28 พ.ย. 2019 เวลา 08:26
ประวัติศาสตร์ สนามบินไทย
ตอนที่ 1
มีคนเคยกล่าวไว้ว่า “ประวัติศาสตร์สอนให้เราเข้าใจปัจจุบัน และสามารถทำนายอนาคต” ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจุบันถือเป็นช่วงเวลาแห่งการก่อสร้างพัฒนาสนามบินในประเทสไทย ซึ่งท่านคงได้ยินข่าวมากมาย เช่น การขยายสนามบินกระบี่ โครงการสนามบินเชียงใหม่แห่งที่ 2 / ภูเก็ตแห่งที่ 2 เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทย ... ไม่ซิ กรุงเทพฯ ถือเป็นเมืองท่องเที่ยวอันดับ 2 ของโลก ทำให้มีจำนวนผู้ต้องการมาใช้บริการสนามบินในประเทศมากขึ้นอย่างก้าวกระโดดมาตลอด 10 ปีที่ผ่านมา แต่ที่บทความนี้อยากจะพูดถึงไม่ใช่ประเด็นการพัฒนาสนามบินครับ แต่อยากกลับชวนผู้อ่านไปดูประวัติศาสตร์การพัฒนาสนามบินในประเทศไทย ว่ามีความเป็นมาอย่างไร
เมื่ออยู่เหนือฟ้าไทยและถ้าท่านตาดีมาก ๆ ท่านจะเห็นว่า ประเทศไทยมีสนามบินทั้งสิ้น 101 สนามบิน (Airports - with paved runways 63 และ Airports - with unpaved runways: 38 ) [อ้างอิงจาก CIA FACTBOOK ที่สำรวจล่าสุดเมื่อ 2013] เรามีสนามบินมากมายจริง ๆ สำหรับประเทศที่แม้กระทั่งจังหวัดใหญ่ ๆ อันดับ 2 3 และ 4 ของประเทศ ยังไม่มีแม้กระทั่งรถเมล์สาธารณะ .....สงสัยไหมครับ ทำไมเรามีสนามบินมากขนาดนี้
ก่อนอื่นทำความเข้าใจกันง่ายก่อนครับ เครื่องบินจะขึ้นจะลงได้ต้องการ ทางวิ่ง - RUNWAY ซึ่งหากไม่ใช่สนามบินที่ใหญ่โตอะไรมากมาย RUNWAY ก็คือถนนกว้าง ๆ เส้นหนึ่ง ที่มีความแข็งแรงพอที่จะรับน้ำหนักเครื่องบิน (ซึ่งหากเป็นเครื่องโดยสารพาณิชย์แล้ว น้ำหนักมากกว่ารถบรรทุกหลายเท่า) ที่จะบินมาลงได้ โดยไม่สร้างความเสียหาย เพราะฉะนั้นแล้ว ใครก็ตามที่จะออกแบบ RUNWAY ก็ควรที่จะสามารถออกแบบถนนได้ ... ในทางกลับกันประเทศใดใดประเทศหนึ่ง ควรจะมีเทคโนโลยีการทำถนนก่อนจะมีเทคโนโลยีการทำ RUNWAY หรืออย่างน้อยก็ควรจะพร้อม ๆ กัน
LAY OUT สนามบินเชียงใหม่
ถนนที่ได้มาตรฐาน (อธิบายง่าย ๆ ) โดยมากมีผิวทาง 2 แบบครับ ถนนลาดยางมะตอยหรือที่เรียกว่า ‘แอสฟัลท์ติก’ และถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก (ผิวปูน) ตามประวัติศาสตร์แล้ว ที่ถนนลาดยางมะตอยที่ค่อนข้างมีมาตรฐานสายแรกของไทย คือ ถนนเจริญกรุง เป็นถนนลาดยางสายแรกของประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระจอมเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2404 ถนนเริ่มตั้งแต่ถนนสนามไชย ขนานกับแม่น้ำเจ้าพระยาลงมาทางใต้จนไปจรดแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณถนนตกในปัจจุบัน รวมความยาวทั้งหมดประมาณ 8.5 กิโลเมตร ส่วนความกว้างนั้นไม่เท่ากันตลอดทั้งสาย ช่วงที่กว้างที่สุดกว้าง 12.75 เมตร ช่วงที่แคบที่สุดกว้าง 7 เมตร แรกสร้างเสร็จใหม่ๆ ชาวบ้านจะเรียกกันว่า ถนนใหม่ (New Road) แต่ภายหลังรัชกาลที่ 4 พระราชทานนามให้ว่า ถนนเจริญกรุง ในขณะที่ถนนคอนกรีตสายแรกของไทยนั้นมาทีหลังอีกนานราวเกือบร้อยปี ของกรมทางหลวงที่ได้รับการออกแบบก่อสร้างตามหลักวิศวกรรม คือ ถนนพหลโยธิน ช่วงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ – ลาดพร้าว ระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร ที่เปิดใช้งานประมาณปี พ.ศ.2507
ถนนเจริญกรุง - ถนนลาดยางสายแรกของประเทศไทย
อย่างที่เกริ่นก่อนหน้า แปลว่า RUNWAY ผิวยางมะตอยไม่ควรมีก่อน พ.ศ.2404 ซึ่งก็เป็นตามนั้นครับ สนามบินยุคแรกของไทย เกิดขึ้นราว พ.ศ.2460 (แถมยังเป็นผิวดินอักธรรมดา เพราะช่วงแรกนั้นเครื่องบินใบพัดมีขนาดเล็กมาก) และเชื่อว่า (ความเชื่อส่วนตัว-เพราะยังหาข้อมูลที่หนักแน่นไม่เจอ) กว่าประเทศไทยจะมี RUNWAY ผิวยางมะตอยจริง ๆ นั้นราวปี พ.ศ.2480
ถนนมิตรภาพเป็นทางหลวงที่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาในด้านงบประมาณการก่อสร้าง เทคนิควิชาการในการก่อสร้าง นับเป็นทางหลวงสายแรกที่ก่อสร้างถูกต้องตามแบบมาตรฐานการก่อสร้างทางหลวงทุกขั้นตอน และเป็นทางหลวงสายแรกของประเทศไทยที่มีผิวจราจรลาดยางแบบแอสฟอลต์คอนกรีต โดยเปิดให้บริการเมื่อปี พ.ศ. 2508
ในขณะที่ RUNWAY ผิวคอนกรีต ก็เช่นกันไม่ควรมีก่อน พ.ศ.2507 .... แต่ประเด็นนี้ น่าสนใจครับ เพราะสนามบินดอนเมืองมีผิวทางเป็นคอนกรีตตั้งแต่ราว พ.ศ.2490 .... ใครกันล่ะที่มาออกแบบและสร้างสนามบินให้เรา ... ไปขึ้นไทม์แมทชีนย้อนเวลาไปกันครับ !!!
(ความคิดเห็นส่วนตัว) ถ้าจะให้แบ่งยุคของการพัฒนาสนามบินในประเทศไทย - ผมคิดว่าที่ดูเหมาะสมควรแบ่งเป็น 5 ยุค ... ครับ
ย้อนไปราว ๆ ปี 2450-2460 (สนามบินยุคที่ 1) ประเทศไทยเราเริ่มรู้จักเครื่องบิน โดยสนามบินแรก ๆ ที่ถูกสร้างขึ้น เช่น สนามบินสระปทุม สนามบินดอนเมือง (2457) สนามบินสุเทพ (2464) เป็นต้น สมัยนั้นสนามบินไม่ต่างอะไรกับทุ่งเลี้ยงวัวครับ ลานโล่งดินแข็งๆ ก็เกินพอแล้ว
สนามบินเชียงใหม่หรือเดิมชื่อ สนามบินสุเทพ ตั้งขึ้นใน ปี พ.ศ. 2464 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่รถไฟมาถึงเชียงใหม่ ตรงกับรัชสมัยเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 9 (พ.ศ. 2452-2482) การตั้งสนามบินเชียงใหม่เป็นพระดำริของ นายพลโท หม่อมเจ้าบวรเดช อุปราชมณฑลพายัพในขณะนั้น โดยเลือกพื้นที่บริเวณเชิงดอยสุเทพ ซึ่งขณะนั้นมีสภาพเป็นป่าไผ่
สงครามมหาเอเชียบูรพา (สนามบินยุคที่ 2) ญี่ปุ่นเดินทัพมาใช้เราเป็นฐานลุยพม่าและมาเลเซีย โดยความร่วมมือกัน ญี่ปุ่นจึงได้พัฒนาสนามบินเก่าบ้าง ขอสร้างใหม่สร้างใหม่บ้าง สนามบินที่อยู่ในยุคนี้ เช่น สนามบินตาคลี สนามบินอ่าวมะนาว สนามบินตรัง สนามบินแม่สอด
ภายหลังจากสงครามสงบ กองทัพอากาศไทยก็เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีการสร้างสนามบินขึ้นอีกหลายแห่ง และเริ่มรู้จักการทำผิวทางวิ่งด้วย Asphaltic Concrete (ลาดยางมะตอย)
ไว้โพสต์หน้าจะมาต่อในยุคที่ 3 ยุคแห่งการก้าวกระโดดของการสร้างสนามบิน และน่าจะเป็นการตอบคำถามสำคัญให้เราได้ว่า
....ใครกันล่ะที่มาออกแบบและสร้างสนามบินให้เรา

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา