29 พ.ย. 2019 เวลา 01:45
ประวัติศาสตร์ ของ สนามบินไทย
ตอนที่ 2 ... สนามบินยุคที่ 3
ยุคนี้สนุกครับ ... ผมอยากชวนผู้อ่านไปดูประวัติศาสตร์การพัฒนาระบบขนส่งทั้งมวลในประเทศไทย ณ ช่วงเวลานั้น ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีประเทศอเมริกาเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเกือบตลอดเวลา
ความช่วยเหลือและคําแนะนําของที่ปรึกษาชาวอเมริกันทางด้านผังเมืองในสมัยนั้นเป็นเพียงโครงการหนึ่งในหลายพันโครงการที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่าแก่ประเทศไทย จนกล่าวกันว่า ทศวรรษที่ 1960 (ช่วง พ.ศ.2503-13) เป็นยุคทองของที่ปรึกษาชาวอเมริกันจํานวนมากที่เข้ามาทํางานและให้คําแนะนําด้านเทคนิค ฝึกอบรมและให้ความรู้ด้านต่าง ๆ ครอบคลุมเกือบทุกสาขา จนมีอิทธิพลต่อรากฐานการพัฒนาประเทศมาอย่างยาวนาน คําแนะนําบางเรื่องมีผลต่อโครงการของรัฐบาลมาก - คําถามหนึ่งคือ ที่ปรึกษาชาวอเมริกันเหล่านี้เข้ามาในประเทศไทยอย่างไรและเข้ามาทําอะไรกัน
มองย้อนกลับไปยังสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ.2480-88) สิ้นสุดลง รัฐบาลสหรัฐอเมริกามิได้ให้ความสําคัญกับคาบสมุทรอินโดจีนมากนัก ซึ่งเป็นช่วงที่เหตุการณ์วุ่นวายทางการเมืองในประเทศไทย การแก่งแย่งอํานาจ ระหว่างกลุ่มต่าง ๆ เกิดรัฐประหารบ่อยครั้ง รัฐบาลสหรัฐอเมริกามีบุญคุณที่ช่วยให้ประเทศไทยรอดพ้นจากการเป็นผู้แพ้สงคราม แต่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองโดยทั่วไปยังไม่โดดเด่น ความช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจและการทหารแก่ประเทศไทยเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2489 เป็นโครงการขนาดเล็กและงบประมาณไม่มาก - ส่วนใหญ่เป็นโครงการที่เกี่ยวกับการศึกษาและการเกษตร
1
ฉากต่อมา...หลังจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้รับชัยชนะเบ็ดเสร็จในสงครามภายในจีน เมื่อ ตุลาคม ปี พ.ศ. 2492 และผลักดันกลุ่มจอมพลเจียงไคเช็ค-ฝ่ายตรงข้ามไปยังเกาะไต้หวัน และในปีถัดมาสงครามเกาหลีก็ปะทุขึ้น - สหรัฐอเมริกาเริ่มเฝ้าสังเกตุและมองลัทธิคอมมิวนิสต์เป็นภัยคุกคาม โดยเฉพาะเมื่อกองทัพปลดแอกประชาชนจีนเคลื่อนกองทัพประชิดประเทศเวียดนาม ต้นปี พ.ศ. 2493 (ขณะนั้นเวียดนามยังเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส) สหรัฐเห็นว่าจีนซึ่งเป็นพันธมิตรโซเวียตจะเป็นผู้นำการเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ในเอเชียและดินแดนที่ตกอยู่ในภัยคุกคามนี้คืออินโดจีนซึ่งมีการต่อสู้เพื่อเอกราชจากฝรั่งเศส ในทัศนะผู้นำอเมริกัน หากอินโดจีนตกเป็นของฝ่ายคอมมิวนิสต์ ประเทศอื่นก็จะล้มตามกันไปทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จนถึงตะวันออกกลางในที่สุด แนวคิดแบบ “ทฤษฎีโดมิโน” ทำให้สหรัฐเข้ามาสกัดกั้นการขยายตัวของฝ่ายคอมมิวนิสต์อย่างจริงจัง โดยเฉพาะหลังจากที่ฝรั่งเศสถอนตัวออกจาก อินโดจีนในปี พ.ศ. 2497
ตัดภาพมาในประเทศไทย - หน่วยสืบราชการลับของสหรัฐอเมริกา หรือ CIA (Central Intelligence Agency) เริ่มเข้ามาในประเทศไทย ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2490 ภายหลังไม่นาน นานาชาติต่างรับรู้ว่าประเทศไทยเป็นพันธมิตรที่สำคัญและแข็งขันยิ่งของสหรัฐในการต่อสู้กับฝ่ายคอมมิวนิสต์ในภูมิภาค ในปี พ.ศ. 2493 ไทยได้เข้าร่วมกับสหรัฐในสงครามเกาหลี ความแน่นแฟ้นชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อ ต่อมาได้ทำข้อผูกพันทั้งพหุภาคีและทวิภาคีกับสหรัฐคือสนธิสัญญาป้องกันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พ.ศ. 2497 หลังจากนั้นไม่นาน การทำงานของ CIA ก็ชัดเจนยิ่งขึ้นโดยปรับโครงสร้างจากองค์กรเดิม คือ Office of Strategic Services หรือ OSS (OSS ทำงานด้านข่าวกรองในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2) ... วันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2494 CIA ได้เริ่มแผนปฏิบัติการขนาดใหญ่ในประเทศไทยภายใต้รหัส Project Paper โดยหน่วยงานของตนในรูปบริษัทเอกชน ชื่อ Civil Air Transport (CAT) (ภายหลังกลายเป็นบริษัท Air America ที่โด่งดังในปี พ.ศ. 2502)
CAT ตั้งสํานักงานในกรุงเทพฯ ย่านถนนสีลมตรงปากซอยแหล่งบันเทิงชื่อดัง และทําการขนส่งอาวุธและยุทโธปกรณ์จากคลังแสงของสหรัฐอเมริกาบนเกาะโอกินาวาในญี่ปุ่นตรงมายังกรุงเทพฯ และนั่นคือฉากแรกของการเริ่มปฏิบัติการลับของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา โดยมีชื่อสนามบินดอนเมืองเข้าไปเกี่ยวข้อง จากนั้นยุทโธปกรณ์จากกรุงเทพฯ ถูกส่งให้กับกองกําลังจีนคณะชาติของจอมพลเจียงไคเช็คที่บริเวณพรมแดนด้านเหนือของประเทศพม่า ปฏิบัติการขนาดใหญ่เช่นนี้คงไม่สามารถดําเนินการได้หากรัฐบาลไทย โดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ไม่รู้เห็นเป็นใจยินยอมให้ CAT ใช้สนามบินดอนเมืองเป็นฐานปฏิบัติการ จนกระทั่งเดือนธันวาคมในปีเดียวกัน รัฐบาลกรุงปักกิ่งทําการประท้วงรัฐบาลสหรัฐอเมริกา โดยกล่าวหาว่าทําการแทรกแซงด้วยการส่งทหารและอาวุธจากไต้หวัน ผ่านประเทศไทยโดยสนามบินดอนเมืองไปยังบริเวณตอนเหนือของพม่า เพื่อทําสงครามต่อต้านรัฐบาลปักกิ่ง
กองทัพจีนเคลื่อนกองทัพประชิดประเทศเวียดนาม ต้นปี พ.ศ. 2493 กองทัพกู้ชาติเวียดนามได้รับการสนับสนุนจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนทำสงคราวมกับฝรั่งเศษเจ้าอาณานิคม ซึ่งสร้างความวิตกกังวลของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาต่อการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ CIA จึงเริ่มปฏิบัติการลับ โดย CAT เริ่มเที่ยวบินลําเลียงยุทธสัมภาระจากสนามบินดอนเมือง ไปปฏิบัติการในลาว-เที่ยวแรกในวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2496 อย่างไรก็ตามหลังจากได้ชัยชนะของกองทัพกู้ชาติเวียดนามต่อกองทหารฝรั่งเศสที่เดียนเบียนฟู เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2497 ทำให้ฝรั่งเศสต้องถอนตัวออกจากเวียดนาม ... ซึ่งนั่นคือจุดเปลี่ยนแปลงนโยบายครั้งสําคัญของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาต่อภูมิภาคนี้
[NOTE: ความสัมพันธ์ไทย – อเมริกันถึงจุดสูงสุด เมื่อร่วมทำ ‘ข้อตกลงร่วมถนัด – รัสค์’ (พ.ศ. 2495) ภาพหลักฐานอาจเห็นได้จาก การที่ไทยได้ส่งทหารเข้าร่วมรบกับสหรัฐในสงครามเวียดนาม รวมทั้งให้สหรัฐมาตั้งฐานทัพและมีกำลังทหารในประเทศไทยซึ่งเคยมีจำนวนทหารสูงถึง 50,000 คน และเครื่องบินกว่า 600 เครื่อง ในไทย นอกจากนี้ สหรัฐยังให้ความช่วยเหลือแก่ไทยซึ่งคลอบคลุมในแทบทุกด้านตั้งแต่การพัฒนากองทัพ การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และการปราบปรามการก่อการร้ายภายใน ความช่วยเหลือเน้นในด้านความมั่นคง ความช่วยเหลือของสหรัฐสูงเกินกว่า 50% ของงบประมาณการป้องกันประเทศของไทย อีกทั้งกองทัพไทยยังพัฒนาโครงสร้างตามความช่วยเหลือที่ให้แก่ด้านการจัดองค์กร การฝึกการวางแผนและการพัฒนากองทัพ รวมทั้งการส่งทหารไปศึกษาและฝึกหัดที่สหรัฐ]
ต่อตอนหน้าครับ ... เรื่องมันยาว

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา