2 ธ.ค. 2019 เวลา 13:31 • ธุรกิจ
ธุรกิจที่ทำกำไร แต่ดูแลสังคมและโลกด้วย?
ต่อเนื่องกับชั้นเรียนพัฒนาผู้ประกอบการ NEC Survival โดยวันนี้แอดมินจะมาเล่าประเด็น เกี่ยวกับเทรนด์ที่สำคัญเทรนด์หนึ่งในปัจจุบันนั่นก็คือเรื่องของ “ความยั่งยืน” หรือ “Sustainability” รวมไปถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ให้สอดรับกับเทรนด์ดังกล่าวด้วย
โดยทางคุณ ไจ๋ ธีรชัย ศุภเมธีกูลวัฒน์ แห่งแบรนด์ Qualy ที่เปลี่ยนธุรกิจครอบครัวจากโรงงานผลิตชิ้นส่วนพลาสติกจากงานอุตสาหกรรม มาเป็นของเครื่องใช้และของแต่งบ้านหน้าตาโดนใจ แถมยังมีลูกเล่นฟังก์ชั่นการใช้งานที่โดดเด่นอีกด้วย
Qualy Cherry Bin
มาเล่าให้ฟังถึงแนวคิดในการออกแบบผลิตภัณฑ์ โดยสรุปปัจจัยสำคัญ 5 ประการ (ตามชื่อ Brand เลย) คือ
หนึ่ง Quality สินค้าต้องมีคุณภาพ คุณไจ๋เล่าว่า บริษัทจะเก่งขึ้นก็ต่อเมื่อได้ทำงานกับระดับโลก คือการส่งผลงานออกแบบเข้าประกวดในเวทีต่างๆ ซึ่งนอกจากเป็นการยกระดับคุณภาพสินค้าแล้ว ยังเป้นช่องทางการประชาสัมพันธ์สินค้า ให้กับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่ยอดเยี่ยม มากๆ
กรณีนี้ทำให้แอดนึกถึง การที่บริษัทอย่าง Microsoft ในยุคเริ่มต้นได้ทำงานร่วมกับบริษัทยักษ์ใหญ่ในตอนนั้นอย่าง IBM โดยเฉพาะการทำงานกับ IBM ญี่ปุ่น โดย บิล เกตส์ เล่าว่าการทำงานครั้งนั้นช่วยยกระดับมาตรฐานการทำงานของ Microsoft ได้มากทีเดียว
สอง Unique คือ สินค้าต้องมีความแตกต่าง สร้างประสบการณ์ใช้งานใหม่ๆ ให้ลูกค้า ตัวอย่างเช่น การออกแบบถังข้าวสารให้มีความใสมองเห็นง่าย และที่ตักข้าวสารเป็นรูปหนู! เข้าตำราหนูตกถังข้าวสาร นอกจากนี้ที่ตักไม่จมหายลงไปในถังข้าวสารอีกด้วย
Qualy กล่องข้าวสาร
สาม Aesthetic คือ ความสวยงาม ให้อารมณ์ความรู้สึกร่วม โดยอย่างที่เราทราบกันดีคือ ลูกค้าส่วนใหญ่ จริงๆแล้วตัดสินใจซื้อสินค้าด้วยอารมณ์ หลังจากนั้นอารมณ์ จะกลายเป็นเหตุผลสนับสนุนการตัดสินใจ
ซึ่งคุณไจ๋ ยกตัวอย่างที่น่าสนใจ ในการเปลี่ยนจากหมุดแม่เหล็ก ที่เอาไว้แปะกระดาษโน๊ต ราคา 6 อัน 30 บาท โดยใส่ไอเดียเข้าไป เป็นหมุดรูปนก แล้วเปลี่ยน Packaging จากซองพลาสติกธรรมดา เป็นกระดาษที่บอกเล่าเรื่องราว ทำให้ขายได้ราคาสูงขึ้นกว่า 10 เท่า
Qualy หมุดนก
สี่ Long Lasting คือ การออกแบบผลิตภัณฑ์ต้องคำนึงถึงผลกระทบระยะยาวต่อสิ่งแวดล้อมด้วย ซึ่งจริงๆแล้วการที่เราออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้เรียบง่าย เช่นใช้กระดาษรีไซเคิล และใช้แค่สีดำ ก็ทำให้สินค้าเราแตกต่างจากคู่แข่งได้ (เพราะคู่แข่งเค้าก็แข่งกันเล่นสีสัน)
หรือการออกแบบให้มีรูปทรงที่แปลกไป เช่น จากกล่องสี่เหลี่ยมธรรมดา เป็นกล่องสามเหลี่ยมที่วางซ้อนกันได้ ก็จะทำให้สามารถสดต้นทุนค่ากล่อง ลดต้นทุนค่าขนส่ง และดีต่อโลกอีก ด้วย เรียกว่าได้หลางเด้ง
และห้า ข้อสุดท้ายคือ Design for You คือ เป็นการออกแบบที่คำนึงถึงผู้บริโภค ทั้งด้านฟังก์ชั่นการใช้งาน สถานที่ที่ลูกค้าจะไปใช้งาน และสุดท้ายคือมีเรื่องราวให้ลูกค้าประทับใจ
ทางคุณไจ๋ เองก็บอกว่า ในปัจจุบัน สิ่งที่ลูกค้ากำลังต้องการอย่างมากก็คือ ผลิตภัณฑ์ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นมิตรต่อโลก อย่างที่เราทราบว่าปัญหาขยะพลาสติกก็ส่งผลกระทบร้ายแรง มีการโพสรูปสัตว์น้ำที่ต้องสังเวยชีวิตให้ขยะพลาสติกกันอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งคุณไจ๋เองก็ได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องดังกล่าว นำไปออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิ่ล ออกมาขายหลายอย่างมาก ซึ่งผู้บริโภคให้การตอบรับดีมากๆ อีกทั้งบริษัทต่างๆ ก็วิ่งเข้ามาหาเพื่อ ร่วมมือร่วมใจกันในการลดขยะพลาสติก จนตอนนี้เรียกได้ว่าเนื้อหอมมากๆ
ปลาวาฬ ใส่กระดาษชำระ
แนวคิดดังกล่าว คือการ “Upcycle” หรือการเพิ่มมูลค่า เปลี่ยนขยะพลาสติกที่ดูแล้วเป็นปัญหา ให้เป็นผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ในบ้านที่สามารถใช้งานได้ต่อเนื่องยาวนาน
สอดคล้องกับแนวคิดเรื่อง “3P” ที่ทางบิดาแห่งการตลาดอย่าง ฟิลลิป คอตเล่อร์ ให้คำนิยามไว้ก็คือ การดำเนินธุรกิจในยุคปัจจุบัน นอกจากผลกำไรหรือ Profit ยังต้องคำนึงถึง People ทั้งพนักงานในองค์กรและสังคมโดยรอบ และสุดท้ายคือ Planet โลกใบนี้อีกด้วย
สำหรับประเด็นนี้มีหนังสือเล่มหนึ่งที่เขียนได้ดีมากๆ ก็คือ หนังสือออกใหม่ที่ชื่อว่า “Business as Unusual” ของคุณอาร์ม ปิยะชาติ ลูกศิษย์ก้นกุฏิ ของฟิลลิป คอตเล่อร์ ลองติดตามกันดู
จริงๆแล้วแนวความคิดเรื่องความยั่งยืน คนไทยเราก็มีตัวอย่างให้เห็นกันอยู่แล้ว ก็คือ “ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง” ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ดังพระราชดำรัส ตอนหนึ่ง ที่ว่า
"...ความจริงเคยพูดเสมอในที่ประชุมอย่างนี้ว่า การจะเป็นเสือนั้นไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เรามีเศรษฐกิจแบบพอมีพอกิน แบบพอมีพอกินนั้นหมายความว่า อุ้มชูตัวเองได้ ให้มีพอเพียงกับตนเอง
อันนี้ก็เคยบอกว่า ความพอเพียงนี้ไม่ได้หมายความว่า ทุกครอบครัวจะต้องผลิตอาหารของตัว จะต้องทอผ้าใส่เอง อย่างนั้นมันเกินไป แต่ว่าในหมู่บ้านหรือในอำเภอจะต้องมีความพอเพียงพอสมควร บางสิ่งบางอย่างที่ผลิตได้มากกว่าความต้องการก็ขายได้ แต่ขายในที่ไม่ห่างไกลเท่าไร ไม่ต้องเสียค่าขนส่งมากนัก
อย่างนี้ท่านนักเศรษฐกิจต่าง ๆ ก็มาบอกว่าล้าสมัยจริง อาจจะล้าสมัย คนอื่นเขาต้องมีเศรษฐกิจ ที่ต้องมีการแลกเปลี่ยน เรียกว่าเศรษฐกิจการค้า ไม่ใช่เศรษฐกิจความพอเพียง เลยรู้สึกว่าไม่หรูหรา แต่เมืองไทยเป็นประเทศที่มีบุญอยู่ว่า ผลิตให้พอเพียงได้…"
Cr. ห้องสมุด
กล่าวโดยสรุปที่เราควรน้อมนำไปปฎิบัติตาม ก็คือ “พึ่งพาตนเอง พึ่งพากันเอง และรวมกลุ่มกันอย่างมีพลัง”
💡ไม่อยากพลาดข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ และกลยุทธ์ทางธุรกิจ
กดติดตาม "นำเข้าส่งออก สุดขอบฟ้า"
และสำหรับผู้นำเข้าส่งออก เชิญเข้าร่วมกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ หาช่องทางนำเข้าส่งออก และข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับการนำเข้าส่งออก ได้ที่

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา