26 ธ.ค. 2019 เวลา 05:00 • ประวัติศาสตร์
“สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 แห่งอังกฤษ (Elizabeth I of England) พระประมุของค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์ทิวดอร์ ตอนที่ 3
1
การอภิเษกสมรสเพื่อการเมือง
พระราชินีเอลิซาเบธได้ประทับอยู่ในพระราชวังไวต์ฮอลล์ และมีชีวิตที่หรูหราเมื่อเทียบกับคนทั่วไป
ในเวลานั้น คนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในฟาร์มในชนบท พักอยู่ในบ้านหลังเล็กๆ มีห้องเพียงสองห้อง และด้วยความที่อิฐและหินมีราคาแพง บ้านของคนส่วนใหญ่จึงทำมาจากดินเหนียวและฟาง
ด้วยความที่บ้านของชาวอังกฤษทำมาจากฟาง จึงทำให้ติดไฟได้ง่าย จึงมักเกิดเพลิงไหม้เสมอ
นอกจากเรื่องบ้านแล้ว ชีวิตประจำวันของผู้คนก็เป็นไปอย่างยากลำบาก ไฟฟ้าก็ไม่มีใช้ ผู้คนต้องตื่นแต่เช้ามืดเพื่อทำงาน แม้แต่เด็กๆ ก็ต้องทำงาน
แต่พระราชินีเอลิซาเบธนั้นไม่ต้องทำงานหนักเช่นนั้น พระองค์มีบ่าวไพร่ที่คอยรับใช้จำนวนมาก มีนางต้นห้องล้อมหน้าหลังคอยทำอะไรให้ทุกอย่าง
ในฐานะพระประมุข พระราชินีเอลิซาเบธมีพระราชอำนาจมาก พระองค์สามารถออกกฎหมายรวมถึงประกาศสงคราม
แต่อย่างไรก็ตาม การจะทำอะไรต่างๆ นั้นต้องใช้เงิน ซึ่งเงินนั้นก็มาจากภาษี และการจะขึ้นภาษีนั้น พระราชินีเอลิซาเบธก็ต้องทรงประชุมกับรัฐสภาซะก่อน
รัฐสภานั้นประกอบด้วย “สภาล่าง” หรือ “สภาสามัญชน (House of Commons)” ซึ่งมาจากชาวบ้านหรือชนชั้นล่าง กับ “สภาสูง” หรือ “สภาขุนนาง (House of Lords)” ซึ่งมาจากขุนนางและชนชั้นสูง
พระราชินีเอลิซาเบธเป็นผู้ตัดสินพระทัยว่าจะประชุมกับรัฐสภาเมื่อไรและเรื่องอะไร และตลอดเวลาที่พระองค์ครองราชย์กว่า 44 ปี พระองค์ได้ทรงเรียกประชุมสภาเพียง 10 ครั้งเท่านั้น
บุคคลที่พระองค์ทรงให้ความไว้วางพระทัยคือ “องคมนตรี (Privy Council)” ซึ่งคอยถวายคำปรึกษาให้พระราชินีเอลิซาเบธ
พระราชินีเอลิซาเบธนั้นมีพระอุปนิสัยที่ไม่ต่างจากพระราชบิดานัก พระองค์บรรทมในห้องบรรทมที่อยู่ติดกับห้องที่องคมนตรีพบและประชุมหารือ
หลายครั้งที่พระองค์จะทรงเรียกคณะองคมนตรีมาประชุมและปรึกษาหารือกลางดึก ทำให้คณะองคมนตรีต้องพร้อมตื่นตัวตลอดเวลา
สำหรับประเทศอังกฤษในรัชสมัยของพระราชินีเอลิซาเบธนั้น เรียกว่าอยู่ในภาวะที่อ่อนแอและไม่มั่นคง ท้องพระคลังก็ไม่ได้มีเงินมากนัก อีกทั้งสเปนกับฝรั่งเศสก็เป็นประเทศที่ทรงอำนาจมากและเป็นภัยต่ออังกฤษ
อีกเรื่องหนึ่งก็คือเรื่องของศาสนา ซึ่งเป็นปัญหามาตั้งแต่สมัยพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8
ในฐานะของพระราชินี พระราชินีเอลิซาเบธเป็นผู้ตัดสินพระทัยว่าชาวอังกฤษควรจะบูชาพระเจ้าอย่างไร และประชาชนก็ต้องทำตามพระองค์ ไม่อย่างนั้นจะมีความผิด
2
ในช่วงเวลาของพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 คริสตจักรคาทอลิกเป็นคริสตจักรประจำชาติอังกฤษ และพระสันตะปาปา ซึ่งเป็นผู้นำคริสตจักรก็มีอำนาจมาก มากกว่ากษัตริย์เสียอีก
แต่ต่อมาผู้คนเริ่มจะออกห่างจากคริสตจักรคาทอลิกและนับถือศาสนาตามใจตน และในเวลาต่อมา พระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 ก็ทรงตัดสินพระทัยจะออกจากคริสตจักรคาทอลิก เหตุผลก็เพราะพระองค์ทรงต้องการจะหย่ากับมเหสีและอภิเษกสมรสใหม่ ซึ่งคริสตจักรคาทอลิกนั้นไม่อนุญาตให้มีการหย่า แม้แต่กษัตริย์ก็ไม่ได้ พระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 จึงทรงตั้ง “คริสตจักรแห่งอังกฤษ (Church of England)” และขึ้นเป็นประมุขแห่งคริสตจักรใหม่นี้ พร้อมทั้งอนุญาตให้มีการหย่าได้
2
ต่อจากรัชสมัยของพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 พระราชินีแมรี่ก็ได้กลับมานับถือคริสตจักรคาทอลิกและบังคับให้ประชาชนนับถือเช่นกัน ดังที่ผมเล่าไว้ในบทก่อน
1
แต่ในเวลานี้พระราชินีเอลิซาเบธเป็นพระราชินี และพระองค์ก็เป็นหนึ่งในสมาชิกของคริสตจักรแห่งอังกฤษ
1
ในช่วงสี่เดือนแรกของการครองราชย์ พระราชินีเอลิซาเบธทรงออกคำสั่งให้ประชาชนชาวอังกฤษเข้าเป็นสมาชิกของคริสตจักรแห่งอังกฤษเช่นกัน
แต่ถึงอย่างนั้น พระองค์ก็ยังผ่อนปรนมากกว่าพระราชินีแมรี่ พระองค์ไม่ทรงต้องการรู้ว่าประชาชนรู้สึกต่อพระเจ้ายังไง ขอให้ประชาชนนั้นภักดีก็พอ พระองค์จะไม่ทรงใช้กำลังเพื่อเปลี่ยนแปลงความเชื่อของประชาชน
แต่พระราชินีเอลิซาเบธก็ทรงมีพระอารมณ์ร้อน ตั้งแต่การประชุมองคมนตรีครั้งแรก พระองค์ก็ทรงแสดงออกชัดเจนว่าทุกอย่างต้องเป็นตามรับสั่งของพระองค์
คณะองคมนตรี
ระหว่างการประชุม พระองค์มักจะทรงทุบพระหัตถ์ลงบนโต๊ะ และพระองค์ยังมักจะตะคอกใส่ที่ปรึกษาที่ไม่เห็นด้วยกับพระองค์
พระองค์ไม่ทรงสนใจว่าสิ่งที่พระองค์ทำนั้น เป็นสิ่งที่กุลสตรีไม่ทำ แต่พระองค์ก็ไม่สน พระองค์ตรัสคำสบถมากกว่าผู้ชายหลายๆ คน ห้องประชุมในพระราชวังไวต์ฮอลล์นั้นดังก้องไปด้วยพระสุรเสียงของพระองค์
แต่สิ่งที่สำคัญก็คือ พระองค์ทรงฉลาดในการทำให้คนทำตามรับสั่งของพระองค์
หากว่าองคมนตรีคนไหนกำลังขุ่นเคืองกับเรื่องอะไรซักอย่าง พระองค์จะทรงหาวิธีทำให้คนผู้นั้นเข้าใจว่าปัญหานั้นเกิดจากองคมนตรีคนอื่น ไม่ใช่ความผิดของพระองค์ และพระองค์ก็ทรง “เล่นเกม” โดยให้องคมนตรีนั้นเขม่นกันเองและก็ได้ผลอย่างดี
1
เรื่องที่พระราชินีเอลิซาเบธทรงพยายามเลี่ยงจะตอบ นั่นคือเรื่องของการ “อภิเษกสมรส”
องคมนตรีต้องการให้พระองค์อภิเษกสมรส แต่พระองค์ไม่ทรงต้องการจะอภิเษกสมรส โดยพระองค์ได้ตรัสว่า “เป็นการอัปปรีย์หากจะให้ “เท้า” มาชี้นำ “หัว” “
ความหมายในประโยคนี้คือเหล่าองคมนตรีนั้นก็เหมือนกับ “เท้า” ขณะที่พระองค์เป็น “หัว” การที่จะให้เท้าซึ่งอยู่ต่ำกว่าหัว มีสถานะที่ต่ำกว่า มาชี้นำ ออกคำสั่งกับพระองค์ซึ่งอยู่ในสถานะที่สูงกว่า เป็นสิ่งไม่สมควรและพระองค์ก็ไม่คิดจะทำตาม
ค.ศ.1559 (พ.ศ.2102) “พระเจ้าฟิลิปที่ 2 แห่งสเปน (Philip II of Spain)” หรือเจ้าชายฟิลิป อดีตพระราชสวามีของพระราชินีแมรี่ที่ 1 ได้ทรงขอทำการอภิเษกสมรสกับพระราชินีเอลิซาเบธ
1
พระเจ้าฟิลิปที่ 2 แห่งสเปน (Philip II of Spain)
พระเจ้าฟิลิปที่ 2 ได้อภิเษกสมรสกับพระราชินีแมรี่เนื่องจากทรงต้องการจะขยายอาณาจักร แต่ในเมื่อตอนนี้พระราชินีแมรี่ได้สวรรคตแล้ว สเปนจึงมุ่งมายังพระราชินีเอลิซาเบธแทน
ในเวลานั้น เชื้อพระวงศ์ต่างอภิเษกสมรสกันด้วยเหตุผลทางการเมืองและอำนาจ ไม่ใช่ความรัก หากสองอาณาจักรเกี่ยวดองกัน ย่อมเป็นผลดี
พระเจ้าฟิลิปที่ 2 ทรงคาดหวังว่าหากพระองค์ได้อภิเษกสมรสกับพระราชินีเอลิซาเบธ พระองค์ก็จะสามารถเข้าควบคุมอังกฤษได้
แต่พระราชินีเอลิซาเบธได้ทรงปฏิเสธ
พระราชินีเอลิซาเบธทรงหวงความเป็นอิสระ พระองค์ทรงเห็นจากพระราชบิดา กษัตริย์สามารถทำให้พระราชินีกลายเป็นนักโทษอย่างง่ายดาย และหากพระองค์ทรงพระครรภ์ พระองค์ก็มีความเสี่ยงจะสวรรคตจากการตกลูก
1
พระราชินีเอลิซาเบธได้ตรัสกับที่ปรึกษาว่าต่อให้พระองค์เกิดมาเป็นหญิงรับใช้ที่ยากจน พระองค์ก็ยินดีจะอยู่เป็นโสด ดีกว่าแต่งงานกับกษัตริย์ที่ร่ำรวยและทรงอำนาจ
แต่ถึงจะแสดงเจตนารมย์ชัดแจ้ง ก็ได้มีคำขออภิเษกสมรสมาจากประมุขดินแดนต่างๆ มากมาย เนื่องจากแต่ละดินแดนต่างก็ต้องการจะมีอำนาจเหนืออังกฤษ
2
แต่ถึงพระราชินีเอลิซาเบธจะไม่ทรงต้องการให้ใครมาออกคำสั่ง แต่พระองค์ก็ฉลาดพอที่จะแกล้งทำเป็นสนใจในการหาพระราชสวามี
การที่พระองค์ทรงทำให้องคมนตรีเข้าใจว่าพระองค์ทรงสนพระทัยในเรื่องของพระราชสวามี ทำให้องคมนตรีรู้สึกดีใจและไม่ตื๊อพระองค์มากนัก อีกทั้งยังทำให้ดินแดนอื่นไม่กล้าประกาศสงครามกับอังกฤษ เนื่องจากหากดินแดนไหนประกาศสงครามกับอังกฤษ และพระราชินีเอลิซาเบธทรงตกลงอภิเษกสมรสกับประมุขจากดินแดนอื่น การทำศึกก็จะยิ่งหนัก มีชาติที่สามเข้ามาเกี่ยวข้อง
แต่ละดินแดนจึงรอดูท่าที ดูว่าใครเป็นผู้ที่ถูกเลือก
แต่ถ้าถามว่าพระราชินีเอลิซาเบธนั้นทรงเคยรักใครบ้างหรือเปล่า ทุกวันนี้ก็ยังไม่มีใครรู้คำตอบแน่ชัด
นักประวัติศาสตร์เชื่อกันว่าหากต้องอภิเษกสมรสเพราะความรัก ผู้ที่พระองค์น่าจะทรงเลือกน่าจะเป็น “โรเบิร์ต ดัดลีย์ เอิร์ลที่ 1 แห่งเลสเตอร์ (Robert Dudley, 1st Earl of Leicester)”
2
โรเบิร์ต ดัดลีย์ เอิร์ลที่ 1 แห่งเลสเตอร์ (Robert Dudley, 1st Earl of Leicester)
ดัดลีย์และพระราชินีเอลิซาเบธได้พบกันขณะที่ทั้งคู่ยังเด็ก และโรเบิร์ตนั้นก็เป็นผู้ที่ฉลาดและมีการศึกษา
พระราชินีเอลิซาเบธทรงเรียกดัดลีย์ว่า “โรบินผู้อ่อนหวาน (Sweet Robin)” และมักจะให้ดัดลีย์คอยรับใช้ใกล้ชิด
1
พระราชินีเอลิซาเบธและดัดลีย์นั้นมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน แต่ภายหลังดัดลีย์ก็ได้แต่งงานกับคนอื่น
นอกจากเหตุผลด้านการเมืองแล้ว อีกเหตุผลหนึ่งที่คณะองคมนตรีอยากจะให้พระราชินีเอลิซาเบธอภิเษกสมรส นั่นก็คือ “องค์รัชทายาท”
1
หากไม่มีองค์รัชทายาทอย่างถูกต้อง เมื่อพระราชินีเอลิซาเบธสวรรคต จะต้องมีเหตุวุ่นวายตามมาแน่นอน คงต้องมีการชิงอำนาจกันแน่นอน
ทุกคนจึงกังวลว่าหากไม่มีองค์รัชทายาท เมื่อพระราชินีเอลิซาเบธสวรรคต ใครจะขึ้นครองราชย์ต่อล่ะ?
เรื่องราวของพระองค์จะเป็นอย่างไรต่อไป ติดตามได้ตอนหน้านะครับ
โฆษณา