18 ธ.ค. 2019 เวลา 16:44 • ความคิดเห็น
ในหลักศิลาจารึกกรุงสุโขทัยหลักที่1 ซึ่งองค์กรUnescoแห่งสหประชาชาติ ประกาศให้เป็นมรดกโลกแห่งความทรงจำ มีข้อความตอนหนึ่งบันทึกว่า
"เบื้องหัวนอนเมืองสุโขทัยนี้ มีกุฎิพิหารปู่ครูอยู่ มีสรีดภงส มีป่าพร้าว ป่าลาง ป่าม่วง ป่าขาม น้ำโคก มีพระขพุงผี เทวดาในเขา อันนั้นเป็นใหญ่กว่าทุกผีในเมืองนี้ ผู้ใดถือเมืองสุโขทัยนี้แล้ ไหว้ดี พลีถูก เมืองนี้เที่ยง เมืองนี้ดี ผีไหว้บ่ถูก ผีในเขาอันบ่คุ้ม บ่เกรง เมืองนี้หาย"
แสดงว่าพระขพุงผี เป็นเทวดาที่สถิตย์อยู่ในทิศหัวนอนของเมืองสุโขทัย เป็นใหญ่กว่าทุกผีในเมือง คงเปรียบได้กับพระสยามเทวาธิราช แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ของเรานี่เอง
สำหรับป่าพร้าว ป่าลาง ป่าม่วง ป่าขามนั้น ไม่มีให้เห็นเพราะกาลเวลาผ่านมาเป็น1,000ปีแล้ว มีแต่สรีดภงส(เขื่อนดิน)ที่กั้นภูเขากิ่วอ้าย&ภูเขาพระบาทใหญ่
ก.พ พศ. 2455
จอมพลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ ได้เสด็จไปสำรวจเมืองสุโขทัย ทรงพระราชนิพนธ์ ในหนังสือ"กำเนิดเมืองสวรรคโลก สุโขทัย"ว่า
"มีพยานที่ชัดเจน เบื้องหัวนอนมีพระขพุงผี ทางเหนือไม่มีภูเขา แต่ทางใต้มี ซ้ำหาเทวรูปได้ในเพิงหินอีกด้วย ดูจะเป็นพระขพุงผีเป็นแน่"
การสำรวจในครั้งนั้น ทรงบุกป่าไปที่เขาเล็กๆทางทิศใต้ของกรุงสุโขทัย ห่างตัวเมืองไป15กม. เขาสูง30ม. มีบันไดหิน เมื่อเสด็จถึงขั้นสุด พบเพิงหินกว้างใหญ่ จุคนได้100คน เพดานสูง2.30ม.
สุดเพิงด้านเหนือมีหินก้อนใหญ่ ก่อเป็นผนังห้อง1ห้อง กว้าง1ม. ไม่มีสิ่งใดๆอยู่ในห้องเลย พบเทวรูปทำด้วยหินสีเขียว สูง1.30ม. ตั้งอยู่ที่ผนังนอกห้อง เป็นรูปผู้หญิงไม่สวมเสื้อ ใบหน้าเป็นคนแก่ รูปไข่คล้ายพระพักตร์พระพุทธรูปสมัยสุโขทัย บนศีรษะมีกรวยซ้อนขึ้น4ชั้น มีเครื่องประดับห้อยที่หู2ข้าง รัดที่ข้อมือ&ต้นแขนห้อยมาแนบกาย2ข้าง นุ่งผ้ากรอมเท้า ห้อยลงมา3ชั้น
ทรงเชื่อว่าคือ"พระขพุงผี" อาจมีคนเคลื่อนย้ายแต่เอาไปไม่ได้จึงทิ้งไว้นอกห้อง ทรงดำริว่าทิ้งไว้คงสูญหาย จึงโปรดให้เก็บรักษา ไว้ที่ศาลากลางจ.สุโขทัย
พศ.2496
มีการบูรณะตบแต่งวัดสุโขทัยครั้งใหญ่ นายเชื่อม ศิริสนธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัด จึงสร้างศาลขึ้นที่ถ.นิกรเกษม ริมแม่น้ำยม และอัญเชิญ"พระขพุงผี" ประดิษฐานไว้ในศาล ชาวสุโขทัยที่มากราบไหว้ต่างเรียกว่า"แม่ย่า" ด้วยความเชื่อว่าเป็นพระราชชนนี ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช(พระนางเสือง) ภูเขาที่พบเทวรูปจึงเรียก"ภูเขาแม่ย่า"
ทุกวันนี้จ.สุโขทัยเปิดให้ประชาชนกราบไหว้ ยังสร้างแม่ย่าจำลอง ไว้ที่ศาลเพื่อปิดทอง แต่ละปีจะมีคนไปกราบไหว้&ปิดทองแม่ย่านับ100,000คน
โฆษณา