Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Timeless History (ประวัติศาสตร์ไร้กาลเวลา)
•
ติดตาม
31 ต.ค. 2019 เวลา 05:00 • ประวัติศาสตร์
“ลอนดอน (London) เมืองหลวงแห่งสหราชอาณาจักร” ตอนที่ 2
1
ยุคแห่งความคึกคัก
ในยุคค.ศ.1200 (พ.ศ.1743-1842) ลอนดอนก็กลายเป็นเมืองใหญ่ โดยมีโบสถ์เป็นเจ้าของที่ดินรายใหญ่ในเมือง รวมถึงอารามอีกจำนวนมาก โดยโบสถ์ที่ใหญ่โตหรูหราที่สุดคือ “มหาวิหารเซนต์พอล (St Paul's Cathedral)” โดยยอดสูงสุดของโบสถ์มีความสูงถึง 120 เมตรและสามารถมองเห็นได้จากทั่วเมือง
ท้องถนนในกรุงลอนดอนนั้นเต็มไปด้วยผู้คน ร้านค้าต่างๆ เปิดทำการค้าขายตลอดทั้งวัน
แต่ละอุตสาหกรรมต่างก็มีสหภาพของตนเอง ทั้งกลุ่มผู้ทำธุรกิจสิ่งทอหรือช่างทอง ต่างก็มีสหภาพของตนเองที่มีอำนาจต่อรองสูง
ลอนดอนนั้นเติบโตขึ้นเรื่อยๆ และมั่งคั่งขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็สกปรกขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน
ถนนในเมืองเต็มไปด้วยมูลสัตว์ ขยะต่างๆ ที่บ้านแต่ละหลังนำมาทิ้ง ทำให้ในเวลาต่อมาได้เกิดโรคระบาด
พฤศจิกายน ค.ศ.1348 (พ.ศ.1891) กาฬโรคก็ได้แพร่กระจายจากยุโรปเข้ามาในลอนดอน ทำให้ผู้คนล้มตายลงเป็นอันมาก ทำให้ภาวะโรคระบาดนี้เรียกว่า “มรณะดำ (The Black Death)”
มรณะดำ (The Black Death)
ภาวะมรณะดำนี้ระบาดไปทั่วลอนดอนเป็นเวลานานกว่าเจ็ดเดือน คร่าชีวิตคนไปกว่า 40,000 คน ซึ่งเท่ากับครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมดในลอนดอนเลยทีเดียว
ต้องใช้เวลากว่า 150 ปีกว่าประชากรลอนดอนจะกลับมาเท่าเดิม
1
ค.ศ.1540 (พ.ศ.2083) “พระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 (Henry VIII)” กษัตริย์พระองค์ที่สองแห่งราชวงศ์ทิวดอร์ ได้แต่งตั้งพระองค์เองเป็นผู้นำสูงสุดแห่งคริสตจักรอังกฤษ และทุกๆ อย่างที่เป็นของโบสถ์ ของคริสตจักร ก็เท่ากับเป็นของพระองค์ และพระองค์ก็ทรงมีพระราชประสงค์ในทุกสิ่ง
1
พระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 (Henry VIII)
อารามต่างๆ ถูกทุบทิ้ง ได้มีการก่อสร้างอาคารใหม่ๆ ตำหนักของบิชอปได้ตกเป็นของเหล่าขุนนาง แลกกับความคุ้มครองจากองค์กษัตริย์
สำหรับพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 ลอนดอนคือสถานที่ๆ จะแสดงความมั่งคั่งและอำนาจ
ที่เวสมินสเตอร์ พระองค์ทรงเปลี่ยนที่อยู่อาศัยแถบนั้นให้กลายเป็นพระราชวัง ชื่อ “พระราชวังไวต์ฮอล (Whitehall)”
พระราชวังไวต์ฮอล (Whitehall)
พระองค์ทรงใช้ไวต์ฮอลล์จัดงานเลี้ยงเลิศหรูและการแข่งขันต่างๆ เพื่อความสำราญพระราชหฤทัยของพระองค์
พระองค์ทรงสร้างพระราชวังอีกแห่ง คือ “พระราชวังพลาเซนเทีย (Placentia)” รวมทั้งยังยึด “พระราชวังแฮมป์ตันคอร์ต (Hampton Court)” มาจากที่ปรึกษาของพระองค์อีกด้วย
พระราชวังแฮมป์ตันคอร์ต (Hampton Court)
ได้มีการสร้างตึกใหม่ๆ ในหอคอยลอนดอน (Tower of London) และหอคอยแห่งลอนดอนก็ได้กลายเป็นที่หวาดกลัวของเหล่านักโทษ เนื่องจากสถานที่แห่งนี้ใช้เป็นที่คุมขังเหล่าศัตรูของพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8
หอคอยลอนดอน (Tower of London)
เหล่านักโทษจะถูกนำตัวมาทางเรือ ผ่านทาง “ประตูคนทรยศ (Traitors’ Gate’)” และนักโทษที่ผ่านประตูนี้ก็ทราบชะตากรรมของตนเองดีว่าจะไม่มีวันได้ออกไปอย่างมีลมหายใจ
ประตูคนทรยศ (Traitors’ Gate’)
วันที่ 17 พฤษภาคม ค.ศ.1536 (พ.ศ.2079) พระมเหสีคนที่สองของพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 “แอนน์ โบลีน (Anne Boleyn)” ถูกประหารชีวิตด้วยการตัดหัวที่สนามของหอคอยลอนดอน ตามคำสั่งของพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8
1
การประหารชีวิตแอนน์ โบลีน
ตั้งแต่ยุคค.ศ.1500 (พ.ศ.2043-2142) จนถึงยุค 1600 (พ.ศ.2143-2242) ประชากรในลอนดอนก็เติบโตอย่างก้าวกระโดด จนลอนดอนมีประชากรกว่า 200,000 คน และการค้าในลอนดอนก็คึกคักอย่างมาก
เขตซักเวิร์คซึ่งอยู่ทางใต้ของแม่น้ำเทมส์ก็รุ่งเรืองมาก ในรัชสมัยของ “สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 แห่งอังกฤษ (Elizabeth I)” พระราชธิดาในพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 เขตซักเวิร์คก็ได้ถูกเปลี่ยนเป็นสนามเด็กเล่น
ผู้คนหลั่งไหลไปยังเขตซักเวิร์คเพื่อเล่นการพนัน มีทั้งการตีไก่ การต่อสู้ระหว่างสัตว์ต่างๆ
แต่เขตซักเวิร์คนั้นโด่งดังจากเรื่องของการละคร ประชาชนต่างแห่กันมาดูการแสดงละครต่างๆ ในเขตซักเวิร์ค ซึ่งในเขตซักเวิร์คนั้นก็มีโรงละครถึงสามโรงด้วยกัน
เขตซักเวิร์ค (Southwark)
ผู้คนกว่า 3,000 คนอัดกันเข้าไปในโรงละครเพื่อชมการแสดงต่างๆ ซึ่งการแสดงในเขตซักเวิร์คนั้น ทำให้บริเวณนี้คึกคักมาก
นักเขียนบทละครและกวีที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดในยุคนี้คือ “วิลเลียม เชกสเปียร์ (William Shakespeare)”
เชกสเปียร์ย้ายเข้ามาอยู่ลอนดอนในราวปีค.ศ.1590 (พ.ศ.2133) โดยย้ายมาจากเมือง Stratford-upon-Avon
วิลเลียม เชกสเปียร์ (William Shakespeare)
เชกสเปียร์ได้เขียนบทละครที่มีชื่อเสียงมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Romeo & Juliet หรือ Hamlet
เมืองลอนดอนล้วนแต่เป็นแรงบันดาลใจให้กับบทละครของเชกสเปียร์ ถึงแม้ว่าโครงเรื่องที่เขาเขียนจะไม่ได้กำหนดให้เรื่องเกิดในลอนดอนก็ตาม แต่ความครึกครื้น และรัศมีอำนาจของเชื้อพระวงศ์ที่ประทับอยู่ในลอนดอน ก็มีอิทธิพลต่อบทละครของเขา
ลอนดอนเริ่มจะกลับสู่ยุครุ่งเรืองอีกครั้ง แต่เมืองนี้ก็ไม่ใช่ว่าจะราบรื่นเช่นนี้ไปตลอด ยังจะต้องเกิดเหตุการณ์หลายๆ อย่างในเมืองนี้
1
จะเกิดอะไรขึ้นกับลอนดอนอีกบ้าง ติดตามต่อตอนหน้านะครับ
References:
https://en.m.wikipedia.org/wiki/History_of_London
https://www.britannica.com/place/London/History
https://www.hrp.org.uk/tower-of-london/history-and-stories/the-medieval-palace/#gs.cvhoan
http://www.bbc.co.uk/history/british/middle_ages/black_01.shtml
https://www.britainexpress.com/History/medieval/black-death.htm
https://www.historic-uk.com/HistoryUK/HistoryofEngland/The-Black-Death/
https://www.britannica.com/biography/Henry-VIII-king-of-England
https://www.history.com/topics/british-history/henry-viii
https://www.britannica.com/biography/William-Shakespeare
https://www.britannica.com/place/Southwark-London
37 บันทึก
185
10
18
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
“ลอนดอน (London) เมืองหลวงแห่งสหราชอาณาจักร”
37
185
10
18
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย