22 ธ.ค. 2019 เวลา 04:28 • ประวัติศาสตร์
กำเนิดวัคซีน ตอนที่ 1
หลายครั้งเมื่อเรามองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ เราอาจจะอดสงสัยไม่ได้ว่า เรื่องที่ง่าย (สำหรับเรา) หลาย ๆ เรื่อง ทำไมไม่มีใครคิดได้มาก่อน หรือใช้เวลานานเหลือเกินกว่าจะค้นพบได้
เรื่องราวการค้นพบวัคซีนก็เป็นอีกเรื่องที่มีลักษณะเช่นนั้น
1.
ไวรัส วาริโอลา (variola virus) แต่เดิมเป็นไวรัสที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปแอฟริกา และจะก่อให้เกิดโรคแต่ในหนูเท่านั้น ไวรัสชนิดนี้ไม่สามารถมีชีวิตเติบโตในร่างกายของมนุษย์ได้
หน้าตาชัด ๆ ของ Variola virus (ภาพจาก wikipedia)
แต่แล้วเมื่อประมาณ 16,000 ปีที่ก่อน ก็มีการกลายพันธุ์เกิดขึ้นกับไวรัสนี้จนเกิดเป็นสายพันธุ์ที่สามารถจะข้ามจากหนูมาอาศัยอยู่ในร่างกายมนุษย์แล้วก่อให้เกิดโรคในมนุษย์ได้
โรคใหม่ที่เกิดขึ้นในมนุษย์นี้เป็นโรคที่น่ากลัวมาก เพราะเมื่อใครเป็นแล้วโอกาสตายสูงถึง 30%-50% เป็นโรคที่ติดต่อง่ายมากคือติดต่อทางลมหายใจได้ ทำให้โรคนี้แพร่กระจายได้รวดเร็วและกว้างไกล และยังก่อให้เกิดตุ่มน่าเกลียดน่ากลัวตามผิวหนังอีกด้วย ดังนั้นแม้ว่าบางคนจะโชคดีเป็นแล้วไม่ตาย แต่เมื่อหายแล้วก็ยังมีแผลเป็นน่าเกลียดตามร่างกายและใบหน้าในตลอดชีวิต
ในช่วงปีปีค.ศ.165-180 การระบาดของโรค smallpox ฆ่าชาวโรมันไปประมาณห้าล้านกว่าคน เมื่อชาวสเปน (Conquistador)เดินทางไปทวีปอเมริกาเป็นครั้งแรก ก็นำโรคนี้ไประบาด มีผลให้ชาวพื้นเมืองเสียชีวิตไปประมาณสามล้านกว่าคนในเวลาแค่ประมาณปีเดียว เป็นเวลานานนับหลายพันปีที่โรคนี้กลายเป็นโรคซึ่งมนุษย์กลัวกันมากที่สุดโรคหนึ่ง
ทุกวันนี้เรารู้จักโรคนี้ในชื่อว่า smallpox หรือโรคฝีดาษ
แต่ปัจจุบันโรคนี้แทบจะหายไปจากโลกใบนี้แล้ว ด้วยสิ่งที่เรียกว่า "วัคซีน"
2.
ยุคที่เราจะคุยกันถึงนี้ จะอยู่ในช่วงประมานกลางๆของศตวรรษที่ 17 เป็นช่วงเวลาก่อนที่ หลุยส์ ปาสเตอร์ และโรเบิรต์ ค็อค จะทำให้รู้ว่าแบคทีเรียก่อโรคในคนได้
เป็นช่วงเวลาที่คนส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่าในโลกที่อาศัยอยู่มีสิ่งมีชีวิตเล็กๆที่ทุกวันนี้เราเรียกว่า แบคทีเรียหรือไวรัส หมอส่วนใหญ่ไม่เคยเห็นแบคทีเรีย และหมอยังเชื่อว่า โรค (ที่ทุกวันนี้เราเรียกว่าโรคติดเชื้อ) เกิดจากสมดุลของเหลวในร่างกายผิดปกติ
ชาวไร่ชาวนาในยุโรปยุคนั้น ส่วนใหญ่จะเคยได้ยินข่าวลือเล่าต่อๆกันมาว่า คนที่ทำงานรีดนมวัวแล้วติดโรคฝีดาษวัว (ซึ่งอาการไม่รุนแรง หายเองได้) จะไม่ป่วยเป็นโรคฝีดาษคนอีก แต่ไม่มีใครรู้ว่าข่าวลือนี้จะเป็นจริงแค่ไหน
สำหรับในวงการแพทย์ หมอก็มีวิธีการป้องกันโรคนี้ที่ใช้กันอยู่เรียกว่า variolation (จริงๆก็คือนำชื่อไวรัสมาเติม tion ให้เป็นคำนาม) ซึ่งขั้นตอนก็คือการขูดสะเก็ดแผลจากคนป่วยด้วยโรคฝีดาษ มาจิ้มใส่คนที่ไม่ป่วย หรือพูดง่ายๆคือ เอาเชื้อไวรัสจากคนป่วยมาใส่คนไม่ป่วย
variolation เชื่อว่าเริ่มต้นที่จีน ในภาพเป็นการพ่นเชื้อเข้าทางจมูก
ซึ่งวิธีการนี้สามารถช่วยป้องกันโรคได้ เสียแต่ว่าคนที่ได้รับ variolation เกือบทุกคนจะมีอาการป่วยเกิดขึ้นบ้างไม่มากก็น้อย และประมาณ 1 ใน 50 ของคนที่ได้รับการรักษานี้จะป่วยเป็นโรคฝีดาษแบบเต็มขั้นขึ้นมา และในคนที่ป่วยเต็มขั้นนี้ จะมีคนตายประมาณ 1 ใน 3
1
สำหรับคนยุคเราเมื่อมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ เราจะเห็นว่า ข่าวลือเกี่ยวกับคนที่ป่วยเป็นฝีดาษวัวแล้วจะไม่เป็นโรคฝีดาษคน กับเรื่องของ variolation มันเกี่ยวข้องกัน แต่ในยุคสมัยนั้น แม้แต่หมอที่ฉลาดที่สุดก็ไม่เห็นความสัมพันธ์นี้ และมองว่าทั้งสองเรื่องเป็นคนละเรื่องกันเลย
3.
ในปีค.ศ. 1774 เกิดโรคฝีดาษระบาดไปทั่วเมืองดอร์เซท (Dorset)ประเทศอังกฤษ ส่งผลให้มีคนตายไปเป็นจำนวนมาก ผู้คนต่างก็รู้สึกหวาดกลัว เพเราะไม่มีใครรู้ว่าตนเองจะรอดพ้นจากการระบาดไปได้หรือไม่
2
เบนจามิน เจ็สตี้ (Benjamin Jesty) เป็นชาวนาคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในเมือง ดอร์เซท ตัวเขาเองก็หวาดกลัวกับโรคระบาด แต่เขาไม่ต้องการจะรอความตายอยู่เฉยๆ เขาเคยได้ยินเรื่องเล่าว่าใครที่เคยเป็นโรคฝีดาษวัวแล้วจะไม่เป็นฝีดาษคนอีก ตัวเขาเองเคยป่วยเป็นโรคฝีดาษวัวมาก่อนเขาจึงไม่กังวลมากนัก แต่เขาเป็นห่วงภรรยาและลูกชายวัย 2 ขวบและ 3 ขวบ ที่ไม่เคยป่วยด้วยโรคฝีดาษวัวมาก่อน
ภาพวาดของ Benjamin Jesty
นอกจากนั้นเขาเคยได้ยินมาด้วยว่า หมอมีวิธีป้องกันโรคโดยการนำรอยแผลของคนป่วยโรคฝีดาษมาจิ้มใส่คนที่ไม่ป่วยเพื่อป้องกันโรค
แม้ว่าเขาไม่มีความรู้ด้านการแพทย์ แต่เขามองออกว่า สองเรื่องนี้น่าจะเกี่ยวข้องกัน เขาจึงคิดว่าทำไมต้องไปเสี่ยงนำโรคจากคนมาใช้ ในเมื่อเราสามารถนำโรคจากวัวซึ่งอันตรายน้อยกว่ามาก มาใช้ได้
เจ็สตี้ในวัย 37 จึงทำสิ่งที่ไม่มีใครเคยทำมาก่อน เขาพาครอบครัวเดินทางออกจากบ้านไปเรื่อยๆ เพื่อเสาะหาวัวที่ป่วยด้วยโรคฝีดาษ เมื่อเจอฟาร์มวัวที่ไหน เขาก็จะเดินเข้าไปสำรวจที่เต้านมว่ามีลักษณะที่ดูคล้ายโรคหรือไม่
บ้านของ Jesty ในทุกวันนี้
หลังจากเดินทางเสาะหาไปไกลประมาณ 5 กิโลเมตร ในที่สุดเขาก็พบวัวที่มีตุ่มน้ำใสบริเวณเต้านมซึ่งเป็นอาการแสดงของโรคฝีดาษวัว หลังจากตรวจดูจนแน่ใจเขาก็นำเข็มเย็บผ้าที่พกมาด้วยสะกิดที่ตุ่มน้ำใส แล้วนำเข็มไปจิ้มที่แขนของ ภรรยาและลูกชายทั้งสอง
ผลปรากฎว่าครอบครัวของเขาสามารถมีชีวิตรอดผ่านโรคระบาดในครั้งนั้นไปได้อย่างปลอดภัย แม้ว่าเพื่อนบ้านรอบตัวจะมีคนเสียชีวิตไปมากมาย และที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ ในอีกหลายปีให้หลัง เมื่อโรคกลับมาระบาดซ้ำๆอีก ทุกคนในครอบครัวของเขาก็สามารถรอดพ้นจากการป่วยมาได้อีก
เมื่อเรื่องราวของเขาแพร่กระจายออกไป ผู้คนก็ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก
แต่เป็นความสนใจในแบบที่เจ็สตี้ไม่ต้องการ เพราะคนจำนวนมากรังเกียจสิ่งที่เขาทำ หลายคนมองว่าการนำสารจากวัวมาปนเปื้อนในสายเลือดของมนุษย์เป็นบาป เพราะร่างกายมนุษย์ซึ่งสร้างขึ้นมาโดยใช้ต้นแบบจากพระเจ้าไม่ควรจะถูกปนเปื้อนด้วยนำสารคัดหลั่งจากสัตว์(โดยเฉพาะสัตว์ที่ป่วย)
ครอบครัวของ เจ็สตี้ จึงโดนรังเกียจจากคนทั้งหมู่บ้าน ไม่ว่าพวกเขาจะไปไหนก็จะโดนคนโห่ไล่ โดนขว้างปาด้วยอาหาร โคลน และก้อนหิน
วิธีการป้องกันโรคแบบเจ็สตี้จึงไม่ได้รับความนิยม ตัวเขาเองก็ไม่กล้าที่จะทำซ้ำอีกเลย วิธีการป้องกันโรคในแบบของเขาจึงถูกลืมเลือนหายไป
4.
ย้อนเวลากลับไป 14 ปีก่อนหน้าที่เจ็สตี้จะทดลองนำโรคจากวัวมาจิ้มใส่คน
เด็กชาย เอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์ (Edward Jenner) เป็นหนึ่งในเด็กอังกฤษที่ได้รับการป้องกันโรคฝีดาษด้วยวิธี variolation แต่อย่างที่คุยไปก่อนหน้าว่า วิธีการนี้มีความเสี่ยงที่จะทำให้ป่วยตายจากโรคฝีดาษค่อนข้างสูง จึงมักจะมีการเตรียมความพร้อมของร่างกายให้ก่อนที่จะได้รับ variolation
1
ซึ่งการเตรียมความพร้อมของร่างกายนี้ น่ากลัวยิ่งกว่า variolation เองเสียอีก
วิธีการเตรียมตัวนั้น จะประกอบด้วยวิธีการหลายขั้นตอน ตั้งแต่การหลั่งเลือด สวนระบายอุจจาระ ให้ยากระตุ้นการอาเจียน ให้อดอาหารหรือกินแต่ผัก ทั้งหมดนี้ไม่ได้ทำเพียงครั้งเดียว แต่ทำซ้ำไปหลายๆครั้ง เป็นเวลาประมาณหนึ่งเดือนครึ่ง
ภาพวาดแสดงการหลั่งเลือด
วิธีการดูว่าเด็กพร้อมจะรับการ variolation หรือยัง จะสังเกตได้จากเด็กจะต้องผอมจนเห็นกระดูก เจาะเลือดมมาแล้วมีสีซีดจาง ซึ่งลักษณะนี้บ่งว่าร่างกายเข้าสู่สมดุลที่เหมาะสมต่อ variolation แล้ว
และด้วยประสบการณ์ที่ทุกข์ทรมานจนเกือบตาย เอดเวิรด์ เจนเนอร์ จึงเกลียดวิธีการนี้มาก และเชื่อมาตลอดว่านี่ไม่ใช่การรักษาที่ถูกต้อง จนในเวลาต่อมาเมื่อเขาเติบโตขึ้นและจบมาเป็นแพทย์ เขาก็มุ่งมั่นที่จะหาวิธีป้องกันโรคฝีดาษที่ดีกว่าวิธีที่เขาเคยได้รับมา
ตัวเจนเนอร์เองก็เคยได้ยินเรื่องเล่าว่าใครที่ป่วยเป็นโรคฝีดาษวัวแล้วจะไม่ป่วยเป็นโรคฝีดาษคนมาบ้างเช่นกัน แม้ว่าเขาจะไม่รู้ว่าเรื่องเล่านี้เป็นจริงแค่ไหน แต่เขาก็เชื่อว่ามันมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นเช่นนั้น
อย่างไรก็ตามเมื่อเขานำเรื่องนี้ไปปรึกษาหมอคนอื่นๆ เขาก็พบว่าเพื่อนร่วมวิชาชีพไม่มีใครสนใจหรือเชื่อว่าเป็นไปได้เลย
ถ้ามองจากมุมมองของเราจะดูเหมือนว่าหมอคนอื่นๆไม่เปิดใจ แต่ความจริงสิ่งที่ เจนเนอร์ คิดนั้น เป็นเรื่องที่ไกลกว่ายุคสมัยของเขามาก อย่างที่เล่าไปก่อนหน้าว่าในยุคนั้น ทฤษฎีเชื้อโรคยังไม่เกิด หมอส่วนใหญ่ไม่รู้จักคำว่าแบคทีเรียหรือไวรัส ต่อให้รู้แล้ว ก็ไม่เชื่อว่า สิ่งมีชีวิตที่เล็กจนตามองไม่เห็น จะทำให้มนุษย์ที่ใหญ่กว่าหลายล้านเท่าป่วยได้ ยิ่งไปกว่านั้นคือ ไม่มีใครในโลกรู้จักสิ่งที่เรียกว่า "ระบบภูมิคุ้มกัน" เลยแม้แต่คนเดียว
ทฤษฏีเกี่ยวกับความเจ็บป่วยยังอยู่ในกรอบความคิดที่เชื่อว่า สุขภาพของมนุษย์จะขึ้นกับ สมดุลของเหลวทั้ง 4 ในร่างกาย ดังนั้นคำอธิบายที่หมอทั้งหลายต้องการคือ การนำน้ำใสๆที่ติดปลายเข็มจากวัวมากจิ้มไปบนผิวหนังจะช่วยเปลี่ยนสมดุลของร่างกายได้อย่างไร คำตอบมันเห็นได้ชัดในตัวคือ มันเป็นไปไม่ได้ ถ้าเช่นนั้นเรื่องเล่านี้จะเป็นจริงไปได้อย่างไร ?
หลังจากทำงานอาชีพหมอได้ระยะหนึ่ง หมอเจนเนอร์ก็ตัดสินใจที่จะหันมาศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง
แรกสุดเขาเริ่มด้วยการไปเก็บข้อมูลอย่างจริงจังว่า เรื่องเล่าที่คนพูดกันนั้นมีเค้ามูลความจริงมากน้อยแค่ไหน หลังจากที่ตามหาบุคคลที่สามารถยืนยันได้แล้วว่าเรื่องเล่านั้นมีเค้าโครงความจริงอยู่บ้าง เขาก็เริ่มต้นการทดลองขึ้น
ในเดือน พฤศภาคม ปีค.ศ. 1796 เด็กชายวัน 8 ขวบชื่อ เจมส์ ฟิปปส์ (James Phipps) ถูกพาเข้ามาในห้องๆหนึ่ง จากนั้นหมอก็นำใบมีดกรีดลงบนแขนเขาจนเกิดเป็นแผลตื้นๆขึ้น 2 แผล ก่อนที่จะนำหยดน้ำขุ่นๆซึ่งได้มาจากแผลที่มือของหญิงรีดนมวัวซึ่งป่วยเป็นโรคฝีดาษวัวแตะลงไปที่แผล
ภาพวาดเจนเนอร์ให้วัคซีนกับฟิปปส์
6 สัปดาห์ให้หลัง เด็กชายเจมส์ ก็ได้รับ variolation หรือพูดง่ายๆคือ เขาได้รับเชื้อโรคฝีดาษคนเข้าไปในร่างกาย แต่เขาไม่มีอาการป่วยเลยแม้แต่น้อย ซึ่งต่างไปจากคนทั่วไปที่จะมีอาการป่วยบ้างไม่มากก็น้อย การที่เขาไม่มีอาการเลยนั้น สะท้อนให้เห็นว่าร่างกายของเขาสามารถที่จะต้านเชื้อไวรัสที่เข้าไปไว้ได้
หลายเดือนต่อมา เด็กชายเจมส์ ก็ได้รับเชื้อฝีดาษคน จาก variolation อีกและเป็นอีกครั้งที่เขาไม่มีอาการอะไรเลย หลังจากนั้นเขาก็ได้รับ variolation อีกหลายครั้ง และเขาก็ไม่เคยป่วยเลยแม้แต่ครั้งเดียว
3
จริงอยู่ว่าเจนเนอร์ไม่ใช่คนแรกที่ นำวัคซีนมาใช้ แต่เขาเป็นคนแรกที่ทำการทดลองและเขียนรายงานอย่างเป็นระบบแล้วสามารถพิสูจน์ให้เห็นว่า วัคซีนได้ผลจริงๆ ทุกวันนี้คนจึงนิยมให้เครดิตเขาว่าเป็นคนค้นพบวัคซีนเป็นคนแรก
5.
หลังจากวัคซีนตัวแรกถือกำเนิดขึ้น วงการแพทย์ก็มีความหวังว่าจะพบวัคซีนอื่น ๆ ที่สามารถป้องกันโรคได้เช่นเดียวกับวัคซีนโรคฝีดาษอีก
แต่หลังจากนั้นก็ไม่มีใครค้นพบวัคซีนโรคใดๆอีกเลยเป็นเวลานานกว่า 80 ปี ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ?
1
ทุกวันนี้เรารู้ว่าที่ไม่มีการค้นพบวัคซีนอีกเลยเป็นระยะเวลานานเพราะ กรณีของเจนเนอร์ เป็นอะไรที่ฟลุคมากๆ
1
ในกรณีของโรคฝีดาษ จะมีลักษณะพิเศษที่ต่างไปจากโรคอื่นๆอยู่อย่างหนึ่งคือ โรคฝีดาษคนที่รุนแรง มีญาติเป็นโรคฝีดาษวัวที่ไม่รุนแรงอยู่ควบคู่ด้วย ทำให้สามารถผลิตวัคซีนได้ง่าย แต่โรคติดเชื้ออื่นๆที่เกิดในมนุษย์ไม่มีญาติซึ่งไม่รุนแรงอยู่ควบคู่ด้วย ดังนั้น การพบวัคซีนในแบบที่เจนเนอร์ ค้นพบจึงไม่เคยเกิดขึ้นอีก
แต่แล้วทุกอย่างก็เปลี่ยนไป
ประมาณ 80 กว่าปีหลังเจนเนอร์พบวัคซีนโรคฝีดาษ
นักเคมีชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งชื่อ หลุยส์ ปาสเตอร์ ก็ได้รับกล่องพัสดุใบหนึ่งส่งมาที่บ้าน
หลุยส์ ปาสเตอร์
เมื่อเขาเปิดกล่องพัสดุออกดู ก็พบว่าสิ่งที่ถูกส่งมานั้นคือ หัวของไก่!!
ส่วนเรื่องราวว่า หัวไก่ ถูกส่งมาจากใคร? แล้วหัวไก่จะทำให้ค้นพบวัคซีนใหม่ๆเพิ่มขึ้นได้อย่างไรนั้น
จะมาเล่าต่อให้ฟังในตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบครับ
(Ad)
ชอบประวัติศาสตร์การแพทย์แบบนี้แนะนำหนังสือ
สงครามที่ไม่มีวันชนะ : ประวัติศาสตร์การต่อสู้ระหว่างมนุษย์และเชื้อโรค
สามารถสั่งซื้อออนไลน์ได้ที่
อ่านบทความประวัติศาสตร์อื่นๆใน facebook ได้ที่
อ่านบทความวิทยาศาสตร์และการแพทย์ได้ที่
คลิปวีดีโอเกี่ยวกับประวัติศาสตร์
เพิ่งเริ่มทำนะครับ ช้านิดแต่จะมีคลิปใหม่ๆตามมาอีกแน่นอน

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา