4 ธ.ค. 2019 เวลา 01:05
ประวัติศาสตร์ ของ สนามบินไทย
ตอนที่ 3 ... สนามบินยุคที่ 3 (ต่อ)
ก่อนอื่น - ต้องขอโทษที่เนื้อหาจะพาดพิงไปเรื่องการเมืองระหว่างประเทศค่อนข้างมากครับ แต่เพื่อความเข้าใจที่มาที่ไปครับ ...
ต่อจาก ตอนที่ 2
การโจมตีรัฐบาลไทยผ่านวิทยุปักกิ่ง - การแทรกซึมและเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ในหมู่ชาวจีนในประเทศไทย เป็นสงครามสื่อ (Propaganda) ที่สำคัญของทั้ง 2 ฝ่าย เกือบตลอดทศวรรษ 1960รัฐบาลไทยเชื่อว่าจีนเป็นผู้สนับสนุนหลักต่อขบวนการคอมมิวนิสต์ไทย ส่วนภัยคุกคามจากเวียดนามเหนือนั้นถูกระบุว่ามาจากการเข้ามาแทรกซึมเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ในหมู่ชาวเวียดนามที่อาศัยในภาคอีสาน การให้สถานที่ พักพิงและฝึกอบรมแก่กองกำลังคอมมิวนิสต์ไทย และการขยายอิทธิพลเข้ามาในลาว ... ในความเป็นจริง ดูเหมือนไม่เป็นที่ชัดเจนว่าจีนได้ดำเนินนโยบายเป็นปฏิปักษ์ต่อไทยอย่างไร แน่นอนว่าจีนเห็นว่าไทยเป็นปฏิปักษ์เพราะร่วมมือกับสหรัฐเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ในภูมิภาค ดังที่ผู้นำจีนกล่าวชัดเจนเมื่อตั้งซีโต้ว่าไทยเป็นฐานเตรียมพร้อมให้สหรัฐทำสงครามรุกรานจีนผู้นำจีนบางคนรวมทั้งเหมาเจ๋อตงได้ประกาศเปิดเผยว่าจีนสนับสนุนสงครามต่อต้านสหรัฐและสงครามปลดปล่อยในประเทศเกิดใหม่ทั่วโลกรวมทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้จะมิได้กล่าวชัดเจนว่าสนับสนุนอย่างไร ส่วนการสนับสนุนของจีนต่อพรรคคอมมิวนิสต์ไทยนั้นปรากฏชัดในด้านอุดมการณ์ การให้ขวัญกำลังใจ ที่พักพิง และที่ฝึกอบรมแก่พรรค รวมทั้งด้านยุทธปัจจัย
Edwin F. Stanton เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจําประเทศไทย ได้กล่าวในบทความ Spotlight on Thailand ในวารสาร Foreign Affairs เดือนตุลาคม พ.ศ.2497 อย่างชัดเจนว่า ‘สภาพภูมิศาสตร์ของประเทศไทยที่เหมาะสมอย่างยิ่งสําหรับสหรัฐอเมริกา และเหล่าพันธมิตรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่จะใช้เป็นปราการสําคัญในการจัดระบบป้องกันภัยคุกคามเสรีภาพ’ - บทความนี้ดูเหมือนเป็นการกล่าวนําถึงการเตรียมตัวของสหรัฐอเมริกาที่จะเข้ามามีบทบาททางทหารในประเทศไทย เพราะหลังจากนั้นเพียง 4 เดือน นั่นคือในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2498 หน่วยงานทางทหารของสหรัฐอเมริกาได้จัดประชุมว่าด้วยการบังคับบัญชาในภาคพื้นแปซิฟิก และได้ตัดสินใจสรุปกําหนดให้ประเทศไทยเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมที่สุดสําหรับปฏิบัติการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในปีเดียวกันนั้นเอง หน่วยงานของสหรัฐอเมริกาในประเทศไทยในนามของ The United States Operations Mission to Thailand หรือที่รู้จักและเรียกกันทั่วไปว่า ยูซ่อม (USOM) เร่งโครงการพัฒนาอย่างขนานใหญ่ คือ การก่อสร้างถนนมิตรภาพ เชื่อมจังหวัดสระบุรีกับนครราชสีมา ถนนสายพิษณุโลก-หล่มสัก และการก่อสร้างทางรถไฟจากอุดรธานีถึงหนองคายระหว่างปี พ.ศ.2498-2504
USOM เริ่มโครงการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งทางอากาศระยะที่ 1 ซึ่งเป็นโครงการระยะยาว 10 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2498-2508 ทําการพัฒนาและปรับปรุงสนามบินดอนเมืองและสนามบินอื่น ๆ อีก 13 แห่งทั่วประเทศอย่างเร่งรีบ ด้วยงบประมาณช่วยเหลืออย่างมหาศาล หลังจบโครงการสนามบินทหารกว่า 10 สนามบินในไทย กลายเป็นสนามบินที่ทันสมัยระดับต้น ๆ ของโลกทีเดียว ซึ่งนับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดของการขนส่งทางอากาศของประเทศไทย – ซึ่งผมถือเป็น ‘สนามบิน ยุคที่ 3’ ของไทย
[ไปดูภาพสนามบิน ณ ช่วงเวลานั้นกันครับ ... ]
สนามบินโคราช
สนามบินตาคลี
สนามบินอุบล
[ที่เด็ดสุด ผมยกให้ที่นี่ครับ สนามบินน้ำพอง ... ผู้อ่านที่ไม่ใช่ทหารคงไม่น่าจะรู้จัก เป็นสนามบินที่ซ่อนอยู่กลางป่า ตรงกลางภาคอีสาน ระหว่าง อุดร-ร้อยเอ็ด-สกล ... ทุกวันนี้ยังคงความยิ่งใหญ่ ศักยภาพสูง ราวกับยักษ์ที่หลับไหล รอให้ใครมาปลุก --- ท่านใดสนใจสนามบินน้ำพอง ลองไปอ่าน
บทความ ‘CAPITAL OF ISAN - MEGA PROJECT FOR MEGA TRENDS’ ก่อนหน้านี้ได้ครับ https://www.blockdit.com/articles/5dad0d523e8c671c0b64811a/#
สนามบินน้ำพอง
KC-130 ณ สนามบินน้ำพอง
บริเวณพื้นที่โดยรอบ สนามบินน้ำพอง - ปัจจุบัน
ในขณะที่ปฏิบัติการลับในลาวยังคงดําเนินต่อไป ราวกลางปี พ.ศ.2503 Air America มีเครื่องบินลําเลียง C-46, C-47 ประจําการที่ดอนเมือง 15 ลํา ... เดือนเมษายน พ.ศ.2504 หอบังคับการบินใหม่ สนามบินดอนเมืองแล้วเสร็จ เป็นหอบังคับการบินที่ทันสมัยที่สุดในภูมิภาคในขณะนั้น พร้อมกับการประจําการของ RF-101 เครื่องบินขับไล่สกัดกันและสอดแนมฝูงแรกของสหรัฐอเมริกาที่ดอนเมืองในเดือนเมษายนนั้นเอง ไม่แต่เพียงเท่านั้น ณ สนามบินทหารอื่น ๆ เมื่อปรับปรุงจนทันสมัยที่สุด การประจําการของเครื่องบินรบจำนวนมากก็ดำเนินการขึ้น - ท่ามกลางสถานการณ์ในลาวและเวียดนาม กระแสขัดแย้งทางการเมืองทวีความรุนแรงต่อเนื่อง เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2503 สนามบินตาคลี อุดรธานี อุบลราชธานี นครราชสีมา และเชียงใหม่แล้วเสร็จ F-100 Super Sabre ณ สนามบินตาคลี - กลายเป็นฐานปฏิบัติการขนาดใหญ่ของ CIA ใน พ.ศ.2506 และดําเนินปฏิบัติการลับสุดยอด โดยมีเครื่องบินจารกรรม U-2 และ SR-71 ใช้สนามบินนี้เป็นฐานเช่นกัน ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2506 งานก่อสร้างปรับปรุงสนามบินนครพนม เริ่มขึ้น พร้อม ๆ กับการสร้างสนามบินสร้างใหม่ อีก 3 แห่ง คือ อู่ตะเภา กําแพงแสน และน้ำพอง (การก่อสร้างระหว่างปี พ.ศ.2506-2511) และสุดท้ายสนามบิน ทั้ง 8 แห่งนี้ ต่อมาได้กลาย เป็นฐานทัพอากาศสหรัฐอเมริกาที่สําคัญในระหว่างสงครามเวียดนาม จนถึงปี พ.ศ. 2518
ไม่เพียงแค่สนามบิน ในขณะเดียวกัน USOM ได้พัฒนาระบบโครงข่ายระบบสื่อสาร ที่สมบูรณ์ใช้การได้ในปี พ.ศ.2506 พร้อมกับการปรับปรุงโรงพยาบาลทหาร ระหว่างปี พ.ศ.2498-2503 คลังน้ำมันเชื้อเพลิงและระบบส่งกําลังบํารุงทางทหาร ระหว่างปี พ.ศ.2498-2504 โครงการเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนทางด้านงบประมาณโดย USOM แต่ดําเนินงานและจัดการโดย The Joint U.S. Military Advisory Group หรือที่เรียกขานกันว่า JUSMAG โครงการเหล่านี้ดูเหมือนสอดคล้องกันอย่างดียิ่ง โดยเฉพาะระยะเวลาที่ดําเนินการ โครงข่ายถนนภายในประเทศเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบตั้งแต่ปี พ.ศ.2498-2503 ด้วยเหตุผลที่เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย ซึ่งถนนสายหลักเหล่านั้นได้กลายเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ติดต่อระหว่างฐานทัพและหน่วยงานทางทหารของสหรัฐอเมริกาในประเทศไทย แต่เหตุผลที่แท้จริงที่วิเคราะห์ต่อมาภายหลังคือ การอํานวยประโยชน์ทางด้านการทหารของสหรัฐอเมริกามุ่งตรงไปยังชายแดนลาวเป็นหลัก
หากพิจารณาเรื่องราวต่าง ๆ จะเข้าใจได้ว่าทําไมรัฐบาลสหรัฐอเมริกา (โดยหน่วยงานต่าง ๆ) จึงจําเป็นต้องเร่งพัฒนาระบบขนส่งทั้งทางบกและทางอากาศในประเทศไทย เนื่องจากเหตุผลทางทหารและนโยบายทางการเมืองที่ดูเหมือนเอื้อประโยชน์ทั้งฝ่ายไทยและสหรัฐอเมริกา ... แต่คําถามสำคัญ ได้แก่ สนามบินดอนเมืองนั้นมีความสําคัญเพียงไร และมีเหตุจําเป็นหรือไม่ที่ต้องสร้างสนามบินใหม่ที่หนองงูเห่า (สุวรรณภูมิ) ซึ่งผมจัดอยู่ใน - ยุคที่ 5 อย่างไร
ตอนหน้าจะสนุกน้อยลงนิดครับ เพราะภาพจะตัดไปที่สนามบินไทย ยุคที่ 4 - ซึ่งไม่ค่อยมีดราม่า แล้งจึงจะกลับมาเชื่อมเรื่องราว จากยุค 3 (อเมริกันเมด) ไปสู่ ยุค 5 (สุวรรณภูมิ)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา