2 พ.ย. 2019 เวลา 04:00 • ประวัติศาสตร์
“ลอนดอน (London) เมืองหลวงแห่งสหราชอาณาจักร” ตอนที่ 3
หายนะในลอนดอน
คืนวันที่ 5 พฤศจิกายน ค.ศ.1605 (พ.ศ.2148) ได้มีชายคนหนึ่งซ่อนตัวอยู่ในห้องใต้ดินของตึกรัฐสภาเวสต์มินสเตอร์ พร้อมกับดินปืนอีก 36 ถัง
ชายคนนั้นชื่อ “กาย ฟอกส์ (Guy Fawkes)”
1
ฟอกส์และพรรคพวกที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกได้วางแผนจะระเบิดตึกรัฐสภาในวันรุ่งขึ้น
วันรุ่งขึ้นคือวันที่ “พระเจ้าเจมส์ที่ 1 (James I of England)” พระมหากษัตริย์ผู้นับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนท์ จะเสด็จมายังที่แห่งนี้
กาย ฟอกส์ (Guy Fawkes)
พระเจ้าเจมส์ที่ 1 (James I of England)
แต่แผนการของฟอกส์ได้ถูกเปิดเผยซะก่อน และเหล่าทหารก็ได้บุกลงไปยังห้องใต้ดินและทำการจับกุมตัวฟอกส์และพรรคพวก
กาย ฟอกส์ขณะโดนจับกุม
ฟอกส์ถูกนำตัวไปยังหอคอยลอนดอนและถูกทรมานอยู่เป็นเวลาสามวัน
31 มกราคม ค.ศ.1606 (พ.ศ.2149) ฟอกส์และพรรคพวกอีกเจ็ดคนได้ถูกม้าลากไปยังพระราชวังเวสต์มินสเตอร์ ก่อนที่จะถูกแขวนคอและถูกหั่นร่างเป็นชิ้นๆ และนำหัวไปเสียบประจานยังสะพานลอนดอน
3
กาย ฟอกส์และพรรคพวกถูกลากไปยังลานประหารโดยม้า
อีกกว่า 40 ปีต่อมา ค.ศ.1649 (พ.ศ.2192) การประหารที่โด่งดังอีกครั้งก็ได้เกิดขึ้นที่พระราชวังเวสต์มินสเตอร์
“พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 (Charles I of England)” ได้ต่อสู้กับศัตรูของรัฐสภา และพระองค์ก็ทรงแพ้
พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 (Charles I of England)
30 มกราคม ค.ศ.1649 (พ.ศ.2192) พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ถูกประหารด้วยการตัดพระเศียรท่ามกลางฝูงชนที่มาชมการประหารชีวิตที่พระราชวังเวสต์มินสเตอร์
การประหารพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1
ในยุคต่อมา ลอนดอนก็ได้ใหญ่โตโอ่อ่ากว่าเดิมมาก มีการออกแบบย่านโคเวนท์ (Covent Garden) ซึ่งเป็นย่านการค้าขนาดใหญ่ รวมทั้งยังเกิดถนนและร้านค้าใหม่ๆ มากมาย
แต่ยิ่งลอนดอนมีขนาดใหญ่ขึ้นเท่าไร ลอนดอนก็ยิ่งสกปรกมากขึ้นเรื่อยๆ
ยิ่งเจริญมากขึ้น ขยะก็ยิ่งเพิ่มจำนวน ทำให้กองทัพหนูเต็มลอนดอนไปหมด
เมื่อมีหนู โรคระบาดก็ตามมา
ในฤดูร้อน ค.ศ.1665 (พ.ศ.2208) โรคระบาดก็ได้กลับมายังลอนดอนอีกครั้ง
โรคระบาดครั้งใหญ่ในลอนดอน (Great Plague of London) เป็นการเกิดโรคระบาด ซึ่งครั้งนี้แย่กว่าครั้งก่อนมาก ผู้คนล้มตายมากซะจนศพเป็นสิ่งที่เห็นได้ง่ายและเป็นของธรรมดาในลอนดอน
โรคระบาดครั้งใหญ่ในลอนดอน
ตามบ้านต่างๆ มีการนำสีแดงมาขีดไว้ที่หน้าประตูบ้านเพื่อเป็นการเตือนว่าบ้านหลังนี้มีคนป่วย เป็นอย่างนี้ไปทั่วลอนดอน
ผู้คนทั่วลอนดอนต่างอพยพออกจากลอนดอน รวมทั้ง “พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 (Charles II of England)” และข้าราชสำนักต่างก็หนีโรคระบาด อพยพออกจากลอนดอน
พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 (Charles II of England)
เมื่อโรคระบาดครั้งใหญ่ได้จบลงในฤดูหนาว ค.ศ.1665 (พ.ศ.2208) ก็ได้มีชาวลอนดอนเสียชีวิตมากถึง 60,000-100,000 คนเลยทีเดียว
แต่การระบาดของโรคยังไม่ใช่หายนะที่ลอนดอนประสบ
หายนะใหม่กำลังจะตามมา
เช้าวันที่ 2 กันยายน ค.ศ.1666 (พ.ศ.2209) “โทมัส บลัดเวิร์ท (Thomas Bloodworth)” นายกเทศมนตรีเมืองลอนดอนได้ถูกคนรับใช้ปลุกตั้งแต่เช้า
คนรับใช้ได้มาแจ้งว่าเกิดไฟไหม้ขึ้นกลางเมือง และเมื่อบลัดเวิร์ทมองออกไปนอกหน้าต่าง เขาก็เห็นควันกำลังลอยขึ้นสู่ท้องฟ้า
บลัดเวิร์ทคิดว่าคงเป็นไฟไหม้เล็กๆ ธรรมดาและคงดับได้ในเวลาไม่นาน เขาจึงไม่ได้สนใจอะไรและเข้านอนต่อ
เขาคิดผิดถนัด
ไฟไหม้ครั้งใหญ่ในลอนดอนได้เริ่มขึ้นจากร้านขนมปังใกล้ๆ กับสะพานลอนดอน
ในเวลานั้นเป็นฤดูร้อน อากาศนั้นแห้ง ทำให้ไฟลุกลามไปยังบ้านต่างๆ ที่ทำจากไม้ แถมในเวลานั้นยังมีลมแรง ทำให้ไฟยิ่งลุกลามไปอีกเรื่อยๆ
ไฟไหม้ครั้งใหญ่ในลอนดอน
ชาวลอนดอนต่างช่วยกันตักน้ำในแม่น้ำ และส่งถังน้ำต่อกันเรื่อยๆ ช่วยกันดับไฟ
ในเวลานั้น สถานที่สำคัญมากมายต่างถูกกองเพลิงกลืนกิน และไฟไหม้ครั้งใหญ่นี้ก็ดำเนินต่อไปเป็นเวลาถึงสี่วัน จนลมค่อยๆ เบาลง และควันไฟก็ค่อยๆ จาง
ภายหลังจากไฟได้ดับลง มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้จำนวนแปดคน บ้านเรือนเสียหายกว่า 13,000 หลัง และประชาชนกลายเป็นคนไร้บ้านกว่า 100,000 คน ต้องอาศัยนอนในสนามและสวนสาธารณะ
ภายหลังเหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งใหญ่ สถาปนิกก็ได้เร่งออกแบบเมืองใหม่ให้สวยและดีกว่าเดิม
แต่ในเวลานี้ ชาวลอนดอนต้องการที่อยู่อาศัย บ้านหลายหลังได้รับการออกแบบให้ปลอดภัยต่อไฟไหม้มากขึ้น เริ่มมีการก่อสร้างบ้านโดยใช้อิฐหรือหิน
“คริสโตเฟอร์ เรน (Christopher Wren)” สถาปนิกผู้ฉลาดล้ำคนหนึ่งในยุคนั้น ได้รับหน้าที่ปรับปรุงโบสถ์กว่า 51 หลัง รวมทั้งตึกที่ทำการรัฐบาลอีกหลายแห่ง
คริสโตเฟอร์ เรน (Christopher Wren)
ลอนดอนได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ เมืองใหญ่แห่งนี้กลับมาสง่างามอีกครั้ง ภายหลังจากที่เหลือแต่เถ้าถ่าน
แต่เมืองแห่งนี้ก็ยังต้องผ่านร้อนหนาวอีกมาก
ลอนดอนจะเป็นอย่างไรต่อไป ติดตามต่อในตอนหน้านะครับ
โฆษณา