22 ก.ย. 2019 เวลา 22:38 • สุขภาพ
ตำราฝังเข็มฉบับสมบูรณ์ (針灸學) ภาคทฤษฎี
บทที่ 3
ปรัชญาห้าธาตุ (五行) ตอนที่3
ความสัมพันธ์ระหว่างธาตุทั้งห้ากับอวัยวะภายในและอื่น ๆ
ในเมื่อเราสามารถจัดความซับซ้อนของจักรวาลออกเป็นหมวดหมู่ได้ห้าหมู่จากคุณลักษณะที่เป็นอยู่ได้ แน่นอนว่าอวัยวะภายในที่เป็นส่วนหนึ่งของจักรวาล ก็ย่อมจะสามารถแบ่งออกเป็นหมวดหมู่ของห้าธาตุเช่นเดียวกับจักรวาลนี้ได้อย่างแน่นอน
โดยปอดคือธาตุทอง ตับคือธาตุไม้ ไตคือธาตุน้ำ หัวใจคือธาตุไฟ ม้ามคือธาตุดิน
ทั้งนี้ เนื่องจากอวัยวะหยางที่มีความสัมพันธ์กับอวัยวะอินแบบนอกและใน จะมีคุณลักษณะของธาตุที่เหมือนกัน ดังนั้น ลำไส้ใหญ่ที่มีความสัมพันธ์เชิงนอกในกับปอดก็จะเป็นธาตุทอง ถุงน้ำดีที่มีความสัมพันธ์เชิงนอกในกับตับก็จะเป็นธาตุไม้ กระเพาะปัสสาวะที่มีความสัมพันธ์เชิงนอกในกับไตก็จะเป็นธาตุน้ำ ลำไส้เล็กที่มีความสัมพันธ์เชิงนอกในกับหัวใจก็จะเป็นธาตุไฟ และกระเพาะอาหารที่มีความสัมพันธ์เชิงนอกในกับม้ามก็จะเป็นธาตุดิน
นอกจากนี้ก็ยังมีเยื่อหุ้มหัวใจและซันเจียวอีกสองอวัยวะ เนื่องจากเยื่อหุ้มหัวใจทำหน้าที่ในการปกป้องผลกระทบใด ๆ ที่จะเกิดกับหัวใจ ดังนั้นเยื่อหุ้มหัวใจจึงเป็นธาตุไฟ ส่วนซันเจียวซึ่งมีความสัมพันธ์เชิงนอกในกับเยื่อหุ้มหัวใจก็จะมีคุณลักษณะที่เป็นธาตุไฟด้วยเช่นกัน
ปรัชญาห้าธาตุนอกจากจะสามารถจัดหมวดหมู่ให้กับอวัยวะภายในได้แล้ว ทั้งนี้ยังสามารถจัดหมวดหมู่ให้กับสิ่งอื่น ๆ ในธรรมชาติของเราได้อีกด้วย ดังจะขอสรุปเป็นตารางดังต่อไปนี้
การประยุกต์ปรัชญาห้าธาตุ การเสริมข่ม และอวัยวะภายในในทางการแพทย์แผนจีน
เมื่อประยุกต์ปรัชญาห้าธาตุ การเสริมข่มและอวัยวะภายในเข้าด้วยกันแล้ว เราก็จะสามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับการรักษาในทางการแพทย์แผนจีนได้แล้ว ยกตัวอย่างเช่นตับ ตับคือธาตุไม้ อวัยวะที่ข่มตับคือปอด อวัยวะที่ถูกตับข่มคือม้ามกระเพาะ อวัยวะที่ตับเสริมคือหัวใจ และอวัยวะที่เสริมตับคือไต ส่วนที่เหลือก็สามารถปฏิบัติตามหลักการเช่นนี้ได้เรื่อยไป
การที่อวัยวะแต่และอวัยวะสามารถส่งผลกระทบซึ่งกันและกันเช่นนี้ได้ สาเหตุเพราะแต่ละอวัยวะจะมีเส้นทางที่เชื่อมต่อซึ่งกันและกัน เส้นทางที่ว่านี้ก็คือเส้นลมปราณ โดยเส้นตับจะเชื่อมเข้ากับหัวใจ เส้นถุงน้ำดีเชื่อมเข้ากับหัวใจ เส้นตับขนาบกระเพาะ กระเพาะกับม้ามก็ยังมีการเชื่อมโยงในเชิงนอกใน ดังนั้นอวัยวะทั้งหมดเหล่านี้จึงมีผลกระทบซึ่งกันและกันไปหมด นอกจากนี้ เส้นไตยังเชื่อมกับตับ เส้นตับเชื่อมกับปอด และเส้นไตก็ยังมีการเชื่อมกับปอดอีกด้วย จึงเห็นได้ว่า อวัยวะภายในทั้งหมดสามารถส่งผลกระทบซึ่งกันและกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เนื่องจากอวัยวะแต่ละอวัยวะมีการเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน ดังนั้นเมื่ออวัยวะหนึ่งมีปัญหา ก็ย่อมจะกระทบถึงอวัยวะอื่น ๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกัน โดยจะเป็นการส่งผลกระทบในทางข่ม หรือส่งผลกระทบในทางเสริมนั่นเอง
การส่งผลกระทบในทางข่ม ในจุดนี้จะรวมถึงการข่มซ้ำหรือการย้อนข่ม ยกตัวอย่างเช่น เมื่อตับแกร่ง ปกติตับก็ข่มม้ามกระเพาะอยู่แล้ว แต่เมื่อตับแกร่งมากกว่าปกติ ตับก็จะทำการข่มซ้ำที่กระเพาะม้ามมากขึ้นเป็นทวี ขณะเดียวกัน แทนที่ตับจะถูกปอดข่ม แต่ตับที่แกร่งขึ้นก็ยังจะย้อนข่มกลับไปที่ปอดอีกด้วย
การส่งผลกระทบในทางเสริม จุดนี้จะมีปรากฏการณ์แม่ป่วยกระทบลูก และลูกป่วยกระทบแม่ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อตับพร่องหรือตับแกร่งก็จะกระทบถึงหัวใจ นี่คือแม่ป่วยกระทบลูก ขณะเดียวกัน หากตับป่วย ไม่ว่าจะเป็นแบบตับพร่องหรือตับแกร่งก็จะส่งผลกระทบถึงไต นี่คือลูกป่วยกระทบแม่นั่นเอง
โฆษณา