21 ก.ย. 2019 เวลา 23:24 • สุขภาพ
ตำราฝังเข็มฉบับสมบูรณ์ (針灸學) ภาคทฤษฎี
บทที่ 3
ปรัชญาห้าธาตุ (五行) ตอนที่2
ห้าธาตุกับการเสริมข่ม (生克) การข่มซ้ำ (乘) และการย้อนข่ม (侮)
ด้วยคุณลักษณะของการเสริมและการข่มของธาตุทั้งห้า ดังนั้นจึงทำให้เกิดเป็นความสัมพันธ์เชิงแม่ลูก (母子) ขึ้น
ซึ่งก็คือธาตุทองเป็นแม่ของธาตุน้ำ และธาตุน้ำคือลูกของธาตุทอง ธาตุน้ำคือแม่ของธาตุไม้ และธาตุไม้คือลูกของธาตุน้ำ ธาตุไม้คือแม่ของธาตุไฟ และธาตุไฟคือลูกของธาตุไม้ ธาตุไฟคือแม่ของธาตุดิน และธาตุดินคือลูกของธาตุไฟ ธาตุดินคือแม่ของธาตุทอง และธาตุทองคือลูกของธาตุดิน
ดังนั้นหากมีธาตุใดธาตุหนึ่งพร่อง หรือมีธาตุใดธาตุหนึ่งแกร่งเกินไป ในตำราแพทย์จีนจึงมีวิธีการปรับสมดุลด้วยคำพูดเพียงประโยคเดียวว่า “หากพร่องก็บำรุงที่แม่ หากแกร่งก็ระบายที่ลูก (虛則補其母,實則瀉其子.)”
ยกตัวอย่างเช่น หากธาตุทองพร่อง ยามนี้ก็ควรทำการบำรุงที่ธาตุดิน เมื่อธาตุดินซึ่งเป็นแม่ของธาตุทองมีกำลังขึ้นก็จะให้กำเนิดลูกซึ่งเป็นธาตุทองให้มีกำลังขึ้นนั่นเอง ในทางตรงกันข้าม หากธาตุทองแกร่ง ยามนี้ควรระบายที่ธาตุน้ำ เพราะเมื่อธาตุน้ำถูกระบายให้น้อยลง ยามนั้นธาตุทองซึ่งเป็นแม่ก็จะให้กำเนิดลูกคือธาตุน้ำต่อ ซึ่งก็จะบรรลุสู่วัตถุประสงค์แห่งการทำให้ธาตุทองอ่อนลงได้
แม้นธาตุทั้งห้าจะมีการเสริมและข่มตามกฎธรรมชาติก็จริง แต่ในบางครั้งก็อาจจะไม่แน่นอนเสมอไป เพราะบางที ธาตุที่ทำหน้าที่ข่มเขา กลับกลายเป็นว่าถูกข่มกลับเสียเอง ยกตัวอย่างเช่น ธาตุทองข่มธาตุไม้ แต่หากธาตุทองพร่องหรือธาตุไม้แกร่ง ไม่ว่าจะเป็นลักษณะใดก็ตาม ยามนั้นธาตุทองก็จะถูกธาตุไม้ย้อนข่มกลับเสียเอง ด้วยเพราะธาตุบางธาตุอาจจะเกิดเหตุการณ์แกร่งหรือพร่องอย่างผิดปกติ ดังนั้นจึงทำให้เกิดสองปรากฏการณ์ขึ้น นั่นก็คือ ปรากฏการณ์ข่มซ้ำ (乘) และปรากฏการณ์ย้อนข่ม (侮)
ยกตัวอย่างเช่น ธาตุไม้ที่ข่มธาตุดินและถูกธาตุทองข่ม นี่คือเหตุการณ์ปกติ แต่เมื่อธาตุไม้แกร่งขึ้น ยามนั้นธาตุไม้ก็จะเกิดการข่มซ้ำ (乘) ที่ธาตุดินมากกว่าเก่า ขณะเดียวกัน แทนที่ธาตุไม้จะถูกธาตุทองข่ม แต่เนื่องจากธาตุไม้มีอาการแกร่งมากขึ้น ดังนั้นกลับกลายเป็นธาตุทองถูกธาตุไม้ย้อนข่ม (侮) กลับเสียเอง โดยจะสามารถสรุปได้ดังรูป 3.3
หรือธาตุไม้ที่ปกติจะทำหน้าที่ข่มธาตุดินและถูกธาตุทองข่ม นี่คือธาตุไม้ที่อยู่ในภาวะปกติ แต่เมื่อธาตุไม้อ่อนกำลังลง แทนที่ธาตุไม้จะทำหน้าที่ข่มธาตุดิน แต่กลับกลายเป็นธาตุไม้ได้ถูกธาตุดินย้อนข่ม (侮) เข้าเสียเอง ส่วนปกติที่ธาตุไม้จะถูกธาตุทองข่ม แต่เนื่องจากธาตุไม้ขาดพลังลง ดังนั้นในยามนี้จึงถูกธาตุทองข่มซ้ำ (乘) มากขึ้นอีก ดังจะขอสรุปได้ดังรูป 3.4
ปรากฏการณ์ข่มซ้ำและย้อนข่มนี้ ในทางอักษรจีนได้สื่อความหมายที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง กล่าวคือ ภาษาจีนของปรากฏการณ์ข่มซ้ำคือ 乘 มีความหมายว่าฉวยโอกาสหรือทวีคูณ หมายความว่าแต่เดิมมีอำนาจเหนือเขาอยู่แล้ว แต่เมื่อมีกำลังมากขึ้น ก็ฉวยโอกาสซ้ำเติมเขาให้หนักหนาสาหัสมากขึ้นกว่าเก่า ส่วนภาษาจีนของปรากฏการณ์ย้อนข่มนั้นคือ 侮 มีความหมายว่าลบหลู่ อัปยศ หมายความว่า แต่เดิมมีอำนาจด้อยกว่าเขา แต่เมื่อวันหนึ่งเขาอ่อนกำลังลง จึงได้ถือโอกาสลบหลู่เขาให้เกิดความอัปยศนั่นเอง
โฆษณา