14 ต.ค. 2019 เวลา 02:56 • ประวัติศาสตร์
รหัสนัยดวงพิไชยสงคราม
โดย วรพล ไม้สน (พลังวัชร์)
ความรู้สึกแรกที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้จบ
"เป็นหนังสือประเภทที่หาได้ยากในแวดวงหนังสือ หรือแม้แต่ในวงการที่เกี่ยวข้อง สมควรเก็บไว้ให้ลูกหลานอ่าน"
จากคำนิยมและเนื้อหาในหนังสือ ทำให้คนอ่านทราบว่าในการทำดวงพิไชยสงครามนั้น ต้องมีองค์ความรู้ครบสามด้าน ทั้งโหราศาสตร์ ไสยศาสตร์ และพุทธศาสตร์ หนังสือเล่มนี้เน้นไปที่พยายามบอกเล่าเรื่องราวที่เกี่ยวกับทางโหราศาสตร์และพุทธศาสตร์ โดยละทางด้านไสยศาสตร์ไป มีการกล่าวถึงเล็กน้อยเรื่องการลงยันต์แบบย่างตาม้าไปพร้อมกับภาวนาพระคาถา อาจเป็นเพราะความจำเป็นต้อง "พราง" บางสิ่งไว้ ด้วยกุศลเจตนาก็ได้
หนังสือมีรูปประกอบถึง 124 รูป จากความหนาทั้งเล่มราว 248 หน้า หรือมีเนื้อหาให้อ่านราวครึ่งหนึ่ง ประกอบด้วยด้วยหัวข้อย่อยๆ ดังนี้
1.ราว 30 หน้ากล่าวถึง องค์ประกอบของดวงพิิไชยสงคราม และหลักฐานที่เกี่ยวข้อง รวมถึง ดวงชะตา คัมภีร์สุริยยาตร์ ยันต์พิไชยสงคราม พระพิไชยสงคราม ตำนานดวงพิไชยสงคราม
2. ราว 5 หน้า กล่าวถึงลักษณะพิเศษ หรือกรณีศึกษาที่ผู้เขียนได้นำภาพถ่ายจากสถานที่จริง มาอธิบายประวัติความเป็นมาและองค์ประกอบ คือวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม หลังพระพุทธปรมาสโย
3.ราว 8 หน้ากล่าวถึงสถานภาพปัจจุบันของดวงพิไชยสงคราม ว่ามีการเผยแพร่แก่สาธารณชนโดยหลวงวิศาลดรุณกรมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2473 และเป็นที่รู้จักในหมู่ประชาชนเมื่อปีพ.ศ.2559 นี่เองเมื่อเจ้าคุณธงชัย จัดทำผ้ายันต์ "เลสเตอร์ ซิตี้" เป็นรูปดวงพิไชยสงคราม และได้กล่าวถึงดวงพิไชยสงครามในรูปแบบอื่น
4.ราว 37 หน้ากล่าวถึงการจัดสถานที่และวิธีปฏิบัติบูชา เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นบทสวดพาหุงและอิติปิโสพร้อมคำแปล
5  ราว 24 หน้าเป็นภาคผนวก 1 กล่าวถึงการคำนวณดวงพระชันษาแบบพิไชยสงครามของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ อธิบายสูตรพร้อมการคำนวณโดยละเอียด ตามคัมภีร์สุริยยาตร์และมานัตต์ ตั้งแต่อัตตาเถลิงศก สุทธทินพญาวัน สุทธทินกำเนิด อัตตากำเนิด/อัตตาประสงค์ มัธยมและมหาสมผุสของพระเคราะห์และปัจจัยฟากฟ้า อันได้แก่อาทิตย์, จันทร์, อังคาร, พุธ, พฤหัสบดี, ศุกร์, เสาร์, มฤตยู, ราหู, เกตุ, อุจจสารัมภ์, ราหูสารัมภ์ ไปตามลำดับ ตลอดจนการคำนวณลัคนาแบบพหิรนาที (มหานาที 5 ชั้น) ลัคนาแบบอันโตนาที พระเคราะห์รูป-สม อินทภาสบาทจันทร์ รวมถึงเลขเกณฑ์ต่างๆที่คำนวณได้ ซึ่งเป็นศัพท์เฉพาะที่รู้จักกันในแวดวงผู้เรียนสุริยยาตร์ศึกษา ตามด้วยคำอธิบายองค์ประกอบของยันต์พิไชยสงครามที่จัดทำขึ้น การประกอบพิธีบวงสรวงและการจารจารึกทั้ง 2 วาระ การฉลองดวงพระชันษาฯ
6.ราว 19 หน้่า ภาคผนวก 2 ว่าด้วยนัยแห่งดวงพิไชยสงครามตำรับพลังวัชร์ กล่าวถึงดวงพิชัยสงครามที่ออกแบบและจัดทำขึ้นโดยผู้เขียน ที่มีความสนใจดวงพิไชยสงครามมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2538 และเริ่มแจกจ่ายให้ผู้สนใจมาตั้งแต่ปีพ.ศ.  2547 โดยอยากตั้งข้อสังเกตว่ารูปในดวงแทนที่จะเป็นพระพุทธรูปตามแบบดวงพิไชยสงครามที่จัดทำขึ้นทั่วไป แต่กลับมีรูปประกอบ 3 รูปที่แตกต่างกัน ซึ่งได้แก่
พระพุทธฉายาทรงเครื่องปางบรมจักรพรรดิราชาธิราช  ทรงเครื่องอย่างเทวรูป มาจากตำนานฝ่ายมหายานเรื่องท้าวมหาชมพู ซึ่งพระพุทธเจ้าเนรมิตกายเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ เพื่อทรมานพญาชมพูบดีให้ละทิฐิมานะ มีนัยว่าให้ผู้ปฏิบัติบูชาดวงพิไชยสงครามมีชัยชนะเด็ดขาดต่ออุปสรรค พระพรมบดีมเหศวร มีนัยให้ผู้ปฏิบัติบูชาดวงพิไชยสงครามมีหมู่กัลยาณมิตรคอยชี้แนะสั่งสอน พระพิฆเนศวร มีนัยให้ผู้ปฏิบัติบูชาดวงพิไชยสงคราม ประสบความสุขสวัสดี พ้นอุปสรรค สำเร็จในศิลปวิทยาทุกแขนง นอกจากนี้ได้กล่าวถึงดวงพิไชยสงครามอื่นที่ผู้เขียนได้ออกแบบขึ้นมา
กล่าวโดยสรุป หนังสือเล่มนี้ เปรียบเสมือนคู่มือนำชมดวงพิไชยสงครามในภาพกว้าง ที่ไม่จำเป็นต้องอ่านเรียงลำดับตามหัวข้อ เนื้อหาเป็นการรวบรวมมาจากสิ่งละอันพันละน้อยเท่าที่ผู้เขียนมีโอกาสเข้าไปเกี่ยวข้อง ที่เกี่ยวกับชื่อหนังสือคงมีเฉพาะตอนสุดท้ายที่เกี่ยวกับความหมายเชิงลึกที่ซ่อนอยู่ ที่ต้องอาศัยการตีความเชิงสัญลักษณ์ของผู้มีความรู้ที่เกี่ยวข้อง  ซึ่งผู้เขียนตีความให้แล้ว หากจะตั้งชื่อหนังสือว่า ความรู้เบ็ดเตล็ดเกี่ยวกับดวงพิไชยสงคราม ก็ดูจะเหมาะสมกับเนื้อหาที่มีอยู่ข้างในมากกว่่า
อย่างไรก็ตามต้องขอชื่นชมในความวิริยะอุตสาหะมานะพยายาม และจิตสาธารณะของผู้เขียนที่กรุณาได้ถ่่ายทอดเรื่องราวยากๆเฉพาะทางแบบนี้ ให้เป็นมรดกต่อคนรุ่นหลังสืบต่อไป
โหราทาส
14 ตุลาคม 2562

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา