25 ต.ค. 2019 เวลา 09:29 • ธุรกิจ
ดิวาลี วัน(ตรุษ)อินเดีย
เทศกาลปีใหม่อินเดีย ในปีนี้เริ่มวันนี้พอดีเลย 25 ตุลาคม 2562
คนไทย โดยเฉพาะที่มีเชื้อสายจีน น่าจะคุ้นเคยกับวันตรุษจีน ที่มีวันจ่าย วันไหว้ วันเที่ยว
แต่สำหรับเทศกาลปีใหม่อินเดียนั้น เพื่อนๆหลายๆท่านอาจยังไม่รู้รายละเอียด  โดยเทศกาลนี้เป็นช่วงจับจ่ายใช้สอยที่ใหญ่ที่สุดเทศกาลหนึ่งของชาวอินเดียเลยหล่ะ
ดังนั้น "นำเข้าส่งออก สุดขอบฟ้า" จึงขออาสาพาไปทำความรู้จักกับ "ดิวาลี" กันให้มากขึ้น!
หากพร้อมแล้ว เราไปติดตามกันเลย!
1) "ดิวาลี" (Diwali) เป็นชื่อเรียกในภาษาฮินดี หรืออีกชื่อเรียกตามภาษาสันสกฤต คือ "ทีปวาลี" (Deepavali) โดย "ทีปะ" แปลว่า โคมไฟ ส่วน "วาลี" หมายถึง แถวต่อเนื่องกัน รวมกันก็คือ "ทิวแถวแห่งโคมไฟ" หรืออีกชื่อเรียกคือ "เทศกาลแห่งแสงไฟ" (The Festival of Lights)
Cr.Pinterest
มีตำนานที่เกี่ยวข้องกับ ดิวาลี หลายตำนาน แต่เรื่องที่เราน่าจะพอคุ้นๆ มาจากมหากาพย์รามายณะ เล่าเหตุการณ์หลังจาก "พระราม" พิชิต "ทศกัณฐ์" แห่งกรุงลงกา เสร็จแล้วจึงเดินทางกลับอโยธยา พร้อมพระนางสีดา และพระลักษณ์
Cr. Bloggang Moti
เพื่อเป็นการต้อนรับพระราม และเฉลิมฉลองชัยชนะอันยิ่งใหญ่ ชาวเมืองอโยธยาจึงจัดงานเฉลิมฉลองด้วยไฟครั้งใหญ่ ซึ่งวันนั้นตรงกับ "วันดิวาลี" นับเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวฮินดู
2) เราน่าจะพอทราบกันว่า ประชาชนชาวอินเดียกว่า 80% นับถือศาสนาฮินดู ดังนั้นวันขึ้นปีใหม่ของชาวฮินดูนี้ก็ถืิอเป็นวันขึ้นปีใหม่อินเดียโดยปริยาย
โดยการเฉลิมฉลองจะมีทั่วทั้งประเทศอินเดีย ซึ่งอาจมีตำนานความเชื่อ และรายละเอียดงานแตกต่างกันออกไปในแต่ละพื้นที่ แต่หลักๆ ก็เป็นงานจุดไฟ เต้นรำ เฉลิมฉลอง และจุดประทัดให้ดังเข้าไว้
ส่วนศาสนาอื่นๆ ในอินเดียก็มี อิสลาม 10% นอกนั้นก็  ซิกส์ พุทธ เชน คริสต์ และโซโรอัสเตอร์
ลวดลาย "รังโกลี" เพื่อบูชาองค์เทพ Cr. RangoliWorld.org
3) งานฉลอง ห้าวัน ห้าคืน
งานปีใหม่ของชาวฮินดูไม่ได้มีวันเดียว แต่จัดกันถึง 5 วัน 5 คืน โดยในปีนี้ก็คือวันที่ 25-29 ตุลาคม 2562 โดยแต่ละวันมีชื่อเรียก และความสำคัญดังนี้
วันที่ 1 ธนเตรส (Dhanatres) ธนะ แปลว่า ทรัพย์ เป็นวันที่บูชาพระแม่ลักษมี เทพเจ้าแห่งความมั่งคั่ง
วันที่ 2 โชติดิวา (Choti Diwa) คือโคมไฟที่จุดสว่างไสว เป็นวันบูชาพระนางสัตยภามา ที่สามารถปราบนรกาสูรได้ ดังนั้นวันนี้จึงอีกชื่อเรียกคือ นารกะ จตุททสี สำหรับบางแห่งบูชาพระแม่กาลี
Cr. My Kundali
วันที่ 3 อมาวะสยะ (Amavasya) คือ จันทร์ดับ เป็นวันแรม 15 ค่ำ หรือเราจะเรียกว่า จันทร์ใหม่ (new moon) ก็ได้ ถือเป็นวันปีใหม่มีการเฉลิมฉลอง อย่างยิ่งใหญ่ (ปีนี้ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคมนี้)
โดยวันนี้ยังเป็นวันแรกที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนสู่ราศีตุลย์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์รายรับรายจ่ายของชาวฮินดู ดังนั้นวันนี้จึงเป็นมหาฤกษ์ เหมาะแก่การเริ่มต้นธุรกิจ บริษัทมักจะเริ่มต้นบัญชีใหม่ในวันนี้
Amavasya Cr.boldsky.com
วันที่ 4 วันโควรรธนบูชา (Govardhan Puja) เป็นวันบูชาพระกฤษณะ (ปางอวตารของพระนารายณ์)
วันที่ 5 ไภทูช (Bhai Dooj) หมายถึง การจุดแต้มหน้าผาก เป็นวันที่พี่ชายน้องสาสแสดงความรักต่อกัน ด้วยการแต้มจุดให้กันที่หน้าผาก และมอบของขวัญ คล้องมาลัยให้กัน
Cr. hindutva.info
โดยทั้งศาสนาเชน และศาสนาพุทธในอินเดีย ก็มีการเฉลิมฉลองวันดิวาลี เช่นเดียวกัน โดยศาสนาเชน เป็นวันปรินิพพานของศาสดามหาวีระ และ ศาสนาพุทธเป็นวันที่พระเจ้าอโศกมหาราชเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ
4) เทศกาล ชิมช้อบใช้ ครั้งใหญ่ (ในอินเดีย)
แน่นอนว่าปีใหม่ ก็เป็นเทศกาลแห่งการจับจ่ายใช้สอย ร้านค้าพากันลดราคากระหน่ำซัมเมอร์เซล
แพลตฟอร์มค้าปลีกออนไลน์ในอินเดีย ก็แข่งกันออกโปรโมชั่น เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น Amazon ในอินก็มี Great Indian Festival ระหว่างวันที่ 21-25 ต.ค. ส่วน Flipkart (ที่ถือโดย Walmart) ก็จัด Big Diwali Sale ในช่วงเวลาเดียวกัน
Cr. Flipkart
5) ไม่ใช่แค่ อินเดีย ที่มีดิวาลี
เทศกาลดิวาลีถือเป็นเทศกาลที่สำคัญของศาสนาฮินดู เชน และซิกซ์ โดยนอกจากอินเดียแล้ว ยังมีประเทศต่างๆ ที่มีการเฉลิมฉลองในเทศกาลนี้เช่นกัน ได้แก่ เนปาล, ศรีลังกา, พม่า, สิงคโปร์, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์ รวมไปถึงสหรัฐอเมริกา ยุโรป และอังกฤษที่มีชาวฮินดูอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก
Diwali London Trafalgar Square - Cr. ROBERTS LONDON
ก็เป็นการสรุปข้อมูลน่ารู้เกี่ยวกับเทศกาลดิวาลี หากปีนี้ใครเตรียมตัวไม่ทันก็ไม่เป็นไร ปีหน้าเตรียมพร้อมรับมือกับลูกค้าชาวอินเดียที่จะมาเที่ยวไทยนะ
ส่วนใครที่ส่งออก ต้องดูปฏิทินเอาไว้ให้ดีๆ โดยเฉพาะจะได้ไม่พลาดโอกาสการขายของตามเทศกาล ชิมช้อบใช้ ที่สำคัญๆของแดนภารตะ!
💡ไม่อยากพลาดข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ และกลยุทธ์ทางธุรกิจ
กด  ติดตาม "นำเข้าส่งออก สุดขอบฟ้า"
และสำหรับผู้นำเข้าส่งออก เชิญเข้าร่วมกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ หาช่องทางนำเข้าส่งออก และข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับการนำเข้าส่งออก ได้ที่

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา