2 พ.ย. 2019 เวลา 04:20 • ความคิดเห็น
ความจำสั้น แต่รักฉันยาว..ภาคต่อของลุงจำรัส
ลำดับการเปลี่ยนแปลงสมองของอัลไซเมอร์
บทความนี้ได้แรงบันดาลใจจากการอ่านรีวิวหนัง ซึ่งตัวเอก คือ ลุงจำรัส เจ้าของสวนผลไม้ ตกหลุมรักคุณป้าสมพิศ ในห้องเรียนคอมพิวเตอร์ผู้สูงอายุ จบลงที่ทั้งคู่ "จากกันในตอนที่ยังจำกันได้นะเแล้ว.."
จึงชวนคิดต่อไปว่า หลังจากเวลาผ่านไป ลุงจำรัสจะเป็นอย่างไรต่อค่ะ
🧠 เกิดอะไรในสมองลุงจำรัส ? Neuroinflamatory theory (1): กลไกการเกิดโรคอัลไซเมอร์ที่มาแรง ณ 2019
ภาพจาก 1.
🌻 มีการอักเสบเล็กๆ แต่เรื้อรังในสมองเป็น 20-30 ปีก่อนมีอาการ อาจเกิดจากเชื้อโรคที่อยู่ในทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร หรือในเหงือก (พบทันตแพทย์อาจป้องกันอัลไซเมอร์!)
ส่งผลให้มีโปรตีนผิดปกติ 2 ชนิด ค่อยๆ สะสมในสมองคนเป็นอัลไซเมอร์ คือ
🌻 1.เบตาอะไมลอยด์ (Beta amyloid) เมื่อก่อนเชื่อว่าเป็นผู้ร้ายทำลายสมอง มีการทุ่มเงินวิจัยจนพบวิธีขจัดออก แต่กลับไม่ช่วยลดอาการ..ปัจจุบันคิดว่าจริงๆ แล้ว โปรตีนนี้สร้างขึ้นมาเพื่อช่วยขจัดเชื้อ..เป็นพระเอกที่ถูกเข้าใจผิดซะงั้นค่ะ
🌻 2.เทา (Tau) เปรียบง่ายๆ เหมือน 'เศษวัสดุก่อสร้าง'ของท่อน้ำเลี้ยง (microtubule) ..สารอักเสบ ทำให้เซลล์ประสาท (neuron)ไม่สามารถนำวัสดุนี้มาสร้างท่อน้ำเลี้ยงได้ ค้างเป็นขยะสะสมในเซลล์.. เมื่อขาดท่อน้ำเลี้ยงเข้าเซลล์ แถมยังเกะกะรบกวนการทำงาน เซลล์ประสาทก็ใช้การไม่ได้และตายในที่สุด
..จินตนาการถึงบ้านที่ไม่มีท่อประปา แถมในบ้านมีเศษท่อพีวีซีวางขวางไปหมดดูค่ะ..
..ดังนั้นสมองส่วนไหนมี Tau มาก ก็บ่งชี้ว่าสมองบริเวณนั้นเสื่อมมาก
🧠ระยะ (stage) การดำเนินโรคของผู้ป่วยอัลไซเมอร์
🌻อาการของผู้ป่วยอัลไซเมอร์ เมื่อเวลาผ่านไป จึงดูได้จากสมองส่วนที่มี tau สะสมเพิ่มขึ้น ส่วนมากมมีการแพร่ขยายในรูปแบบ กลาง->หน้า->หลัง
เริ่มจากสมอง temperal lobe = ความจำระยะสั้นและการสร้างความจำใหม่
ลามไป frontal lobe = การตัดสินใจ พฤติกรรม
สมองส่วนสุดท้ายที่จะเสีย คือ occipitopatirtal = การรับรู้ข้อมูลจาก ประสาทสัมผัสโดยเฉพาะการมองมีภาพหลอน การได้ยินและสัมผัสเสียทีหลัง
🌻 ท้ายๆ สุดยังลามไปฐานและก้านสมอง
ทำให้มีความผิดปกติของการหลับตื่น การกลืน การเคลื่อนไหว
ภาพการสะสมตัวของ tau ในผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ( 2)
ลุงจำรัส ของเราต่อจากตอนจบของหนัง จึงอาจเป็นแบบนี้ค่ะ
ช่วง 2 ปีแรกที่ได้รับวินิจฉัย = stage 1 หลงลืม
🌻 แบบในหนังที่คุณลุงขับรถหลงในทางที่ไม่คุ้นเคย ลืมเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิด ถามอะไรซ้ำๆ
🌻 ลุงจำรัสรู้สึกเครียด จึงหากิจกรรมทำโดยเข้าชมรมผู้สูงอายุ ซึ่งทำให้อาการดีขึ้น ยังแชทกับป้าสมพิศได้ทุกวัน
🌻 แพทย์ที่ดูแลตัดสินใจคุยกับลุงจำรัสเรื่องยาสำหรับโรคความจำเสื่อม ซึ่งช่วยชะลอ/บรรเทาอาการ แต่ไม่ได้ทำให้หายขาด ค่าใข้จ่ายของยาตกที่ 50-200 บาทต่อวัน..ลุงจำรัสซึ่งไม่มีสิทธิเบิกราชการตัดสินใจไม่รับยา เพื่อเก็บเงินไว้จ้างคนดูแลตอนอาการหนักกว่านี้
ช่วง 10 ปีต่อมา = stage 2 พฤติกรรมเปลี่ยน
🌻 ลุงจำรัส มีปัญหาการใช้เงิน เช่นของราคา 80 บาท ให้แบงค์ 100 สามใบ, ใส่เสื้อกลับด้าน, ลืมวิธีกดโทรศัพท์ ลืมแม้แต่วิธีเข้าแชทกับป้าสมพิศ
🌻 ลุงจำรัส มีอารมณ์หงุดหงิดก้าวร้าว นอนไม่หลับ ญาติพูดอะไรไม่เข้าหู จนแพทย์ที่ดูแลให้ยาทางจิตเวช
🌻 ญาติลุงหาข้อมูลศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ (nursing home) พบว่า ค่าบริการประมาณ 3-4 หมื่นบาทต่อเดือน (3) จึงบอกลุงให้ตัดใจขายสวน และให้ลุงอาศัยใน nursing home
ช่วง 2 ปีหลังของชีวิต = stage 3 ติดเตียง
🌻 ลุงจำรัสเริ่มไม่พูดและทานอาหารน้อยลง เวลาป้อนอาหารมักอมไว้ เมื่อใส่สายจมูกลุงก็มักดึงออก ต้องใส่ใหม่หลายรอบ จนญาติสงสาร บอกให้ทานทางปากเท่าที่ทานได้
🌻ลุงจำรัสนอนหลับมากขึ้น ใช้เวลาส่วนใหญ่นอนบนเตียง เริ่มมีติดเชื้อในปอดบ่อยๆ
🌻ความทรงจำเลือนหายหมด จำไม่ได้ว่าใครเป็นใคร แม้แต่..ป้าสมพิศที่มาเยี่ยม
🌻 พยาบาลที่ดูแล เปิดเพลงเก่าที่ลุงชอบ ลุงก็ร้องคลอตาม และเมื่อได้รับสัมผัสที่อ่อนโยนจากป้า แม้จำชื่อไม่ได้ แต่จำความรู้สึกต่อคนตรงหน้าได้
1
..แม้ความทรงจำทุกอย่างจะเลือนหาย แต่ดนตรีและสัมผัสแห่งรักนั้นฝังในจิตวิญญานจนวันสุดท้ายค่ะ (4)
"..เพราะวันสุดท้ายที่ฉันหายใจ จะได้ไม่ลืมเธอ.."
1
คลิปด้านล่างนี้ เป็นเหตุการณ์จริง ที่สามีวัย 93 ปี ร้องเพลงให้ภรรยาที่เป็นอัลไซเมอร์ระยะท้ายฟัง เป็นเพลงที่ทั้งคู่ชอบร้องด้วยกัน และเป็นเพลงที่ภรรยาฟังเสมอตอนเขาไปรบช่วงสงครามโลก.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา