่าน​ สาธุครับ​ (ต้นธรรม)
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือ.ปฐมสมโพธิกถา
- หนังสือพุทธประวัติ​ตามแนวปฐมสมโพธิ (พระครูกัลยาณสิทธิวัฒน์)
- เพิ่มเติมเนื้อหาใหม่/ภาพประกอบ.ต้นธรรม
โฆษณา