28 พ.ย. 2019 เวลา 12:09 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
อินเดีย กำลังจะสร้างไฮเปอร์ลูป แห่งแรกในโลก!!
ไม่ต้องรอให้ถนนลูกรังหมดประเทศ ทางรัฐบาลอินเดีย ได้อนุมัติโครงการก่อสร้าง “ไฮเปอร์ลูป” แห่งแรกในโลก ไปตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และล่าสุดทางบริษัทเวอร์จิ้นไฮเปอร์ลูปวัน (Virgin Hyperloop One) ผู้ชนะการประมูล กำลังเข้าสู่ขั้นตอนการตรวจประเมินความปลอดภัย โดย Certifier บริษัทรับประเมินด้านความปลอดภัย ชั้นนำจากประเทศฝรั่งเศส ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบราง และรถไฟฟ้าความเร็วสูง
แอดมินเลยเอา ข้อมูลโครงการไฮเปอร์ลูป ที่จะเกิดขึ้นเป็นแห่งแรกในโลกที่อินเดีย มาเล่าให้ฟัง
และนี่คือ 11 ข้อ สำหรับโครงการไฮเปอร์ลูปในอินเดีย หากพร้อมแล้วไปติดตามกันเลย
1) โครงการไฮเปอร์ลูป ตั้งอยู่ในรัฐมหาราษฏระ ประเทศอินเดีย โดยเชื่อมระหว่างเมืองมุมไบ (Mumbai) ที่อยู่ทางชายทะเลฝั่งตะวันตกของอินเดีย วิ่งเข้าไปในทวีปอินเดีย ถึงเมืองปูเน่ (Pune) โดยมีระยะทางประมาณ 200 กิโลเมตร หากขับรถในอินเดีย ก็ใช้เวลาประมาณ 2.5 ชั่วโมง ขึ้นไป
Cr. Hyperloop one
2) มูลค่ารวมทั้งโครงการกว่า 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (300,000 ล้านบาท) โดยจะแบ่งเป็น 2 เฟสคือ เฟสแรก 11.8 กิโลเมตร ทดลองวิ่งเพื่อทดสอบความปลอดภัย ใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปีครึ่ง ใช้เงินลงทุนประมาณ 724 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
3)  หากประสบความสำเร็จในเฟสแรก ก็จะสร้างต่อในส่วนที่เหลือ น่าจะใช้เวลาก่อสร้างอีก 6-8 ปี รวมๆ ก็ 8-10 ปี ชาวอินเดียก็จะได้ทดลองนั่งไฮเปอร์ลูป
4) หากคิดเป็นเงินลงทุนต่อ กิโลเมตร ก็จะตกอยู่ที่ประมาณ 50 ล้านเหรียญสหรัฐ ต่อ กิโลเมตร ถือว่า สูงมากทีเดียว (สูงกว่าตัวเลขในรายงานของ Transpod ที่ศึกษาเงิน ลงทุนไฮเปอร์ลูปในไทย เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ที่ประมาณ 18.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ต่อ กิโลเมตร)
5) บริษัท Virgin Hyperloop One ก็ตามชื่อแบรนด์เลย มีเจ้าของคือ Richard Brandson แห่งแบรนด์ Virgin ผู้โด่งดัง นอกจากนี้ยังร่วมมือกับบริษัทขนส่งชื่อดีพีเวิร์ล (DP World) ผู้ให้บริการท่าเรือในดูไบ โดยทั้งสองเจ้านี้จะลงขันกัน ก่อน 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อก่อสร้าง และทดสอบเฟสแรก สำหรับเงินส่วนที่เหลือค่อยไประดมทุนจากนักลงทุนรายอื่นๆ
Pod ของ Hyperloop One
6) ตัวรถไฟฟ้า จะวิ่งด้วยความเร็วสูงสุดกว่า 1,080 กม. ต่อชั่วโมง จะทำให้ลดเวลาเดินทางจาก 2.5 ชั่วโมง เหลือ 25 นาที (รวมหยุดระหว่างสถานี)
ระยะเวลาวิ่งของ Virgin Hyperloop One Cr. Hyperloop One
7) ไฮเปอร์ลูปดังกล่าวรองรับผู้โดยสาร 150 ล้านคนต่อปี เทียบเป็นลดเวลาเดินทาง ได้มากกว่า 90 ล้านชั่วโมง และลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกมากกว่า 150,000 ตันต่อปี
8) มีผลศึกษาเบื้องต้น วิเคราะห์ว่า ผลตอบแทนการลงทุนตลอด 30 ปี จะอยู่ที่ประมาณ 55,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยรวมทั้ง การประหยัดเวลา (ซึ่งมีต้นทุน), การลดมลพิษ, การลดอุบัติเหตุ, การลดต้นทุนขนส่ง ฯลฯ
แผนการในอนาคต Cr. Ars Technica
9) อย่างไรก็ตาม ตัวเลขความเร็วกว่า 1,200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ยังเป็นเลขในทฤษฎีอยู่ โดยทางบริษัท Virgin Hyperloop One อ้างว่า ทำความเร็วสูงสุดได้ที่ 386 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทดสอบที่ทะเลทรายในรัฐเนวาด้า ตั้งแต่ เดือนธันวาคม ปี 2017
10) จริงๆ แล้วทาง อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ผู้ผลักดันให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยี Hyperloop ก็ได้เปิดให้มีการแข่งขัน SpaceX Hyperloop Pod Competition เพื่อให้ทีมจากทั่วโลกมาแข่งขันกัน โดยแข่งบนเส้นทางจำลองความยาว 1.6 กิโลเมตร โดยในปี 2019 ที่ผ่านมา ก็มีทีมที่ชื่อว่า TUM Hyperloop จากประเทศเยอรมัน ทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 482 กิโลเมตรต่อชั่วโมง!
Cr. TUM hyperloop
11) อย่างไรก็ตาม มีนักข่าวถาม ผู้บริหารระดับสูงของโบอิ้ง เกี่ยวกับการที่ไฮเปอร์ลูป จะเป็นคู่แข่งของเครื่องบินหรือไม่ ผู้บริหารท่านนี้ตอบว่า “คงไม่มีทางเป็นไปได้ ตลอดช่วงชีวิตของเขา” ทั้งนี้ เขายอมรับว่าเทคโนโลยีไฮเปอร์ลูปนี้ น่าสนใจ แล้วก็มีความเป็นไปได้ที่จะสามารถแข่งขันกับเทคโนโลยีการขนส่งอื่นๆ ได้ แต่หากคิดภาพว่าแค่สร้างรันเวย์แห่งที่สาม ในสนามบินในเมืองซีแอตเทิล ยังใช้เวลา 13 ปี เขาเอาก็คิดภาพไม่ออกเหมือนกัน ว่าจะเกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมแค่ไหน หากสร้างไฮเปอร์ลูปในเมือง
หากคิดภาพตาม เทคโนโลยีแบบนี้ก็คงดีสำหรับการเดินทางระหว่างเมือง โดยที่ระหว่างทางยังมีความหนาแน่นของสิ่งปลูกสร้างไม่มาก จะได้สร้างได้ง่ายขึ้นหน่อย อย่างประเทศอินเดียก็น่าสนใจ ถือเป็นการก้าวกระโดดทางเทคโนโลยีไปอีกขั้นหนึ่ง ชดเชยระบบรถไฟแบบเดิมๆ ของอินเดีย (เพื่อนเคยชวนให้ไปนั่งรถไฟที่อินเดียด้วยกัน บอกว่าสนุกมาก ไอ่เราก็คิดภาพความสนุกไม่ออกเหมือนกัน เลยยังไม่ได้ไป ฮ่าๆ)
หากไทยเราจะมีบ้าง ก็เป็นภาพแบบ เดินทางกรุงเทพฯ โคราช โดยใช้เวลา 20-25 นาที ก็น่าจะแจ่มเหมือนกันนะ แต่ก็ไม่ต้องน้อยใจกันไป เค้ากำลังสร้างรถไฟความเร็วสูงกันอยู่ เส้นทาง กรุงเทพฯ-โคราช ระยะทาง 253 กิโลเมตร ความเร็วสูงสุด 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที
จริงๆ ของบางอย่างก็ไม่ต้องเร็วมากก็ได้ เราอาจได้ใช้เวลาไปกับบรรยากาศระหว่างทาง หรือเอาเวลาไปอ่านหนังสือดีๆ จบซัก 1 เล่ม ก็น่าจะดีเหมือนกัน...
เกร็ดน่ารู้ คือ ทีมคนไทย ก็ส่งทีมไปแข่งประกวด SpaceX Hyperloop pod challenge ด้วยนะ โดยชื่อทีมก็คือ “Ara-One” ที่เลียนเสียงมาจากเทพเจ้า “เอราวัณ” ซึ่งทีมนี้เป็นการรวมตัวกันของนักศึกษาจากหลายๆมหาวิทยาลัย โดยตั้งเป้าที่จะผ่านเข้ารอบ ไปประกวดในรอบชิงในปีหน้า (ค.ศ. 2020)
Araone Hyperloop
สำหรับการแข่งขันครั้งนี้ ไม่ได้แข่งกันแค่ทำความเร็วสูงสุด โดยหยุดได้อย่างปลอดภัยเท่านั้น แต่โจทย์รอบนี้ ตัว Pod ยังต้องขับเคลื่อนเอง โดยทางกลุ่มผู้เข้าแข่งขัน ต้องคิดระบบสื่อสารและระบบควบคุมเองอีกด้วย ถือว่าเป็นโจทย์ที่ท้าทายมากๆ เอาใจช่วยเด็กไทย!!!
💡ไม่อยากพลาดข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ และกลยุทธ์ทางธุรกิจ
กดติดตาม "นำเข้าส่งออก สุดขอบฟ้า"
และสำหรับผู้นำเข้าส่งออก เชิญเข้าร่วมกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ หาช่องทางนำเข้าส่งออก และข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับการนำเข้าส่งออก ได้ที่

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา