16 พ.ย. 2019 เวลา 02:00 • ไลฟ์สไตล์
การเลี้ยงชีวิตอย่างสมดุลพอเพียงแก่ฐานะ
เช้านี้ขอนำเสนอหลักการบริหารเงินอย่างง่าย ๆ ไม่มีอะไรซับซ้อน ไม่ต้องจบการเงินมาก็ทำได้ ขอให้ท่องไว้ประโยคเดียวคือ
“รายได้ของเราจักท่วมรายจ่าย และรายจ่ายของเราจักไม่ท่วมรายได้" เปรียบเหมือนคนถือตาชั่งหรือลูกมือของเขา ยกตาชั่งขึ้นแล้ว ก็รู้ว่า “ยังขาดอยู่เท่านี้หรือเกินไปแล้วเท่านี้”
รายได้ต้องมากกว่ารายจ่าย แล้วรายจ่ายต้องไม่มากกว่ารายได้ ย้ำอีกครั้ง 😊
หลักการมีแค่นี้ครับ สั้น ๆ ง่าย ๆ แต่หลายคนบอกทำได้ไม่ง่ายเลย นั่นเพราะเราไม่เห็นภาพว่ารายได้ รายจ่าย ของเรานั้นเป็นอย่างไร
ขอบคุณภาพจาก pixabay
วันนี้จึงขอนำเทคนิคส่วนตัวที่ใช้มานำเสนอ เผื่อเป็นแนวทางหากใครสนใจ แล้วนำไปปรับใช้ได้ครับ
เราคงเคยได้ยินให้บันทึกรายรับรายจ่ายเป็นรายวัน ส่วนตัวคิดว่าก็ดีนะครับ แต่ไม่ค่อยเกิดประโยชน์ ด้วยเหตุผล 2 ข้อคือ 1) ลืมบันทึก เคยทำแล้วลืมตลอดสุดท้ายเลยไม่รู้เลยว่าเดือนนี้ใช้เงินไปเท่าไหร่ 2) เป็นการบันทึกสิ่งที่ทำไปแล้ว แก้ไขไม่ได้ เช่นเราบอกจะประหยัดเงินแต่เย็นนี้กินหมูกระทะไปแล้ว 199 บาท แล้วเราจะกินหมูกระทะเดือนนี้กี่ครั้ง ก็ไม่รู้ จะประหยัดเงินกี่บาทต่อเดือนก็ไม่รู้อีกเช่นกัน
ดังนั้นการทำรายรับ-รายจ่ายให้ทำล่วงหน้าครับ เป็นภาพรายปี ดังภาพข้างล่าง 👇 และขออธิบายต่อไป
สมมติเป็นคนที่มีรายได้ต่อเดือน 30000 บาท จากนั้นปรับเป็นปีโดยคูณ 12 เดือนเข้าไป เราได้ภาพใหญ่ว่ารายได้ต่อปีเรามีเท่าไหร่ ใครทีมีงานประจำตรงรายได้อาจจะกำหนดง่ายกว่า แต่หากใครที่ไม่มีงานประจำก็สามารถกำหนดคร่าว ๆ ได้ครับ
หลักการของรายได้ต้องมีให้มาก ๆ การมีรายได้มากกว่า 1 ทาง ปัจจุบันเป็นสิ่งหลายคนทำกัน แต่ใครคิดว่าการเพิ่มรายได้ทำยาก ไม่เป็นไรครับ เราสามารถไปควบคุมตรงรายจ่ายได้ครับ
ส่วนของรายจ่าย ขอแยกเป็นหมวดใหญ่ ๆ 3 หมวดครับ คือ 1) รายจ่ายคงที่ 2) รายจ่ายไม่คงที่ และ 3) รายจ่ายพิเศษ ค่อย ๆ ดูทีละแบบครับ
1) รายจ่ายคงที่ เป็นรายจ่ายที่ต้องจ่ายคงที่ต่อเดือน ปรับแก้ไขยาก ในที่นี่เช่น หนี้ผ่อนรถ เงินออม ค่าอินเทอร์เน็ต 3BB ค่าโทรศัพท์ เป็นต้น หลายท่านมีรายจ่ายคงที่ไม่เหมือนกัน ลองไปนั่งนึก ๆ ดูครับ ว่าของเรามีอะไรบ้าง
2) รายจ่ายไม่คงที่ เป็นรายจ่ายที่มีสภาพคล่องสูงสามารถเพิ่มหรือลดได้ เช่น ค่าน้ำมันรถเฉลี่ย ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าใช้จ่ายส่วนตัว เป็นต้น หากใครที่ไม่ได้ใช้รถส่วนตัวค่าน้ำมันอาจจะเป็นค่าเดินทางไปทำงานในแต่ละวัน
การนิยามของรายจ่ายทั้ง 2 แบบนี้แต่ละคนอาจจะไม่เหมือนกัน เช่นบางคนค่าน้ำมันรถอาจจะเป็นรายจ่ายคงที่ แต่ค่าโทรศัพท์อาจจะเป็นรายจ่ายไม่คงที่ สาเหตุที่ต้องแยกออกจากกันเพราะหากเราจะประหยัดรายจ่าย "รายจ่ายไม่คงที่" เป็นสิ่งที่ปรับลดได้ง่ายกว่านั่นเองครับ
3) รายจ่ายพิเศษ เป็นรายจ่ายที่จ่ายปีละ 1 ครั้ง เช่น ค่าประกันรถชั้น 1 ค่าประกันชีวิต เป็นต้น หลายท่านรายจ่ายส่วนนี้อาจจะไม่มีหรืออาจจะมีมากกว่านี้ก็ได้ เช่นบางท่านเสียภาษี ภาษีถือเป็นรายจ่ายพิเศษได้เช่นกัน
มาถึงหลักการของรายจ่ายครับ รายจ่ายยิ่งลดลงได้ยิ่งเป็นผลดีครับ "รายจ่ายไม่คงที่" ตรงนี้แหละครับที่เราสนใจ ย้อนกลับไปมองภาพข้างบนหากเราทำตามแผนนี้โดยมีค่าใช่จ่ายส่วนตัว (ค่ากิน ค่าเที่ยว จิปาถะ) อยู่ที่ 6000 บาทต่อเดือน ทั้งปีเราจะมีเงินเหลือ (ช่องสีฟ้า) 9200 บาท
สมมติเราอยากประหยัดลองลดค่าใช่จ่ายส่วนตัวลงเหลือ 5000 บาทต่อเดือน (โดยที่ค่าใช่จ่ายอื่น ๆ คงที่) ลองดูภาพข้างล่างนี้ครับ
เห็นอะไรไหมครับ เงินที่เหลือต่อปี (ช่องสีฟ้า) จาก 9200 บาท จะเพิ่มเป็น 21200 บาทเลยทีเดียว จากเดิมใช้ 6000 บาทต่อเดือน (เฉลี่ยวันละ 200 บาท) เป็น 5000 บาทต่อเดือน (เฉลี่ยวันละ 167 บาท) แค่ประหยัดเงินลงประมาณ 30 บาทต่อวัน ชีวิตก็เปลี่ยนแล้วครับ
ทีนี้ลองเพิ่มบ้างอยากใช้ 7000 บาท ต่อเดือน ผมลองกดให้แล้ว ปรากฎว่าเงินที่เหลือทั้งปี ติดลบ 2800 บาท นั่นหมายความว่าอย่างไร ทั้งปีเงินไม่พอใช้ และอาจทำให้เราต้องดึงเงินออมมาใช้ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำเลย
เงินออมควรเป็นเงินเย็น จะใช้เมื่อยามฉุกเฉินจริง ๆ หรือยามเกษียณเมื่อเราไม่สามารถทำงานได้ต่อไปแล้ว ควรออมอย่างน้อย 10% ของเงิน ใครออมมากยิ่งดีครับ เงินออมสามารถนำไปลงทุนให้งอกเงยต่อได้ เชื่อว่ามีเพจการลงทุนแนะนำไว้เยอะ เลย ลองไปหาอ่านกันได้ครับ
1
เงินเหลือทั้งปี (ช่องสีฟ้า) บอกอะไรเรา บอกถึงความยึดหยุ่นนั่นเองครับ บางครั้งเราอาจใช้เงินเพื่อไปเที่ยว หรือซื้อของที่อยากได้ สมมติมีมือถือรุ่นใหม่ออกมาราคา 20000 บาท คนที่ใช้ 5000 บาทต่อเดือนจะเป็นคนที่สามารถซื้อได้อย่างสบายใจโดยไม่กระทบต่อแผนการเงินเลยครับ มีเงินออม มีเงินจ่ายค่าต่าง ๆ แต่ถ้าช่องสีฟ้าไม่ได้ใช้ก็นำไปออมต่อครับ สบาย ๆ
นี่ก็ใกล้สิ้นปีแล้ว มาวางแผนการเงินของปีหน้ากันครับ
ย้ำอีกครั้ง “รายได้ของเราจักท่วมรายจ่าย และรายจ่ายของเราจักไม่ท่วมรายได้" ท่องให้ขึ้นใจ 😊
หากท่านใดเห็นว่าเป็นประโยชน์สามารถส่งต่อได้ครับ หรือใครที่มีข้อคิดเห็นประการใด อยากเสนอแนะเพิ่มเติม แสดงความคิดเห็นได้เต็มที่เลยครับ 🙂

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา