12 ธ.ค. 2019 เวลา 08:47
ประวัติศาสตร์ ของ สนามบินไทย
ตอนที่ 7 - สนามบินยุคที่ 5 (หนองงูเห่า-สุวรรณภูมิ)
ภายหลังเหตุการณ์ความวุ่นวายและเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง จนเป็นที่มาของรัฐบาล ศ.สัญญา ธรรมศักดิ์ ที่ได้กราบบังคมทูลลาไปดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 (ศ.สัญญา ก่อนหน้าได้รับการโปรดเกล้า ฯ เป็นองคมนตรี เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2511) แม้จะมีข่าวลือกรณีทุจริตโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่อย่างกว้างขวาง แต่คณะรัฐมนตรีในรัฐบาลสัญญาฯ กลับเร่งออกประกาศ พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อก่อสร้างท่าอากาศยานสากลกรุงเทพฯ ในท้องที่ตําบลบางโฉลง ตําบลราชาเทวะ และตําบลหนองปรือ อําเภอบางพลีจังหวัดสมุทรปราการ (ที่ยังเหลืออยู่ทั้งหมด) ในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ โดยระบุเหตุผลว่า “เนื่องจากกรมการบินพาณิชย์มีความประสงค์จะดําเนินการก่อสร้างท่าอากาศยานพาณิชย์เป็นการเร่งด่วน”และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในขณะนั้นยังได้ออกประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่องกําหนดเขตปลอดภัยในการเดินอากาศติดตามมาในเดือนธันวาคมปีเดียวกันอีกด้วย โดยกําหนดอาณาบริเวณใกล้เคียงสนามบิน ณ อําเภอบางพลีจังหวัดสมุทรปราการ เป็นพื้นที่วงกลมรัศมี 7 กิโลเมตร โดยมีจุดศูนย์กลางของวงกลมอยู่ที่ตําแหน่งศูนย์กลางของบริเวณพื้นที่เวนคืน
อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุด ในปี พ.ศ. 2517 บริษัท นอร์ทรอป แอร์ปอร์ต ดีเวลลอปเมนต์คอร์ปอเรชั่น ได้ทําหนังสือถึงรัฐบาลขอเลิกสัญญาก่อสร้างสนามบินพาณิชย์แห่งที่สองที่หนองงูเห่า โดยไม่คิดค่าเสียหายแต่ประการใด [...ผมพยายามหาเหตุของการยกเลิกสัญญา แต่ก็ไม่มีปรากฏครับ จึงคาดเอาเองว่ามีความเป็นไปได้ที่อาจจะมาจากเหตุผลในเชิงเทคนิค เนื่องจากพอลงพื้นที่จริงแล้ว พบว่าเป็นพื้นที่ดินอ่อนและน้ำท่วมถึง ถ้าจะก่อสร้างจริง ๆ อาจจะต้องใช้งบประมาณในการปรับปรุงดินที่มหาศาลเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้]
แม้ว่าหลังจาก บริษัท นอร์ทรอป จะได้ถอนตัวไปแล้วแต่เมื่อสัญญาการก่อสร้างโครงการดังกล่าวถูกยกเลิก ประชาชนผู้อยู่อาศัยในพื้นที่เวนคืนนั้นจึงมิได้โยกย้ายออกจากพื้นที่เดิม พอถึงเดือนเมษายน พ.ศ.2517 คณะรัฐบาลของนายสัญญาฯ ได้ตั้งคณะกรรมการเวนคืนเพื่อดำเนินการต่อ รวมกระทั่งอีกรัฐบาลต่อจากนั้นที่ได้มีการจ้างทําการศึกษากันใหม่อีกในหลายพื้นที่ กระทั่งปี พ.ศ.2520 รัฐบาล พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาแทมส์ เพื่อศึกษาพื้นที่ในการก่อสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่ จนเมื่อ พ.ศ.2521 ก็ได้ข้อสรุปตามเดิมว่า หนองงูเห่าเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมที่สุด นอกจากนั้น ยังมีข้อมูลบางแหล่ง กล่าวไว้ว่า พ.ศ.2521 กระทรวงคมนาคม ยังได้จ้างบริษัท Lippets Abbott Macarthy Aviation ศึกษาทบทวนความเหมาะสมของพื้นที่สนามบินแห่งใหม่อีกครั้ง ซึ่งผลการศึกษายังคงยืนยันความเหมาะสมในพื้นที่เดิม เช่นกัน
จนถึงปีพ.ศ. 2529ได้มีมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 18/03/2529เรื่องสถานที่ก่อสร้างท่าอากาศยานพาณิชย์สากลกรุงเทพฯ แห่งใหม่ และคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการการลงทุนที่ดอนเมืองเพื่อใช้เป็นท่าอากาศยานพาณิชย์สากลกรุงเทพฯต่อไป และสําหรับบริเวณพื้นที่หนองงูเห่าให้กระทรวงคมนาคมทําการศึกษาเพื่อใช้ประโยชน์บริเวณนี้ในทางอื่นที่เหมาะสมและนําเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขอความเห็นในโอกาสต่อไป และเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2529คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการให้ใช้พื้นที่บริเวณหนองงูเห่าเป็นที่ตั้งโครงการเมืองเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในมหามงคลสมัยพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ และพระราชพิธีมังคลาภิเษก (หลังปีพ.ศ. 2529 เริ่มมีการสร้างหมู่บ้านจัดสรรขึ้นบริเวณพื้นที่ร่มเกล้า) หลังจากนั้น เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2529คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการให้กระทรวงอุตสาหกรรมใช้พื้นที่หนองงูเห่าเพื่อก่อสร้างอ่างเก็บน้ำตามโครงการจัดหาน้ำเพื่อการอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรปราการ แต่ว่าเมื่อมาถึงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2530 คณะรัฐมนตรีกลับอนุมัติหลักการตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมขอยกเลิกการจะเข้าไปใช้พื้นที่บริเวณหนองงูเห่าตามโครงการจัดหาน้ำเพื่อการอุตสาหกรรม โดยให้กระทรวงอุตสาหกรรมประกาศเชิญชวนเอกชนมาลงทุนโครงการนี้แทน - พื้นที่หนองงูเห่าจึงทําท่าจะกลายเป็นอ่างเก็บน้ำในที่สุด
หลังจากนั้น วันที่ 1ธันวาคม 2530คณะรัฐมนตรีมีมติให้กระทรวงคมนาคมร่วมกับสํานักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทําการศึกษาถึงระยะเวลาที่สนามบินดอนเมืองจะเต็มขีดความสามารถในการรองรับและช่องทางในการขยายสนามบินดังกล่าวไปทางตะวันออก โดยย้ายกองทัพอากาศออกไป สําหรับการปรับปรุงเสริมสร้างให้สนามบินอู่ตะเภา (พื้นที่หนองงูเห่า เนื้อที่ประมาณ 20,000 ไร่) เป็นสนามบินแห่งที่ 2 นั้น ให้สงวนไว้ก่อน จนกว่าจะทราบผลการศึกษาของดอนเมือง
เมื่อถึง พ.ศ.2534 รัฐบาล อานันท์ ปันยารชุน ของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) โดยมติคณะรัฐมนตรี อนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างท่าอากาศยานกรุงเทพแห่งที่ 2 ณ บริเวณหนองงูเห่า โดยมอบหมายให้การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ในปัจจุบัน) เป็นผู้ดำเนินการ
และต่อมาปี 2535 รัฐบาล ชวน หลีกภัย ได้อนุมัติงบประมาณ 120,000 ล้านบาท เพื่อใช้ดำเนินโครงการ และให้การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย ไม่ต้องนำเงินกำไร 50% ส่งเข้าคลังเป็นเวลา 2 ปี เพื่อให้มีงบประมาณเพียงพอที่จะอพยพโยกย้ายประชาชนออกจากพื้นที่เวนคืน
หลังจากความไม่แน่นอนมานานหลายทศวรรษ ในปี พ.ศ.2539 จึงมีการจัดตั้ง "บริษัท ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ จำกัด" แต่การก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพิ่งจะสามารถเริ่มขึ้นได้ ในเดือนมกราคม พ.ศ.2545 ในสมัยรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร สืบเนื่องมาจากที่ผ่านมา รัฐบาลชวน มีการขาดเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ วิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชีย พ.ศ.2540 โดยก่อนหน้านั้นมีการปรับปรุงพื้นที่เป็นเวลา 5 ปี (พ.ศ.2540–พ.ศ.2544) ต่อมาในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2549 มีการโอนหน้าที่อำนวยการก่อสร้างและการจัดการให้แก่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) พร้อมทั้งปิดกิจการบริษัท ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ จำกัด เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม ปีเดียวกัน - ‘สนามบินสุวรรณภูมิ’ ออกแบบโดย ทีมผู้ออกแบบระดับโลก ณ เวลานั้น คือ เฮลมุต จาห์น - สถาปนิกผู้ออกแบบอาคารชาวอเมริกัน-เยอรมัน และบริษัทเมอร์ฟีจาห์น [ผลงานเฮลมุต จาห์น เช่น O'Hare International Airport, Chicago Munich International Airport ไม่ได้มีแต่สนามบินนะครับ แกออกแบบทุกอย่าง One Liberty Place ใน Philadelphia Doha Exhibition and Convention Center ใน Qatar และ Shanghai Convention Center ใน Shanghai]
ทักษิณ ชินวัตร เคยโพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า Me and My Country (1) เบื้องหลังการเจรจากับญี่ปุ่นในการสร้างสนามบินสุวรรณภูมิครับ ปี 2544 ทักษิณฯ ประกาศว่าจะยกเลิกการประกวดราคาก่อสร้างอาคารผู้โดยสารของสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งประกวดราคาโดยรัฐบาลก่อนเป็นวงเงิน 54,000 ล้านบาทเศษ โดยออกแบบรองรับผู้โดยสารได้ 35 ล้านคน ซึ่งขณะนั้นเห็นว่าแพงและจำนวนผู้โดยสารที่รองรับได้น้อยไป เนื่องจากยังไม่พ้นวิกฤติเศรษฐกิจ ปี 40 แต่ถ้าเรากลัวไม่ได้กู้เงิน เราก็ต้องสร้างสนามบินที่แพงเกินจริงและรองรับผู้โดยสารได้น้อยเกินไป ทักษิณฯ จำเป็นต้องสั่งยกเลิกการประมูลและแก้แบบใหม่ให้รองรับผู้โดยสารจาก 35 ล้านคนเป็น 45 ล้านคน "ผลปรากฏว่าราคาลดลงจาก 54,000 ล้านบาท เป็น 36,666 ล้านบาท ประหยัดไป 17,000 ล้านบาทเศษ พร้อมกับรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มอีก 10 ล้านคน จาก 35 เป็น 45 ล้านคน
ตัดฉับมายุคปัจจุบัน ภายหลังโครงการการก่อสร้างที่ลากยาวหลายสิบปี พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (หรือ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นพระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ 9) จึงได้พระราชทานชื่อ ‘สนามบินสุวรรณภูมิ’ มีความหมายว่า "แผ่นดินทอง" เมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2543 และเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2545
ผมขอจบซีรี่ย์ ‘ประวัติศาสตร์ ของ สนามบินไทย’ ไว้ ณ ตรงนี้ ... ในบทความมีหลายส่วนที่เป็นความเห็น และการวิเคราะห์ส่วนตัว หากเพื่อนท่านใดมีข้อมูลหรือความเห็นที่แตกต่าง feel free ที่จะแสดงออกมานะครับ ... ผมหลงรักการพูดคุย แลกเปลี่ยน อยู่แล้ว

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา