6 ธ.ค. 2019 เวลา 01:12
ประวัติศาสตร์ ของ สนามบินไทย
ตอนที่ 4 - สนามบินยุคที่ 4
เมื่อกล่าวถึงเสือตัวที่ 5 ของเอเชีย เด็กเจน X ยุค 90 คงคุ้นเคยและได้ยิน - - - ไทยเป็น ‘เสือตัวที่ 5’ มีการบรรจุเข้าในตำราเรียนท่องจำกันใหญ่ เห่อกันมาก ซึ่งเป็นช่วงสมัยรัฐบาลของ พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ ที่มีการผลักดันนโยบายเศรษฐกิจ “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า” แต่ก่อนที่จะกล่าวถึงเสือตัวที่ 5 ของเอเซีย เรามาย้อนกันดูก่อนว่า 4 เสือที่มีอยู่แล้วคือประเทศใดบ้าง
สี่เสือแห่งเอเชีย (Four Asian Tigers) หรือมังกรเอเชียเป็นคำที่ใช้อ้างถึงเศรษฐกิจที่พัฒนาอย่างรวดเร็วของฮ่องกง สิงคโปร์ เกาหลีใต้และไต้หวัน ส่งผลให้ประเทศกลุ่มนี้ขึ้นไปอยู่ในกลุ่มของประเทศที่พัฒนาแล้ว -โดยในศตวรรษที่ 21 ทั้งหมดได้พัฒนาไปสู่เศรษฐกิจที่ก้าวหน้าและมีรายได้สูง โดยเฉพาะความสามารถในการแข่งขัน ตัวอย่างเช่น ฮ่องกงและสิงคโปร์เป็นผู้นำทางด้านศูนย์กลางการเงินระดับนานาชาติในขณะที่เกาหลีใต้และไต้หวันเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ความสำเร็จทางเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้เป็นแบบจำลองสำหรับประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งปัจจุบันสิงคโปร์เป็นประเทศที่พัฒนาสูงสุดของโลกส่วนฮ่องกง เกาหลีใต้ และไต้หวัน ก็อยู่ในอันดับประเทศที่พัฒนาแล้วของโลกทั้งสิ้นเช่นกัน (นอกประเด็นนิด ... น่าสนใจว่า สถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองในฮ่องกง จะส่งผลกระทบรุนแรงแค่ไหนนะครับ)
ช่วงเวลานี้เอง ที่ผมเสนอแนวความคิดที่ว่า เป็นช่วงเวลาของ ‘สนามบินไทย ยุคที่ 4’แต่ถ้าจะนิยามกันจริง ๆ แล้ว เพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน ผมคงต้องขอดีแคลย์ว่า ‘สนามบินไทย ยุคที่ 4 หมายความประมาณว่า - สนามบินที่เราออกแบบและก่อสร้างเองด้วยคนไทยล้วน ๆ’ ตั้งแต่ยุคโชติช่วงชัชวาล-ต้นรัฐบาลพลเอกเปรมฯ เป็นต้นมา จนถึงราวปี 45 --- หลายประเทศล้วนจับตาว่า ไทยอาจจะเข้ามาเป็นเสือตัวที่ 5 ของเอเซียแน่นอน เพราะยุคนั้น รัฐบาลได้อนุมัติให้เอกชนเข้ามาลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเช่น โครงการโทรศัพท์พื้นฐาน 3 ล้านเลขหมาย โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ โครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ในเขตกรุงเทพมหานคร และโครงการทางด่วนยกระดับ ตัวเลขความเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในช่วงนั้นพุ่งสูงขึ้นมาก และช่วงเวลาดังกล่าว ถือเป็นช่วงเวลาทองในการพัฒนาสนามบินเช่นกัน
การเติบโตทางเศรษฐกิจกอปรกับการเติบโตพัฒนาของธุรกิจการ ทำให้ทั้งรัฐบาลและท้องถิ่น ตลอดจนนักการเมือง ใช้สนามบินเป็นหนึ่งในนโยบายและเครื่องมือ ทำให้ช่วงเวลากว่า 20-30 ปี ประเทศไทยมีสนามบินเกิดขึ้นจำนวนมาก ทั้งจากรัฐ เช่น สนามบินสุราษฎร์ธานี (ปี พ.ศ.2514) สนามบินกระบี่ (ปี พ.ศ.2526) สนามบินนครศรีธรรมราช โดยตอนแรกขอยืมสนามบินชะเอียน ค่ายวชิราวุธ ของกองทัพภาค 4 ใช้งาน (ปี พ.ศ.2528) สนามบินโพธาราม (ปี พ.ศ.2531) สนามบินสมุย (ปี พ.ศ.2532) สนามบินชุมพร (ปี พ.ศ.2533) ที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจ ภายหลังจากสถานการณ์พายุเกย์ พัดถล่มชุมพร เมื่อ 4 พฤศจิกายน 2532 (มีผู้เสียชีวิตกว่า 500 คน สูญหายกว่า 400 คน ทรัพย์สินของทางราชการและเอกชนเสียหายไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท เรือประมงจมลงสู่ใต้ท้องทะเลประมาณ 500 ลำ นับเป็นการสูญเสียจากพายุไต้ฝุ่นครั้งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย) สนามบินสุโขทัย (ปี พ.ศ.2539) ต่อมาภายหลังความล้มเหลวทางเศรษฐกิจของประเทศกลุ่มเสือเกิดขึ้นในวิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540 สนามบินไทยก็เริ่มเข้าสู่ยุคถดถอยลง เนื่องจากทั้งเหตุผลในการลงทุน การบริหารและการเชื้อเชิญสายการบินให้มาเปิดเส้นทางการบินประจำ ซึ่งหลายแห่งไม่ประสบความสำเร็จ อย่างไรก็ตาม สนามบินที่สร้างหลังจากนั้น เช่น สนามบินพ่อขุนผาเมือง (เพชรบูรณ์) (ปี พ.ศ.2543) สนามบินสุรินทร์ภักดี (ลงทุน 30 ล้านบาท สร้างโดย อบจ.สุรินทร์)
สนามบินกระบี่ (ปี พ.ศ.2526)
ภาพความเสียหายของ จ.ชุมพร จากพายุเกย์
สนามบินชุมพร
สนามบินสุรินทร์ภักดี
สนามบินเพชรบูรณ์
สนามบินตราด
อย่างที่กล่าวไปแล้ว ยุคที่ 4 – สนามบินที่เราออกแบบและก่อสร้างเอง ดูไม่ยากครับ เกือบทุกสนามบิน เริ่มด้วย Lay out เดียวกันทั้งสิ้น คือ มี 1 ทางวิ่ง และลานจอดขนาด 2-3 หลุมจอด อยู่ตรงกลางทางวิ่ง พร้อมกับอาคารผู้โดยสารขนาดเล็ก
เหตุการณ์รัฐประหารโดยคณะ รสช.ก่อนนำไปสู่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ล้มเป็นโดมิโน่ตามมาซ้ำด้วยวิกฤติการณ์ต้มยำกุ้ง คราวนี้เสือตัวที่ 5 ก็เลยกลายเป็นแมวไป ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากว่า 30 ปี ที่ไทยเคยที่จะเป็นเสือตัวที่ 5ของเอเชีย จากภาพเศรษฐกิจที่โตอย่างต่อเนื่อง และสะดุดลงจากเหตุการณ์ทางการเมือง นำมาสู่ปัญหาด้านเศรษฐกิจ โดยภายหลังการรัฐประหารของ คสช. ในปี 2557 ไทยมี GDP (ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ) โตแค่ 0.7% ซึ่งถือว่าน้อยมาก ซึ่งมีสาเหตุมาจากการใช้จ่ายภายในประเทศทั้งเอกชนและภาครัฐที่ลดลง ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักธุรกิจที่ชะลอลงทุน ซึ่งนั่นก็เป็นอีกสาเหตุที่การก่อสร้างพัฒนาสนามบินและธุรกิจการบินในประเทศหยุกชะงักตามไปด้วย
ผมคงขอจบตอน สนามบิน ยุคที่ 4 ตรงนี้ – เป็นยุคพึ่งพาตนเอง ง่าย ๆ ไม่มีดราม่า ........... วันนี้วันศุกร์ ฉะนั้นจะขอมาต่อ ตอนต่อไป ยุคที่ 5 - ยุคหนองงูเห่า - สุวรรณภูมิ ซึ่งมีเรื่องราวมากมาย หลายมิติ ยังไม่ตกผลึกว่า จะเล่ามุมไหนบ้างดี

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา