22 ธ.ค. 2019 เวลา 04:04 • ประวัติศาสตร์
“อับราฮัม ลินคอล์น (Abraham Lincoln) ประธานาธิบดีผู้เป็นที่รักของอเมริกันชน” ตอนที่ 6
สงครามที่ไม่มีทีท่าจะสิ้นสุด
ภายหลังสงครามกลางเมืองดำเนินไปกว่าสองปี ก็ได้มีการสู้รบไปแล้วกว่า 100 ครั้ง ทหารบาดเจ็บล้มตายไปกว่าพันนาย
และสงครามก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบ ผลการแพ้ชนะยังไม่ปรากฎ
ทางเหนือนั้นเริ่มไม่มีทหารอาสาอีกแล้ว การจะหาทหารทำได้อย่างยากลำบาก รัฐบาลเองก็เริ่มจะไม่มีเงินแล้ว ในขณะที่รัฐทางใต้ต่างก็แยกตัวออกไปเพื่อที่จะให้การถือครองทาสเป็นสิ่งที่ถูกต้อง
ที่ผ่านมานั้น อับราฮัมพยายามหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงเรื่องทาสโดยตรง แต่ถึงเวลาที่เขาต้องเผชิญกับปัญหานี้อย่างเปิดเผยแล้ว เหล่าผู้ล้มเลิกได้ให้การสนับสนุนสงครามเพื่อหวังจะให้การถือครองทาสนั้นหมดไป และพวกเขาก็ต้องการให้อับราฮัมทำให้การถือครองทาสเป็นสิ่งผิดกฎหมาย
แต่แม้แต่ในภาคเหนือ ประชาชนหลายคนก็ยังคงไม่สนับสนุนการที่จะให้ทาสกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และอับราฮัมก็กลัวว่าจะเสียเสียงสนับสนุน
อับราฮัมนั้นไม่แน่ใจว่าประธานาธิบดีมีอำนาจพอที่จะทำให้การถือครองทาสเป็นสิ่งผิดกฎหมายหรือไม่ ตัวเขาเองได้สาบานว่าจะปกป้องกฎหมายของชาติ ดังนั้นเขาไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงกฎหมายตามใจชอบ มีเพียงประชาชนเท่านั้นที่มีสิทธิจะเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ
แต่ในที่สุด อับราฮัมก็ได้คิดวิธีที่จะทำในสิ่งที่ตั้งใจแต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
ประเทศที่อยู่ในภาวะสงครามมีสิทธิที่จะยึดครองทรัพย์สินที่ศัตรูใช้ในการรบได้ รัฐทางใต้ได้ใช้แรงงานทาสในหลายๆ ด้านเพื่อประโยชน์ในสงคราม อับราฮัมจึงคิดว่าสามารถอ้างเหตุนี้ ยึดทาสจากเจ้าของทาสในรัฐที่เป็นกบฎ
รัฐสภาได้เริ่มออกกฎหมายยึดทาส ทาสที่หลบหนีจากเจ้าของที่เป็นกบฎ หรือทาสที่ถูกจับโดยกองทัพสหพันธรัฐ จะไม่ต้องถูกส่งกลับไปหาเจ้าของ ทาสนั้นจะเป็นอิสระ
อับราฮัมนั้นตัดสินใจจะไปไกลกว่านั้น เขาได้เขียนประกาศเลิกทาส (Emancipation Proclamation) ซึ่งประกาศนี้ไม่ใช่ว่าปลดปล่อยทาสทั้งหมด เป็นเพียงในภาวะสงคราม และมีผลบังคับใช้เพียงบางรัฐ โดยในรัฐที่เป็นกบฎ ทาสจะเป็นอิสระทันที แต่สำหรับเดลาแวร์ แมรี่แลนด์ เคนตักกี้ และมิสซูรี่ การถือครองทาสยังคงเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย เนื่องจากรัฐเหล่านี้อยู่กับฝ่ายสหพันธรัฐ
อับราฮัมมั่นใจว่าหากสงครามสงบ ชาติกลับมารวมกันเป็นปึกแผ่นอีกครั้ง การเลิกทาสทั่วประเทศก็เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ แต่การจะทำเช่นนั้นต้องผ่านรัฐสภา เขามีอำนาจเพียงแค่ต่อสู้กับรัฐที่เป็นกบฎเท่านั้น
สำเนาใบประกาศเลิกทาสของประธานาธิบดี อับราฮัม ลินคอล์น
ประกาศเลิกทาสนี้ไม่สามารถบังคับใช้ได้จริงจนกว่าสงครามจะจบ ถึงแม้ประกาศนี้จะออกมา แต่ภาคใต้ซึ่งแยกตัวออกไปก็ไม่คิดจะทำตามอยู่แล้ว
อับราฮัมรู้เรื่องนี้ดี แต่เขาก็ได้แสดงเจตนารมย์อย่างชัดแจ้งว่าสหพันธรัฐวางแผนที่จะยกเลิกการถือครองทาส
อับราฮัมได้บอกกับคณะรัฐมนตรีว่าสำหรับเรื่องนี้ เขาไม่ได้ขอคำแนะนำจากใคร เขาได้ตัดสินใจอย่างชัดแจ้งแล้ว
ประกาศนี้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม ค.ศ.1863 (พ.ศ.2406) และเมื่อทาสทางใต้ได้ข่าวเรื่องนี้ ทาสหลายรายก็ได้หนีไปทางเหนือ
กองทัพสหพันธรัฐได้เริ่มจะจัดตั้งกองทัพทหารผิวดำ ซึ่งก็คือเหล่าทาสที่หนีมา
ในเวลานี้ ทาสเหล่านั้นเป็นอิสระแล้ว และต้องการที่จะรบกับอดีตเจ้านายของตนทางใต้
คนผิวสีกว่า 200,000 คนได้เข้าร่วมกับกองทัพสหพันธรัฐ
ในช่วงเวลานั้น อับราฮัมก็ได้พบผู้ที่เหมาะที่จะเป็นผู้นำทัพของเขา
นั่นคือ “ยูลิสซีส เอส. แกรนต์ (Ulysses S. Grant)”
ยูลิสซีส เอส. แกรนต์ (Ulysses S. Grant)
แกรนต์เป็นนายพลฝีมือดี ผู้สร้างผลงานชัยชนะมากมาย
แกรนต์คิดว่าการชนะสงครามแต่ละครั้งนั้นยังไม่เพียงพอที่จะทำให้สงครามจบลง ที่สำคัญคือต้องทำให้ฝ่ายใต้ไม่สามารถสู้ต่อได้
เพื่อการนี้ กองทัพสหพันธรัฐต้องโจมตีหลายๆ จุดพร้อมๆ กัน ต้องทำลายทั้งรางรถไฟและโรงงานต่างๆ ที่สนับสนุนฝ่ายใต้ ทำให้ฝ่ายใต้ต้องยอมแพ้ในที่สุด
แต่วิธีการเช่นนี้ต้องใช้เวลา และคงต้องมีทหารเสียชีวิตอีกจำนวนมาก
อับราฮัมนั้นไว้ใจแกรนต์ ภายหลังจากการสู้รบดำเนินไปเรื่อยๆ ความสูญเสียก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้หลายๆ คนต่างไม่มั่นใจในตัวแกรนต์และคิดว่าควรจะปลดแกรนต์ แต่อับราฮัมยังคงให้แกรนต์ทำหน้าที่
ทางเหนือนั้นทหารเริ่มร่อยหรอ ดังนั้นในปีค.ศ.1863 (พ.ศ.2406) อับราฮัมจึงให้มีการเกณฑ์ทหาร ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาที่มีการเกณฑ์ทหาร
ในนิวยอร์ก ชายหนุ่มต่างเพิกเฉยต่อหมายเกณฑ์ทหาร พวกเขาบอกว่าเขาไม่เห็นเหตุผลว่าทำไมต้องไปตายเพื่อปลดปล่อยพวกคนดำด้วย ชาวเหนือหลายคนก็เบื่อหน่ายสงคราม และก็ยินดีที่จะให้รัฐทางใต้แยกตัวออกไปตั้งประเทศกันเอง
ผู้คนเริ่มก่นด่าอับราฮัมมากขึ้นเรื่อยๆ อับราฮัมต้องแถลงว่าทำไมสงครามนี้ถึงต้องดำเนินต่อไป ซึ่งอับราฮัมก็ได้ถือโอกาสใช้งานอุทิศ สดุดีทหารที่เสียชีวิตในยุทธการเกตตีสเบิร์ก ซึ่งเป็นชัยชนะครั้งสำคัญของฝ่ายสหพันธรัฐ แต่ก็ต้องสูญเสียชีวิตทหารจำนวนมาก และงานนี้ก็จัดขึ้นในสุสานที่ทำขึ้นเพื่อทหารที่เสียชีวิตจากยุทธการนี้ เป็นที่ๆ อับราฮัมจะใช้แถลง
1
ยุทธการเกตตีสเบิร์ก (Battle of Gettysburg)
งานนี้จัดขึ้นในวันที่ 19 พฤศจิกายน ค.ศ.1863 (พ.ศ.2406)
ถึงแม้อับราฮัมจะเป็นประธานาธิบดี แต่ผู้พูดหลักนั้นไม่ใช่เขา ผู้ที่ทำหน้าที่พูดเป็นส่วนมากคือ “เอ็ดเวิร์ด เอเวอเร็ตต์ (Edward Everett)” ส.ว. ผู้โด่งดังจากการพูดสปีชยาวๆ
เอ็ดเวิร์ด เอเวอเร็ตต์ (Edward Everett)
เอเวอเร็ตต์ใช้เวลาพูดเกือบสองชั่วโมง ในขณะที่อับราฮัมพูดเพียงแค่สองนาที
อับราฮัมได้เริ่มพูดด้วยการยกคำพูดจากคำประกาศอิสรภาพ
“ทุกคนได้ถูกสร้างขึ้นให้มีความเท่าเทียมกัน”
อับราฮัมได้พูดย้ำเตือนให้ทุกคนตระหนักว่าสหรัฐอเมริกานั้นเป็นประเทศแรกที่ถูกสร้างขึ้นโดยมีแนวคิดเรื่องความเท่าเทียม และอับราฮัมก็ไม่สามารถยอมทำตามข้อเรียกร้องของฝ่ายใต้ได้ เนื่องจากประเทศยังต้องดำรงอยู่ต่อไป สหพันธรัฐกำลังต่อสู้เพื่อให้สหรัฐอเมริกาเป็นปึกแผ่น และยังเป็นการย้ำเตือนประชาชนว่า “รัฐบาลของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน จะไม่แตกดับ”
2
ภายหลังจากอับราฮัมพูดจบ ฝูงชนต่างเงียบ ผู้คนนั้นราวกับถูกมนตร์สะกด ไม่มีแม้แต่เสียงปรบมือ
เอเวอเร็ตต์ได้จดบันทึกว่าอับราฮัมใช้เวลาเพียงสองนาทีในการพูดถึงแก่นแท้ของประเด็นสำคัญ มากกว่าเขาที่ใช้เวลาพูดถึงสองชั่วโมง
สปีชครั้งนี้ได้รับการบันทึกว่าเป็นสปีชที่ดีที่สุดและสำคัญที่สุด
แต่อย่างไรก็ตาม สงครามก็ได้ดำเนินไปเป็นเวลานานมากแล้ว และก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงเมื่อไร
สงครามนี้จะจบลงอย่างไร ตอนหน้า เป็นตอนจบของซีรีย์ชุดนี้แล้ว ฝากติดตามด้วยนะครับ
โฆษณา