13 พ.ย. 2019 เวลา 10:57 • ประวัติศาสตร์
Modern China History 20
"ลุกขึ้นสู้จักรวรรดิญี่ปุ่น"
หลังจากที่ทั้งสองพรรคได้แก่ ก๊กมินตั๋งและคอมมิวนิสต์จีนได้ตกลงร่วมมือกันต่อต้านจักรวรรดิญี่ปุ่น
ในวันที่ 7 กรกฎาคม ค.ศ.1937 เป็นวันที่ประเทศจีนได้เริ่มทำสงครามกับญี่ปุ่น ญี่ปุ่นได้ส่งกองกำลังจากฐานที่ตั้งในแมนจูเรียลงสู่ภาคใต้และอีกส่วนเคลื่อนขึ้นบกจากชายฝั่นตะวันออก เข้าต่อสู้กับกองทัพของเจียงไคเช็คบริเวณลุ่มแม่น้ำแยงซี
เนื่องจากระหว่างการรบการบังคับบัญชาและติดต่อประสานงานไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควรทำให้กองทัพของเจียงไคเช็คพ่ายแพ้ญี่ปุ่นและเสียเมืองสำคัญ ได้แก่ เซียงไฮ้, เมืองหลวงนานกิง(หนานจิงในปัจจุบัน), และอู่ฮั่นในปี ค.ศ.1937
การสู้รบระหว่างกองทัพก๊กมินตั๋งที่มีกองกำลังคอมมิวนิสต์ร่วมด้วยกับจักรวรรดิญี่ปุ่น (1937)
ในปีเดียวกัน เจียงไคเช็คจึงต้องถอยทัพเข้าไปในประเทศ ตั้งเมืองหลวงใหม่ที่เมืองฉงชิ่ง มณฑลเสฉวน(ปัจจุบันฉงชิ่งได้ถูกจัดแยกออกมาเป็นเมืองเอกเทศ)ใช้กลยุทธ์ตั้งรับมากกว่าโต้ตอบในการต่อสู้กับจักรวรรดิญี่ปุ่น
ญี่ปุ่นยกทัพขึ้นฝั่งที่เมืองเซี่ยงไฮ้ (1937)
ผลจากการตัดสินใจเคลื่อนทัพและย้ายผู้คนไปยังมณฑลเสฉวนของก๊กมินตั๋ง ทำให้จำนวนบุคลากรที่มีความสามารถในการบริหารประเทศลดน้อยลงเนื่องจากอุปสรรคระหว่างการเดินทาง และทำให้การตระเตรียมกำลังพลเป็นไปได้ยากขึ้นเพราะว่าไม่ได้อยู่ในพื้นที่ที่เจริญที่อำนวยความสะดวกได้ดังเช่น ที่เมืองนานกิง
นอกจากนั้นการขาดความสามัคคีภายในพรรค มีการคอรัปชั่น เห็นประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประเทศชาติ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เริ่มบ่อนทำลายรัฐบาลของเจียงไคเช็คลงเรื่อยๆ
1
ส่วนทางฟากฝั่งของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในเวลาเดียวกันนั้น เนื่องจากญี่ปุ่นไม่ได้ให้ความสำคัญกับการสู้รบกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนมากนัก เพราะว่าญี่ปุ่นนั้นคิดว่าถ้าจะยึดครองประเทศจีนได้นั้นต้องกำจัดรัฐบาลที่เป็นผู้นำประเทศอย่างก๊กมินตั๋งออกไปเสีย
ในขณะที่ญี่ปุ่นกับก๊กมินตั๋งกำลังสารวนสู้รบกันอยู่ คอมมิวนิสต์จีนจึงใช้โอกาสนี้ปลุกระดมมวลชน เข้ายึดครองพื้นที่และจัดตั้งกองกำลังปฎิวัติชาวไร่ชาวนาขึ้นอย่างง่ายดายกว่าแต่ก่อน
ในที่สุดภาคเหนือแทบทั้งหมดก็ตกอยู่ภายใต้การปกครองของคอมมิวนิสต์จีน ในปี ค.ศ.1940 โดยไม่ต้องสู้รบเลยแม้แต่น้อยซึ่งรวมแล้วมีจำนวนประชากรในตอนนั้นราวๆ 100 ล้านคน เมื่อญี่ปุ่นรู้ตัวอีกทีก็ไม่สามารถกวาดล้างคอมมิวนิสต์จีนลงได้ง่ายแล้ว
ในการต่อสู้กับญี่ปุ่นนั้น คอมมิวนิสต์จีนได้ใช้กลยุทธ์ที่ถนัดคือการรบแบบกองโจร คือใช้วิธีเข้าทำลายและหลบหนีไม่ใช้วิธีการต่อสู้แบบประจัญหน้า ซึ่งทำให้สูญเสียกำลังพลน้อยที่สุดแต่ได้ผลลัพธ์ที่ดี
และถึงแม้ญี่ปุ่นจะสามารถยึดพื้นที่จากคอมมิวนิสต์จีนได้ แต่ก็ไม่สามารถทิ้งกำลังคนไว้ดูแลเมืองที่ยึดไว้ได้ทำให้ไม่สามารถยึดพื้นที่ดังกล่าวได้ตลอดไป
กองกำลังคอมมิวนิสต์จีนเข้าโจมตีเส้นทางรถไฟและสะพานเพื่อตัดการลำเลียงเสบียงของญี่ปุ่น(1940)
ส่วนในด้านการบริหารงานของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในตอนนั้นถือได้ว่าเป็นยุคทองของพรรคเพราะการที่พรรคมีอุดมการณ์เป้าหมายอย่างชัดเจน ทำให้บุคคลากรซึ่งมีความสามารถที่หนีภัยจากญี่ปุ่นได้มาเข้าร่วมพรรคแทนที่จะกลับเมืองฉงชิ่งของเจียงไคเช็ค
และการที่คนในพรรคไม่ว่าระดับใด ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายไม่ฟุ้งเฟ้อและมีความสามัคคีร่วมกันทำงานโดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยหรือแม้แต่ชีวิตตน
เหตุการณ์สู้รบกับญี่ปุ่นยังคงดำเนินต่อไปอีกหลายปีจุดสิ้นสุดจะเป็นอย่างไรนั้นผมขอมาเล่าให้ฟังในตอนถัดไปครับผม
ส่วนวันนี้ขอบคุณที่ติดตามอ่าน ขอบคุณครับ/\
References:
4.ประวัติศาสตร์จีนสมัยใหม่ (History of Modern China), รศ.มาตยา อิงคนารถ, ภาควิชาประวัติศาสตร์

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา