Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ธรรม STORY
•
ติดตาม
11 ก.ย. 2019 เวลา 05:28 • ประวัติศาสตร์
พุทธประวัติ ตอนที่ 10
มหาปราสาท 3 ฤดู
ปกติแล้วในพุทธประวัติ ที่ผมได้ศึกษามาในหลายๆที่ เขามักจะนำมาเสนอ
ในแบบย่อๆ ในรายละเอียดของ
มหาปราสาท 3 ฤดูก็เช่นเดียวกัน
คือ พวกเราจะทราบกันแค่ว่า เจ้าชายสิทธัตถะท่านมีมหาปราสาท 3 ฤดู แต่แล้วรายละเอียดของปราสาทนั้นเป็นอย่างไร ก็ไม่ค่อยมีคนมานำเสนอ ในจุดนี้เอง ด้วยความอยากรู้และไม่อยากปล่อยผ่าน จึงไปศึกษาค้นคว้าแล้วนำมาแชร์ให้ท่านทั้งหลายที่ชอบเกี่ยวกับพุทธประวัติได้อ่านกันครับผม ^-^ รายละเอียดจะเป็นอย่างไรนั้นขอเชิญอ่านครับ
***ก็ครั้นเมื่อ...***
พระบรมโพธิสัตว์เจ้า มีพระชนมายุได้ 16 พรรษา
*พระเจ้าสุทโธทนะพระราชบิดา
พระองค์ก็ทรงครุ่นคิดพิจารว่าจะทำอย่างไรกันหนอ ที่จะไม่ให้พระราชโอรสทรงหนีออกบรรพชาได้*
พระเจ้าสุทโธทนะ...
พระองค์ได้ทรงครุ่นคิดอยู่สักพักนึง จึงนึกขึ้นได้ว่า :
"เราควรจักให้กามคุณที่เป็นเลิศทั้งหลายแก่พระโอรส จึงจักเป็นการดีที่สุด"
เพราะกามคุณทั้งหลาย จักได้ทำให้สิทธัตถะกุมารมีใจยึดติดในทรัพย์สมบัติของกษัตริย์และความสุขทางโลกควบคู่กันไป แล้วจักได้มิกล้าหนีไปเข้าหาทางบรรพชา และในที่สุดพระโอรสของเราก็จักได้เป็น
พระมหาจักรพรรดิอย่างแน่นอน
อีกทั้งในบัดนี้ พระราชโอรสของเรานั้น ก็มีวัยที่สมควรแล้วที่ จะมีพระเทวีได้แล้ว ดังนั้นเราควรสร้างปราสาทอันประณีตงดงามให้แก่พระราชโอรสของเราก่อนจึงจักเป็นการดี
เมื่อพระเจ้าสุทโธทนะคิดได้เช่นนั้น พระองค์จึงมีรับสั่งให้จัดหาช่างผู้ที่มีความชำนาญในด้านต่างๆ คือ ช่างไม้ ช่างปูน และช่างเขียนผู้เชี่ยวที่สุดในแต่ละสายงานเป็นต้น
ให้เหล่าช่างฝีมือดีทั้งหลายได้เข้ามาสร้างมหาปราสาท 3 องค์ เพื่อให้เป็นที่ประทับของพระราชโอรสใน 3 ฤดูกาล
โดยพระเจ้าสุทโธทนะทรงให้ชื่อปราสาทแต่ละหลังว่า :
1. รมยปราสาท ฤดูหนาว
2. สุรมยปราสาท ฤดูร้อน
3. สุภปราสาท ฤดูฝน
3
ซึ่งทั้ง 3 ปราสาทนี้ถ้าหากดูเพียงแต่ภายนอกนั้น จะเห็นว่าขนาดและลักษณะความวิจิตรงดงามนั้นมิแตกต่างกัน
แต่ทว่าภายในตัวปราสาทนั้น ได้ถูกออกแบบและตกแต่งให้แต่ละหลังนั้น มีความเหมาะสมกับฤดูกาลที่มีสภาพภูมิอากาศแตกต่างกัน ซึ่งแต่ละปราสาทนั้นมีรายละเอียดดังนี้
1. รมยปราสาท ฤดูหนาว
(เหมันตฤดู) มีทั้งหมด 9 ชั้น
ในแต่ละชั้นของปราสาทนั้นความสูงของเพดานจะมีความต่ำลงต่ำลงตามลำดับ ก็เพื่อให้รับไออุ่น
ประตูและหน้าต่างที่ปราสาทหลังนี้
ก็มีบานปิดสนิทดีมีช่องระบายอากาศเพียงเล็กน้อย เพื่อกันความหนาวเย็น
จากนั้นช่างศิลป์ก็ทำภาพจิตกรรมบนพื้นพนังเป็นภาพกองไฟลุกสว่างกองเล็กบ้างใหญ่บ้าง นองจากนั้นยังมีภาพดวงอาทิตย์อุทัยเหนือยอดเขายุคันธรบรรพต ซึ่งล้วนแล้วแต่ทำให้เกิดบรรยากาศที่รู้สึกอบอุ่นอยู่ตลอดเวลา
ส่วนเครื่องลาดพื้นในปราสาทนี้ก็ทำขึ้นจากผ้ากัมพล (ผ้าที่ทอด้วยขนสัตว์) รวมถึงผ้าม่าน เพดาน ผ้านุ่ง ผ้าห่มและผ้าโพกศีรษะก็เช่นเดียวกัน
2. สุรมยปราสาท ฤดูร้อน
(คิมหันตฤดู) มีทั้งหมด 5 ชั้น
ในแต่ละชั้นของปราสาทนี้ ระดับความสูงจากพื้นถึงเพดานจะยกสูงและกว้างไม่คับแคบ ก็เพื่อให้รับไอความเย็น และช่วยระบายอากาศให้โปร่งโล่งถ่ายเทได้ดีอย่างสม่ำเสมอ
ส่วนของประตูและหน้าต่างนั้น
ปิดไม่สนิดนักมีช่องและติดตาข่าย
ในงานของจิตรกรรมนั้น ช่างศิลป์ได้เขียนรูปเป็นดอกอุบล ดอกปทุมและดอกบุณฑริกไว้ อย่างงดงาม อีกทั้งภายในปราสาทยังได้มีภาพจิตรกรรมใหญ่คือรูปภาพแม่น้ำทั้งห้า และมีสระน้ำน้อยใหญ่อีกทั้งมีปลาสวยงามนาๆชนิด ประดับตกแต่งอยู่ด้วย
และตรงที่ใกล้ๆกับหน้าต่างในปราสาทนี้ พวกช่างไม้ก็ได้ตั้งตุ่มไว้ 9 ตุ่ม ใส่น้ำจนเต็มแล้ว เอาดอกบัวเขียวเป็นต้นปลูกคลุมไว้ จากนั้นพวกช่างก็สร้างน้ำตกไว้ตามที่เหล่านั้น เป็นเหตุทำให้สายน้ำไหลออกมาเหมือนกับราวเสียงฝนตก
ส่วนเครื่องลาดพื้นในปราสาทนี้
จะทำจากผ้าเปลือกไม้ ผ้าม่าน เพดาน ผ้านุ่ง ผ้าห่มและผ้าโพกศีรษะก็ทำจากเปลือกไม้เช่นเดียวกัน
3. สุภปราสาท ฤดูฝน
(วัสสานฤดู) มีทั้งหมด 7 ชั้น
ในแต่ละชั้นของปราสาทหลังนี้เหล่าช่างผู้ชำนาญได้สร้างห้องในแต่ละชั้นแบบไม่สูงและไม่ต่ำเกินไป จุดประสงค์ก็เพื่อ ต้องการให้ได้รับอากาศรวมกันทั้ง 2 ฤดู (คือทั้งเย็นและร้อน) พร้อมกัน
ส่วนประตูกับหน้าต่างบางบานก็ปิดสนิทดี บางบานก็ห่างกัน
ทางด้านจิตรกรรมของในปราสาทนั้น ในที่บางแห่งช่างศิลป์ ก็ทำเป็นรูปกองไฟที่ลุกโชน ในที่บางที่ก็ทำเป็นสระน้ำตามธรรมชาติ เช่น น้ำตก หรือลำธารจากยอดเขา เป็นต้น ทั้งหมดนั้นได้ออกแบบมาเพื่อให้ได้รู้สึกถึงความผ่อนคลายอย่างเป็นธรรมชาตินั่นเอง
ส่วนเครื่องลาด ผ้าลาดพื้นเป็นต้นในปราสาทหลังนี้ ก็ปนกันทั้งสองชนิด คือ ทั้งผ้ากัมพลและผ้าเปลือกไม้เช่นนั้นแล...
*เป็นอันจบบทความในตอนนี้นะครับ ซึ่งเนื้อหาในตอนนี้จะเป็นการขยายรายละเอียดของตัวมหาปราสาทเป็นหลักครับ ขอท่านผู้อ่านอย่าพึ่งเบื่อไปเสียก่อนนะครับ เรื่องราวในแต่ละตอนนั้น ล้วนมีความสำคัญทุกตอนและกระผมก็ยังคงนำมาเสนอเรียบเรียงไล่ตามลำดับ Timeline ทุกตอนครับผม ^0^*
เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้
ถ้ามีข้อผิดพลาดประการใดโปรดชี้แนะได้เลยครับ ยิ่งนำข้อมูลมาแลกเปลี่ยนกันยิ่งดีจ้า หากท่านผู้ใดชอบ ก็ขอฝากติดตามอ่านตอนต่อไปด้วยนะขอรับ ^-^
ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่านผู้อ่านขอธรรมของพระพุทธองค์จงมีแด่ ท่าน สาธุครับ (ต้นธรรม)
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือ.ปฐมสมโพธิกถา
- หนังสือพุทธประวัติตามแนวปฐมสมโพธิ (พระครูกัลยาณสิทธิวัฒน์)
- อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ เทวทูตวรรคที่ ๔
- เพิ่มเติมเนื้อหาใหม่/ภาพประกอบ.ต้นธรรม
4 บันทึก
32
8
6
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
พุทธประวัติ (ฉบับสมบูรณ์) *ยังไม่จบ
4
32
8
6
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย