9 ธ.ค. 2019 เวลา 00:57
ประวัติศาสตร์ ของ สนามบินไทย
ตอนที่ 6 - สนามบินยุคที่ 5 (หนองงูเห่า - โครงการเก้าชีวิต)
พ.ศ. 2504 การตัดสินใจของรัฐบาลทหารในขณะนั้น (รัฐบาลสฤษดิ์ธนะรัชต์) ได้มอบหมายกระทรวงคมนาคม โดยสํานักงานการบินพลเรือน (ซึ่งต่อมาได้ยกระดับเป็น กรมการบินพาณิชย์และกลายเป็นกรมการขนส่งทางอากาศในปัจจุบัน) ให้ทําการศึกษาและสํารวจเกี่ยวกับสถานที่ก่อสร้างสนามบินดังกล่าว และมีความเห็นว่าที่ตั้งซึ่งเสนอโดยบริษัทลิชฟิลด์นั้นอยู่ใกล้สนามบินดอนเมืองมากเกินไป อาจก่อให้เกิดปัญหาด้านการบินได้จึงได้สํารวจพื้นที่ใหม่ และสรุปว่าสถานที่ที่สมควรใช้เป็นที่ก่อสร้าง ควรอยู่ถัดไปทางทิศตะวันออกอีกประมาณ 10 กม. คือ พื้นที่หนองงูเห่า ซึ่งเป็นที่ดินลุ่มต่ำ และเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำอันเงียบสงบและอุดมสมบูรณ์ของ อําเภอบางพลีจังหวัดสมุทรปราการที่ประกอบไปด้วยบึงน้ำ ทุ่งหญ้า แปลงนา และเรือกสวน บริเวณคลองลาดกระบัง คลองประเวศ โดยมีระยะห่างระหว่างสนามบินดอนเมืองและสนามบินแห่งใหม่ ประมาณ 30 กิโลเมตร
หลังจากได้ข้อสรุปเพียง 1 ปี หลังจากนั้น เดือนกันยายน พ.ศ.2505 รัฐบาลจึงได้ผ่านพระราชบัญญัติเวนคืนที่ดินบริเวณตําบลราชาเทวะ อําเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ และเริ่มขบวนการเวนคืนและจัดซื้อที่ดิน (เป็นไปอย่างทุลักทุเล และใช้เวลายาวนานกว่า 14 ปี) โดยที่ทางฝ่ายสหรัฐอเมริกาดูเหมือนมิได้ให้ความสนใจ (ทั้ง ๆ ที่ทางฝ่ายรัฐบาลไทยได้ทําหนังสือขอความช่วยเหลือจาก USOM ในการสํารวจออกแบบสนามบินหนองงูเห่า - ขณะนั้น USOM กําลังเร่งสร้างท่าเรือน้ำลึกที่สัตหีบ สนามบินอู่ตะเภาและน้ำพองเพื่อเตรียมรับการประจําการเครื่องบินทิ้งระเบิดขนาดหนัก B-52) ซึ่งต่อมา คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อจัดทําร่างสัญญาให้บริษัท อิตัลไทย จํากัด ร่วมกับบริษัท Companie Industrielle De Paris แห่งประเทศฝรั่งเศส เป็นผู้ทําการสํารวจ ออกแบบ และลงทุนก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่ โดยมีปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน และคณะกรรมการฯ เป็นผู้ดําเนินการจัดทําร่างสัญญาจนแล้วเสร็จ เพียงแต่รอการอนุมัติและลงนามในสัญญา
ในปีพ.ศ. 2506 สํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ (สภาเศรษฐกิจแห่งชาติ ก่อตั้งใน ปี พ.ศ.2503 โดย สมัยรัฐบาล จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ นั้นเอง) ได้แจ้งรัฐบาลให้ทราบถึงปัญหาในด้านการเงิน การประมาณการรายรับ – รายจ่าย ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจระยะที่ 2 (พ.ศ. 2507 - 2509) และระบุว่าโครงการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่นี้ ใช้งบประมาณสูงถึง 1,200 ล้านบาท นอกจากนี้ข้อเสนอของ บริษัทฯ ยังอาจทําให้รัฐบาลเสียเปรียบมากทั้งยังเป็นโครงการที่ไม่เคยได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการบริหารของสํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจโดยตรงมาก่อน ซึ่งจะทําให้การเงินของประเทศเกิดปัญหาคณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้กระทรวงคมนาคม ระงับการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่นี้ไว้ก่อนและมอบหมายให้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติรับไปศึกษา จนทำให้โครงการถูกแขวนและเลื่อนออกไป
ท่าที่ของฝ่ายสหรัฐอเมริกาต่อโครงการหนองงูเห่าเริ่มชัดเจนหลังจากการอสัญกรรมของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2506 โดยสหรัฐอเมริกาไม่ได้ให้การสนใจและสนับสนุนโครงการดังกล่าวแต่อย่างใด รากยาวจนต้นปี พ.ศ. 2511 ทางกรมวิเทศสหการได้ขอให้รัฐบาลอเมริกาสนับสนุน อย่างไรก็ตามคําตอบกลับจาก USOM ว่า - ไม่อาจให้ความช่วยเหลือได้ ... นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาไม่ปรากฏว่ามีหน่วยงานของสหรัฐอเมริกาเข้ามายุ่งเกี่ยวกับโครงการหนองงูเห่าอีกเลย ทั้ง ๆ ที่ USOM กําลังเริ่มโครงการพัฒนาระบบคมนาคมทางอากาศในประเทศไทยระยะที่สอง (ปรับปรุงสนามบินทหาร ดังที่กล่าวมาแล้ว) ทําให้รัฐบาลไทยต้องหันไปขอความช่วยเหลือจากประเทศอื่น และประสบปัญหาวุ่นวายควบคู่กับข่าวลือฉ้อราษฎร์บังหลวงมาโดยตลอด
ข้อสังเกตชวนน่าสงสัยคือ ทําไม USOM จึงปฏิเสธให้ความช่วยเหลือ ทั้งที่ความสัมพันธ์ในสมัยรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร กําลังดําเนินไปอย่างดี Dr. Craig Reynolds กล่าวว่า คําตอบทําไมรัฐบาลต้องเร่งสร้างสนามบินใหม่ และทําไมต้องเป็นที่หนองงูเห่า ... นอนอยู่ในห้องสมุดของสภาคองเกรส ณ กรุงวอชิงตัน (ซึ่งอาจรวมถึงความลับอื่น ๆ ที่ถูกเก็บ ไว้นานกว่า 40 ปี)
แม้ว่าจะปราศจากการสนับสนุนจากสหรัฐ แต่โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานนานาชาติแห่งที่ 2 ของกรุงเทพมหานคร ก็ยังคงดำเนินต่อไป ... ในปี พ.ศ. 2514 บริษัท นอร์ทรอป แอร์ปอร์ต ดีเวลลอปเมนต์ คอร์ปอเรช่ัน (Nortrop Airport Development Corporation) จากประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลทหารของจอมพลถนอม ขอเป็นผู้สร้างสนามบินให้ฟรี แลกกับการขอสัมปทานเป็นระยะเวลา 20 ปี ... อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจอมพลถนอมฯ ไม่ได้เห็นด้วยในคราวแรกและได้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2514 ว่า ไทยยังไม่มีความจําเป็นต้องสร้างสนามบินแห่งใหม่ แต่หลังจากที่นายกรัฐมนตรีถนอมได้ประกาศปฏิวัติตัวเองและตั้งคณะปฏิวัติขึ้นมา โดยตนเองเป็นหัวหน้าคณะ ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2515 ระหว่างนั้นเองเกิดข่าวลือว่ามีการทุจริตในหลาย ๆ โครงการ พร้อม ๆ กับการประท้วงของนักศึกษา จนกระทั่ง 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2516 กระทรวงคมนาคมจึงได้ลงนามในสัญญากับบริษัท นอร์ทรอป แอร์ปอร์ต ดีเวลลอปเมนต์คอร์ปอเรชั่น ( ระบุให้กระทรวงคมนาคมต้องส่งมอบที่ดินให้กับ บริษัทนอร์ทรอป แอร์ปอร์ต ดีเวลลอปเมนต์คอร์ปอเรชั่น เพื่อดําเนินการวางผังแม่บท ออกแบบและก่อสร้างท่าอากาศยานสากลกรุงเทพ แห่งที่ 2 ณ บริเวณหนองงูเห่า ภายใน 120 วัน นับแต่วันที่ลงนามในสัญญา แต่เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ขึ้นเสียก่อน แม้จะเกิดเหตุการณ์ความวุ่นวายและเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ครั้งใหญ่ของประเทศ (เหตุการณ์การประท้วงของ นิสิต นักศึกษา และประชาชน โดยในเหตุการณ์ ทหารได้ใช้อาวุธสงครามเข้าปราบปรามนักศึกษาประชาชนที่ชุมนุมเรียกร้องรัฐธรรมนูญ จนทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก เป็นผลให้ จอมพล ถนอม กิตติขจร ต้องประกาศลาออกจากตำแหน่ง และเดินทางออกจากประเทศ พร้อมกับ จอมพล ประภาส จารุเสถียร และ พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร ภายหลังเหตุการณ์) แต่โครงการหนองงูเห่า ก็ไม่ได้ถูกพับเก็บแต่อย่างใด ... ทำไม
ไว้ต่อตอนต่อไปครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา