28 ธ.ค. 2019 เวลา 04:00 • ประวัติศาสตร์
“สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 แห่งอังกฤษ (Elizabeth I of England) พระประมุของค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์ทิวดอร์ ตอนที่ 4
1
ศัตรูที่พึ่งพิงและความวุ่นวายที่ตามมา
ค.ศ.1562 (พ.ศ.2105) พระราชินีเอลิซาเบธทรงพระประชวรหนัก พระพักตร์ของพระองค์เต็มไปด้วยตุ่มขาวๆ ซึ่งนี่คือสัญญาณของไข้ทรพิษ
ในเวลานั้น ไข้ทรพิษเป็นโรคร้ายแรง ยังไม่มีการคิดค้นวัคซีน และผู้คนก็เสียชีวิตจากโรคนี้เป็นจำนวนมาก ส่วนคนที่รอดก็มักจะมีแผลเป็นจากโรค
เมื่อแพทย์ได้ทำการตรวจและทูลพระองค์ว่าพระองค์เป็นไข้ทรพิษ พระองค์ทรงกรีดร้องและรับสั่งให้หาแพทย์คนใหม่มา
พระองค์ทรงหวาดกลัวและไม่ทรงยอมรับว่าพระองค์เป็นไข้ทรพิษ
ในเวลานั้น การแพทย์ยังไม่ก้าวหน้า ผู้คนยังมีอายุไม่ยืนยาวนัก โรคเล็กๆ น้อยๆ ก็ทำให้คนเสียชีวิตได้
และด้วยความที่ยังไม่มียารักษาไข้ทรพิษ ทำให้แพทย์แต่ละคนไม่ทราบว่าต้องทำอย่างไร และที่ปรึกษาของพระราชินีเอลิซาเบธต่างก็กังวล
พระอาการของพระราชินีเอลิซาเบธไม่ดีขึ้นเลย องคมนตรีจึงเรียกประชุมด่วน เรื่องใหญ่ที่ประชุมคือหากพระราชินีเอลิซาเบธสวรรคต ใครจะขึ้นครองราชย์ต่อ?
”โรเบิร์ต ดัดลีย์ เอิร์ลที่ 1 แห่งเลสเตอร์ (Robert Dudley, 1st Earl of Leicester)” ผู้ที่น่าจะเป็นคนที่พระราชินีเอลิซาเบธทรงรัก ดังที่ผมเล่าให้ฟังไว้ในบทก่อน ได้นำทหารจำนวน 6,000 นายมาอารักขารอบพระราชวัง เนื่องจากหากข่าวเรื่องอาการประชวรของพระราชินีเอลิซาเบธแพร่กระจายออกไป อาจจะเกิดการกบฎได้
2
โรเบิร์ต ดัดลีย์ เอิร์ลที่ 1 แห่งเลสเตอร์ (Robert Dudley, 1st Earl of Leicester)
แพทย์ได้ตัดสินใจให้พระราชินีเอลิซาเบธห่อพระวรกายในผ้าหนาๆ หลายๆ ชั้น เหลือเพียงพระพักตร์และพระหัตถ์เพียงข้างเดียวที่โผล่พ้นผ้า
จากนั้นก็ให้พระองค์ประทับนั่งบนเก้าอี้ ผิงไฟข้างๆ เตาผิง
ปรากฎว่าพระอาการของพระองค์ค่อยๆ ดีขึ้นเรื่อยๆ อย่างไม่ทราบสาเหตุ และก็ไม่มีใครทราบแน่ชัดว่าพระองค์นั้นมีแผลเป็นจากโรคหรือไม่
1
ในเวลาต่อมา พระราชินีเอลิซาเบธทรงแต่งพระพักตร์หนา ขาวโพลน ซึ่งก็เป็นไปได้ว่าอาจจะเป็นเพื่อปกปิดรอยแผลเป็น แต่ก็ไม่มีใครระบุได้แน่ชัด
ภาพจากภาพยนตร์ “Elizabeth (1998)”
ภายหลังจากผ่านพ้นจากโรคร้าย เกือบสวรรคต องคมนตรีต่างก็ร้อนใจ และคิดว่าควรจะต้องคิดถึงผู้ที่จะขึ้นเป็นกษัตริย์ต่อจากพระราชินีเอลิซาเบธ
นอกจากปัญหาภายใน ปัญหาภายนอกก็เริ่มเข้ามา นั่นคือได้มีพระราชินีจากดินแดนอื่นที่กำลังทรงจ้องบัลลังก์ของพระราชินีเอลิซาเบธ
1
ในเวลานั้น ประเทศสก็อตแลนด์ยังเป็นดินแดนอื่น ไม่ใช่ประเทศเดียวกับอังกฤษ
อังกฤษและสก็อตแลนด์มีความสัมพันธ์ที่ไม่ค่อยจะดีนัก อังกฤษได้พยายามจะเข้าครอบครองสก็อตแลนด์หลายครั้ง
ภายหลังจากที่พระราชินีเอลิซาเบธขึ้นครองราชย์ไม่นาน “แมรี่ สจ๊วต (Mary Stuart)” พระราชธิดาของ “พระเจ้าเจมส์ที่ 5 แห่งสก็อตแลนด์ (James V of Scotland)” ก็ได้ขึ้นครองราชย์เป็น “สมเด็จพระราชินีนาถแมรีที่ 1 แห่งสก็อตแลนด์ (Mary, Queen of Scots)”
สมเด็จพระราชินีนาถแมรีที่ 1 แห่งสก็อตแลนด์ (Mary, Queen of Scots)
พระราชินีแมรี่และพระราชินีเอลิซาเบธมีศักดิ์เป็นพระญาติกัน แต่ทั้งสองพระองค์ก็ไม่ได้ทรงสนิทหรือทรงชอบพอกันนัก
ตามสายพระโลหิตนั้น พระราชินีแมรี่ก็ร่วมสายพระโลหิตกับพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 พระราชบิดาของพระราชินีเอลิซาเบธ ทำให้พระองค์มีสิทธิในราชสมบัติของอังกฤษเช่นกัน
พระราชินีแมรี่นั้นนับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก และประชาชนชาวอังกฤษที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกก็ต้องการให้พระราชินีแมรี่ปกครองอังกฤษ แทนที่จะเป็นพระราชินีเอลิซาเบธ และพระราชินีแมรี่เองก็ทรงคิดเช่นนั้น
พระราชินีแมรี่ทรงเป็นผู้ที่มีเสน่ห์ และมีข่าวลือว่าพระองค์ทรงใช้เสน่ห์ของพระองค์ในการโน้มน้าวให้ผู้คนทำตามพระราชบัญชาของพระองค์
พระราชินีเอลิซาเบธทรงกังวลว่าพระราชินีแมรี่จะทรงใช้ประชาชนชาวอังกฤษและสก็อตแลนด์ที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกเป็นเครื่องมือ ชิงบัลลังก์ของพระองค์
สมเด็จพระราชินีนาถแมรีที่ 1 แห่งสกอตแลนด์ (Mary, Queen of Scots)
แต่พระราชินีแมรี่เองก็ไม่ได้เป็นพระราชินีที่เป็นที่รักของชาวสก็อตแลนด์ ประชาชนจำนวนมากไม่พอใจที่พระองค์อภิเษกสมรสกับผู้ที่ประชาชนไม่ชอบ ทำให้ประชาชนก่อกบฎในเวลาต่อมา
1
พระราชินีแมรี่ได้เสด็จหนี โดยทรงม้าในระหว่างค่ำคืน หนีไปยังอังกฤษ
พระองค์ได้ทรงส่งจดหมายถึงพระราชินีเอลิซาเบธ โดยทรงขอร้องให้พระราชินีเอลิซาเบธทรงช่วยเหลือพระองค์
พระองค์ถึงกับเรียกพระราชินีเอลิซาเบธว่า “พี่สาว”
พระราชินีเอลิซาเบธทรงลำบากพระทัย พระองค์ไม่ทรงต้องการให้พระราชินีแมรี่ประทับอยู่ในอังกฤษ เนื่องจากที่ผ่านมา พระราชินีแมรี่ก็ไม่เคยยอมรับว่าพระองค์เป็นพระราชินีแห่งอังกฤษ
แต่หากไม่ทรงช่วยเหลือ พระราชินีแมรี่เองก็มีศักดิ์เป็นพระญาติ และก็ยังเป็นพระราชินีอีกด้วย
พระองค์จึงทรงตัดสินพระทัยช่วยเหลือพระราชินีแมรี่
ตลอดเวลาเกือบ 20 ปีต่อมา พระราชินีแมรี่ก็ได้ประทับอยู่ในปราสาทต่างๆ ในอังกฤษ โดยพระราชินีเอลิซาเบธทรงให้คนของพระองค์คอยเฝ้าและจับตาดูพระราชินีแมรี่
เหล่าที่ปรึกษาของพระราชินีเอลิซาเบธต่างระแวงว่าพระราชินีแมรี่กำลังวางแผนยึดบัลลังก์ของพระราชินีเอลิซาเบธ
หลายครั้งที่เหล่าที่ปรึกษาเห็นความผิดปกติ และก็มั่นใจว่าพระราชินีแมรี่นั้นกำลังทรงวางแผนจะยึดบัลลังก์แน่นอน เพียงแต่ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอ
ค.ศ.1586 (พ.ศ.2129) กลุ่มกบฎได้วางแผนจะปลดปล่อยพระราชินีแมรี่และหนุนหลังให้พระองค์ขึ้นครองบัลลังก์แทนพระราชินีเอลิซาเบธ
2
แต่ “เซอร์ ฟรานซิส วัลซิงแฮม (Sir Francis Walsingham)” ขุนนางที่รับใช้ใกล้ชิดพระราชินีเอลิซาเบธและเป็นหัวหน้าสายลับ (อ่านเรื่องนี้ได้ในซีรีย์ ““ประวัติศาสตร์การสอดแนมและจารกรรมข้อมูล (The History of spy and espionage)” ) ได้รู้ถึงแผนการนี้ซะก่อน และมีหลักฐานอีกด้วย
1
พระราชินีแมรี่ได้ทรงแอบส่งจดหมายให้เหล่ากบฎ โดยซ่อนไว้ในถังเบียร์ในปราสาทที่พระองค์ถูกควบคุมองค์
1
เซอร์ ฟรานซิส วัลซิงแฮม (Sir Francis Walsingham)
จดหมายของพระราชินีแมรี่ที่วัลซิงแฮมถอดรหัสได้
เมื่อพระราชินีเอลิซาเบธทรงทราบ พระองค์ก็ทรงกริ้วมาก
หัวหน้ากบฎนั้นถูกนำตัวไปประหารชีวิตทันที ส่วนพระราชินีแมรี่นั้น พระราชินีเอลิซาเบธทรงกริ้วที่สุด
ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา พระองค์ทรงให้ความคุ้มครองพระราชินีแมรี่ แต่พระราชินีแมรี่ทรงคิดหักหลังพระองค์ ทำเหมือนพระองค์นั้นเป็นคนโง่
1
พระราชินีแมรี่ถูกนำองค์ขึ้นศาล แต่ผลการตัดสินก็ออกมาว่าพระองค์มีความผิด และถูกตัดสินประหาร
4
ถึงแม้พระราชินีเอลิซาเบธจะไม่ได้ทรงรักพระญาติผู้นี้ แต่พระองค์ก็ไม่ทรงต้องการจะลงพระนามในหมายประหาร
เวลานั้น พระราชินีเอลิซาเบธทรงเผชิญกับสถานการณ์ที่ตัดสินใจได้ยาก หากพระองค์ไม่สั่งประหารพระราชินีแมรี่ พระองค์ก็จะถูกมองว่าเป็นพระราชินีที่อ่อนแอ แต่หากประหาร ก็เท่ากับว่าพระองค์ได้ประหารพระราชินี แถมเป็นพระญาติของพระองค์อีกด้วย
1
พระราชินีแมรี่ขณะขึ้นศาล
ในที่สุด พระราชินีเอลิซาเบธก็ได้ตัดสินพระทัย ลงพระนามในหมายประหารพระราชินีแมรี่
การประหารพระราชินีแมรี่
เมื่อพระเศียรของพระราชินีแมรี่หลุดออกจากพระวรกาย เสียงระฆังในโบสถ์ก็ได้ดังก้อง เป็นสัญญาณแห่งการเฉลิมฉลองและความยินดี
แต่เมื่อพระราชินีเอลิซาเบธทรงได้ยินเสียงระฆัง พระองค์ก็ทรงกริ้วอย่างมาก
พระราชินีเอลิซาเบธตรัสว่าพระองค์ไม่ได้ทรงตกลงให้ประหารพระราชินีแมรี่ และพระองค์ไม่มีส่วนในการประหารพระราชินีแมรี่
แต่อย่างไรก็ตาม การประหารพระราชินีแมรี่ ก็ทำให้ “พระเจ้าฟิลิปที่ 2 แห่งสเปน (Philip II of Spain)” อดีตพระราชสวามีของสมเด็จพระราชินีนาถแมรีที่ 1 แห่งอังกฤษ (Mary I of England) พระเชษฐภคินี (พี่สาว) ของพระองค์ แถมยังเคยทรงสู่ขอพระองค์ภายหลังจากที่พระเชษฐภคินีของพระองค์สวรรคต ทรงกริ้วเป็นอย่างมาก
พระเจ้าฟิลิปที่ 2 แห่งสเปน (Philip II of Spain)
พระเจ้าฟิลิปที่ 2 ทรงนับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกเช่นเดียวกับพระราชินีแมรี่ ดังนั้นการที่พระราชินีเอลิซาเบธทรงสั่งประหารพระราชินีแมรี่ จึงทำให้พระองค์ทรงกริ้วและมีเหตุผลเพียงพอที่จะบุกยึดอังกฤษ
ค.ศ.1588 (พ.ศ.2131) พระเจ้าฟิลิปที่ 2 ทรงส่งกองเรืออาร์มาดา (Armada) มายังอังกฤษ
กองเรือแรกนั้นจะทำการรบทางทะเลกับอังกฤษเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของกองทัพอังกฤษ ในขณะที่กองเรืออีกกองจะบุกขึ้นฝั่งทางแถบชนบทและบุกยึดดินแดนอังกฤษ
จากนั้นบัลลังก์อังกฤษก็จะตกเป็นของพระเจ้าฟิลิปที่ 2
1
กองเรืออาร์มาดา (Armada)
เหตุการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไป พระราชินีเอลิซาเบธจะทรงนำประเทศผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้อย่างไร ติดตามได้ในตอนหน้านะครับ
โฆษณา