9 ธ.ค. 2019 เวลา 10:29 • ประวัติศาสตร์
ชีวิตพระ
ตอนที่ ๖ เหตุจากความน้อยใจ
บทความนี้ Post เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ เขียนแบบ series .. post วันละ ๑ ตอน ขณะนี้ post ไปแล้ว ๕๐ ตอน ก็คิดว่าถึงเวลาที่จะกลับมาทบทวน เพื่อแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น และ ถือโอกาส Boost ไปด้วยเลย ... ขอขอบคุณทุกท่าน ที่อ่านบทความนี้ (๒๕ ม.ค. ๒๕๖๓)
พระเทวทัต บวชเป็นลูกศิษย์ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ ๓๕ ปี ในระหว่าง ๓๕ ปี นี้ทำอะไรบ้าง ในพระไตรปิฎกไม่มีบันทึกอย่างละเอียด มีแต่บันทึกย่อๆ ว่าท่านเริ่มมีอาการน้อยใจว่า ไม่มีใครเห็นความสำคัญของท่านเลย
ทำไมรึ ก็เพราะว่า หากพระเทวทัตตามเสด็จพระพุทธเจ้าพร้อมๆ กับพระสาวกรูปอื่น บรรดาสาธุชนผู้มีบุญที่มาต้อนรับในระหว่างทาง จะถามหาพระสาวกรูปอื่น (สาวก โดยคำแปล แปลว่าผู้ฟัง โดยความหมาย แปลว่า ลูกศิษย์) โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือพระอัครสาวก ขวา ซ้าย ว่า
“องค์ไหนคือพระสารีบุตร (อัครสาวกเบื้องขวา) องค์ไหนคือพระโมคคัลลานะ (อัครสาวกเบื้องซ้าย)”
อัครสาวก คือ อะไร เอาย่อๆ ก็แล้วกันนะ คือตำแหน่งของพระอรหันต์ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแต่งตั้ง เพื่อให้ทำหน้าที่เผยแผ่และบริหารกิจการคณะสงฆ์รองจากพระองค์ ไม่ใช่ว่าใครๆ จะเป็นได้ ต้องมีบุญบารมี ที่สั่งสมมายาวนานนับภพนับชาติไม่ถ้วน (มีอธิบายไว้ในตอนที่ ๔๖)
พระอัครสาวกทั้งสอง ชาติกำเนิดเดิม คือ ลูกเศรษฐี และเป็นเศรษฐีที่เป็นหัวหน้าหมู่บ้านด้วย ว่าง่ายๆ ก็คือลูกผู้ใหญ่บ้านนั่นแหละ ยังไม่ถึงกับเป็นลูกกำนัน ตรงนี้แหละที่ทำให้พระเทวทัตน้อยใจ
ประมาณ ประมาณว่า “หนอยยยย ฉันเป็นลูกกษัตริย์นะ ทำไมคนไม่ถามหาฉันบ้างเลย ชอบถามหาแต่ลูกผู้ใหญ่บ้านนั่นแหละ”
เรื่องนี้ทำให้ได้ข้อคิดอย่างหนึ่งนะ ว่า แม้พระเทวทัตจะเป็นนักฝึกสมาธิที่ได้ผลการปฏิบัติระดับโลกียะฌาน พอมีฤทธิ์บ้าง แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะหมดกิเลส “ความถือตัว” (ภาษาพระเรียกว่า “มานะ”) ซึ่งเป็นกิเลสในตระกูลโมหะ (มีอธิบายไว้ในตอนที่ ๓๗) ก็ยังมีอยู่ หากประมาท “กิเลส” ตัวนี้ก็จะฟูขึ้นมา ซึ่ง “กิเลส” ตัวนี้ จะทำให้เกิดอาการอยู่อย่างหนึ่งคือ หากไม่ได้รับความสนใจ หรือเห็นความสำคัญแล้วละก็ จะเกิดอาการโกรธ หรือไม่ ก็น้อยใจทันที ... ใครเคยมีอาการแบบนี้บ้างเอ่ย ?
เมื่อ กิเลส ตัว ความถือตัว ฟูมากเข้า ก็เกิดอาการทั้งโกรธ ทั้งน้อยใจมากขึ้น ความคิดก็เริ่มผิดเพี้ยนไป ....
จบตอนที่ ๖

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา