27 ธ.ค. 2019 เวลา 11:13 • สุขภาพ
ตำราฝังเข็ม (針灸學)
ภาคทฤษฎี
บทที่ 9
จุดรวมล่างหกหรือจุดเซี่ยลิ่วเหอ (下六合)
หมายถึงจุดรวมหรือจุดเหอ มีลักษณะเดียวกับจุดเหอในจุดเบญจธาตุ (五俞穴) แต่เนื่องจากล้วนอยู่ตรงส่วนล่างของร่างกาย ดังนั้นจึงเรียกให้มีความแตกต่างว่าจุดรวมล่าง
ในคัมภีร์หลิงซู (靈樞) ได้กล่าวไว้ว่า “หกอวัยวะหยางล้วนออกจากเส้นลมปราณหยางที่ขาทั้งสามเส้น แล้วขึ้นบนไปรวมที่แขน” หมายความว่า หกอวัยวะหยาง อันประกอบด้วย กระเพาะอาหาร ลำไส้ใหญ่ ลำไส้เล็ก ถุงน้ำดี กระเพาะปัสสาวะ และซันเจียว ล้วนมีความเกี่ยวโยงกับเส้นลมปราณประเภทหยางที่ขาทั้งสามเส้นอย่างใกล้ชิด ในส่วนของเส้นลมปราณหยางที่ขาสามเส้นล้วนมีจุดเหออยู่หนึ่งจุดในแต่ละเส้นลมปราณ ขณะเดียวกัน เส้นลมปราณหยางที่ขาสามเส้นกับเส้นลมปราณหยางที่มือสามเส้นต่างมีความเกี่ยวโยงทั้งบนและล่างกันอย่างใกล้ชิดนั่นเอง โดยลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่จะเป็นอวัยวะที่เชื่อมต่อกับกระเพาะอาหาร จึงทำให้เกิดจุดรวมของลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่ที่เส้นกระเพาะอาหารด้วย ทั้งนี้ ซันเจียวล่างดูแลเรื่องระบบน้ำ จึงทำให้ซันเจียวซึ่งเป็นอวัยวะหยางมีจุดรวมที่เส้นกระเพาะปัสสาวะด้วยเช่นกัน ดังนั้น จุดรวมที่เกิดจากลำไส้เล็กลำไส้ใหญ่รวมที่เส้นกระเพาะอาหารสองจุด จุดรวมของซันเจียวที่รวมเส้นกระเพาะปัสสาวะอีกหนึ่งจุด บวกกับจุดรวมของเส้นกระเพาะอาหาร เส้นกระเพาะปัสสาวะ และเส้นถุงน้ำดีอีกสามจุด ทั้งหมดรวมกันมีหกจุด และเนื่องด้วยหกจุดนี้ล้วนอยู่ตรงส่วนล่างของร่างกาย ดังนั้นจึงเรียกจุดรวมหกจุดนี้ว่าจุดรวมล่างหก
จุดรวมล่างทั้งหกจุดมีรายละเอียดดังนี้คือ
ลำไส้ใหญ่รวมที่เส้นกระเพาะอาหารที่จุดซั่งจวี้ซวี ลำไส้เล็กรวมที่เส้นกระเพาะอาหารที่จุดเซี่ยจวี้ซวี กระเพาะอาหารรวมที่เส้นกระเพาะอาหารที่จู๋ซันหลี่ ถุงน้ำดีรวมที่เส้นถุงน้ำดีที่หยางหลิงเฉวียน กระเพาะปัสสาวะรวมที่เส้นกระเพาะปัสสาวะที่เหว่ยจง และซันเจียวรวมที่เส้นกระเพาะปัสสาวะที่เหว่ยหยาง
เนื่องจากจุดรวมล่างทั้งหกนี้จะเชื่อมออกจากเส้นลมปราณแต่ละเส้นแล้วทะลวงเข้าไปต่อกับอวัยวะภายในประเภทหยางทั้งหก ดังนั้นแพทย์จีนแต่โบราณจึงกล่าวว่า “จุดรวมล่างรักษาอวัยวะหยาง”
หากดูในเชิงภายวิภาคแล้ว หกอวัยวะหยางจะมีลักษณะกลวง มีหน้าที่รับน้ำและอาหารที่ย่อยละเอียดแล้วทำการส่งทอดต่อไป ดังนั้นจึงมีคุณลักษณะที่ต้องระบายโดยไม่เก็บกัก เมื่อเป็นเช่นนี้ หกอวัยวะหยางจะต้องถือหลักปลอดโปร่งและระบายเป็นความประเสริฐ ด้วยเพราะเหตุนี้ โรคของอวัยวะหยางจึงมักเป็นแบบอาการแกร่งเสียส่วนมาก ดังนั้นในการรักษา จึงมักจะใช้จุดรวมล่างในการระบายอวัยวะหยางทั้งหกก็จะได้รับผลอันดีเยี่ยม เป็นต้นว่า จู๋ซันหลี่รักษาอาการกระเพาะบิดปวด เซี่ยจวี้ซวีรักษาอาการปวดท้องน้อย ซั่งจวี้ซวีรักษาลำไส้ใหญ่อักเสบ หยางหลิงเฉวียนรักษาอาการทางถุงน้ำดีหรืออาเจียน ส่วนเหว่ยจงและเหว่ยหยางก็จะรักษาอาการปัสสาวะขัด เป็นต้น
โฆษณา