8 ก.ย. 2019 เวลา 15:24 • ประวัติศาสตร์
เคยสงสัยกันไหมครับว่า ทำไมชุดเจ้าสาวมักจะเป็นสีขาว ?
1
ในพิธีแต่งงานมีหลายๆอย่างที่เราทำตามๆกันมา โดยที่เราอาจจะไม่เอะใจว่าทำไมเราต้องทำเช่นนั้น? ตัวอย่างเช่น ทำไมชุดเจ้าสาวจึงมักจะเป็นสีขาว ทำไมเค้กแต่งงานนิยมสีขาว? ทำไมต้องมีเพื่อนเจ้าบ่าว? ทำไมเพื่อนเจ้าสาวต้องแต่งตัวเหมือนๆกัน? ทำไมต้องมีการโยนช่อดอกไม้หลังเสร็จพิธี? เป็นต้น
แน่นอนครับว่าสิ่งเหล่านี้ต้องมีที่มา ในวันนี้เราจะเดินทางย้อนเวลากลับไปหาคำตอบเหล่านี้กัน
แต่ก่อนอื่นผมต้องอธิบายนิดนึงนะครับว่า หลายอย่างที่เรานิยมทำกันในการแต่งงานยุคปัจจุบัน มีที่มาจากหลายวัฒนธรรมผสมๆกัน เราคงจะไม่ไปคุยแยกยิบย่อยในรายละเอียดว่าแต่ละอย่างมีที่มาจากที่ไหน แต่จะคุยกว้างๆเหมาๆรวมไปพอให้เห็นภาพใหญ่ว่า สิ่งที่เราทำทุกวันนี้ ทำไมเขาจึงทำเช่นนั้นกัน
เรามาเริ่มต้นในในยุคกลางของยุโรปกันครับ
ในอดีตก่อนที่จะมีพาหนะที่ใช้เดินทางได้ไกลๆอย่างที่เรามีกัน เช่น รถยนต์ รถไฟ หรือเครื่องบิน ชาวบ้านคนธรรมดาส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้เดินทางไปไหนไกลๆ คนส่วนใหญ่เกือบทั้งชีวิตเดินทางไปไม่เกิน 10-20 กิโลเมตรจากบ้านเกิดของตัวเอง
เมื่อชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในถิ่นกำเนิด คนที่เจอ รู้จัก และตกหลุมรัก ก็มักจะเป็นคนในชุมชนที่อาศัยอยู่ แต่ปัญหาคือ บางครั้งในชุมชนเล็กๆที่อาศัยอยู่ อาจจะมีชายหนุ่ม หญิงสาวไม่พอดีกัน หรือหญิงสาวในหมู่บ้านไม่โดนใจ ทำให้หลายครั้งชายหนุ่มนิยมแอบไปเล็งหญิงสาวที่หมู่บ้านอื่นที่อยู่ไม่ไกลออกไปนัก
เล็งแล้วอาจจะไม่เล็งเปล่าๆ แต่อาจจะถึงขั้นอยากได้มาเป็นเจ้าสาว ซึ่งหลายครั้งหมายถึงการไปลักพาตัวหญิงสาวนั้นมาโดยที่ญาติของหญิงสาวไม่เต็มใจจะยกให้
1
จะว่าไปแล้วการหาเจ้าสาวด้วยวิธีนี้ ไม่ได้พบแค่ในยุโรปยุคกลางที่เรามาเยือนเท่านั้นครับ แต่เรารู้ผ่านนิทาน เรื่องเล่า ตำนานต่างๆที่เล่าต่อๆกันมาว่าการลักพาตัวหญิงสาวเป็นเรื่องที่ทำกันมาเป็นพันๆปีแล้ว ตัวอย่างที่น่าจะโด่งดังที่สุดตัวอย่างหนึ่งก็คือ เรื่องราวของเจ้าชายปารีสที่ลักพาตัวราชินีเฮเลนแห่งสปาร์ตา แล้วนำไปสู่สงครามเมืองทรอย เพียงแต่ว่า ก่อนยุคกลางนั้น เราไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าชาวบ้านทั่วไปนิยมหาเจ้าสาวด้วยวิธีโรแมนติคเช่นนี้บ่อยแค่ไหน แต่ในยุคกลางเรารู้ว่าเป็นวิธีหาเจ้าสาวที่นิยมกันมากประมาณนึงเลย
แน่นอนครับ ถ้าเราเป็นเจ้าบ่าวที่ต้องการไปชิงตัวหญิงสาวมาจากอีกหมู่บ้านเราคงจะไม่ไปคนเดียว เพราะการจะไปชิงคนมาสักคนไม่ใช่งานเล็กๆ ว่าที่เจ้าบ่าวจึงมักจะชักชวนเพื่อนผู้ชายไปด้วยกันหลายๆคน แล้วหน้าที่ของเพื่อนเจ้าบ่าวไม่ได้แค่สิ้นสุดลงเมื่อลักพาตัวหญิงสาวมาได้ แต่ระหว่างที่ทำพิธีแต่งงาน ทีมของเพื่อนเจ้าบ่าวก็ยังคงยืนอยู่ข้างๆเจ้าบ่าวตลอดเวลา เพื่อเตรียมรับมือไม่ให้ญาติของทางเจ้าสาวมาชิงตัวกลับไปได้จนกว่าจะได้เข้าห้องหอ
1
ในหมู่ของเพื่อนเจ้าบ่าวนี้จะมีคนหนึ่งที่แข็งแรงที่สุด หรืออาจจะเก่งในการฟันดาบที่สุด ซึ่งก็คือ the best man คนที่เก่งที่สุดนี้จะยืนใกล้เจ้าบ่าวมากที่สุดเพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีใครสามารถผ่านปราการที่แข็งแกร่งที่สุดนี้เข้าไปถึงเจ้าบ่าวและเจ้าสาวได้ ทุกวันนี้แม้ว่า best man ของเจ้าบ่าวส่วนใหญ่จะไม่พกดาบแล้วก็ตาม แต่ best man ในงานแต่งงานของชาวตะวันตกก็ยังทำหน้าที่สำคัญอย่างการพกแหวน (ที่เจ้าบ่าวจะสวมให้กับเจ้าสาว) อยู่เช่นเดิม
1
ระหว่างทำพิธี เจ้าสาวมักจะยืนด้านซ้ายของเจ้าบ่าว ด้วยเหตุผลที่ว่าถ้ามีเหตุจำเป็นให้เจ้าบ่าวต้องคว้าดาบขึ้นมากวัดแกว่งเพื่อต่อสู้ เจ้าบ่าวซึ่งส่วนใหญ่จะถนัดขวาก็จะทำได้ทันท่วงที ทุกวันนี้แม้ว่าเจ้าบ่าวส่วนใหญ่ไม่ต้องเตรียมพร้อมจะต่อสู้กับใคร แต่พิธีแต่งงานที่ทำต่อๆกันมา ก็ยังนิยมให้เจ้าบ่าวยืนด้านขวาไม่ต่างจากการแต่งงานเมื่อหลายร้อยปีก่อนหน้า
1
หลายครั้งในการแต่งงาน (กรณีที่ไม่ได้ชิงตัวแต่ไปด้วยความสมัครใจ) เจ้าสาวต้องเดินทางไปยังเมืองของเจ้าบ่าวที่ห่างไกลออกไป ซึ่งการเดินทางในยุคที่บ้านเมืองไม่มีตำรวจ กฎหมายไม่ค่อยคุ้มครอง ความเสี่ยงต่อการจะถูกชิงตัวจากชายอื่น หรืออาจจะโดนภูติผี วิญญานร้ายที่อิจฉาเจ้าสาว มาทำร้ายหรือชิงตัวไปก็มีมาก การเดินทางจึงนิยมให้มีเพื่อนเจ้าสาวที่แต่งตัวเหมือนๆกับเจ้าสาวเดินทางไปด้วยหลายๆคน เพื่อให้คนหรือวิญญานร้าย เกิดการสับสน ไม่รู้ว่าใครคือเจ้าสาวที่แท้จริง ด้วยเหตุนี้เพื่อนเจ้าสาวจึงแต่งตัวเหมือนๆกันมา ทุกวันนี้แม้ว่าเพื่อนเจ้าสาวจะแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าสีอื่นเพื่อให้เจ้าสาวโดดเด่นแล้วก็ตาม แต่เพื่อนเจ้าสาวก็ยังนิยมแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าสีเดียวกันเช่นเดิม
หลังจากเสร็จพิธีแต่งงาน หลายครั้งแขกที่มาร่วมงานที่ไม่ใช่ญาติหรือเพื่อนสนิทก็อาจจะกรูเข้ามารุมเจ้าสาว เพราะในยุคกลาง คนที่ได้แต่งงานถือว่าเป็นคนโชคดี ใครที่ได้สัมผัสเจ้าสาวในวันแต่งงานจะได้รับความโชคดีไปด้วย แขกหลายคนจึงมาร่วมงานแม้ว่าจะไม่ได้รู้จักกับเจ้าบ่าวเจ้าสาวดีนัก แต่มาเพื่อหาโอกาสที่จะสัมผัสตัวเจ้าสาว หลายครั้งการพยายามสัมผัส ลามไปถึงขั้น พยายามฉีกผ้าจากชุดเจ้าสาวไปเก็บไว้ ดังนั้นหลังพิธีจบ เจ้าสาวจึงมักจะโยนช่อดอกไม้ หรือช่อสมุนไพรที่ตัวเองถือ เข้าไปในฝูงชนที่ทำท่าจะรุมเข้ามา เพื่อดึงความสนใจไปทางอื่นแล้วถือโอกาสนั้นรีบหนีไปจากที่ทำพิธี
หลังจากที่พอจะเห็นภาพแล้วว่า หลายอย่างที่เรานิยมทำกันในพิธีแต่งงานมีที่มาอย่างไร ก็ได้เวลากลับมาตอบคำถามหลักของเราที่ว่า ทำไมชุดแต่งงานต้องเป็นสีขาว?
คำตอบสั้นๆคือ ทั้งหมดเริ่มต้นมาจากงานอภิเษกระหว่าง Queen Victoria กับ Prince Albert ของอังกฤษครับ
ก่อนหน้านั้น ราชวงศ์หรือขุนนางใหญ่โต ของอังกฤษ ไม่ได้นิยมใส่ชุดแต่งงานที่มีสีขาว จริงๆแล้วจะใส่สีอะไรก็ได้ แต่สีที่ค่อนข้างนิยมกว่าคือ สีแดง แต่ควีนวิคตอเรียยืนยันว่าต้องการจะใส่ชุดแต่งงานสีขาวแม้ว่าจะมีคนทัดทานบ้างก็ตาม และด้วยความที่ภาพที่ออกมาดูสวยงาม อลังการมาก หลังงานอภิเษกสมรส ความนิยมในชุดแต่งงานสีขาวก็ได้รับความนิยมเพิมขึ้นไปทั่วยุโรปและอเมริกา โดยเฉพาะในหมู่ชนชั้นสูงที่มีเงิน
อย่างไรก็ตาม ในยุคนั้น ชุดสีขาวเป็นชุดที่แพงมาก แพงเกินกว่าที่คนทั่วไปจะเข้าถึง ที่เป็นเช่นนั้นเพราะในยุคก่อนที่ จะมีผงซักฟอก หรือน้ำยาซักผ้าดีๆอย่างที่เราใช้กันในปัจจุบัน เสื้อผ้าสีขาวเป็นสีที่ทำความสะอาดยาก เลอะง่าย สีหมองเร็วใส่แค่ครั้งหรือสองครั้งสีก็แทบจะเปลี่ยนไปแล้ว บวกกับในยุคที่เสื้อผ้ายังเป็นการผลิตด้วยมือ ไม่มีเครื่องจักรทันสมัย การซื้อเสื้อผ้าใหม่แต่ละชุดถือเป็นการลงทุนค่อนข้างมาก ด้วยเหตุผลเหล่านี้สีขาวจึงเป็นสีที่คนไม่นิยมใส่กัน ยิ่งชุดแต่งงานสีขาวทั้งชุดยิ่งเป็นไปได้ยาก ดังนั้นชุดแต่งงานสีขาวจึงนิยมกันแต่ในหมู่คนรวยเท่านั้น คนธรรมดาสามัญทั่วไป ก็ยังใส่ชุดแต่งงานสีอื่นๆอยู่เช่นเดิม
แต่สีขาวที่บ่งถึงความรวยไม่ได้มีแค่ชุดแต่งงานเท่านั้น แต่เค้กแต่งงานสีขาวก็ใช้แสดงสถานะได้ด้วย
2
ในช่วงศตวรรษที่ 19 แม้ว่าราคาของน้ำตาลในยุโรปจะมีราคาถูกลงมาบ้างแล้ว คือถูกพอที่คนทั่วไปพอจะหามาบริโภคได้ (แต่ก็ยังถือเป็นสิ่งบริโภคที่มีราคาแพงมากอยู่) เมื่อน้ำตาลราคาถูกลงการทำเค้กในวันแต่งงาน (ซึ่งต้องใช้น้ำตาล) จึงได้รับความนิยมมากขึ้น แต่น้ำตาลที่คนทั่วไปเข้าถึงได้จะมีสีออกน้ำตาลๆ เพราะในยุคก่อนที่จะมีการผลิตน้ำตาลแบบอุตสาหกรรมใหญ่ๆ การฟอกสีให้น้ำตาลมีสีขาว ต้องใช้แรงงานคนทำให้มีต้นทุนที่ค่อนข้างสูง น้ำตาลยิ่งขาว จึงยิ่งมีราคาแพง เฉพาะคนที่รวยมากจริงๆเท่านั้นจึงจะมีเงินซื้อน้ำตาลสีขาวมาทำเค้กให้มีสีขาว ดังนั้นเค้กสีขาวขนาดใหญ่ที่ตั้งโชว์ในงานจึงบ่งบอกถึงเศรษฐานะของเจ้าบ่าวเจ้าสาวได้ด้วย
โดยสรุปนะครับ การเดินทางหลงไปในประวัติศาสตร์ของเราในรอบนี้ ก็ยังช่วยยืนยันให้เราเห็นว่าหลายอย่างที่เราทำต่อๆกันมาในทุกวันนี้ มันมีเหตุผลที่เหมาะสมกับยุคสมัยหนึ่ง แต่เมื่อยุคสมัยเปลียนไป ความจำเป็นนั้นก็อาจจะหมดไป แต่เราก็ยังทำต่อกันไปเรื่อยๆ โดยที่หลายครั้งเราก็ลืมถามไปว่า สิ่งที่เราทำๆกันอยู่นั้นเราทำไปเพื่ออะไร
แต่ถ้าเราหยุดคิดสักนิด และตั้งคำถามกับสิ่งธรรมดารอบๆตัวเหล่านี้ดูบ้าง เราอาจจะเจอเรื่องราวที่น่าสนใจซ่อนอยู่ก็ได้ครับ วันนี้ผมขอลาไปก่อนโอกาสหน้าเรามาเดินทางหลงไปในประวัติศาสตร์ด้วยกันใหม่อีกครั้งนะครับ 🙂
โฆษณา